30 เม.ย. 2022 เวลา 04:18
ฌาน กับ สติปัฏฐาน ๔ (จิต ใน จิต)
เพื่อความถ้วนรอบในฌาน ลำดับต่อไปนี้อาตมาจะได้แสดงธรรมในหัวข้อธรรมว่า ฌาน กับ สติปัฏฐาน ๔ เรื่อง จิตในจิต โดยอาตมาจะยังคงยึดเอามหาสติปัฏฐานสูตรเป็นที่ตั้ง เพื่อแสดงธรรมนี้ ขอพวกเรา ได้รับฟังตามลำดับเถิด
พวกเราทุกคนที่ตามอาตมามานั้น ย่อมทราบดีว่า พระไตรปิฎกหรือพระธรรมคำสอนที่ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกนั้น ไม่ใช่ตำราเรียน ไม่ใช่เรื่องที่ผู้หนึ่งผู้ใด จะเข้าไปอ่านจะเข้าไปศึกษาสืบค้น แล้วรู้จริง แล้วแทงตลอดในธรรมนั้นๆจนเป็นที่ถ้วนรอบได้ ไม่ใช่เลย
เพราะเรื่องนี้เราทราบดีว่า พระไตรปิฎกนั้นเกิดขึ้นเพราะ อรหันตสาวกนั้น ต้องการที่จะกระทำหลักฐานขึ้น เพื่อที่ป้องกันบุคคลผู้ที่จะกล่าวจาบจ้วง ต่อองค์พระสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า1 ต่อพระธรรมคำสอนในองค์พระสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า1 ต่อพระภิกษุสงฆ์ขององค์พระสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า1
จึงได้กระทำการรวบรวมพระธรรมคำสอนในองค์พระสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ไว้เป็นหมวดเป็นหมู่เพื่อเป็นหลักฐาน ป้องกัน ป้องปรามบุคคลเหล่านั้น ไม่ใช่เขียนตำรับตำราพระธรรมคำสอนในองค์พระสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าขึ้น เพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดศึกษาสืบค้นแล้วเรียนรู้ตามได้โดยง่าย ปฏิบัติตามธรรมจนหลุดพ้นได้โดยง่ายแต่อย่างใดเลย ดังนั้นปัญหาจึงเกิดอยู่โดยทั่วไป
ดังที่อาตมาแสดงให้กับพวกเราได้รับฟังว่า ในกรณีที่องค์พระสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงมหาสติปัฏฐานสูตรนั้น ถ้าแม้นว่าองค์พระสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นคนเขียนตำรา หรือพระธรรมคำสอนของพระองค์ท่าน เป็นพระสูตรที่ชื่อว่ามหาสติปัฏฐานสูตรนี้ พวกเราก็จะพบหลักฐานทางธรรม เช่นเดียวกันกับที่อรหันตสาวกท่านเป็นผู้รวบรวมนี้
โดยอาตมาได้ชี้ให้ดูว่า ในยุคหลังพุทธกาลมานี้ หมู่มวลชาวพุทธของพวกเราไม่สามารถที่จะรู้จริง ไม่สามารถที่จะแทงตลอด ในพระธรรมคำสอนที่ปรากฏอยุ่ในพระไตรปิฎกจนเป็นที่ถ้วยรอบได้ จนเป็นเหตุให้เกิดความเป็นมิจฉาทิฏฐิและกล่าวตู่พระธรรมคำสอนในองค์พระสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อยู่โดยทั่วไป
อย่างเช่นในมหาสติปัฏฐานสูตร ตั้งแต่ กายในกาย เวทนาในเวทนา และต่อไปนี้เราจะได้ฟังเรื่อง จิตในจิต นั้น ภาพจะปรากฏว่า พระธรรมคำสอนนั้น เป็นการกระทำความจบแล้ว หรือกระทำการปฏิบัติธรรมจนจบแล้วจึงปรากฏหลักฐานอยู่
ไม่ได้บอกวิธีการต้องทำดังนี้1 ต้องทำดังนี้ทามกลาง ต้องทำดังนี้เบื้องปลาย ไม่ได้บอกเลย แต่จะบอกผลที่ปรากฏอยู่แล้ว นั้นคือ บุคคลผู้ไม่ถึงพร้อมด้วยอุปนิสัยในชาติปางก่อน จะไม่สามารถรู้ตามธรรมนี้ได้ เราจะเห็นภาพอยู่โดยทั่วไป
ถ้าเมื่อผู้หนึ่งผู้ใดจะอธิบายเรื่องสติปัฏฐาน4 แล้ว มักจะพูดว่า เมื่อเรานั่งสมาธิไป เมื่อเรานิ่งแล้วเราจะเห็นกายในกายเราบ้าง หลังจากนั้นเราจะเห็นเวทนาเราบ้าง หลังจากนั้นเราจึงยกจิตของเราขึ้นมาพิจารณาบ้าง หลังจากนั่นเราจึงจะเห็นธรรมบ้าง
การแสดงธรรมดังกล่าวนี้ นั่นหมายถึงบุคคลผู้นั้น ไม่รู้ว่า มหาสติปัฏฐานสูตรนั้น คือฐานะของบุคคลผู้ที่มีจิตเป็นธรรมแล้ว จิตที่รู้เหตุของกองทุกข์แล้ว รู้คุณ รู้โทษ รู้วิธีดับทุกข์แล้ว รู้อุบายเครื่องออกจากผัสสายตนะทั้ง6 ตามความเป็นจริงแล้ว เท่านั้น จึงจะรู้ธรรมในมหาสติปัฏฐานสูตร และปฏิบัติตามธรรมนี้ได้ เรื่องนี้เพื่อเตือนพวกเรา ไม่ให้ประมาทในธรรมนี้
ลำดับต่อไปนี้เรามาฟังเรื่องของจิตในจิตที่อาตมาจะอ่านเนื้อความแห่งธรรมให้ฟังว่า ผู้ที่เห็นจิตตัวเองใน 16 ลักษณะนี้แล้ว จะเห็นได้อย่างไร จึงจะเห็นลักษณะของจิตนี้ได้ เรามาดูกัน
ข้อที่289 ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่อย่างไรเล่า
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ จิตมีราคะ ก็รู้ว่าจิตมีราคะ หรือจิตปราศจากราคะ ก็รู้ว่าจิต
ปราศจากราคะ จิตมีโทสะ ก็รู้ว่าจิตมีโทสะ หรือจิตปราศจากโทสะ ก็รู้ว่าจิต
ปราศจากโทสะ จิตมีโมหะ ก็รู้ว่าจิตมีโมหะ หรือจิตปราศจากโมหะ ก็รู้ว่าจิต
ปราศจากโมหะ จิตหดหู่ ก็รู้ว่าจิตหดหู่ จิตฟุ้งซ่าน ก็รู้ว่าจิตฟุ้งซ่าน
จิตเป็นมหัคคตะ ก็รู้ว่าจิตเป็นมหัคคตะ หรือจิตไม่เป็นมหัคคตะ ก็รู้ว่าจิตไม่เป็นมหัคคตะ จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ว่าจิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า หรือจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ว่าจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า จิตเป็นสมาธิ ก็รู้ว่าจิตเป็นสมาธิ หรือจิตไม่เป็นสมาธิ ก็รู้ว่าจิตไม่เป็นสมาธิ จิตหลุดพ้น ก็รู้ว่าจิตหลุดพ้น หรือจิตไม่หลุดพ้น ก็รู้ว่าจิตไม่หลุด
พ้น
ดังพรรณนามาฉะนี้ ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นจิตในจิตภายในบ้าง
พิจารณาเห็นจิตในจิตภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นจิตในจิตทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือความเกิดขึ้นในจิตบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือความเสื่อมในจิตบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือทั้งความเกิดขึ้นทั้งความเสื่อมในจิตบ้าง ย่อมอยู่
อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า จิตมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆในโลก ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่
ถ้าเราดูหรือเราได้ฟังที่อาตมาอ่านมาตามลำดับแล้วเราจะเห็นได้อย่างไร เราจะรู้ได้อย่างไร ว่าจิตของเรามีโลภะ หรือมีราคะอยู่ ไม่มีราคะอยู่ มีโทษะอยู่ ไม่มีโทษะอยู่ มีโมหะอยู่ ไม่มีโมหะอยู่ หรือไล่มาจนลำดับ จิตวิมุตติ จิตไม่เป็นวิมุตติ คือจิตที่หลุดพ้นแล้ว จิตไม่หลุดพ้นแล้วหนิ เราจะรู้ได้ยังไง
นี่คือสิ่งที่อาตมากำลังให้พวกเราได้ดูตาม นี่หมายถึงว่าพระธรรมคำสอนที่ปรากฏอยู่นี้ เป็นเรื่องของบุคคลผู้ที่ถึงพร้อมด้วยอุปนิสัยในชาติปางก่อนเท่านั้น
คือบุคคลผู้นี้จะต้องเป็นผู้ที่ฟังธรรมมาก่อนเนื่องๆ จำติดปาก จำขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฏฐิมาก่อน จึงได้รับอานิสงค์4 ประการ เช่นระลึกธรรมได้เองบ้าง ฟังอรหันตสาวกแล้วรู้ตามธรรมบ้าง ฟังเทวบุครแสดงธรรมแล้วรู้ตามธรรมบ้าง ฟังผู้รู้แสดงธรรมแล้วรู้ตามธรรมบ้าง
บุคคลผู้นี้ถึงจะถึงถึงฐานะอจินไตย4
คือเป็นผู้ที่ พุทธานัง วิสโย รู้เหตุเกิดเหตุดับของทุกข์
รู้ฐานะของฌานวิสโย รู้วิธีการกระทำความดับทุกข์ด้วยการกระทำฌาน
รู้กรรมวิปาโก รู้เรื่องของกรรมรู้การกระทำกรรมให้สิ้น
รู้โลกจินตา คือรู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง ทั้งโลกเก่าและโลกใหม่ที่เป็นปรินิพพาน ต้องรู้เรื่องนี้ บุคคลผู้นั้นจึงจะสามารถรู้ตามธรรมที่ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎกนี้ได้
นี่ที่อ่านให้ฟังเมื่อซักครู่นี้ คือเรื่องของจิตในจิต นั่นหมายถึงว่า บุคคลผู้ที่จะเห็นจิตในจิตของตนเองได้ จะต้องเป็นบุคคลผู้ที่รู้เหตุเกิด รู้เหตุดับ รู้คุณ รู้โทษ รู้อุบายเครื่องออกจากผัสสายตนะทั้ง6 ตามความเป็นจริง โดยถ้วนรอบก่อน ไม่ใช่บุคคลผู้ที่จะมาฝึกมาหัดใหม่ ไม่ใช่เลย เราต้องดูตรงนี้
ในเรื่องนี้บุคคลที่ตามอาตมามาเท่านั้นจึงจะเห็นเรื่องนี้ ถ้าไม่งั้นเราก็ดูเหมือนโดยทั่วไป อาตมาไม่ได้พูดข่ม ไม่ได้ระบุใคร แต่ให้เราเห็นว่าบุคคลทั่วไปนั้น มีความปรารถนาที่จะรู้ตามธรรมนี้ ที่จะประพฤติตามธรรมนี้
โดยที่ท่านนั้นไม่เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยอุปนิสัยในชาติปางก่อน ก็จะมีนั่งสมาธิบ้าง เดินจงกรมบ้าง เดินธุดงค์บ้าง สวดมนต์บ้าง นั่งฌานบ้าง ปฏิบัติธรรม 3วัน 5วัน 7วันบ้าง อาตมารู้ว่านั่นเจตนานั้นบริสุทธิ์ยิ่งนัก พยายามที่จะกระทำยิ่งนัก เพื่อให้ถึงผลอันเป็นที่สุด
แต่ธรรมะนี้อาตมาได้พูดมาแต่เบื้องต้นแล้วว่า
คัมภีรา ลึกซึ้ง
ทุททสา เห็นตามได้ยาก
ทุรนุโพธา รู้ตามได้ยาก
สันตา สงบ
ปณีตา ประณีต
อตักกาวจรา เดาไม่ได้ ห้ามคาดเดา
นิปุณา ละเอียดสุด ประณีตสุด
ปัณฑิตเวทนียา ผู้รู้พึงรู้ได้ด้วยตนเอง
ถ้าไม่ถึงสภาวะที่เป็นดังที่อาตมาชี้ให้ดูว่า ไม่ได้ถึงพร้อมด้วยการฟัง ไม่ได้รับอานิสงส์ และไม่ถึงอจินไตย4 ไม่ใช่เรื่องของใครที่จะมารู้ตามธรรมนี้ ในพระไตรปิฎกนี้ได้เลย ดังนั้นพอบทของจิตในจิตนี้ อาตมาได้ชี้ให้ดูแล้วว่า ในสติปัฏฐาน4 นี้จะประกอบไปด้วย กายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม
ธรรมทั้ง 4 องค์ธรรมนี้ เป็นธรรมที่ถูกย่อลงมาจากปฏิจจสมุปบาท ถูกย่อลงมาจากขันธ์5 มาปรากฏอยู่ในธรรมของฝ่ายดับทุกข์คือโพธิปักขิยธรรม กายในกายคือรูป เวทนาในเวทนาคือเวทนา จิตในจิตคือสังขาร ธรรมในธรรมคือวิญญาณ แต่สภาวะนี้เป็นสภาวะของผู้รู้ธรรมแล้ว จึงทำความดับทุกข์
โดยเบื้องต้นที่อาตมาได้แสดงให้กับพวกเราได้ดูก็คือ เมื่อตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ กระทบกับ หรือสัมผัสกับ หรือรับรู้กับ อายตนะภายนอก ตาเห็นรูปอย่างใดอย่างหนึ่ง หูได้ฟังเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง จมูกได้รับกลิ่นอย่างใดอย่างหนึ่ง ลิ้นได้รับรสอย่างใดอย่างหนึ่ง กายได้สัมผัสสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
และจิตรับรู้ธรรมารมณ์สิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้ว วิญญาณทางที่นั้นๆ วิญญาณทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ รับรู้ เป็นองค์ประชุม3 เป็นการผัสสะเกิดขึ้นแล้ว เป็นรูป ตรงนี้เป็นกายในกาย
เราเห็นตัวเรา เราฟังตัวเรา เราดมกลิ่นเรา เรารับรสเรา เราสัมผัสตัวเรา เรารับรู้เรื่องราวของเรา ก็ตัวเรานี้แหละเป็นรูป เกิดเป็นรูปขึ้น พอเกิดรูปแล้วทันทีปุ๊ป หรือเราเห็นภายนอกก็เป็นรูปขึ้น เราจะเกิดเวทนาตามมา มนาปา อมนาปัง มนาปามนาปัง คือยินดีบ้างไม่ยินดีบ้าง ทั้งยินดีและไม่ยินดีบ้าง
หรือสุขหรือทุกข์ หรือไม่สุขไม่ทุกข์ จะต้องเกิดขึ้น เมื่อผัสสะเมื่อเกิดรูปแล้ว จะเกิดเวทนาเกิดขึ้น พอเกิดเวทนาขึ้นแล้ว สภาวะ 2 สภาวะคือเกิดรูปกับเวทนานี้ เรายังไม่ได้สิ่งนั้น แต่สิ่งนั้นสำคัญต่อชีวิตที่จะต้องตั้งอยู่ ที่จะต้องมีตวามสุข เราปรารถนาที่จะได้ นั้นสวย นี่ไพเราะ นี่หอม นี่อร่อย นี่นุ่มนวล นี่ดีงาม เราปรารถนาที่จะได้แต่เรายังไม่ได้
ลำดับต่อมาเราจึงเกิดสังขาร เราต้องการที่จะเอาทีนี้ เมื่อก่อนเราสังขาร เราเอา เราสังขารด้วยตัณหายึดมาเป็นของเรา ถือมาเป็นของเราจน ตัณหา ตัณหาก็จะมี ปริเยสนา ลาโภ วินิจฉัยโย ฉันทราโค อัชโฌสานัง ปริคคโห มัจฉริยัง ปฏิอารักโข และ อกุศลมูลก็เกิดขึ้นในตัณหา
พอตัณหาเต็มเพียบ อุปาทานก็พร้อม อุปาทานก็พร้อม อุปาทานพร้อมก็ภพพร้อม เมื่อภพพร้อมก็ชาติเกิด พอชาติเกิดทุกสิ่งทุกอย่างก็เวียนไปแก่ไปเจ็บไปตายแล้วก็เวียนกลับมาใหม่ไม่สิ้นสุด นั่นคือสภาวะที่สังขารเมื่อก่อน เป็นไปด้วยตัณหาและอวิชาอยู่
แต่วันนี้ แต่วันนี้ เราเป็นผู้รู้ในธรรมแล้ว รู้เหตุเกิดนี่รูปนะ รู้อาการของเวทนานี่เวทนาที่สุขที่ทุกข์ ที่ไม่ทุกข์ไม่สุข หรือยินดี ไม่ยินดี ทั้งยินดีและไม่ยินดีแล้ว เราเห็นเกิดขึ้นแล้ว เรากระทำความดับ
ความดับสังขาร สัพมสังขารสมโถ เราดับสังขารลง สัพพูปธิปฏินิสสัคโค เราสลัดอุปธิคืนไป ตัณหักขโย เราดับตัณหาให้สิ้นไป วิราโค เราดับความกำหนัดให้หมดไป นิโรโธ เราดับความทุกข์ที่เกิดขึ้นไปแล้ว นิพพานนัง เราจึงจะได้สภาวะที่เป็นนิพพานอยู่ตรงสังขารนี้
เราจะเห็นสภาวะของจิต ที่ท่านบอกว่า
จิตมีราคะก็รู้ว่าจิตมีราคะ คือเรายังมีความโลภอยู่เราก็รู้ ว่าเราอยากได้
หรือจิตปราศจากราคะก็รู้ว่าจิตปราศจากราคะ ตอนนี้ไม่มีแล้วก็รู้
จิตมีโทสะก็รู้ว่าจิตมีโทสะ คือ ยังมีความโกธรอยู่ ปรารถนาที่จะเอา พยาบาทที่จะเอา ก็รู้ จิตปราศจากโทสะก็รู้จิตมีโมหะ คือความหลงในสิ่งนั้นอยู่ก็รู้ จิตปราศจากโมหะเราก็รู้ เราปฏิบัติแล้วด้วยการกระทำฌานมาแล้ว เราจึงรู้สิ่งนี้
จิตหดหู่ก็รู้ว่าจิตหดหู่ คือจิตที่พยายามที่จะเอาอยู่
จิตฟุ้งซ่าน คือจิตที่ยังทำไม่ได้ก็รู้ว่าจิตยังทำไม่ได้อยู่
จิตเป็นมหัคคตะ คือจิตตั้งมั่นอยู่ ก็รู้ว่าจิตเป็นหนึ่ง จิตตั้งมั่นอยู่ ไม่ตั้งมั่นอยู่ก็รู้ว่าไม่ตั้งมั่น การที่จะรู้ได้ดั่งนี้ต้องเป็นผู้รู้ในธรรมแล้ว เป็นผู้ปฏิบัติการกระทำฌานมาตามลำดับแล้ว
หลังจากนั้นเราจึงจะรู้ว่า จิตที่ยิ่งกว่านี้ก็มีคือ อ่อถ้าเราได้ขนาดนี้แล้วยังมีที่ดีขึ้นกว่านี้อยู่ก็รู้ เรารู้เลย จิตอื่นที่มี สอุตตระจิต อนุตตระจิตคือเรารู้เลย หลังจากนั้นเราจะเห็นว่า จิตสมาหิต เป็นความตั้งมั่นแล้วเราก็รู้ อสมาหิต จิตไม่ตั้งมั่นเราก็รู้ จนที่สุดจิตวิมุตติ หรือจิตอวิมุตติ วิมุตติก็คือรู้ว่าจบสิ้นแล้วเราก็รู้ อวิมุตติ เราก็รู้ ยังไม่จบสิ้นเราก็รู้
นั่นคือฐานะของบุคคลผู้ที่กระทำฌาน ต้องรู้ฐานะเหล่านี้ อย่างเช่นพระศาสดาประกาศเอาไว้ว่า
วิวิจเจวะ กามเมหิ วิวิจจะ อะกุสะเลหิ ธัมเมหิ เมื่อเราละกาม ละอกุศลธรรมจนเกลี้ยงจนสิ้น จึงจะได้ฐานะของฌานที่1 นั่นคือ ปีติอันเกิดแต่วิเวก เราจึงจะได้ตรงนี้
เมื่อได้ปีติ อันเกิดแต่วิเวกฐานนะที่2 ก็ย่อมอยู่กับสิ่งนี้ มีสิ่งนี้เหมือนเดิม แต่เป็นฐานะที่ นิรามิสัง สุขัง มีสุขเหมือนปราศจากอามิส เมื่อก่อนคือมีแล้วยึดว่าเป็นของเรา แต่ตอนี้มีแล้วก็แล้วไป มีแล้วก็แล้วไป
จนฐานะที่3 อยู่กับสิ่งนี้เหมือนเดิม จิตของเราสภาวะของเวทนาของเรานี้ ไม่ทุกข์ไม่สุข อทุกขมสุขเวทนา เป็นสภาวะของฐานะที่3
และที่4 ฌานที่4 ก็คือเป็นผู้สงบ เป็นผู้ดับแล้ว เป็นผู้ไม่มีอุปาทานใดๆแล้ว คือไม่มีสุขไม่มีทุกข์ ละสุขละทุกข์ในก่อนๆจนสิ้นจนเกลี้ยง อนุปาทาโนหมสามีติ ไม่ยึดมั่นถือมั่นใดๆในโลกแล้ว
เป็นสภาวะที่เรากระทำฌานมาแล้วเราจึงจะเห็นจิตเหล่านี้ได้ ให้พวกเรารับรู้ตามนี้ แล้วหลังจากนั้นค่อยมาเรียนรู้ว่า การกระทำสติปัฏฐานสูตรไปตามลำดับ กายในกายอย่างไร เวทนาในเวทนาอย่างไร จิตในจิตอย่างไร
และที่สุดพระศาสดาก็จะสรุปว่า ดังพรรณามาฉะนี้ ภิกษุย่องพิจารณาเห็นจิตในจิตภายในบ้าง พิจารณาเห็นจิตในจิตภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นจิตทั้งภายในและภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือความเกิดขึ้นในจิตบ้าง คือ ความเกิดขึ้นในจิตคือเห็นทุกข์เกิดขึ้นในจิตของเรา
พิจารณาเห็นธรรมคือความเสื่อมในจิตบ้าง คือ เมื่อเราเห็นความเกิดขึ้นของกองทุกข์แล้ว เรารู้คุณเรารู้โทษแล้วเราก็ดับ นั้นคือความเสื่อมไปคือความสิ้นไปในความทุกข์นั้น พิจารณาเห็นธรรมคือทั้งความเกิดขึ้นและความเสื่อมในจิตบ้าง คือ เห็นมันเกิดขึ้นเราก็ทำความดับลง ในจิตเรานี้แหละทำที่อื่นไม่ได้
แล้วหลังจากนั้นก็ย่อมอยู่ คือ เราก็อยู่เป็นสุขกับสิ่งนี้ละ ไม่ใช่ไม่มี ตาก็ต้องดู หูต้องฟัง จมูกต้องดม ลิ้นก็ต้องรับรส กายก้ต้องสัมผัส จิตก็ต้องรับรู้ธรรมรมณ์ทุกเรื่อง มีอยู่ทุกเรื่องเพื่อให้ได้ตั้งอยู่ได้ของกาย เพื่อให้กายมีความสุข นี่ต้องอยู่ได้ แล้วหลังจากนั้นเราก็กระทำการละ สิ่งเหล่านั่นออก เกิดขึ้นแล้วก็ละทันที เกิดขึ้นแล้วก็ละทันที
อีกอย่างหนึ่งสติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า จิตมีอยู่ก็เพียงสักแต่ว่าความรู้ คือ เรารู้นะว่าเรามีจิตอยู่ มีมโนอยู่ มีวิญญาณอยู่ แต่รู้ว่ามี มีสักแต่ว่ามี ไม่ยึดไม่ติดแล้ว
สักแต่ว่าอาศัยระลึกเท่านั้น คือ เป็นเครื่องที่เรากระทความปฏิบัติธรรม กระทำการเพื่อปฏิบัติธรรม เห็นทุกข์เกิดขึ้น รู้คุณ รู้โทษ รู้ความดับ รู้อุบายเครื่องออก นี่สักแต่ว่าอาศัยระลึกอยู่ตรงนี้
เธออันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว คือ เมื่อก่อนจะมีชีวิตอยู่ ต้องมีสิ่งนั้นด้วยตัณหา ปริเยสนา ลาโภ วินิจฉัยโย ฉันทราโค อัชโฌสานัง ปริคคโห มัจฉริยัง ปฏิอารักโข อกุศลมูลเกิดเพียบเมื่อก่อน แล้วก็ยึดด้วยอุปาทาน กามุปาทาน ทิฏฐุปาทาน สีลพัตตุปาทาน อัตตวาทุปาทาน ยึดแน้นก็เกิดภพ กามภพ รูปภพ อรูปภพ เกิดแน่นเลย
แล้วก็ชาติ ชาติ สันชาติ โอกกันติ นิพพัตติ อภินิพพัตติ เกิด หลังจากนั้นก็ ชรามรณะ โสก ตามมาทุกครั้งเมื่อก่อน แต่ตอนนี้ไม่มีตัณหาแล้วดับหมด ทิฏฐิก็ไม่เห็นผิดแล้ว ไม่ปักใจว่านั่นเป็นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นตัวเป็นตนของเราดังนี้ เราไม่เป็นแล้ว เราได้กระทำฌานออกแล้ว
ดังนั้น และจะมีคำที่สำคัญว่า และไม่ถือมั่น อะไรๆในโลก คือ ไม่ใช่ไม่มีนะ มี แต่ไม่ได้ถือมั่นเอาไว้ มีทุกอย่าง มีที่ตา ที่หู ที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย ที่ใจ ทุกประการ แต่ไม่ถือมั่น ถ้าถือมั่นก็ยังเป็นทุกข์ ตอนนี้ไม่ถือมั่นแล้ว
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แลภิกษุชื่อว่า พิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ คือ ไม่ใช่แค่ดูนะ ไม่ใช่แค่มองเห็นนะ แต่เห็นความเกิดขึ้นของกองทุกข์ และทำความดับทุกข์ เห็นเกิดทุกข์ขึ้นแล้วก็ดับทุกข์ โดยขณะที่ก่อนจะดับทุกข์ รู้ว่ามีคุณ รู้ว่ามีโทษอย่างไร จึงดับทุกข์ ดับโดยการทำอุบายเครื่องออกจากผัสสายตนะทั้ง6 ตามความเป็นจริง
ตามขั้นตอนของการกระทำฌาน1 ดังนี้ ฌาน2 ดังนี้ ฌาน3 ดังนี้ ฌาน4 ดังนี้ ก้าวเลยขึ้นไปเป็น อากาสานัญจายตนฌาน วิญญาณัญจายตนญาณ อากิญจัญญายตนญาณ เนวสัญญานาสัญญายตนญาณ ตามลำดับ
นี้คือลำดับของการดู มหาสติปัฏฐานสูตร หรือการกระทำตาม มหาสติปัฏฐานสูตร ที่พระศาสดาแสดงไว้ ถูกนำมารวบรวมเอาไว้ในพระไตรปิฎกฉบับหลวงในเล่มที่10 และเล่มที่12 โดยอรหันตสาวก อาตมาได้ชี้ให้พวกเราได้ดูว่า การที่ผู้หนึ่งผู้ใดจะรู้ตามธรรมนี้ เป็นเรื่องของผู่ที่ถึงพร้อมด้วยอุปนิสัยในชาติปางก่อนเท่านั้น ขอปวงญาติอย่าได้ประมาท
ตอนนี้ขออนุโมทนากับทุกคนเอาไว้เท่านี้ก่อน
แสดงธรรมโดย หลวงพ่อ พุทธปัญโญ
วันอาทิตย์ที่ 9 เดือน พฤษภาคม ปี 2564

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา