2 พ.ค. 2022 เวลา 06:06
ฌาน กับ สติปัฏฐาน ๔ (ธรรม ใน ธรรม )
เพื่อความถ้วนรอบในฌาน ลำดับต่อไปนี้ อาตมาจะแสดงธรรมในหัวข้อธรรมว่า ฌาน กับ สติปัฏฐาน4 เรื่องธรรมในธรรม โดยอาตมาได้อาศัยเอา มหาสติปัฏฐานสูตรเป็นที่ตั้ง เพื่อแสดงธรรมนี้ ขอพวกเราได้รับฟังไปตามลำดับดังต่อไปนี้เถิด
ในเรื่องนี้โดยลำดับที่ผ่านมานั้น อาตมาได้แสดงธรรมในองค์พระสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้กับพวกเราได้รับฟังมาตามลำดับแล้วว่า ธรรมอันเป็นเหตุให้พระศาสดาได้ตรัสรู้ และนำมาประกาศ แก่หมู่มวลมนุษยชาติ ให้ได้รู้ตาม ได้ปฏิบัติตาม เพื่อความสิ้นทุกข์โดยถ้วนรอบนั้นคือ อริยสัจ4 อันประกอบไปด้วย ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค อริยสัจ4 นี้ ถ้าเราดูให้ลึกตามธรรมที่พระศาสดาประกาศแล้ว เราจะเห็นว่าอริยสัจ4 แบ่งออกเป็น 2 ฝากฝั่ง หรือ 2 ฝ่าย คือฝ่ายของความเกิดทุกข์ และ ฝ่ายของความดับทุกข์ ฝ่ายของความเกิดทุกข์คือ ทุกข์ กับ สมุทัย ฝ่ายของความดับทุกข์คือ นิโรธ กับ มรรค นี่คือธรรมอริยสัจ4
ดังพระศาสดาได้ประกาศเอาไว้ใน พรหมชาลสูตรบ้าง ปัญจัตตยสูตรบ้างว่า ยทิทัง ภิกขเว ภิกขุ ฉันนัง ผัสสายตนานัง สมุทยัญจ อัตถังคมัญจ อัสสาทัญจ อาทีนวัญจ นิสสรณัญจ ยถาภูตัง ชานาติ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุผู้หนึ่งผู้ใด เป็นผู้ รู้เหตุเกิด รู้เหตุดับ รู้คุณ รู้โทษ รู้อุบายเครื่องออกจากผัสสายตนะทั้ง6 ตามความเป็นจริงแล้ว ภิกษุผู้นั้นเป็นผู้รู้ยิ่งกว่าใครทั้งปวง
นั่นหมายถึงว่า เป็นผู้ที่รู้อริยสัจ4 นั่นเอง บุคคลผุ้ที่จะรู้อริยสัจ4 ได้นั้น จะต้องเป็นบุคคลผู้ที่ถึงพร้อมด้วยอุปนิสัยในชาตืปางก่อน คือเป็นผู้ที่ฟังธรรมมาก่อนเนืองๆ จำติดปาก จำขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฏฐิ บุคคลผู้หนึ่งผู้ใดผู้นั้นจะได้รับอานิสงส์ 4 ประการ คือ บทธรรมปรากฏแก่เธอเองบ้าง1 ฟังอรหันตสาวกแสดงธรรมแล้วรู้ตามธรรมบ้าง1 ฟังเทวบุตรแสดงธรรมแล้วรู้ตามธรรมบ้าง1 ฟังผู้รู้ในธรรมแล้วมาบอกธรรมแก่ตนแล้วรู้ตามธรรมบ้าง1 นี้คืออานิสงส์ 4 ประการ
เป็นเหตุให้ผู้หนึ่งผู้ใดนี้ จะถึงพร้อมด้วยอจินไตย4 คือ เป็นผู้ที่ได้ฐานะแห่ง พุทธวิสโย คือผู้ที่รู้เหตุเกิดแห่งทุกข์ และรู้ความดับทุกข์1 เป็นผู้ได้ฌานวิสโย เป็นผู้ถึงฐานะแห่งการรู้การกระทำฌานเพื่อความดับทุกข์1 เป็นผู้ถึงกรรมวิปาโก เป็นผู้รู้กรรม รู้เหตุแห่งกรรม รู้การดับกรรม1 และโลกจินตา เป็นผู้รู้โลกโดยแจ่มแจ้ง โลกเก่าเป็นดังนี้ โลกใหม่ที่ไปนิพพานเป็นดังนี้ นี่คือบุคคลผู้ที่ถึงพร้อมอุปนิสัยในชาติปางก่อน จึงจะสามารถรู้ตามธรรมอริยสัจ4 นี้ได้ ถ้าไม่งั้นรู้ตามไม่ได้ก่อน ก็จะต้องเริ่มต้นที่ทำการฟัง ฟังให้จบ แล้วได้รับอานิสงค์ แล้วได้รับอจินไตย4 จึงจะสามารถรู้ตามธรรมนี้ได้ ตามที่อาตมาแสดงมาให้กับพวกเราได้รับฟัง
เพื่อความถ้วนรอบ เมื่ออาตมาได้แสดงฌานกับสติปัฏฐาน4 มาตามลำดับ ให้กับพวกเราได้เห็นว่า ในสติปัฏฐาน4 ซึ่งเป็นธรรมฝ่ายของความดับทุกข์ ฝ่ายของความดับทุกข์ ดังที่อาตมาแสดงให้กับพวกเราได้รู้ว่า เมื่อพระศาสดาได้เห็นธรรมอันเป็นเหตุของความเกิดทุกข์แล้ว พระศาสดาก็ประกาศธรรมอันเป็นเหตุแห่งความดับทุกข์ คือโพธิปักขิยธรรม อันประกอบไปด้วย สติปัฏฐาน4 สัมมัปปธาน4 อิทธิบาท4 อินทรีย์5 พละ5 โพชฌงค์7 และมรรคมีองค์8 ธรรม 7 หมวดนี้ คือโพธิปักขิยธรรม อันเป็นธรรมของฝ่ายดับทุกข์
ซึ่งธรรมบทแรกที่ขึ้นต้นคือสติปัฏฐาน4 นี้ อาตมาได้แสดงให้กับพวกเราได้รับทราบว่า สติปัฏฐาน4 อันมีองค์ธรรมอยู่ 4 ประการคือ กายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรมนี้ คือบทธรรมย่อของปฏิจจสมุปบาท คือบทธรรมย่อของขันธ์5 ลงมาอีกชั้นหนึ่ง กายในกายคือรูป เวทนาในเวทนาคือเวทนา จิตในจิตคือสังขาร ธรรมในธรรมคือวิญญาน
ที่มีชื่อดังนี้ ที่มีฐานะดังนี้ เป็นฐานะของจิต มโน วิญญาณ ที่รู้เหตุเกิด รู้เหตุดับแล้ว จึงได้ชื่อว่ากายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม เพราะทั้งหมดนี้ รู้เหตุเกิดขึ้นและรู้วิธีดับทุกข์ทั้ง 4 อาการนี้ทั้งหมด รวมทั้งข้อสุดท้ายที่จะพูดวันนี้คือธรรมในธรรมนี้ เป็นจิต เป็นมโน เป็นวิญญาณที่เห็นเหตุของความเกิดทุกข์แล้ว และรู้วิธีดับทุกข์แล้ว นี้คือมูลเหตุที่สำคัญที่ต้องพูดถึงเรื่องนี้ และการปฏิบัติโพธิปักขิยธรรมที่แสดงอยู่ในมหาสติปัฏฐานสูตรนั้น ข้อสุดท้ายระบุชัดว่า การที่จะได้มาซึ่งสัมมาสมาธินั้นจะต้องเกิดจากการกระทำฌานเท่านั้น
โดยแสดงที่สัมมาสมาธิข้อสุดท้ายนั้นโดยการกระทำฌาน4 แต่ถ้าจะให้จบแล้วพระศาสดาทราบชัดว่า ทุกคนเมื่อได้ฌาน4 แล้ว ลำดับต่อไปการจะเข้าถึงอรูปญาณนั้น เป็นไปได้โดยง่าย เป็นไปได้โดยง่าย ท่านจึงแสดงเด่นชัดที่รูปฌานก่อน เพราะถึงรูปฌานตัวสุดท้ายก็จะได้ เป็นผู้สงบ เป็นผู้ดับแล้ว เป็นผู้ไม่มีอุปทานใดๆแล้ว ได้เช่นกัน ได้เช่นกัน แต่จะเอาเกลี้ยงที่สุดจะต้องถึงเนวสัญญานาสัญญายตนญาณ
เรามาดูกันอีกรอบหนึ่งดังนี้ไปตามลำดับ อาตมาได้ชี้แล้วว่า สติปัฏฐาน4 ในหมวดธรรมโพธิปักขิยธรรมนั้น ธรรมหมวดแรกนั้นคือกายในกายนั้น พระศาสดาจะแสดงเอาไว้ว่า คำว่ากาย หมายถึง กายของเรา อัตตาของเราที่มีอยู่ เราต้องรู้ว่ามีอยู่ก่อน มีอยู่ซะก่อน เพื่อให้เราอาศัย เพื่อให้สักแต่ว่ารู้ว่ามี เพื่อให้อาศัยประพฤติปฏิบัติธรรม ต้องรู้ว่ามี องค์แห่งกาโยนี้จะมี ดิน น้ำ ไฟ ลม อากาศ และวิญญาณอยู่ที่นี้ ต้องมีวิญญาณด้วย เป็นหลักที่จะเรียกว่ากาโย
ในที่นี้ องค์แห่งธรรม แห่ง กายในกายก็จะมีอานาปานสติบรรพ เครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ของการมีชีวิตอยู่ คือลมหายไป ทุกข์ลมหายใจ ต้องกระทำความดับทุกข์แล้วในตรงนี้อานาปานสติบรรพ อิริยาบถบรรพก็คือการยืน เดิน นั่ง นอน ทุกขณะ ยืน เดิน นั่ง นอน จะต้องปฏิบัติธรรมดับทุกข์ ต่อไปก็สติสัมปชัญญะบรรพ ก็คือขณะที่ดู ฟัง ดม กิน สัมผัส รับรู้ธัมารมณ์ใดๆอยู่ จะต้องกระทำความรู้เหตุเกิดทุกข์ และรู้ความดับทุกข์ ไปด้วย
ลำดับต่อไปก็จะปฏิกูลสัญญา เห็นสิ่งที่เป็นปฏิกูล ขนเล็บฟันหนังต่างๆ ตับไตใส้พุงต่างๆ เห็นเกิดทุกข์ แล้วก็ดับทุกข์ไป ธาตุ4 ก็คือ ดิน น้ำ ไฟ ลม ถ้าแยกเป็นธาตุ และที่สุด กายนี้กาโยนี้ก็จะต้องแตกสลาย มีสภาวะเป็นความตายอยู่ 9 ลักษณะ ต้องเห็นตั้งแต่ตอนนี้ ต้องรู้เหตุดับทุกข์ไปตั้งแต่ตอนนี้ ทั้งๆที่เป็นๆ ทั้งๆที่ยังไม่ตายคุณต้องเห็นไปจนหมด นี่คือเห็นกายในกาย
ลำดับต่อมารู้ เวทนาในเวทนา เห็นเวทนาที่สุขที่ทุกข์ ที่ไม่ทุกข์ไม่สุข หรือยินดีไม่ยินดี ทั่งยินดีและไม่ยินดี เมื่อเห็นแล้วก็ทำความดับไป นี่คือเวทนาในเวทนา
จิตในจิต คือเห็นอาการของจิตตัวเอง 16 ขั้น ตั้งแต่ สราคะ วีตราคะ สโทสะ วีตโทสะ สโมหะ วีตโมหะ สังขิตตัง วิกขิตตัง ไปจนถึงที่สุดข้อที่15 16 ก็คือ วิมุติ อวิมุติ ต้องรู้ว่าเกลี้ยงสิ้นวิมุติแล้ว เป็นที่สุดแห่งความสิ้นทุกข์แล้ว ต้องรู้ตรงนั้นตามลำดับ นี่คือจิตในจิต ที่อาตมาแสดงในตอนที่แล้ว
1
วันนี้เรามาดูธรรมในธรรม ข้อธรรมในธรรมนี้ คือจิต คือมโน คือวิญญาณ ที่รู้เหตุเกิดทุกข์ รู้เหตุดับทุกข์ ดังที่ได้ชี้ให้ดู ในข้อธรรมในธรรมนี้ เราเป็นผู้เห็นเหตุเกิดทุกข์ และเราเป็นผู้ดับทุกข์ ในข้อนี้จะมีองค์ธรรมอยู่คือนิวรณ์5 นิวรณ์5 นี้ เป็นบทธรรมย่อของสังโยชน์10 ย่อลงไปอีกที่หนึ่งจะได้ อกุศล3 คือ โลภ โกธร หลง
ตัวนิวรณ์5 จะมี กามฉันทะ พายาปาท ถินมิทธะ อุทธัจจะกุกกุจจะ วิจิกิจฉา 5 องค์ธรรม นี่คือสิ่งที่เป็นต้นเหตุแห่งทุกข์ ตัวนี้คือคุณสมบัติของกามคุณ5 ที่ อิฏฐา กันตา มนาปา ปิยรูปา รัชนิยา กามูปสังหิตา สิ่งที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ชักให้ใคร่ ชวนให้กำหนัด ที่นี้ ทุกสิ่งทุกอย่างที่เข้ามา ทางตาทางหูทางจมูกทางลิ้นทางกายทางใจ เป็นนิวนณ์5 ทั้งนั้น
ตัวนิวรณ์5 นี่แหละทำให้เกิดขันธ์5 ทำให้เกิดขันธ์5 เมื่อสัมผัสตัวใดปั๊บจะเกิดรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ตามมาทันที เป็นเรื่องของ จากนิวรณ์5 ไปเป็นขันธ์ 5 หรือจากขันธ์5ไปเป็นนิวรณ์5 ก็ได้ เดียวอาตมาจะอธิบายให้ฟังทีหลัง ให้ดูมาตามลำดับก่อน
แล้วทีนี้อายตนะ6 ก็คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นิวรณ์5 นี้ เกิดเป็นขันธ์5 ได้ เกิดที่นี้ เกิดที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจนี้ เราเห็นแล้ว แล้วก็มีข้อธรรมสำหรับดับทุกข์คือโพชณ์7 ก็จะมี สติสัมโพชฌงค์ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ วิริยะสัมโพชฌงค์ ปีติสัมโพชฌงค์ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์ อุเบกขาสังโพชฌงค์ มีอยู่ 7 องค์ธรรม
การปฏิบัติธรรมนั้น ปฏิบัติจากข้อที่1 กายในกายไล่มา เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรมนี้ มาจนถึงที่โพชฌงค์7 นี้ก็จบลงแล้ว จบลงแล้ว แต่ทำไม ในข้อธรรมในธรรมจึงมีอริยสัจ4 อยู่ด้วย ให้พวกเราได้รับรู้ตรงนี้ว่า อริยสัจ4 นี้คือหลัก ในการปฏิบัติธรรมที่เราต้องรู้อริยสัจ4 เป็นเบื้องต้นก่อน เราจึงจะสามารถปฏิบัติโพธิปักขิยธรรมนี้ได้
อริยสัจ4 ที่อาตมาได้ยกเมื่อซักครู่นี้คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
ทุกข์ กับ สมุทัย เป็นฝ่ายของความเกิดทุกข์
นิโรธ กับ มรรค เป็นฝ่ายของความดับทุกข์
เราต้องรู้ถ้วนรอบก่อน ต้องรู้หลักนี้ก่อน จึงจะสามารถมาปฏิบัติมหาสติปัฏฐานสูตรนี้ได้ ถ้าไม่งั้นทำไม่ได้ ทำไม่ได้ ทุกคน ไม่มีใครทำได้ถ้าไม่รู้อริยสัจ4 ก่อนไม่รู้ความลึก ความตื้น ความหนา ความบาง ทั้งหมดในอริยสัจ4 ก่อน จะมาปฏิบัติตรงนี้ไม่ได้
ดังที่เราปรากฏอยู่โดยทั่วไปหลังพุทธกาลมานี้ ทุกคนพยายามอยู่ทั้งนั้น แต่ถ้าไม่ถึงพร้อมด้วยอุปนิสัยในชาติปางก่อนที่อาตมาว่ามาแล้วถึงไม่ได้ ไม่ได้ขู่ ไม่ได้เอาเปรียบ ไม่ได้หักล้าง แต่ชี้ให้ดู
ถ้าใครยังไม่รู้เบื้องต้นก็ต้องทำความรู้เบื้องต้น คือต้องฟังธรรมเนืองๆ ต้องจำติดปาก ต้องจำขึ้นใจ ต้องแทงตลอดด้วยดีด้วยทิฏฐิก่อน จึงจะได้รับอานิสงส์ 4 ประการ แล้วจึงจะได้รับอจินไตย4 จึงจะสามารถรู้เหตุเกิดขึ้นของกองทุกข์ รู้เหตุดับทุกข์ รู้คุณ รู้โทษ รู้อุบายเครื่องออก ตามหลักธรรมที่พระศาสดาประกาศนี้เอาไว้ได้ ต้องรู้ที่ตรงนี้
อาตมาได้นำเอาสัมมาสมาธิอันเป็นข้อสุดท้าย มาชี้ให้พวกเราได้ดูอีกครั้งหนึ่งว่า นี่ตรงสัมมาสมาธิจะเกิดขึ้นได้ต้องเกิดจากการกระทำฌานเท่านั้น คือปฐมฌาณ ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุถฌาน ต้องทำฌานเท่านั้นจึงจะได้สัมมาสมาธิ ไม่ใช่ไปนั่งสมาธิแล้วจะเกิดสมาธิ ไม่ใช่ อาตมาแสดงมาโดยลำดับแล้ว
เมื่อเราได้รู้ดังนี้แล้ว เราจะเห็นว่า หลังจากที่องค์พระสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงข้อสุดท้าย ของโพธิปักขิยธรรมเอาไว้ ในมหาสติปัฏฐานสูตร พระองค์จะสรุปลงว่า นี่ในข้อสัมาสมาธินี้นะ ในข้อสัมาสมาธินี้อาตมาจะอ่านช่วงล่างนี้ให้ฟังเป็นข้อสรุปว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย อันนี้เรียกว่า ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาสัจจะ (เป็นข้อปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์ ในข้อนี้) ดังพรรณนามาฉะนี้ ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นธรรมในธรรมภายในบ้าง พิจารณาเห็นธรรมในธรรมภายนอกบ้าง พิจารณาเห็นธรรมในธรรมทั้งภายในทั้งภายนอกบ้าง
พิจารณาเห็นธรรมคือความเกิดขึ้นในธรรมบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือความเสื่อมในธรรมบ้าง พิจารณาเห็นธรรมคือทั้งความเกิดขึ้นและความเสื่อมในธรรมบ้าง ย่อมอยู่ (ก็อยู่กับสิ่งนี้) อีกอย่างหนึ่ง สติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า ธรรมมีอยู่ ก็เพียงสักว่าความรู้ เพียงสักว่าอาศัยระลึกเท่านั้น เธอเป็นผู้อันตัณหาและทิฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว และไม่ถือมั่นอะไรๆ ในโลก
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่าพิจารณาเห็นธรรมในธรรมอยู่
พวกเราที่ได้ฟังธรรมอาตมาแสดงมาตามลำดับแล้ว จะรู้ชัดว่า การที่ผู้หนึ่งผุ้ใดจะสามารถ รู้ตามธรรมที่เป็นเหตุเกิดทุกข์ และรู้เหตุดับทุกข์นั้น บุคคลผู้หนึ่งผู้ใดนั้นจะต้องกระทำความพร้อมของตนมาก่อน ด้วยการฟังเนื่องๆ จำติดปาก จำขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฏฐิก่อน จึงจะได้รับอานิสงส์4 และจึงจะได้รับอจิตไตย4 จึงจะสามารถรู้ตามธรรมนี้ได้
ดังที่ข้อสรุปจบเราจะเห็นเลยว่า เราได้เห็นในธรรมเกิดขึ้นในธรรมในภายใน คือสิ่งที่เกิดขึ้นในตัวเรา สิ่งที่เกิดขึ้นในภายนอก คือธรรมที่เราจะต้องอาศัยอยู่ เพื่อเลี้ยงร่างกาย เพื่อมีชีวิตอยู่ เพื่อมีความสุข เพื่อเราจะได้ปฏิบัติธรรม เราจะต้องรู้ในธรรมนั้นก่อนเห็นก่อน
พิจารณาเห็นธรรมทั้งที่เกิดขึ้นและเสื่อมไปในธรรมบ้าง นี่เราเห็นแล้ว เราเห็นทั้งหมดเลยที่เกิดขึ้น เราเป็นผู้เห็นเราเป็นผู้ปฏิบัติอยู่ และเมื่อมาสรุปสรุปอย่างนี้ว่า อีกอย่างหนึ่งสติของเธอที่ตั้งมั่นอยู่ว่า ธรรมมีอยู่ สิ่งที่เกิดขึ้นหนะมีอยู่ สิ่งที่ปรากฏทั้งภายในภายนอกมีอยู่ ก็เพียงสักแต่ว่าความรู้ รู้ว่ามีเท่านั้น สักแต่ว่าอาศัยระลึก อาศัยประพฤติปฏิบัติว่านี่ คือความเกิดทุกข์เกิดขึ้นแล้ว นี่เราดับทุกข์แล้ว เรารู้คุณแล้วเรารู้โทษแล้ว เรารู้อุบายเครื่องออกคือกระทำการกระทำฌานไปตามลำดับแล้ว นั่นคืออาศัยระลึก เราปฏิบัติเพื่อความสิ้นความเกลี้ยงจากทุกข์ ไม่ใช่ปฏิบัติแล้วเอาแล้วอยู่ เห็นแล้วนะ
เธอเป็นผุ้อันตันหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว ไม่ได้ทำเพื่อให้เกิดตัณหาเพื่อจะยึด
ไม่ได้ทำเพื่อปริเยสนา แสวงหา ลาโภ ได้สิ่งนั้นมา วินิจฉัยโย ตรวจสอบว่าถูกต้องแล้ว ฉันทราโค พอใจต่อสิ่งนั้นอัชโฌสานัง พวักพวงห่วงใยในสิ่งนั้น ปริคคโห ยึดว่าสิ่งนั้นเป็นของตน มัจฉริยัง ตะนี่ถี่เหนี่ยว และที่สุดก็ ปฏิอารักโข ต่อต้านสุดขีด ก็เกิดการยึด
ลำดับต่อไปก็เป็น อุปาทาน ยึดว่านี่เป็นกามุปาทานเป็นสิ่งที่เราต้องการ
ทิฏฐุปาทาน เรายึดว่าสิ่งนี้ละ เป็นสิ่งที่เราขอบที่สุดรักที่สุดยึดเอาที่สุด
สีสพัตตุปาทาน ปฏิบัติต่อสิ่งนี้อยู่อย่างยึดมั่นถือมั่น
และที่สุดก็อัตตวาทุปาทาน ประกาสว่าสิ่งนี้ เป็นเราสิ่งนี้เป็นของเรา สิ่งนี้เป็นตัวเป็นตนของเราก็ยึด
เกิดกามภพ รูปภพ อรูปภพ ชัดเจน กามก็คือสิ่งที่เราปรารถนาทั้งหมด รูปภพก็คือรูปที่เราปรากฏทั้งหมด อรูปภพก็เหมือนกัน เป็นสิ่งที่ เวทนา สัญญา เจตนา ผัสสะ มนสิการ ในสิ่งนั้นทั้งหมดเรายึด ก็ ชาติ สันชาติ โอกกันติ นิพพัตติ อภินิพพัตติ คือเกิดขึ้นพร้อม เมื่อเกิดพร้อม ขันธานัง ปาตุภาโว ปรากฏขันธ์ขึ้น ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ย่อมตามมาเป็นลำดับ
ตัณหาไม่มีแล้วตอนนี้ เธอเป็นผู้อันตัณหาไม่มี เราทำฌานมาตามลำดับฌาน1 ฌาน2 ฌาน3 ฌาน4
ฌาน1 เราเว้นจากกามเว้นจากอกุศลธรรมจนบรรลุปีติ จนถึงปีติถ้าไม่ถึงปีติไม่ได้ ไม่ได้ หลังจากนั้นสภาวะที่2 เราจะรู้เองว่า นิรามิสัง สุขัง เราอยู่กับสิ่งนี้เหมือนไม่มี มีสิ่งนี้แต่เหมือนไม่มีสิ่งนี้ลำดับต่อไปเราจะเห็นเวทนาอันเป็นทุกข์ก็ไม่ใช่ สุขก็ไม่ใช่เป็นของเรา และที่สุดเราจะรู้ว่าไม่ทุกข์ไม่สุข เพราะเป็นผู้สงบ เป็นผู้ดับแล้ว เป็นผู้ไม่มีอุปาทานใดๆแล้ว จากการกระทำฌานมาตามลำดับ เราจะรู้ชัดในสิ่งเหล่านี้หมด
นี่คือบทสรุปที่ว่าเธออันตัณหาและทิฏฐิไม่อาศัยอยู่แล้ว ไม่ได้ยึดเลยว่า นั่นเป็นเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นตัวเป็นตนของเราเหมือนเมื่อก่อนแล้ว เราคลายออกหมด
ที่นี่จึงเป็นวิญญานัง เป็นความรู้แจ้ง
อนิทัสนัง ไม่มีใครชี้ได้เห็นได้
อนันตัง ไม่มีขอบเขต
สัพโตปพัง แจ่มใส ดิน น้ำ ไฟ ลม อากาศ ไม่มีที่ตั้งอยู่ที่ไหนอีกแล้วถ้าวิญญาณเป็นดังนี้
และเราไม่ถือมั่นอะไรๆในโลก มีแต่เราไม่ถือมั่น มีกาโย มีอัตตา มีอาหาร ครบแต่เราไม่ถือมั่น นี่คือการกระทำฌานเท่านั้นในการปฏิบัติโพธิปักขิยธรรม หรือสติปัฏฐาน4 นี้ ถ้าไม่กระทำฌานจะไม่เกลี้ยง จะมานั่งดูกายเฉยๆ จะมาดูเวทนาเฉยๆ จะมาว่าตัวเองเห็นจิตแล้ว จะมาว่าตัวเองเห็นธรรมแล้ว นั่งดูยังไงก็แค่ต้องกลับไปแก่ ไปเจ็บ ไปตายเหมือนเดิม ถ้าไม่กระทำฌานออก
อาตมานำฌานมาแสดงให้พวกเราได้รู้ว่า ฌานนี้เป็นสิ่งที่ เป็นธรรมของฝ่ายดับทุกข์ ใครไม่กระทำจิตอันเกิดจากการฟังมาตามลำดับ จะไม่สามารถได้ฐานะแห่งฌานวิสโย ไม่ได้เลย อาตมากำลังชี้ให้ดูตรงนี้ให้เห็นว่า สติปัฏฐาน4 ที่กายในกายต้องกระทำด้วยฌาน เวทนาในเวทนาต้องกระทำด้วยฌาน จิตในจิตก็ต้องกระทำด้วยฌาน ธรรมในธรรมนี้ก็ต้องกระทำด้วยฌาน
เมื่อพวกเราได้รู้ดังนี้ถึงคุณสมบัติอันน่ามหัศจรรย์ของฌานแล้ว ที่จะทำให้เราต้องพ้นทุกข์ออกจากวัฏสงสารได้ เรายิ่งต้องใส่ใจ ถ้าใครรู้ตามธรรมได้ก็ให้ถือว่ารู้ ไม่ต้องดูหมิ่นตัวเอง แต่ถ้ายังรู้ไม่ได้ก็ต้องยิ่งใส่ใจให้มากขึ้น กระทำหน้าที่ของตนให้เต็มที่ อย่างน้อยก็ได้ฟังและได้เริ่มต้นไปตามลำดับ
ส่วนการปฏิบัติโพธิปักขิยธรรม หรือมหาสติปัฏฐานสูตรไปตามลำดับที่กายในกายอย่างไร เวทนาในเวทนาอย่างไร จิตในจิตอย่างไร ธรรมในธรรมอย่างไรนั้น อาตมาจะแสดงซ้อนอีกทีหลังเมื่อเราเห็นคุณสมบัติแห่งการกระทำฌานในมหาสติปัฏฐานสูตร หรือสติปัฏฐาน4 ดังกล่าวนี้แล้ว อาตมาจะแสดงในภายหลังเพื่อให้พวกเราได้รอบรู้ อย่างกังวลเลย แต่ใครมีความข้องใจสงสัยใดๆก็อย่าเก็บเอาไว้ จงซักถามเถอะ อาตมาจะได้รู้ว่า ธรรมที่พวกเรายังติดใจข้องใจอยู่คืออะไรบ้าง แล้วธรรมนั้นก็จะได้เกิดขึ้นกับอาตมาด้วย
อนุโมทนากับทุกคนเอาไว้เท่านี้
แสดงธรรมโดย หลวงพ่อ พุทธปัญโญ
วันจันทร์ที่ 10 เดือน พฤษภาคม ปี 2564

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา