8 พ.ค. 2022 เวลา 02:30 • ครอบครัว & เด็ก
สังคมของเด็กโฮมสคูล...
"ไม่ไปโรงเรียนแล้วจะมีสังคมเหรอ จะมีเพื่อนมั้ย" เป็นคำถามภาคบังคับของชาวโฮมสคูล ผู้ถามที่ตั้งใจใส่ใจฟังคำตอบนั้นมีอยู่มาก นำความชื่นใจมาให้ผู้ตอบ
แต่ผู้ตั้งคำถามจำนวนไม่น้อยเช่นกัน มีท่าทีเพียงแค่เดินผ่านมาบ่นแล้วก็เดินจากไปโดยไม่สนใจรอฟังคำตอบ
ผู้ถามเดินไปนานแล้ว แต่ใจคนฟังอย่างแม่จุ๋มอยู่นิ่งไม่ได้เลย เกาหัวอยู่หลายแกรกยังคงครุ่นคิดว่าจะตอบคำถามนี้อย่างไร นี่คือคำถามที่ดี เพราะช่วยเขย่าต่อมอยากรู้ของเราให้มีชีวิตชีวา
พยายามหาคำตอบเจ๋ง ๆ คูล ๆ เพื่อยกข้อสงสัยออกจากอกของผู้ถาม มุ่งมั่นที่จะบรรเทาความหนักอึ้งนั้นลงให้จงได้
สบโอกาสก็สอบถามพ่อแม่ที่จัดกิจกรรมให้ลูกร่วมกัน ค่อย ๆ สะสมประสบการณ์แนวคิดของแต่ละบ้าน นำมาวิเคราะห์ กลั่นกรองควบคู่ไปกับการสังเกตพฤติกรรมเด็ก ๆ ในเวลาที่เขาอยู่ด้วยกัน สักพักหนึ่งก็ได้ข้อมูลเป็นกอบเป็นกำ กลายเป็นคำตอบที่ยาวมากดังต่อไปนี้
แม่จุ๋มชวนมองแบบบ้าน ๆ เริ่มด้วยการทำความเข้าใจร่วมกันก่อนว่า เด็กโฮมสคูลก็เหมือนกับเด็กธรรมดาทั่วไป ลองแบ่งเป็นสองกลุ่มใหญ่ ๆ ตามลักษณะการเคลื่อนไหวคือ
กลุ่มแรกแบบวิ่งกระจายซนกระจุย ชอบพูดคุยเป็นพิเศษ
กลุ่มที่สองเด็กเงียบ ๆ นุ่ม ๆ เคลื่อนไหวช้า ถ้านึกถึงนักเรียนในห้องเรียนเด็กกลุ่มนี้น่าจะหาได้ง่ายที่หลังห้อง ชอบนั่งเหม่อไม่ค่อยสนใจสิ่งที่ครูกำลังสอน ที่เราเรียกพวกเขาว่าเด็กหลังห้องนั่นเอง
แต่ถ้าเฝ้าดูไปนานสักระยะหนึ่ง เราจะพบว่าเด็กกลุ่มวิ่งกระจาย เมื่อเหนื่อยแล้วเขาก็มีมุมเงียบ ๆ เพื่อนั่งครุ่นคิดด้วย ส่วนกลุ่มที่สองจู่ ๆ ก็อาจจะลุกขึ้นวิ่ง หรือป่ายปีนอะไรต่อมิอะไรที่พอจะปีนได้เช่นกัน เรียกว่าใครมาเห็นในจังหวะนั้นก็อาจเข้าใจว่าเขาเป็นเด็กกลุ่มแรกก็ได้อีกเช่นกัน
สิ่งที่เห็นก็อาจไม่ใช่อย่างที่เห็น ไม่ว่าเรื่องอะไรก็ดูเหมือนต้องการคำอธิบายเพิ่มเติมไปเสียทั้งนั้น ข้อสอบ ก. ข. ค. ไม่เพียงพอซะจริงจริ๊ง
นอกจากนี้เมื่อดูลักษณะใหญ่ที่มีร่วมกัน พอลงในรายละเอียดเล็ก ๆ ก็จะพบว่าเด็กแต่ละคนก็ไม่มีใครซ้ำแบบใคร แม้จะเป็นพี่น้องท้องเดียวกันที่คลานตามกันมาก็เถอะ
ชวนกลับมามองกลุ่มพ่อแม่ กล่าวได้ว่าพ่อแม่โฮมสคูลมีจุดร่วมในบางองศา นั่นคือเลือกมาเดินบนเส้นทางเดียวกัน เพื่อค้นหาการเรียนรู้ที่เหมาะสมให้ลูก เหมือนมีแรงดึงดูดให้มาพบกัน แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ร่วมกัน นี่อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของสังคมโฮมสคูล เป็นบทเรียนที่ช่วยให้เด็ก ๆ ค่อย ๆ ซึมซับ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะหยิบจับขึ้นมาเรียนรู้อย่างไร
เพราะการเรียนรู้ควรจะมีสภาวะไดนามิกอยู่เสมอ หลายปีผ่านไปคำตอบในเรื่องสังคมของเด็กโฮมสคูลของแม่จุ๋มจึงได้รับการปรับโฉมใหม่
ในช่วงแรกเกิดถึงเจ็ดขวบ เด็ก ๆ ต้องได้รับสิทธิเพื่อโอกาสจัดการตนเองเพื่อพัฒนาการที่สมวัย เพราะเป็นช่วงเริ่มต้นของชีวิต ที่คน ๆ หนึ่งจะได้รักษาพื้นฐาน ในการดำรงความรู้สึกของความเป็นมนุษย์ของตนเองไว้ได้
ต้องมีระบบนิเวศการเรียนรู้ที่เหมาะสมเพื่อเรียนรู้การมีปฏิสัมพันธ์ พื้นที่การเรียนรู้มีความปลอดภัยอยู่ในสายตาผู้ใหญ่ที่มีความเข้าใจเด็ก ๆ พ่อแม่โฮมสคูลรุ่นใหม่ที่แม่จุ๋มพบทั้งตัวจริง และเป็นเพื่อนกันผ่านโซเชี่ยลเน็ตเวิร์กหลายคนใส่ใจและให้โอกาสนี้กับลูกอย่างเต็มกำลัง
เจ็ดขวบคือช่วงอายุโดยเฉลี่ย การเรียนรู้ต้องยึดถือเด็กเป็นศูนย์กลาง เหล่านี้แม่จุ๋มไม่ได้รู้เองอาศัยฟังจากผู้รู้ องค์ความรู้ และงานวิจัยต่าง ๆ ที่ส่งต่อมาหลายทิศทาง รับแล้วก็นำมาผสมผสานปรุงใช้เอง
พ้นจากวัยนี้ โลกของเด็กจะกว้างขึ้นกว่าเดิม เพิ่มเติมคือโลกในวันนี้ไม่ได้กว้างอย่างเดียว เราต่างก็ทราบกันดีว่าโลกในวันนี้มีทั้ง กว้าง ลึก และซับซ้อน ไปตามครรลองความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในศตวรรษที่ 21
โลกเราจึงต้องการมนุษย์ที่มีทั้งเหตุผลและความรู้สึก
"การเรียนรู้เพื่อให้ได้วิธีเรียนรู้" หนึ่งในคีย์เวิร์ดคำสำคัญ ที่ใช้นำทางการเรียนรู้ในการเข้าสังคมจึงเลื่อนเข้ามาในฉาก
การเรียนรู้ช่างไดนามิกเสียจริง
จากคำถามที่พาให้ตนเองค้นหาคำตอบ วันนี้แม่จุ๋มมีคำถามกลับไปยังสังคมด้วยว่า "เราจะเรียนรู้เพื่อใช้ชีวิตอยู่ในสังคมที่มีความสลับซับซ้อนในศตวรรษที่ 21 อย่างมีความสุขอย่างไรดี ?"
เรียนรู้ไม่หยุด...มนุษย์แม่

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา