6 พ.ค. 2022 เวลา 11:40
ฌาน กระทำแม้ กำลังจะปรินิพพาน (ทุกคน)
เพื่อความถ้วนรอบในฌาน ลำดับต่อไปนี้อาตมาจะแสดงธรรมในหัวข้อธรรมว่า ฌาน กระทำแม้ กำลังจะปรินิพพาน โดยอาตมาได้อาศัยเอา มหาปรินิพพานสูตรบ้าง ธาตุวิภังคสูตรบ้าง ปริวีมังสนสูตรบ้าง เป็นที่ตั้ง เพื่อแสดงธรรมนี้ ขอพวกเราได้รับไปตามลำดับเถิด
มหาปรินิพพานสูตร ข้อ143 ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เราขอเตือนพวกเธอว่า สังขารทั้งหลาย มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา พวกเธอจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อมเถิด นี่เป็นพระปัจฉิมวาจาของพระตถาคต
ข้อ144 ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงเข้าปฐมฌาน ออกจากปฐมฌานแล้ว ทรงเข้าทุติยฌาน ออกจากทุติยฌานแล้ว ทรงเข้าตติยฌาน ออกจากตติยฌานแล้ว ทรงเข้าจตุตถฌาน ออกจากจตุตถฌานแล้ว ทรงเข้าอากาสานัญจายตนะ ออกจากอากาสานัญจายตนสมาบัติแล้ว ทรงเข้าวิญญาณัญจายตนะ ออกจาก
วิญญาณัญจายตนสมาบัติแล้ว ทรงเข้าอากิญจัญญายตนะ ออกจากอากิญจัญญายตนสมาบัติแล้ว ทรงเข้าเนวสัญญานาสัญญายตนะ ออกจากเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติแล้ว ทรงเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธ
ครั้งนั้น ท่านพระอานนท์ได้กล่าวถามท่านพระอนุรุทธะว่า พระผู้มีพระภาคเสด็จปรินิพพานแล้วหรือ ท่านพระอนุรุทธะตอบว่า อานนท์ผู้มีอายุ พระผู้มีพระภาคยังไม่เสด็จปรินิพพาน ทรงเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธอยู่
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ทรงเข้าเนวสัญญานาสัญญายตนะ ออกจากเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติแล้ว ทรงเข้าอากิญจัญญายตนะ ออกจากอากิญจัญญายตนสมาบัติแล้ว ทรงเข้าวิญญาณัญจายตนะ ออกจากวิญญาณัญจายตนสมาบัติแล้ว ทรงเข้าอากาสานัญจายตนะ ออกจากอากาสานัญจายตนสมาบัติแล้ว ทรงเข้าจตุตถฌาน ออกจากจตุตถฌานแล้วทรงเข้าตติยฌาน ออกจากตติยฌานแล้ว ทรงเข้าทุติยฌาน ออกจากทุติยฌานแล้ว ทรงเข้าปฐมฌาน ออกจากปฐมฌานแล้ว ทรงเข้าทุติยฌาน ออกจากทุติยฌานแล้ว ทรงเข้าตติยฌาน ออกจากตติยฌานแล้ว ทรงเข้าจตุตถฌาน พระ
ผู้มีพระภาคออกจากจตุตถฌานแล้ว เสด็จปรินิพพานในลำดับ
อาตมาได้นำเอามหาปรินิพพานสูตร ข้อ143-144 มาอ่านให้กับพวกเราได้รับฟัง เพื่อคงเนื้อความแห่งธรรม ที่ท่านพระอานนท์ได้แสดงเอาไว้ ในการร่วมรวมพระธรรมคำสอนในองค์พระสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นพระไตรปิฎก ตรงนี้เป็นการแสดงการกระทำฌานขององค์พระสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ในครั้งที่องค์พระสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า กำลังจะเสด็จดับขันธปรินิพพาน
ที่อาตมานำมาแสดงตรงนี้เพื่อคงเนื้อความแห่งธรรมให้บริบูรณ์นั้น เพื่อให้พวกเราได้เห็นว่า การกระทำฌานนั้น เป็นธรรมของบุคคลผู้ที่รู้เหตุเกิด รู้เหตุดับ รู้คุณ รู้โทษ รู้อุบายเครื่องออกจากผัสสาตนะทั้ง6 ตามความเป็นจริงแล้ว ต้องกระทำฌานในขณะที่อายตนะทั้ง6 คือตา หู จมูก ลิ้น กาย และจิตหรือใจนี้ทำงานอยู่ปกติ ทำงานอยู่ปกติ ทำอยู่ตลอดเวลา
ดังนั้นการกระทำฌาน จึงต้องกระทำอยู่ตลอดชีวิต ขณะที่ดำเนินชีวิตอยู่ต้องกระทำอยู่ตลอดเวลา เพราะความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย จะต้องปรากฏอยู่ตลอดเวลาเช่นเดียวกัน นั่นคือทุกข์ และที่สุดแม้กระทั่งกำลังจะปรินิพพาน ดังเช่นองค์พระสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ท่านนั้นก็กระทำฌาน ดังที่อาตมาได้อ่านเนื้อความแห่งธรรมให้กับพวกเราได้รับฟังแล้ว กระทำจากปฐมฌานไล่ขึ้นไป ปฐมฌาน ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน อากาสานัญจายตนญาณ วิญญาณัญจายตนญาณ อากิญจัญญายตนญาณ เนวสัญญานาสัญญายตนญาณ แล้วก็เข้าไปอยู่ในสัญญาเวทยิตนิโรธ
เมื่อเข้าไปอยู่ในสัญญาเวทยิตนิโรธแล้วก็ย้อนกลับลงมา สัญญาเวทยิตนิโรธก็มาเนวสัญญานาสัญญายตนญาณ ออกแล้วก็เข้ามาสู่อากิญจัญญายตนญาณ ออกแล้วก็เข้ามาสู่วิญญาณัญจายตนญาณ ออกแล้วก็เข้ามาสู่อากาสานัญจายตนญาณ ออกแล้วก็เข้าจตุตถฌานคือฌาน4 ออกแล้วก็เข้าตติยฌานคือฌาน3 ออกแล้วก็เข้าลงมาที่ทุติยฌานคือฌาน2 ออกแล้วก็เข้าลงมาที่ปฐมฌาน เมื่อสู่ปฐมฌานแล้วก็ย้อนกลับไปที่ทุติยฌาน ตติยฌาน จตุตถฌาน ไปตามลำดับ แล้วไปออกหรือไปสิ้นสุดที่จตุตถฌาน
เมื่อตรวจสอบสภาวะแห่งความสิ้น ความเกลี้ยง ของอาสวะกิเลสทั้งลาย เริ่มต้นที่เรารับทราบกันมา เมื่อปฐมฌานนั้น คุณจะต้องละกาม ละอกุศลธรรมให้สิ้น ไปตามลำดับ
ฌาน1ได้ปีติอันเกิดแต่วิเวก
ฌาน2 อยู่กับสภาวะนั้นเหมือนไม่มี เป็นนิรามิสัง สุขัง
ฌาน3 อยู่กับสภาวะนั้นที่มีเวทนาอันไม่ทุกข์ไม่สุข
ฌาน4 อยู่กับสภาวะนั้น อยู่กับสภาวะนั้นนะ เป็นผุ้สงบ เป็นผู้ดับแล้ว เป็นผู้ไม่มีอุปาทานใดๆแล้ว
ก้าวล่วงสู่ความเป็นอากาศที่ไม่มีที่สิ้นสุด ตรวจสอบไม่มีที่สิ้นสุด ไม่มีที่ใดกั้น
ก้าวสู่ความเป็นวิญญาณัญจายตนะที่ละเอียดประณีตกว่าอากาศอีก ไม่มีสิ่งใดกั้น
ตรวจสอบด้วยอากิญจัญญายตนะไม่ปรากฏมีสิ่งใดเลย
ตรวจสอบด้วยเนวสัญญานาสัญญายตนสมาบัติ ไม่มีสิ่งใดยังติดขัดอยู่ในจิตในใจตนเองเลย เกลี้ยง สิ้น
เป็นวิญญาณัง อนันตัง สัพพโต ปภัง
เป็นวิญญาณที่รู้แจ้ง ที่ไม่มีใครชี้ได้ ที่ไม่มีขอบเขต ที่แจ่มใสยิ่งนัก ดิน น้ำ ไฟ ลม ตั้งอยู่ที่นี่ไม่ได้
อุปาทายรูป ที่ยาว ที่สั้น ที่หยาบ ที่ละเอียด ที่หยาบ ที่งาม ที่ไม่งาม ตั้งอยู่ที่นี่ไม่ได้ สภาวะนี้คือความสิ้นเกลี้ยงในการกระทำฌาน ที่องค์พระสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงในขณะที่พระองค์ท่านกำลังจะปรินิพพาน โดยบุคลผู้ที่รู้ชัดในเรื่องนี้คือท่านพระอนุรุทธะ ท่านเป็นพระอรหันต์ เราจะเห็นว่าท่านพระอานนท์ยังไม่บรรลุธรรมตอนนี้ ท่านพระอานนท์ก็ไม่สามารถที่จะทราบในสภาวะนี้ได้ จึงต้องถามท่านพระอนุรุทธะ
ชี้ให้พวกเราได้เห็นตรงนี้ว่า การกระทำทุกคน ทำในขณะที่คุณมีชีวติอยู่ ที่คุณบรรลุธรรมแล้วคุณทำเลย ทำให้ขณะที่อายตนะทั้ง6 คุณมีอยู่ ทำในขณะที่อายตนะทั้ง6 คุณดำเนินอยู่ตามปกติตลอดชีวิต และที่สุดเมื่อจะต้องทำกาละ หรือจะต้องตายลงไป คนที่ทำฌานได้จนเป็นที่สุดนั้นไม่เรียกว่าตายธรรมดาแล้ว จะต้องเรียกว่าเป็นสภาวะที่เป็นปรินิพพานแล้ว ทุกคน ไม่ได้มีแต่องค์พระสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อรหันตสาวกทุกรูปท่านทำได้ ทำเหมือนกัน
บุคคลที่ตามอาตมามา ได้ฟังธรรมนี้แล้ว เมื่อบรรลุธรรมอันเป็นที่สุดแล้ว ทุกคน ย้ำทุกคน ก็จะต้องกระทำฌานในขณะที่ตนกำลังจะเสียชีวิต หรือกำลังจะปรินิพพานเช่นเดียวกัน จึงจะรอดพ้นออกจากวัฏสงสารนี้ได้ ถ้าไม่งั้นออกไม่ได้
เรามาดูสถาวะก่อนที่เราจะต้องปรินิพพานทุกคนดังนี้ อาตมาจะยกเอาธาตุวิภังค์ในข้อที่691 ที่องค์พระสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอุปมาการกระทำฌาน1ถึง4 อาตมาจะไม่แสดงการกระทำฌานนะ แต่จะเอาคำอุปมาที่พระศาสดาประกาศเอาไว้มาแสดงให้กับพวกเราได้รับฟัง วิญญูชน หรือผุ้รู้ตามธรรมที่อาตมาแสดงแล้วนี้ จะรู้ตามธรรมนี้ได้โดยง่าย มารับฟังดังนี้
ดูกรภิกษุ เปรียบเหมือนนายช่างทอง หรือลูกมือของนายช่างทองผู้ฉลาด ติดเตาสุมเบ้าแล้ว เอาคีมคีบทองใส่เบ้า หลอมไป ซัดน้ำไป สังเกตดูไปเป็นระยะๆ ทองนั้นจะเป็นของถูกไล่ขี้แล้ว หมดฝ้า เป็นเนื้ออ่อน สลวย และผ่องแผ้ว เขาประสงค์ชนิดเครื่องประดับใดๆ จะเป็นแหวน ตุ้มหู เครื่องประดับ มาลัยทองก็ตาม ย่อมสำเร็จความประสงค์อันนั้น แต่ทองนั้น
นี่คือลำดับของการกระทำฌานนะ องค์พระสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อุปมาด้วยการกระทำการของนายช่างทอง จนที่สุดทองนั้น เป็นทองที่หมดฝ้า คือไล่ขี้แล้วหมดฝ้า เป็นเนื้ออ่อนสลวย ผ่องแผ้ว เป็นอาการที่จิตของคนทุกคนที่กระทำฌานแล้วจะมีสภาวะเหมือนทองที่ถูกไล่ขี้แล้วนี้ นี่คือการบรรลุจตุตถฌานหรือฌาน1ถึง4 ถึงตรงนี้แล้วหลังจากนั้น บุคคลคนนี้จะน้อมเอาจิตของตน ที่สะอาดบริสุทธิ์แล้วนี้ ไปสู่อากาศ ไปสู่วิญญาณ ไปสู่อากิญจัญญายตนะ ไปสู่เนวสัญญานาสัญญายตนะ ไปสู่สัญญาเวทยิตนิโรธ ก็ย่อมกระทำได้ บุคคลคนนี้กระทำได้หมดเลย เมื่อกระทำฌานไปตามลำดับ
ดังนั้นองค์พระสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านตรัสเอาไว้ว่า
กิญจิ โลเก อุปาทิยติ อนุปาทิยัง น ปริตัสสติ อปริตัสสัง ปัจจัตตังเยว ปรินิพพายติ
ขีณา ชาติ วุสิตัง พรหมจริยัง
กตัง กรณียัง นาปรัง อิตถัตตายาติ คือดังนี้
บุคคลคนนั้น ผู้กระทำฌานแล้วจนสิ้น บุคคลนั้นจะไม่คำนึง ไม่คิดถึงความเจริญหรือความเสื่อมเลย เมื่อไม่คำนึง ไม่คิดถึง ย่อมไม่ยึดมั่นอะไรๆ ในโลก(มีแต่ไม่ยึดมั่นอะไรๆในโลก)เมื่อไม่ยึดมั่น ย่อมไม่หวาดเสียว เมื่อไม่หวาดเสียว ย่อมปรินิพพานเฉพาะตนทีเดียว ย่อมทราบชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี
ถ้าเขาเสวยเวทนาที่เป็นสุขอยู่ ก็ย่อมรู้ชัดว่า สุขเวทนานั้นไม่เที่ยง อันบัณฑิตไม่ติดใจ ไม่เพลิดเพลิน ถ้าเขาเสวยเวทนาอันเป็นทุกข์อยู่ ก็รู้ชัดว่า ทุกขเวทนานั้น เป็นของไม่เที่ยง อันบัณฑิตไม่ติดใจ ไม่เพลิดเพลิน เมื่อเขาเสวยเวทนาอันไม่ทุกข์ไม่สุขอยู่ ก็ย่อมทราบชัดว่า เวทนานั้นไม่เที่ยง อันบัณฑิตไม่ติดใจ ไม่เพลิดเพลิน
ถ้าเขาเสวยเวทนาอันเป็นสุขอยู่ ก็พรากใจเสวยออกจากเวทนาเป็นสุขนั้น(คือเสวยแล้วก็พรากออกมา ไม่ใช่ไม่เสวย)ถ้าเสวยทุกขเวทนาอยู่ ก็รู้ชัด แล้วก็พรากใจออกจากทุกขเวทนานั้น เมื่อเขาเสวยเวทนาอันไม่ทุกข์ไม่สุขอยู่ ก็พรากใจเสวยจากเวทนาอันไม่ทุกข์ไม่สุขนั้นออกมา
เมื่อออกมาได้ดังนี้ เราจะเห็นชัดว่าขณะที่ดำเนินชีวิตเราก็เป็นสุข เราอยู่เป็นสุขมาตลอดเวลา เพราะเวทนาที่ตา ที่หู ที่จมูก ที่ลิ้นที่กาย ที่จิตของเราต้องเกิด เกิดอยู่ตลอดเวลาเมื่อเราเสวยแล้ว เราก็พรากออกมา เราไม่ติดใจ ไม่เพลิดเพลิน ไม่พร่ำเพ้อ ไม่บ่นถึงในสิ่งนั้น จนที่สุด
โส กายปริยันติกัง เวทนัง เวทิยมาโน
กายปริยันติกัง เวทนัง เวทิยามีติ ปชานาติ
โส ชีวิตปริยันติกัง เวทนัง เวทิยมาโน
ชีวิตปริยันติกัง เวทนัง เวทิยามีติ ปชานาติ
ตรงนี้นะว่า ถ้าเมื่อเขาเสวยเวทนาอันมีกายเป็นที่สุด ก็ย่อมรู้ชัดว่ากำลังเสวยเวทนาที่มีกายเป็นที่สุด
ความหมายคือ ถ้าเรารู้ว่า เราจะต้องตายนะ ร่างกายเราจะต้องแตกทำลายนะ เราก็รู้ชัดว่าขณะนี้ ถึงความเป็นที่สุดแห่งมีร่างกายนี้แล้ว เรากำลังจะต้องมีกายที่แตกทำลายไปแล้ว จะต้องตายแล้ว
หรือถ้าเข้าเสวยเวทนามีชีวิตเป็นที่สุด ก็ย่อมรู้ชัดว่ากำลังเสวยเวทนาที่มีชีวิตเป็นที่สุด คือรู้ว่าตนจะต้องเสียชีวิตแน่นอน จะต้องสิ้นชีวิตแน่นอน จะต้องตายแน่นอน ต้องรู้ชัด ไม่ใช่มั่วๆเดาๆเอาไม่ได้ จะต้องรู้ชัดเจน
เมื่อรู้ดังนี้แล้วและรู้สึกว่า เบื้องหน้าแต่แตกกายตายไปเพราะสิ้นชีวิตแล้ว ความเสวยอารมณ์ทั้งหมดที่ยินดีกันแล้วในโลกนี้ ต่อไปก็จะเป็นของสงบเช่นนี้
ดังนั้น การกระทำฌานนั้น ไม่ใช่ไปทำเอาเฉพาะวันกำลังที่จะต้องเสียชีวิต หรือกายกำลังจะต้องแตกจะต้องทำลายเท่านั้น จะต้องทำไปตามลำดับ ทำไปตามลำดับ ไม่แน่ ว่าชาตินี้อาจจะไม่ปรินิพพานก็ได้ แต่คุณได้ทำแล้ว จะต้องทำไปตามลำดับ หรือถ้าแม้ว่าชาตินี้ต้องปรินิพพาน ก็ต้องรู้ชัดดังที่อาตมาชี้ให้ดูนี้
วันนี้อาตมาได้นำเอามหาปรินิพพานสูตร โดยเฉพาะคุณสมบัติที่ปรากฏกับองค์พระสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่อรหันตสาวกนำมาแสดง และอาตมาได้อาศัยธาตุวิภังคสูตร ปริวีมังสนสูตรบ้าง มาเป็นที่ตั้ง เพื่อแสดงให้กับพวกเราได้เห็นว่า การกระทำฌานนั้นจะต้องทำอยู่ทุกขณะ ที่มีตา หู จมูก ลิ้น กาย และจิตดำเนินชีวิตอยู่
เพราะเราจะต้องมีกายนี้อยู่มีอัตตาตัวตนนี้อยู่ จะต้องอาศัยกามคุณ5 ที่เป็นอาหารทั้งหมด เข้ามาทางตา เข้ามาทางหู เข้ามาทางจมูก เข้ามาทางลิ้น เข้ามาทางกาย เข้ามาทางจิตของเรา เพื่อเลี้ยงชีวิต
ในขณะที่เราเลี้ยงชีวิตนี้ เราก็จะต้องรับสุข รับทุกข์ รับไม่ทุกข์ไม่สุขในเวทนานั้นก่อน แล้วก็พรากออก พรากออกโดยการกระทำฌาน กระทำฌานอยู่ตามลำดับ ฌาน1ถึง8 ฌาน1ถึง8 ฌาน1ถึง8 จบแล้วไปอยู่ที่สัญญาเวทยิตนิโรธ และจนที่สุด วันที่จะต้องเสียชีวิตลง กายแตกตายเพราะสิ้นชีวิตลงนี้ เราก็จะต้องกระทำฌานอยู่เช่นเดี่ยวกัน เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องขององค์พระสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเพียงคนเดียว ไม่ใช่เรื่องของอรหันตสาวกเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของคนทุกคน ที่ปรารถนาที่จะพ้นทุกข์ออกจากวัฏสงสาร
อาตมาได้แสดงให้กับพวกเราได้ดูแล้วว่า ได้รู้ชัดแล้วว่า การกระทำฌานนั้น จะต้องกระทำแม้ขณะที่กำลังจะปรินิพพาน เราเองก็จะต้องทำความปรินิพพาน เราจึงจะพ้นทุกข์
อนุโมทนากับทุกคนเอาไว้เท่านี้
แสดงธรรมโดย หลวงพ่อ พุทธปัญโญ
วันจันทร์ที่ 17 เดือน พฤษภาคม ปี 2564

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา