7 พ.ค. 2022 เวลา 05:00
ฌาน คือ สมถะ และ วิปัสสนา
เพื่อความถ้วนรอบในฌาน ลำดับต่อไปนี้อาตมาจะแสดงธรรมในหัวข้อธรรมว่า ฌาน คือสมถะ และวิปัสสนา โดยอาตมาได้อาศัยเอา เทวทหสูตร พระสูตรที่1 ข้อที่ 1 จากพระไตรปิฎกฉบับหลวงเล่มที่14 เป็นที่ตั้ง เพื่อแสดงธรรมนี้ ขอพวกเราได้รับฟังไปตามลำดับเถิด
ในเบื้องต้นนี้ขอแสดงคำว่า สมถะและวิปัสนาพร้อมความหมายก่อน
คำว่า สมถะ หมายถึง เครื่องรำงับ หรือเครื่องระงับความทุกข์ที่เกิดขึ้นแล้ว ให้หมดสิ้นลงไป คำว่า วิปัสนา คือ ความเห็นจริงในทุกข์ที่เกิดขึ้น และกระทำความทุกข์นั้นให้ดับไป นี่คือคำว่า สมถะและวิปัสสนา พร้อมความหมาย
ลำดับต่อไปนี้ อาตมาจะนำเอาเนื้อความแห่งธรรมที่พระศาสดาได้อุปมาในสมถะ และได่อุปมาในวิปัสสนาญาณหรือวิปัสสนามาอ่านให้กับพวกเราได้รับฟัง แล้วจะอธิบายสรุปให้กับพวกเราได้รับฟังด้วย เรามาเริ่มต้นกันดังนี้
เทวทหสูตรข้อที่13 ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนชายผู้กำหนัด มีจิตปฏิพัทธ์พอใจอย่างแรงกล้า มุ่งหมายอย่างแรงกล้าในหญิง เขาเห็นหญิงนั้น ยืนพูดจากระซิกกระซี้ร่าเริงกับชายอื่น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ความโศก ความรำพัน ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ และความคับแค้นใจ จะพึงเกิดขึ้นแก่ชายนั้น เพราะเห็นหญิงคนโน้นยืนพูดจากระซิกกระซี้ร่าเริงอยู่กับชายอื่นบ้างหรือไม่
พวกภิกษุทูลว่า ต้องเป็นเช่นนั้น พระพุทธเจ้าข้า
พระผุ้มีพระภาคจึงตรัสต่อว่า ข้อนั้นเพราะเหตุใด
ภิกษุเหล่านั้น กราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า เพราะชายคนโน้นกำหนัดนักแล้ว มีจิตปฏิพัทธ์ พอใจอย่างแรงกล้า มุ่งหมายอย่างแรงกล้าในหญิงคนโน้น ฉะนั้น ความโศก ความรำพัน ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจและความคับแค้นใจ จึงเกิดขึ้นได้แก่เขา เพราะเห็นหญิงนั้น ยืนพูดจากระซิกกระซี้ร่าเริงอยู่กับชายคนอื่น
พระผุ้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสต่อว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ต่อมาชายคนนั้นมีความดำริอย่างนี้ว่า เรากำหนัดนักแล้ว มีจิตปฏิพัทธ์ พอใจอย่างแรงกล้า มุ่งหมายอย่างแรงกล้าในหญิงคนโน้น ความโศก ความรำพัน ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจและความคับแค้นใจ จึงเกิดขึ้นแก่เราได้ เพราะเห็นหญิงคนโน้นยืนพูดจากระซิกกระซี้ร่าเริงอยู่กับชายคนอื่น อย่ากระนั้นเลย เราพึงละความกำหนัดพอใจในหญิงคนโน้นที่เรามีนั้นเสีย เขาจึงละความกำหนัดพอใจในหญิงคนโน้นนั้นเสีย สมัยต่อมา เขาเห็นหญิงคนนั้นยืนพูดจากระซิกกระซี้ร่าเริงอยู่กับชายอื่น
ดูกรภิกษุทั้งหลายพวกเธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ความโศก ความรำพัน ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ และความคับแค้นใจ จะพึงเกิดขึ้นแก่ชายนั้น เพราะเห็นหญิงคนโน้นยืนพูดจากระซิกกระซี้ร่าเริงอยู่กับชายคนอื่นบ้างหรือไม่
ภิกษุทั้งหลายตอบว่า ข้อนั้นหามิได้ พระพุทธเจ้าข้า
พระผุ้มีพระภาคจึงตรัสต่อว่า ข้อนั้นเพราะเหตุไร
ภิกษุทั้งหลายจึงกราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า เพราะชายคนโน้น คลายความกำหนัดในหญิงคนโน้นเสียแล้ว ฉะนั้น ความโศก ความรำพัน ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ และความคับแค้นใจ จึงไม่เกิดขึ้นแก่เขา เพราะเห็นหญิงนั้นยืนพูดกระซิกกระซี้ร่าเริงอยู่กับชายคนอื่น
นี่คือสมถะ นี่คือสมถะ คำว่าสมถะคือเครื่องรำงับความทุกข์ที่เกิดขึ้นแล้ว อาตมาอธิบายสรุปให้พวกเราได้ฟังดังนี้ว่า ผู้ชายคนหนึ่ง เห็นผู้หญิงคนหนึ่ง ผู้ชายคนนี้ เมื่อเห็นผู้หญิงคนนี้แล้ว ด้วยตาด้วยจักษุ หูเขาก็ย่อมได้รับรู้เรื่องของผู้หญิงคนนี้ดีงามเมื่อก่อน จมูกเขาก็ได้กลิ่นผู้หญิงคนนี้ว่าหอมหวน ลิ้นเขาก็รับรสว่าผู้หญิงคนนี้อร่อย กายของเขาก็ได้รับรู้ว่าสัมผัสในหญิงคนนี้นุ่มนวล จิตของเขาก็ได้รับรู้ว่าผู้หญิงคนนี้ดีงาม เข้าจึงมีความกำหนัด มีจิตปฏิพัทธ์ต่อหญิงคนนี้อย่างแรงกล้า เพราะเขานั้นเห็นผู้หญิงคนนี้ สัมผัสในผู้หญิงคนนี้ ด้วยอายตนะทั้ง6 คือตา หู จมูก ลิ้น กาย จิตหรือใจของเขาอย่างพร้อมแล้ว เขาก็ยึดว่าเป็นของเขา ยึดว่าเป็นของเขาแล้ว ด้วยตัณหา
ตอนแรกเขา ปริเยสนา หาผู้หญิงคนนี้ และที่สุดได้ผู้หญิงคนนี้มา เมื่อได้ผู้หญิงคนนี้มาเขา วินิจฉัยโยแล้วตรวจสอบดูว่าผู้หญิงคนนี้ว่าถูกต้องไหม เมื่อถูกต้อง เข้าจึงพอใจผู้หญิงคนนี้ ใส่ใจในหญิงคนนี้ อัชโฌสานัง ยึดผู้หญิงคนนี้ว่าเป็นของเขา ปริคคโห ตระหนี่ถี่เหนียวในผู้หญิงคนนี้ มัจฉริยัง ไม่ยอมให้พรากให้จาก ปฏิอารักโข ต่อต้านสุดขีด อกุศลมูลจึงเกิดขึ้น
แต่ความเป็นจริงในหญิงคนนี้ ผู้หญิงคนนี้ไม่ได้คิดอย่างเขา ไม่ได้มีจิตปฏิพัทธ์ต่อเขา มีเขาคนเดียวที่ไปยึดไปมั่นในผู้หญิงคนนี้ พอกาลต่อมาเมื่อเห็น เขาเห็นผู้หญิงคนนี้ไปกระซิกกระซี้ร่าเริ่งอยู่กับชายคนอื่น เขาจึงเกิดความทุกข์ขึ้น เพราะเขาหนะรักในผู้หญิงคนนี้ มุ่งมั่นมุงหมาย มีจิตปฏิพัทธ์ต่อหญิงคนนี้อย่างแรง อย่างเป็นที่สุดของชีวิต เขาจึงเป็นทุกข์
เมื่อเกิดทุกข์แล้ว หลังจากนั้นเขาได้สติ เขารู้ว่า เขาได้เกิดความทุกข์ขึ้น เพราะเขามีจิตกำหนัดในหญิงคนนี้ มีจิตปฏิพัทธ์ต่อหญิงคนนี้อย่างแรงกล้า ความโศก ความร่ำไร ความรำพัน ความทุกข์กาย ความทุกข์ใจ และความคับแค้นใจ จึงเกิดขึ้นแก่เขา เพราะเขามีจิตปฏิพัทธ์ หลังจากนั้นเขาได้คลายจิตปฏิพัทธ์ คือคลายกำหนัดต่อผู้หญิงคนนั้นเสีย
อาการคลายกำหนัดนั้น มีวิธีเดียว คือการกระทำฌานไปตามลำดับ แต่ในที่นี้ พระศาสดาสรุปสั้นๆ เราผู้รู้จะต้องรู้ว่า ไอ้แค่เราจะคิดว่า คลายความกำหนัดเสียนะ เราพูดได้ แต่ทำได้ยากยิ่งนัก ถ้าไม่เป็นไปตามขั้นตามตอน อุปายาสจะเกิดขึ้นกับเราแน่นอนในตอนท้ายถ้าเราทำไม่ถูกต้อง
เพราะฉะนั้นในที่ตรงนี้ อาตมาได้แสดงให้พวกเราได้ดูว่า คำว่าสมถะในที่ตรงนี้คือ การกระทำฌาน1 เบื้องต้นชายคนนี้กระทำฌาน1 โดย วิวิจเจว กาเมหิ วิวิจจ อกุสเลหิ
เขาละกาม ละอกุสลธรรมจากผู้หญิงคนนี้ ละจนเกลี้ยง จนสิ้น จนเขาได้ปีติอันเกิดแต่วิเวก นี่เขาจึงได้ฌาน1 เขาจึงตั้งมั่นอยู่ได้
สภาวะที่2 เขาก็ได้สุขเหมือนปราศจากอามิส เห็นผู้หญิงคนนี้อยู่นะ ไม่ใช่ไม่มีผู้หญิงคนนี้ในโลก มีอยู่ เห็นผู้หญิงนี้ไปกับผู้ชายอื่นด้วย เขาก็เป็นสุข เขาก็เป็นสุข ไม่ใช่เป็นทุกข์แล้ว
สภาวะที่3 คือฌาน3 เขาเห็นผู้หญิงคนนี้อยู่ เขาเห็นผู้หญิงคนนี้ไปกับชายคนอื่น จิตของเขากลับไม่ทุกข์ไม่สุข ไม่ยินดีไม่ยินร้าย ทั้งไม่ยินดีไม่ยินร้ายในผู้หญิงคนนี้ คือเป็นอุเบกขาอยู่
และที่สุดสภาวะที่4 เขากลับเป็นผู้สงบ เป็นผู้ดับแล้วเป็นผู้ไม่มีอุปาทาน ไม่ยึด ไม่ติด ไม่มั่นในผู้หญิงคนนั้นแล้ว เป็นไปตามลำดับเลย นี่คือความหมายของคำว่า สมถะ เราเห็นนะ เนื้อความแห่งอุปมานั้นสั้น แต่วิญญูชนจะรู้ได้ตามธรรมนี้
เอาหล่ะเราผ่านสมถะไปแล้ว ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในกรณีใดก็ตาม เรารักในสิ่งใด เรายินดีต่อสิ่งใด มีจิตปฏิพัทธ์ต่อสิ่งใดถ้าสิ่งนั้นแปรปรวนไป เราย่อมเป็นทุกข์ทั้งสิ้น ตรงนี้พระศาสดาอุปมาสิ่งที่มนุษย์นั้น ทั้งชายทั้งหญิงนั้น เมื่อเกิดมาแล้ว อย่างเช่นผู้ชาย จะรู้สึกว่าตนเองมีความบริบูรณ์ในชีวิตที่สุดก็คือมีผู้หญิงมาเคียง ผู้หญิงก็เช่นกัน ถ้าเกิดมาแล้วถ้าจะให้ชีวิตของตนที่ความเป็นหญิงนั้นบริบูรณ์ ก็จะต้องมีผู้ชายมาเคียง แต่ผู้รู้ในทุกข์แล้ว ถ้าอยู่อย่างอุเบกขาก็มีสุขยิ่ง นี้คือสมถะหรือการกระทำฌาน
ลำดับต่อไปนี้อาตมาจะนำเอาเนื้อความแห่งธรรม ที่พระศาสดาอุปมาเรื่องของวิปัสสนา มาอ่านให้กับพวกเราได้รับฟังใน ข้อที่15 ดังนี้ว่า อีกประการหนึ่ง ภิกษุพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เมื่อเราอยู่ตามสบาย อกุศลธรรมย่อมเจริญยิ่ง กุศลธรรมย่อมเสื่อมไป แต่เมื่อเราเริ่มตั้งตนเพื่อความลำบาก อกุศลธรรมย่อมเสื่อม กุศลธรรมย่อมเจริญยิ่ง อย่ากระนั้นเลย เราพึงเริ่มตั้งตนเพื่อความลำบากเถิด เธอจึงเริ่มตั้งตนเพื่อความลำบาก เมื่อเธอเริ่มตั้งตนเพื่อความลำบากอยู่ อกุศลธรรมย่อมเสื่อม กุศลธรรมย่อมเจริญยิ่ง สมัยต่อมา เธอก็ไม่ต้องเริ่มตั้งตนเพื่อความลำบากนั้นได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะภิกษุนั้นเริ่มตั้งตนเพื่อความลำบาก เพื่อประโยชน์ใด ประโยชน์นั้นของเธอ เป็นอันสำเร็จแล้ว ฉะนั้น สมัยต่อมา เธอจึงไม่ต้องเริ่มตั้งตนเพื่อความลำบากได้
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนช่างศร ย่างลนลูกศรบนข่าไฟ 2 อัน ดัดให้ตรงจนใช้การได้ เพราะเหตุที่ลูกศรนั้น เป็นของอันช่างศรย่างลนบนข่าไฟ 2 อัน ดัดให้ตรงจนใช้การได้แล้ว สมัยต่อมา ช่างศรนั้นไม่ต้องย่างลนลูกศรนั้นบนข่าไฟ 2 อัน ดัดให้ตรงจนใช้การได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะช่างศรนั้นพึงย่างลนลูกศรบนข่าไฟ 2 อัน ดัดให้ตรงจนใช้การได้ เพื่อประโยชน์ใด ประโยชน์นั้นของเธอเป็นอันสำเร็จแล้ว ฉะนั้น สมัยต่อมา ช่างศรจึงไม่ต้องย่างลนลูกศรบนข่าไฟ 2 อัน ดัดให้ตรงจนใช้การได้ ฉันใด
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฉันนั้นเหมือนกันแล ภิกษุย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า เมื่อเราอยู่ตามสบาย อกุศลธรรมย่อมเจริญยิ่ง กุศลธรรมย่อมเสื่อมไป แต่เมื่อเราเริ่มตั้งตนเพื่อความลำบาก อกุศลธรรมก็ย่อมเสื่อม กุศลธรรมย่อมเจริญยิ่ง สมัยต่อมา เธอไม่ต้องเริ่มตั้งตนเพื่อความลำบากได้ ข้อนั้นเพราะเหตุไร
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะภิกษุนั้นเริ่มตั้งตนเพื่อความลำบาก เพื่อประโยชน์ใด ประโยชน์นั้นของเธอ เป็นอันสำเร็จแล้ว ฉะนั้น สมัยต่อมา เธอจึงไม่ต้องเริ่มตั้งตนเพื่อความลำบากแล
ดูกรภิกษุทั้งหลายความพยายามมีผล ความเพียรมีผล แม้อย่างนี้
พวกเราที่ได้ฟังธรรมของพระศาสดาที่อาตมาแสดงมาตามลำดับจะรู้ว่า นี่คือวิปัสสนาญาณ หรือการกระทำฌานในโพธิปักขิยธรรมทั้งสิ้น นี่คือการปฏิบัติธรรม โดยองค์ธรรมที่ชื่อว่าโพธิปักขิยธรรม เพราะเบื้องต้นนั้นคำว่า นิโรธคือคำว่าสมถะ เมื่อซักครู่นี้ ที่ผู้ชายคนนั้นกำหนัดในผู้หญิงคนนั้น และคลายความกำหนัดจากผู้หญิงคนนั้นนั้น นั่นเป็นนิโรธเป็นสภาวะแต่ละสภาวะๆไป
แต่พอถึงวิปัสสนาญาณ หรือวิปัสสนา คือเห็นความจริงตามความเป็นจริงว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่ตา หู จมูก ลิ้น กาย จิตของเราเข้าไปปฏิพัทธ์ ไปยินดีในสิ่งนั้น ไปถือเอาสิ่งนั้นว่าเป็นของเรา เราเป็นนั่นเป็นตัวเป็นตนของเราดังนี้ ถ้าเรายึดดังนี้ ทุกสิ่งทุกอย่าง จะมีสภาวะ ที่เป็น อนิจจโต ไม่เที่ยง จะทำให้เราเป็นทุกข์ สิ่งเหล่านั้นไม่ใช่สิ่งที่เป็นตัวเป็นตนเลย เพราะสิ่งเหล่านั้นไม่เป็นตัวเป็นตนจนทำให้เราเกิดทุกข์ โทมนัส อุปายาส ตามมา อย่างไม่มีที่ติเลย อย่างไม่มีที่ยกเว้นเลย
ดังนั้น ถ้าเมื่อเราได้รู้ชัดว่าทุกสิ่งทุกอย่าง จะต้องเป็นของไม่เที่ยง บัณฑิตจะต้องไม่ติดใจ ไม่เพลิดเพลินแล้วเรารู้ดังนั้น เราก็ทำวิปัสสนาญาณ โดยการประพฤติปฏิบัติกระทำฌานในทุกสิ่ง ตามธรรมที่ชื่อว่าโพธิปักขิยธรรม ให้เกลี้ยงก่อน ให้เกลี้ยงก่อน อย่างเช่น เรามีมารดา บิดา มีสามี มีภรรยา มีบุตร มีธิดา มีทาสชาย ทาสหญิง มีช่าง ม้า ลา โค หมู แพะ แกะ ไก่ เงินทอง มีเสื้อผ้า มีอาหาร มีบ้าน มียา สิ่งเหล่านี้จะต้องแปรปรวน จะต้องแปรปรวนไปแน่นอน มารดาก็จะต้องแก่ มารดาต้องเจ็บ มารดาต้องตาย บิดาต้องแก่ บิดาต้องเจ็บ บิดาต้องตาย ต้องพลัด ต้องพราก สามี ภรรยา บุตร ธิดา ล้วนแล้วแต่มีอาการเดียวกันทั้งนั้น
เรารู้ชัดแล้วว่าสิ่งเหล่านี้ สิ่งที่มีอยู่นี้ เพื่อเป็นอาหารของชีวิตเรา ของร่างกายของอัตตาตัวตนเรา เป็นอาหารทั้งนั้น แต่อาหารเหล่านั้น เราจะยึดจะติดเอาไว้ไม่ได้ วันหนึ่งถ้าเรายึดเราติดเราจะเกิดความทุกข์โทมนัส เราก็กระทำการละกาม ละอกุศลธรรมจากสิ่งเหล่านั้นให้สิ้นไปก่อน ให้สิ้นไปก่อน ละออก เป็นภาวิตา พหุลีกตา ทำให้มาก ทำให้เจริญ ทำให้ยิ่งๆขึ้น อเสวนา ภาวิตา พหุลีกตา ไปเสพ ไปคุ้น ไปทำให้เจริญ ไปทำให้มากให้คุ้นเคย ให้รู้สึกว่าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่เราไม่ยึดไม่ติด
แต่สิ่งเหล่านั้นวันหนึ่งจะต้องเกิดขึ้นนะ อย่างเช่นเราละจากความยึดความติดในมารดาได้แล้ว อยู่กับมารดาอย่างเป็นสุข แต่วินาทีสุดท้าย จะต้องมีการพรากจากกันจริงๆ อารมณ์ขนาดนั้นจะต้องถูกกระทบบ้าง แต่เมื่อเราได้กระทำวิปัสสนาญาณ หรือการทำฌานไปตามลำดับ ตามธรรมโพธิปักขิยธรรมแล้ว เมื่อเกิดขึ้น เรากลับจะได้ฌานทั้ง 8 อย่างบริบูรณ์ เรากลับจะได้ฌานทั้ง 8 บริบูรณ์
เมื่อเกิดขึ้นย่อมกระทบบ้าง นั่นหมายถึงว่า เมื่อตา หู จมูก ลิ้น กาย จิตกระทบสิ่งนั้นแล้วเราย่อมรู้ว่า เราได้กระทบสิ่งนั้นแล้ว เมื่อเรากระทบสิ่งนั้นแล้ว เรารู้ว่าสิ่งเหล่านั้นล้วนแต่ไม่เที่ยงแปรปรวนไป เราก็ดับ เราก็ทำความดับทุกข์นั้นเสีย ด้วยการกระทำฌาน โดยการปฏิบัติโพธิปักขิยธรรมนั่นแหละ
รายละเอียดดังที่อาตมาได้ชี้ให้ดูแล้ว แต่ตรงนี้ อาตมาได้ชี้ให้ดูว่านี่คือวิปัสสนาญาณเราต้องกระทำ กระทำอยู่ก่อน เหมือนลูกศรของช่างศรอาจจะคดอยู่ตอนแรก หลังจากนั้นลูกศรก็ได้ถูกช่างศรเอามาย่างรนบนข่าไฟ ดัดให้ตรง นั่นหมายถึงว่า นายช่างศรจะต้องรู้ว่า ลูกศรจะต้องถูกใช้แน่นอนในวันหน้า เขาก็มาดัดให้ตรง ไม่ต้องไปให้มันคดมันโค้งอยู่ในเวลาที่จะถูกใช้
พอจะใช้จริงๆ พอเจอะกับเหตุการณ์ที่ต้องใช้จริงๆ กลับยังจะต้องมาดัดลูกศรอยู่ใหม่ บุคคลคนนั้นไม่ได้ทำวิปัสนาญาณไว้ก่อน ไม่ได้กระทำฌานในสิ่งนั้นๆ หรือไม่ได้ปฏิบัติในโพธิปักขิยธรรมไว้ก่อน บุคคลคนนั้นจะเป็นทุกข์ แต่ถ้าใครที่ได้ดัดลูกศรแล้ว ตรงแล้ว ถึงเวลานั้นปั๊บ เขาได้ทำการดัดลูกศรแล้วลูกศรก็ถูกใช้ยิงไปทันที ประสบผลสำเร็จทันที
อาตมาไม่อาจจะ ลบหลุ่พวกเราโดยการอธิบายเนื้อความแห่งธรรมนี้ อาตมาเชื่อมั่นว่าปวงญาติทั้งหลาย ที่ฟังอาตมาอยู่ จะเข้าใจเนื้อความแห่งธรรมนี้ได้ตามฐานะของวิญญูชนได้ นี่คือ สมถะ และ วิปัสสนา
อาตมานำธรรมนี้มาแสดงเพื่อให้พวกเราได้เห็น คุณอันประเสริฐยิ่ง ของธรรมที่พระศาสดาประกาศไว้ให้เป็นธรรมสำหรับดับทุกข์ คือฌาน ซึ่งเป็นทั้งสมถะ และ วิปัสสนา
อาตมาจะอธิบายเนื้อความในลักษณะนี้อย่างเช่น เจโตวิมุต ปัญญาวิมุติ หรือนิโรธกับมรรค ในลำดับต่อไป เพื่อให้พวกเราได้เห็นแจ้งไปตามลำดับ
ตอนนี้อนุโมทนากับทุกคนเอาไว้เท่านี้ก่อน
แสดงธรรมโดย หลวงพ่อ พุทธปัญโญ
วันพุธที่ 19 เดือน พฤษภาคม ปี 2564

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา