10 พ.ค. 2022 เวลา 12:31 • การศึกษา
ห้ามผู้หญิง เข้าภายในอุโบสถ
ความเชื่อจากโลกเก่า ปะทะความเจ็บปวดจากโลกใหม่
ห้ามผู้หญิงเข้าภายในโบสถ์ กฎและระเบียบปฏิบัติสำหรับบางวัด ที่ยังดำรงค์ไว้สืบต่อกันมาหลายชั่วรุ่น แต่เมื่อโลกเราเริ่มก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ ยุคที่มีการกล่าวอ้างถึงสิทธิความเสมอภาค สุดท้ายมันก็กลายเป็นประเด็นสุดอ่อนไหว ต่อค่านิยมจากโลกเก่า ปะทะความเจ็บปวดจากโลกใหม่
1
ความเชื่อยังคงยืนหนึ่ง เรื่องที่ไม่ควรนำมาเถียงกัน หรือแจกแจงด้วยเหตุผลนานาประการ ไม่ว่าจะพิสูจน์ได้ด้วยวิทยาศาสตร์ หรือไม่สามารถพิสูจน์ได้ก็ตาม ดั่งเรื่องข้อห้ามบางอย่าง ของบางวัด ที่ห้ามผู้หญิง ย่างกรายเข้าไปภายในอุโบสถ สถานที่สำหรับสังฆกรรมของสงฆ์
มีศาสนาสถานหลายแห่งในประเทศไทย ซึ่งมีกฏเกณฑ์การเข้าไปไหว้พระ ขอพรภายในโบสถ์ ว่าด้วยเรื่องของสตรี คือการห้ามมิให้สตรีนางใด ล่วงล้ำเข้าสู่เขตพัทธสีมา ที่เชื่อว่า คือพื้นที่อันศักดิ์สิทธิ์ ซึ่งเต็มไปด้วยคาถา อาคม และความเชื่อนานาประการ
1
หากเราจะตีความ ตามหลักพุทธศาสนากันแบบซีเรียส ตรงประเด็นแล้ว "โบสถ์" หมายถึง สถานที่ทำพิธีกรรมของพระสงฆ์ แต่เดิมคาดว่า กำหนดขอบเขตเป็นพื้นที่ ภายในอาราม ที่เรียกว่า "สีมา"
ต่อมาในยุคหลัง จึงเริ่มมีการสร้างเป็นสถานที่จำเพาะ เจาะจงขึ้น แล้วก็เรียกกันว่า "โรงอุโบสถ" แต่จุดประสงค์การใช้งาน ก็ยังเป็นเช่นเดิม คือเพื่อทำสังฆกรรม เช่น การทำพิธีอุปสมบท การฟังสวดปาฏิโมกข์ เป็นต้น
ตามกฏของระเบียบพุทธบัญญัติ ปรากฏพระวินัยกำกับไว้ว่า พิธีกรรมของพระสงฆ์ในพุทธศาสนานั้น จำเป็นจะต้องทำภายในเขตอุโบสถเท่านั้น หรือเขตที่สงฆ์สมมติขึ้นเป็นสีมาเท่านั้น เพราะไม่อย่างนั้นแล้ว ย่อมส่งผลให้สังฆกรรมเสียหาย คือ สังฆกรรมไม่สำเร็จ หรือ แปลเป็นภาษาชาวบ้านว่า "มันใช้ไม่ได้"
แต่ประเด็นสำคัญมันอยู่ตรงที่ การทำสังฆกรรมใด ๆ ในเขตพื้นที่สีมา ก็เพื่อให้เกิดความถูกต้อง ตามที่พระวินัยบัญญัติไว้เท่านั้น ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับความเข้มขลังศักดิ์สิทธิ์ หรืออิทธิปาฏิหาริย์ใดๆ ทั้งสิ้น
ในช่วงที่พระสงฆ์กำลังทำพิธีกรรม ภายในอุโบสถนั้น จำเป็นต้องกันเขตสีมา เพื่อไม่ให้บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้อง เข้าไปในเขตหัตถบาส หรือก็คือ เขตที่พระสงฆ์กำลังนั่งรวมกันทำพิธี เหตุผลก็เพราะจะทำให้สังฆกรรมเสียหายได้
สำหรับวัดทั่วไปส่วนใหญ่แล้ว นอกเหนือจากที่กล่าวไปในข้างต้น ก็มักเปิดให้บุคคลภายนอก เข้าไปไหว้พระพุทธรูป ที่ประดิษฐานอยู่ภายในอุโบสถ เพื่อขอพรตามปกติ ซึ่งหากเป็นอารามหลวง จะเรียกว่า "พระอุโบสถ"
ถึงแม้จะมีกรณีของบางวัด ที่จัดเก็บศาสนสมบัติบางอย่างเอาไว้ อาจจะมีการเปิดและปิดเป็นเวลา หรือเปิดเฉพาะช่วง ที่มีเจ้าหน้าที่อยู่เท่านั้น เนื่องจากเป็นการป้องกันการโจรกรรม ก็นับเป็นเหตุผลที่ศาสนิกชนเข้าใจได้
กลับมาที่ความเชื่อ การห้ามสตรีย่างกรายเข้าอุโบสถ เรื่องนี้หากอิงตามหลักตามคำสอน ทั้งในพระธรรมและพระวินัยแล้ว ไม่ปรากฏว่าต้องห้ามด้วยเหตุผลใด โดยเฉพาะด้วยวัตถุประสงค์กราบไหว้บูชา อย่างที่ชาวพุทธทั่วไปนิยมทำกัน
แต่หากสถานที่ใด วัดใด หรือสำนักใด มีความเชื่อหรือกฎระเบียบข้อห้ามดังกล่าว ก็ไม่ได้ถือเป็นสิ่งผิด เพียงแต่เป็นความเชื่อของชุมชนนั้นๆ ซึ่งยึดถือปฏิบัติกันมาตั้งแต่อดีต จากแนวคิดลัทธิอื่น ที่เคยแทรกซึมอยู่ในพุทธศาสนา ตั้งแต่ครั้งโบราณ
ยกตัวอย่างของลัทธิพราหมณ์-ฮินดู ที่เคยรุ่งเรืองยุคอาณาจักรล้านนา ล้านช้างเมื่อครั้งอดีตที่เชื่อว่า ผู้หญิงมีสิ่งไม่เป็นมงคลอยู่ในร่างกาย เช่น มีระดู มีประจำเดือน ไม่เหมาะที่จะให้เข้าสู่พื้นที่ประดิษฐานสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ที่ชุมชนนับถือ
ความเชื่อและหลักปฏิบัติเหล่านี้ น่าจะค่อยๆ แทรกซึมเข้าสู่พุทธศาสนา จนวันหนึ่งกลายเป็นสิ่งปฏิบัติ เกินจะแยกออกจากกัน คงเป็นเรื่องยาก ที่จะตีความด้านพระธรรมวินัย หรือแม้แต่พุทธบัญญัติ
ปัจจุบันเรื่องดังกล่าว ค่อนข้างถูกวิพากวิจารณ์อย่างกว้างขวาง ถึงเหตุผลต้องห้าม ที่ขัดต่อหลักปฏิบัติสากล ยังไม่รวมถึงกรณีความเสมอภาค ตามหลักความคิดของคนรุ่นใหม่
3
เชื่อว่ายังมีอีกหลายกรณี ที่ยังขัดแย้งระหว่าง อิทธิพลความเชื่อเก่าแก่ กับแนวคิดใหม่ๆ ของสังคมโลก ที่นับวันจะทวีความรุนแรงขึ้นตามลำดับ เรื่องนี้คงต้องอาศัยเวลาสำหรับการเปลี่ยนผ่าน และคงไม่อาจเกิดขึ้นได้แบบปัจจุบันทันด่วน
ในด้านของกฎข้อบังคับ หรือข้อห้ามของศาสนสถาน ที่มีผู้เคารพยึดถือปฏิบัติกันมานั้น ก็ยังต้องเคารพต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ กฏเกณฑ์ของผู้คนในพื้นที่ ไม่เป็นการสมควรอย่างยิ่ง ที่จะล่วงเกิน หรือกระทำสิ่งใดขัดต่อจารีต ทั้งนี้ก็เพื่อความสงบและเคารพต่อผู้คน ที่ต้องอยู่ร่วมสังคมเดียวกัน
ติดตามความรู้ซ่อนแอบ
ในแบบที่คุณไม่ต้องอาย
ย้อนหลังได้ที่

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา