Blockdit Logo
Blockdit Logo (Mobile)
สำรวจ
ลงทุน
คำถาม
เข้าสู่ระบบ
มีบัญชีอยู่แล้ว?
เข้าสู่ระบบ
หรือ
ลงทะเบียน
7 Days 7 ways
•
ติดตาม
1 มิ.ย. 2022 เวลา 03:16 • ประวัติศาสตร์
ท่อง..ล่องน้ำปิง...สืบสาน..เล่าขานตำนานพื้นถิ่น เวียงหนองล่อง โดย มะเมี้ย 2022
คอลัมน์ : เรื่องเล่าของสาวอินดี้
เรื่อง : เสวนา เล่าขานตำนานพื้นถิ่น เวียงหนองล่อง
โดย : มะเมี้ย 2022
การแสดงกลองสะบัดชัย
วันนี้มีโอกาสได้ฟังการเสวนา เล่าขานตำนานพื้นถิ่น เวียงหนองล่อง และเพิ่มรอยหยักในสมอง รวมถึงทบทวนวิชามัคคุเทศก์ จาก อ.ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ ที่วัดน้อยวังสะแกง หรือ วัดทิพย์อัปสรอมรอินทร์ ซึ่งอยู่ติดลำน้ำปิง ตรงกันข้ามกับอำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่
อ.ดร.เพ็ญสุภา สุขคตะ บรรยายเรื่องพระนางจามเทวี
วัดนี้มีการสร้างโบสถ์วิหารใหม่ แต่ยังคงไว้ซึ่งความเป็นเอกลักษณ์พื้นถิ่น เห็นได้ชัดจาก พระธาตุศรีจอมยอง ซึ่งจำลองรูปแบบมาจากพระธาตุหลวงจอมยองจากเมืองมหิยังคะนคร หรือปัจจจุบัน คือ เมืองยอง รัฐฉาน ประเทศเมียนมาร์ สืบเนื่องจาก เวียงหนองล่อง เป็นเมืองเก่าแก่ที่มีหลักฐานทางโบราณคดีหลายแห่ง
และตำนานต่างๆ ที่สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นชุมชนที่มีความเจริญรุ่งเรืองมาตั้งแต่สมัยหริภุญชัย และมีผู้คนอาศัยจนกระทั่งถึงยุคของพระเจ้ากาวิละ ที่เป็นยุค "เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง" ก็มีการตั้งถิ่นฐานของคนยอง ดังนั้นพระเจดีย์ในวัดนี้จึงมีรูปแบบของพระธาตุหลวงจอมยอง
นอกจากนี้ภายในบริเวณวัดยังมี ซากโบราณสถานซึ่งเป็นพระอุโบสถเดิม ตำหนักพระนางจามเทวี ซึ่งมีรูปปั้นของพระนางจามเทวีซึ่งทำจากขี้ผึ้งนุ่งห่มเครื่องทรงสีขาว พระอุโบสถหลังใหญ่ที่มีหลังคาเฟื้อง คล้ายกับวัดเชียงทอง ที่เมืองหลวงพระบาง ประเทศลาว
หลังคาเฟื้อง
ภายในพระอุโบสถประดิษฐานพระพุทธรูปปางทรมานพระยามหาชมพู หรือ พระพุทธรูปทรงเครื่องกษัตริย์แบบสมัยโบราณ คือ สวมชฎา คล้องสังวาลย์ ประดับทับทรวง รัดเกล้า รัดแขน ซึ่งเป็นลักษณะพิมพ์นิยมของสมัยอยุธยาตอนปลาย เหมือนเช่นพระประธานที่วัดหน้าพระเมรุ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
บริเวณด้านหลังวัดติดกับแม่น้ำปิง มีทัศนียภาพที่สวยงาม ซึ่งฝั่งตรงกันข้ามกับวัด เป็นพื้นที่ของอำเภอจอมทอง จังหวัดเชียงใหม่ เราสามารถมองเห็นดอยอินทนนท์ได้อย่างชัดเจน และถ้าวันไหนที่ท้องฟ้าแจ่มใส ก็จะสามารถมองเห็นดอยหัวเสือได้เช่นกัน
เดิมทีวัดนี้ ชื่อ วัดน้อยวังสะแกง เนื่องจากบริเวณนี้เป็นวังน้ำ สมัยก่อน การคมนาคมจะใช้ทางน้ำเป็นสำคัญ เมื่อเรือมาถึงบริเวณนี้ ก็อาจสะแกง (ตะแคงหรือพลิกคว่ำ) ได้ บริเวณนี้จึงมีชื่อเรียกว่า วังสะแกง
นอกจากนี้แล้ว ยังได้ความรู้เรื่องการตั้งชื่อบ้านนามเมือง ซึ่งเป็นการใช้ลักษณะของภูมิประเทศมาเรียกพื้นที่นั้นๆ เช่น เวียงหนองล่อง ถึงแม้ยังไม่มีข้อสรุปชัดเจนว่า ทำไมจึงเรียกเวียงหนองล่อง แต่มีข้อสันนิษฐานหลายประการ บ้างก็ว่า "ล่อง" ในคำเมืองหมายถึง "โลง" หรือ "ล่อง" หมายถึง "ร่องน้ำ" ซึ่งเพี้ยนมาจาก "ล้อง" เช่น "ล้องเหมือง" แต่ทั้งนี้ก็ยังไม่ได้มีการฟันธงว่าหมายถึงอะไร และต้องมีการสืบค้นกันต่อไป
สังเกตได้ว่า พื้นที่ในแถบภาคเหนือตอนบน จะมีหลายที่ที่ใช้คำว่า "สบ + ชื่อแม่น้ำ" เช่น สบทา สบเมย สบแจ่ม นั่นคือ การที่แม่น้ำหรือลำน้ำสายเล็กๆ ไปบรรจบกับแม่น้ำสายใหญ่บริเวณนั้นๆ นั่นเอง
และในอำเภอเวียงหนองล่อง จะมีชื่อหมู่บ้านที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า "เหล่า" และ "ดง" ซึ่ง "เหล่า"หมายถึง ไร่เหล่า หรือ ไร่หมุนเวียน ส่วนดง หมายถึง ป่า เพื่อแสดงให้เห็นถึงลักษณะของพื้นที่ตอนที่สร้างหมู่บ้าน นอกจากนี้ยังมีคำว่า "แพะ" หมายถึง "ป่าละเมาะ" ดังนั้นแค่ภูมินาม หรือ ชื่อบ้านนามเมือง ก็มีความสำคัญที่ทำให้เราพอจะเข้าใจถึงลักษณะภูมิประเทศในขณะนั้นๆ ได้
น่าเสียดายที่วันนี้เวลามีจำกัดและฝนก็ตกเกือบทั้งวัน ทำให้ไม่มีโอกาสได้เดินสำรวจในชุมชนบ้านต้นผึ้งหล่ายลี้ ซึ่งเป็นหย่อมบ้านที่มีเรือนสะระไน ของคนยอง คราวหน้าถ้ามีโอกาสคงได้กลับไปเดินสำรวจชุมชนและโบราณสถานอีกหลายแห่งในเวียงหนองล่องแน่นอน
ไม่แน่ใจว่า สิ่งที่ได้บันทึกมาครั้งนี้ ถูกต้องประการใด แต่บันทึกเท่าที่จับใจความได้ในเวลาจำกัด ไม่ได้เป็นนักเรียนแบบนี้มานานแล้ว หากใครได้อ่านและมีข้อผิดพลาด ขอช่วยชี้แนะให้ด้วยค่ะ ขอบคุณนะคะ
น้องๆ แต่งกายตามกลุ่มชาติพันธุ์ในจังหวัดลำพูน มีทั้งกลุ่มคนไทยวน ไทยอง ไทเขิน ไทใหญ่
ประวัติศาสตร์
เรื่องเล่า
ไลฟ์สไตล์
1 บันทึก
1
ดูเพิ่มเติมในซีรีส์
คอลัมน์ เรื่องเล่าของสาวอินดี้
1
1
โฆษณา
ดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน
© 2025 Blockdit
เกี่ยวกับ
ช่วยเหลือ
คำถามที่พบบ่อย
นโยบายการโฆษณาและบูสต์โพสต์
นโยบายความเป็นส่วนตัว
แนวทางการใช้แบรนด์ Blockdit
Blockdit เพื่อธุรกิจ
ไทย