21 มิ.ย. 2022 เวลา 12:30 • หุ้น & เศรษฐกิจ
เงินเฟ้อแบบนี้ รับมืออย่างไรดี?
เงินเฟ้อ ทำทุกอย่างแพง และกำลังเปลี่ยนแปลงพื้นฐานการใช้ชีวิตของเราอย่างหนัก เพราะมันกระทบกับเงินในกระเป๋าของเราให้ลดลงโดยที่เรายังไม่ทันได้ขวักมาจ่ายเลยด้วยซ้ำ
ดังนั้น เราจะมีวิธีรับมืออย่างไรกับสถานการณ์เงินเฟ้อที่เกิดขึ้นในตอนนี้ มาเรียนรู้ไปด้วยกันค่ะ
1. วางแผนหาอาชีพเสริมที่เราถนัด
1
อันดับแรกเลยในสถานการณ์แบบนี้ หากเป็นพนักงานประจำ ถึงรายได้อาจจะยังได้รับเท่าเดิมอยู่ แต่ค่าของเงินเรานั้น แน่นอนว่าตอนนี้ลดลงไปมากแล้ว ไม่สามารถซื้อของได้เท่าเดิมแล้ว
ดังนั้น เราควรปรับเปลี่ยนมุมมองนำเอางานอดิเรกที่ถนัดมาเป็นอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้ ไม่ว่าจะเป็น นักเขียนบทความออนไลน์ นักเขียนนิยายออนไลน์ นักออกแบบ นักวาด งานฝีมือต่าง ๆ ช่างตกแต่ง หรือแม้แต่การปลูกต้นไม้
อาชีพเหล่านี้อาจจะใช้ต้นทุนที่ไม่สูงนัก และมักสามารถทำผ่านโลกออนไลน์ได้อีกด้วย ทำให้เหมาะกับการหารายได้เสริมไปพร้อม ๆ กับงานประจำได้
หรือถ้าคิดว่ายังไม่มีอะไรที่พอจะเป็นงานเสริมได้ อาจจะเพิ่มทักษะให้ตัวเองก่อน โดยการลงคอร์สเรียนออนไลน์เพิ่มเติมด้านต่าง ๆ ที่ตัวเองสนใจ
เช่น ลงคอร์สทำขนมออนไลน์ ลงคอร์สด้านเทคโนโลยี เขียนโปรแกรม ทำ UX, UI ก็เป็นอีกทางเลือกที่สามารถสร้างรายได้เสริมค่ะ
2. วางแผนการออมเงิน
โดยส่วนใหญ่แล้วเมื่อเข้าสู่สภาวะเงินเฟ้อมากเท่าไหร่ การจะจับจ่ายใช้สอยหรือลงทุนอะไรก็จะมีความเสี่ยงมากกว่าช่วงปกติ ทำให้การออมเงินกลับมาเป็นทางเลือกแห่งความปลอดภัยและวางใจได้
ซึ่งการออมเงินที่ว่านี้ คือการออมแบบฝากประจำ เพราะจะได้ดอกเบี้ยที่ค่อนข้างสูง โดยการออมเงินแบบนี้มี 2 รูปแบบ คือ
1) การฝากประจำที่ฝากเงินเพียงครั้งเดียว
1
จะมีระยะเวลาที่กำหนดให้เลือกได้โดย เริ่มจากฝากประจำ 3 เดือน 6 เดือน 12 เดือน 24 เดือน ไปจนถึง 36 เดือน โดยเราจะต้องฝากเงินไว้จนถึงเวลาที่กำหนดจึงสามารถถอนเงินออกมาได้พร้อมดอกเบี้ย
1
หรือเมื่อครบระยะเวลาที่กำหนดแล้ว ยังไม่ถอน ก็สามารถนำเงินต้นและดอกเบี้ยฝากต่อไปได้ หรือจะถอนเพียงดอกเบี้ยอย่างเดียวโดยนำเงินต้นฝากไว้อย่างเดิมก็ได้เช่นกัน
2) การฝากเงินแบบฝากประจำทุกเดือน
1
จะต้องฝากเงินเข้าบัญชีทุกเดือนในจำนวนที่เท่ากันกับจำนวนเงินที่เปิดบัญชี และต้องฝากให้ครบตามระยะเวลาที่ธนาคารกำหนด เช่น 6 เดือน 12 เดือน 24 เดือน หรือ 36 เดือน เมื่อครบกำหนด จึงจะสามารถถอนเงินออกได้พร้อมดอกเบี้ยเช่นเดียวกันกับแบบที่ 1
ความแตกต่างระหว่างทั้ง 2 รูปแบบก็คือ การนำเงินก้อนไปฝาก กับการทยอยฝากด้วยจำนวนเงินที่เท่า ๆ กันทุกเดือนนั่นเอง
3. การวางแผนใช้จ่ายให้ประหยัดลง
การประหยัดอาจไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ดีนัก แต่มันก็ช่วยได้มากในยามเศรษฐกิจเช่นนี้ นั่นก็คือการเลือกใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็น และพยายามลดค่าใช้จ่ายประจำวันเพื่อให้พอดีกับเงินเดือน
เช่น การทำอาหารรับประทานเองที่ประหยัดเงินได้มากกว่า แต่สำหรับบางท่านอาจจะตรงข้าม เพราะการซื้อทานในแต่ละมื้ออาจจะถูกกว่าก็เป็นได้ ก็พิจารณาเป็นกรณีไปค่ะ
รวมไปถึงการเดินทางในภาวะเงินเฟ้อ ราคาน้ำมันก็สูงขึ้น การใช้บริการรถโดยสารสาธารณะอาจจะประหยัดเงินได้มากกว่ารถยนต์ส่วนตัว หรือการเดินทางสำหรับครอบครัวพยายามปรับเปลี่ยนให้สามารถเดินทางออกจากบ้านด้วยกันในครั้งเดียว ก็ช่วยประหยัดค่าน้ำมันลงได้
4. วางแผนซื้อของเครื่องใช้ที่จำเป็น
เมื่อเกิดภาวะเงินเฟ้อ แน่นอนว่าข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ก็พาเหรดกันปรับขึ้นราคา ทำให้เราต้องเสียเงินจ่ายที่เพิ่มขึ้น
ดังนั้นในภาวะเงินเฟ้อเช่นนี้ เราอาจต้องพิจารณาเลือกซื้อข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่จำเป็นจริงๆ เพื่อให้กระทบเงินในกระเป๋าของเราน้อยที่สุดค่ะ
นอกจากนี้การจดบันทึกรายรับรายจ่าย ก็สามารถช่วยเราคำนวณเงินที่เราจะใช้ในแต่ละช่วงเวลา และควบคุมการใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นออกไปได้เช่นกัน
สถานการณ์เงินเฟ้อแบบนี้ที่ทำให้เงินในกระเป๋าเบาหวิว หรืองานอาจจะหาย กำไรในการทำธุรกิจก็หดลง ดูแล้วค่อนข้างวิกฤติไม่เบาเลย
แต่ถ้าเรารู้จักปรับตัว เรียนรู้สถานการณ์ เตรียมการรับมือไว้ ก็พอจะช่วยทำให้เราวางแผนรับมือกับเงินเฟ้อและเอาตัวรอดผ่านพ้นสถานการณ์นี้ไปได้ค่ะ
เรียบเรียงโดย : ลงทุนในบัญชีและภาษี
ขอบคุณทุกท่านที่แวะมาเยือนค่ะ 😊
ติดตามอ่านบทความอื่นๆ ได้ที่

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา