11 ก.ค. 2022 เวลา 00:00 • การศึกษา
2-Ways Communication
การสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญอย่างมากในยุคปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการคุย การทำธุรกิจ การเจรจา การโต้วาที การเข้าสังคม การทำงานร่วมกับพูดอื่น ถ้าเราไม่มีการสื่อสารที่ดี ทุกอย่างที่กล่าวมานั้น อาจไม่บรรลุเป้าหมาย
บทความนี้ผมจะขอพูดถึงเรื่องการสื่อสาร การสี่อสารที่ดี จะต้องมีทั้ง “การฟัง” และ “การพูด”
2-Ways Communication คือการสื่อสารทั้งสองฝ่าย มีทั้งการส่งสารและรับสาร ฉะนั้น การสื่อสารที่ดี ไม่ควรมีเพียงแค่ทักษะการพูดอย่างเดียว แต่ต้องมีทักษะการฟังที่ดีด้วย
ผม... จะให้ความสำคัญกับการฟังมากกว่าการพูดเสมอ
เพราะการเรียนรู้ที่ดีคือ “การฟัง” ไม่ใช่ “การพูด”
👂 การฟัง
"ฟังอย่างตั้งใจ" เป็นทักษะที่ดีเยี่ยมอีกหนึ่งทักษะในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ
การเป็นคู่สนทนาที่ดี เราจะพูดอย่างเดียวไม่ได้ แต่จะต้องฟังให้เป็นนิสัย ฟังอย่างตั้งใจ ฟังเพื่อเข้าถึงอารมณ์และเนื้อหา ฟังให้ราวกับว่าเหมือนเราไปยืนอยู่ข้าง ๆ เขา ในสถานการณ์ที่ผู้พูดกำลังเล่าถึงเหตุการณ์นั้นอยู่ ฟังเพื่อที่จะให้เขาพูดในสิ่งที่เขาไม่เคยพูดที่ไหนมาก่อน
เพราะบางทีผู้พูดอยากบอกอะไรบางอย่างให้กับใครสักคนฟัง แต่เขาอาจมักเจอคนที่ไม่เคยฟังเขาเลย เขาจึงเก็บความลับนั้นไว้แต่เพียงพูดเดียว ฉะนั้น ตั้งใจฟัง เพื่อให้เขามีพลังในการพูด
ถ้าเราเป็นผู้ฟังที่ดี ผู้พูดจะกล้าแสดงทักษะในการพูดได้อย่างดีเยี่ยม บางทีเราอาจจะเป็นส่วนนึงในการสร้างนักพูดที่ดีให้กับโลกใบนี้ก็ได้
การฟังที่ดี จะทำให้นักพูดนั้นทรงพลังมากขึ้น
เราจะต้องมีทักษะในการฟังให้เป็นสองเท่าของการพูด “เพราะธรรมชาติสร้างหูให้เราสองใบ สร้างปากให้เราแค่หนึ่งเดียว” ฉะนั้น การฟังถือว่าเป็นสิ่งสำคัญกว่าการพูดเป็นสองเท่า
ในระหว่างที่ฟัง ให้สบตาผู้พูด 70% เพื่อฟังอย่างตั้งใจ และมองละสายตาไปที่อื่น 30% เพื่อทำความเข้าใจกับสิ่งที่ผู้พูดกำลังพูดอยู่ เพื่อให้ผู้พูดมั่นใจได้ว่าเรากำลังรับฟังเขาอย่างตั้งใจ
ในยุคปัจจุบัน คนส่วนใหญ่มักจะพูดมากกว่าฟัง มนุษย์เราชอบพูดแต่เรื่องของตัวเอง พอพูดเสร็จก็มักจะเดินหนี เพราะนั้นถือว่าบรรลุเป้าหมายของตัวผู้พูดแล้ว คนประเภทนี้มักจะไม่ค่อยมีความอดทนในการฟังสักเท่าไหร่
หลายความสัมพันธ์ที่เกิดการแตกหักมานักต่อนัก สาเหตุหลักมาจากการไม่ฟังกัน แต่ในทางกลับกัน เมื่อเกิดการทะเลาะวิวาทกันเกิดขึ้น ก็มักจะปิดหูปิดตาและใช้พลังในการพูดเสียมากกว่าการฟัง สถิติชีวิตคู่รักที่หย่าร้างกัน ส่วนใหญ่มักเกิดจากการที่เป็นนักพูดที่เก่ง มากกว่าการเป็นนักฟังที่ดี
ถ้าอย่างงั้น... เราลองมาเปลี่ยนพลังจากการทะเลาะเพื่อเอาชนะกัน มาเป็นพลังงานในการฟังดูกันนะครับ และควร “ฟังอย่างตั้งใจ”
"คนที่คุยสนุก" คือเป็นนักฟังที่ดี แต่ไม่ใช่เป็นนักพูดที่เก่ง และพูดไปเรื่อยๆ
🗣 การพูด
ทักษะในการส่งสารหาผู้รับสารให้เข้าใจตรงกันกับสิ่งที่เราอยากจะพูด การพูดที่ดี “ปากต้องตรงกับใจ” คิดอย่างไร ก็ให้พูดอย่างนั้นออกมา บางทีผู้พูดคิดอีกเรื่องแต่ดันพูดอีกเรื่อง ที่มาของคำว่า “ออกนอกทะเล”
เทคนิคการพูดเพื่อจับใจผู้ฟังเป็นเรื่องที่ไม่ซับซ้อนเลยครับ เป็นเรื่องที่เรียบง่ายมาก ๆ ผมอยากขอยกตัวอย่างออกมาเป็นข้อ ๆ จากประสบการ์ที่ผมใช้มาตลอดจนถึงวินาทีนี้
1. “พูดช้า ๆ ” เราไม่จำเป็นต้องพูดเร็ว เพราะคู่สนทนาที่ดี เขาจะตั้งใจฟังเราอยู่แล้ว และจะไม่มีใครพูดแทรกคุณขึ้นมากลางคันระหว่างที่คุณกำลังพูดอยู่ และถ้าหากมีใครพูดแทรกในขณะที่คุณกำลังพูดอยู่ละก็... คุณควรพิจารณาคู่สนทนาเป็น Case by Case นะครับ
2. “ปรับระดับโทนเสียงให้เหมาะสม” กรณีที่เราเล่าเรื่องให้ใช้ระดับเสียงทุ้ม (ระดับเสียง โด เร) เพื่อเสริมบุคลิกภาพในการพูดให้ดูน่าเชื่อถือมากขึ้น และกรณีคุยเล่น ให้ใช้เสียงระดับกลาง (ระดับเสียง ฟา ซอล) เพื่อเสริมบความเฟรนด์ลี่เข้าถึงง่ายกับคู่สนทนา
3. “พูดให้กระชับ” เข้าใจง่าย ไม่ใช้คำเปลือง และที่สำคัญถ้าเราคุยลงลึกเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ไม่ควรออกนอกทะเล เพราะผู้ฟังจะใช้พลังในการฟังมากกว่าผู้พูดเป็น 3 เท่า เพื่อทำความเข้าใจ ถ้าผู้พูดออกนอกทะเลเมื่อไหร่ละก็... จะสร้างความน่าเบื่อให้แก้ผู้ฟัง แต่ถ้าคุยเล่น ๆ ยังพอหยวน ๆ ให้ออกทะเลได้บ้าง
4. “ใช้ภาษามือประกอบการพูด” เพราะภาษาสากลอันดับหนึ่งของมนุษย์คือภาษากาย มากกว่าภาษาอังกฤษ
5. "ฟังมากกว่าพูด"
สุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุด
การเป็นคู่สนทนาที่ดี เกิดจากการฟังที่ดีและการยกให้ผู้พูดเป็นที่หนึ่งของวงสนทนา ไม่ควรไปขโมยบทสนทนาของเขา จนกว่าผู้พูดจะพูดจบ เพราะการฟังที่ดียังเป็นที่รักของคนรอบข้างอีกด้วย และยังสร้างบุคลิกภาพที่ดูอ่อนน้อมถ่อมตน ไปที่ไหนใครก็รัก ผมจึงให้ความสำคัญกับ “การฟัง” มากกว่าการ “การพูด”
สุดท้ายแล้วจริงๆ
ถ้าวันนี้คุณยังเป็นนักพูดที่เก่งแต่ไม่เคยฟังใครเลย อยากให้ลองฝึกเป็นนักฟังที่ดีฝึกให้เป็นนิสัย ผมรับรองได้เลยครับว่า คุณไปที่ไหนใครก็รัก หลังจากนั้น คุณ... จะกลายเป็นนักพูดที่ดีครับ ^^
คำคมส่งท้าย
หากคุณเป็น ​“คู่สนทนาที่ดี” บางทีคุณอาจไม่ต้องพึ่ง “โชค” เลยก็ได้

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา