8 ก.ย. 2022 เวลา 11:39 • สิ่งแวดล้อม
หมู่บ้านผมถูกขนาบด้วยคลองเล็กๆ 2 คลอง คือ #คลองลำผักชี (ติดกับ ซ.รามอินทรา 39) กับ #คลองลำไผ่ (ซ.รามอินทรา 39/1) คลองทั้ง 2 แห่งนี้ เป็นจุดระบายน้ำที่สำคัญในหมู่บ้านของผมและชุมชมบริเวณใกล้เคียง ถ้าวันใดฝนตกหนักจนเกิดน้ำท่วมในหมู่บ้าน ระดับน้ำในคลองจะเท่ากับ หรือสูงกว่าระดับน้ำท่วมในหมู่บ้าน (ที่สูงกว่าได้...เกิดจากเขื่อน ที่กั้นเป็นแนวยาวตลอดลำคลองที่ไหลผ่านหมู่บ้าน)
นั่นจึงทำให้เป็นจุดตาย เพราะไม่สามารถสูบน้ำท่วมในหมู่บ้านไปลงในคลองได้อีก ทำให้วิธีแก้ปัญหาที่ใช้อยู่ทุกวันนี้คือ สูบน้ำท่วมจากในหมู่บ้าน ไปลงท่อระบายน้ำบนถนนใหญ่แทน
ขยะในคลองลำไผ่
ในภาพนี้คือ “คลองลำไผ่” ให้สังเกตว่าบริเวณคันคลองมีเศษขยะ ที่เกิดจากการขุดลอกก่อนหน้า กองสุมอยู่เป็นแนวยาว แต่ผิวน้ำในคลองกลับยังเต็มไปด้วยแพขยะ ที่ลอยมาสมทบเพิ่มอีก (ภาพนี้ผมถ่ายเมื่อ 28 ก.ค. 2565 แต่ช่วงปลายๆ สิงหา ผมเดินไปสังเกตที่คลองลำไผ่อีกครั้ง แต่..ไม่ได้ถ่ายรูปไว้ มีการขุดลอกเพิ่ม และขยะได้ถูกโกยออกไปมากแล้ว)
ปัญหาสะสมหนักหนาสาหัสของมหานครขนาดใหญ่อย่างกรุงเทพฯ คือ อภิมหาขยะ ที่มักจะลงไปอุดตันตามท่อระบายน้ำและคูคลองสาธารณะต่างๆ ทำให้พอเกิดน้ำท่วมทีไร จะเกิดปัญหาระบายน้ำออกไม่ทันทุกที...สิน่า ถามว่าเกิดจากฝีมือใคร ก็จะใครซะอีก ก็พวกเราทุกคนที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่แห่งนี้นี่แหละ ไม่ทางตรงก็โดยทางอ้อม
ครั้งหนึ่งที่ผมเคยเห็นกับตาคือ แม่ค้าในตลาดเอาเศษข้าวที่เหลือทิ้งกองใหญ่ เขี่ยๆ เทลงไปในรูท่อระบายน้ำเฉย อ้าววว...เฮ้ย! ล่าสุดเห็นชัชชาติ ออกประกาศลงวันที่ 16 ส.ค. 2565 เพิ่มโทษปรับสูงสุดเป็น 10,000 บาท กับผู้ที่ทิ้งสิ่งปฏิกูล มูลฝอย ลงถนนหรือในทางน้ำสาธารณะ โดยผู้แจ้งเบาะแสจะได้รางวัลนำจับกึ่งหนึ่งด้วย
ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า จะได้ผลจริงจังมากน้อยแค่ไหนกับค่าปรับที่เพิ่มสูงขึ้นกว่าเดิม แต่เงินรางวัลกึ่งหนึ่ง อาจทำให้เกิดแรงจูงใจให้มีผู้ร่วมแจ้งเบาะแสมากขึ้นก็ได้ ตรงนี้คงต้องดูกันต่อไป
เหล่านี้เป็นเรื่องจิตสำนึกสาธารณะ (ของการอาศัยอยู่ร่วมกัน) ที่รณรงค์กันมาช้านาน.น.น.น... แต่...ผลตอบรับอาจยังไม่ดีเท่าที่ควร ทำให้ทุกวันนี้เรายังคงเห็นแพขยะตามแหล่งน้ำสาธารณะต่างๆ อยู่เสมอ แถมสีของน้ำในคูคลองยังดำปี๊ดปี๋มานานหลายสิบปี (ราว 40 ปีก่อน สมัยผมยังเรียนชั้นประถม จำได้ว่าคูคลองใน กทม. แถวๆ บ้าน น้ำยังใส เห็นปลาว่ายอยู่เลย)
แคมเปญล่าสุดที่ชัชชาติรณรงค์ให้ชาว กทม. แยกขยะ (แบบที่ง่ายสุดคือ แยกขยะสดที่เป็นเศษอาหาร 1 ถุง กับขยะทั่วไปอีก 1 ถุง) เรื่องนี้ที่บ้านผมไม่ค่อยมีปัญหาสักเท่าไหร่ เพราะตั้งแต่เริ่มทำ #ปุ๋ยหมักแบบไม่พลิกกลับกอง เทคนิคของ ม. แม่โจ้ ในบริเวณบ้านมาหลายปี ทำให้เวลามีของเหลือทิ้งจากการทำครัว เช่น เศษผัก เปลือกหอม กระเทียม เปลือกผลไม้ ใบตองห่อของ หรืออะไรก็แล้วแต่ที่เป็นอินทรียวัตถุที่สามารถย่อยสลายได้ แม้แต่เศษอาหารเหลือๆ ใบไม้ร่วง หรือกิ่งไม้ที่เราตัดแต่งจากกระถางทิ้งก็ได้
ผมก็จะเอามาเทรวมๆ กันในเข่งพลาสติก สลับกับขี้วัว (ซื้อมาเป็นกระสอบ) ในลักษณะเป็นชั้นๆ คือ อินทรียวัตถุ 3 ส่วน ขี้วัว 1 ส่วน เทสลับชั้นกันไปแบบแซนด์วิช และต้องรดน้ำให้ชุ่มทุกวันอย่างสม่ำเสมอ (เจาะกองปุ๋ย กรอกน้ำเพิ่มเข้าไปด้านในสัปดาห์ละ 1 ครั้งด้วยนะครับ เพราะข้างในเป็นส่วนที่น้ำที่รดจากภายนอกเข้าไปไม่ถึง)
หากทำถูกหลักจะได้ปุ๋ยหมักใช้ภายใน 2 เดือน (แต่ถ้าขี้เกียจรดน้ำ อาจลากยาวไปถึง 3 - 4 เดือนได้ แต่ยังไงๆ ก็ย่อยสลายแน่) ปุ๋ยหมักที่ได้จะเป็นหัวปุ๋ยนะครับ ต้องเอาไปผสมดินก่อน ถึงจะใช้ปลูกต้นไม้ได้
ผมทดลองแล้วได้ผลดีมาก แถมระหว่างหมักยังไม่มีกลิ่นด้วยนะครับ (ยกเว้นกรณีเปลือกกุ้ง เปลือกปู หากเน่าจะมีกลิ่นแรง จำเป็นต้องขุดกองปุ๋ยเข้าไปซุกไว้ข้างในให้ลึกๆ หน่อย ก็จะไม่มีกลิ่นครับ) เพราะเมื่อทุกอย่างในกองปุ๋ยถูกหมักจนย่อยสลายหมดแล้ว จะกลายเป็นดินละเอียดสีดำๆ จนแทบจำไม่ได้เลยว่ามันคือขยะสดที่เคยเป็นนู่นนี่นั่นมาก่อน
วันพฤหัสบดีที่ 8 ก.ย. 2565 เป็นวันที่แถวบ้านผมฝนตกตลอดทั้งวัน มีทั้งตกเบาและตกหนักสลับกัน ณ เวลานี้ 18.22 น. ในหมู่บ้านผมน้ำยังไม่ท่วมนะครับ (ต้องขอบคุณเจ้าหน้าที่ กทม. ที่มาประจำอยู่ดูแลเครื่องสูบน้ำในหมู่บ้าน ให้ใช้งานได้ตลอดเวลาด้วยนะครับ) แต่จากการตามข่าวบริเวณรอบๆ ใกล้เคียงนี่...อ่วมกันหมด
เรื่องการคาดการณ์ฝนร้อยปี ที่ผู้เชี่ยวชาญภัยพิบัติประกาศออกมาล่าสุด ดูแล้ว..น่าจะไม่เกินจริงนัก หากติดตามข่าวสภาพภูมิอากาศทั่วโลก ที่เป็นผลกระทบจากปรากฏการณ์โลกร้อน ก็น่าหวั่นใจอยู่ไม่น้อย เพราะหลายสำนักมีความเห็นสรุปกันมาแล้วว่า สะสมกันมานาน...จนเกินเยียวยา ทำให้คนในรุ่นนี้ มีแต่จะต้องรับผลที่เกิดขึ้นและจำเป็นต้องปรับตัวให้ได้ ส่วนการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ณ เวลานี้คงไม่ทันแล้วครับ
จิด.ตระ.ธานี : #เล่าสู่กันฟังนะครับ
#Jitdrathanee
สนใจศึกษาเพิ่มเติม : #ห้องเรียนปุ๋ยหมักแบบไม่พลิกกอง แม่โจ้ :

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา