16 ต.ค. 2022 เวลา 08:00 • การศึกษา
ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) 2 อัตรา คืออะไร
ไทยจะเก็บ VAT 2 อัตราจริงมั๊ย?
1
ภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT คือ ภาษีที่ภาครัฐเรียกเก็บจากผู้ประกอบการที่ขายสินค้าหรือบริการ ทั้งที่ผลิตในประเทศและที่นำเข้ามาจากต่างประเทศ
ซึ่งผู้ประกอบการสามารถผลักภาระภาษีไปยังผู้บริโภคได้ โดยไปเก็บภาษีต่อจากผู้ซื้ออีกทีนั่นเอง (ภาษีทางอ้อม)
หมายเหตุ : การเก็บภาษี VAT นั้น ในบางประเทศไม่ได้ใช้ชื่อว่า VAT แต่ใช้ชื่อว่า ภาษีสินค้าและบริการ หรือ Goods and Services Tax (GST)
สำหรับไทยเราได้เริ่มเก็บ VAT ครั้งแรก 1 ม.ค. 2535 ในอัตรา 10% แต่เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจหรือวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 ก็ได้มีการลด VAT ลงเหลือ 7%
เพื่อลดภาระประชาชน โดยกำหนดว่าจะพิจารณาทุก 2 ปี ซึ่งผ่านมา 25 ปีแล้ว ถึงตอนนี้ก็ยังเก็บที่อัตรา 7% อยู่
ทั้งนี้ ไทยก็มีโอกาสที่จะปรับปรุงโครงสร้างการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยทางสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลังกำลังศึกษาแนวทางการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ระบบ 2 อัตรา คือ
1
อัตราที่ 1 เก็บที่ 7% สำหรับสินค้าทั่วไป
อัตราที่ 2 เก็บมากกว่า 7% สำหรับสินค้าฟุ่มเฟือย
1
อย่างไรก็ตามก็ยังไม่ได้ประกาศเเนวทางที่ชัดเจน แต่หากทางรัฐบาลดำเนินการจัดเก็บภาษีแบบนี้คาดว่าจะช่วยเพิ่มรายได้ให้ภาครัฐได้ถึง 1 แสนล้านบาทเลยทีเดียว
ในด้านของต่างประเทศ ก็มีหลายประเทศที่ไม่ได้เรียกเก็บ VAT อัตราเดียว แต่มีแบ่งอัตราการเก็บ VAT ออกเป็นหลายอัตรา
และเน้นเก็บภาษีสินค้าที่เป็นพื้นฐานจำเป็นต่อชีวิตประจำวันในอัตราที่ไม่สูง แล้วเก็บในอัตราที่สูงขึ้นกับสินค้าประเภทอื่น โดยเฉพาะสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น
- จีน เก็บภาษี VAT ในอัตรา 6% 9% และ 13%
- มาเลเซีย เก็บภาษี VAT ในสินค้า 10% และบริการ 6%
- อินเดีย มีเก็บภาษี VAT ในหลายอัตรามาก ตั้งแต่ 0.25% 1% 3% 5% 12% 18% และ 28% (ซึ่งเก็บจากสินค้าฟุ่มเฟือยนั่นเอง)
อย่างไรก็ดี การเก็บภาษีในอัตราที่ไม่เท่ากัน โดยเรียกเก็บจากสินค้าหรูแพงกว่าสินค้าทั่วไป ก็เป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะคนที่มีกำลังใช้จ่ายกับสินค้าหรูได้ ก็น่าจะแบกรับต้นทุน VAT ที่เพิ่มขึ้นไหว ซึ่งก็ทำให้ประเทศมีรายได้เพิ่มขึ้นด้วย
ส่วนอะไรที่เป็นสิ่งจำเป็นในการดำเนินชีวิตที่คนส่วนใหญ่จำเป็นต้องมีต้องใช้ ก็ควรคิดภาษีในอัตราที่คนทั่วไปรับไหว
และสิ่งหนึ่งที่สำคัญตามมา ก็คือเมื่อเก็บภาษีเพิ่ม รายได้ของประเทศก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน ทางรัฐบาบก็ควรจะนำเงินไปใช้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน อุดหนุนสวัสดิการ หรืออะไรที่จำเป็น
1
ที่ทำให้ประชาชนรู้สึกว่ามีอะไรดีๆ เกิดขึ้นจากการที่พวกเขาต้องเสียภาษีเพิ่มและยินดีกับการเสียภาษีนั้น เท่ากับว่าประเทศชาติได้อะไร ประชาชนในประเทศก็ได้อะไรเช่นกัน
ส่วนไทยจะเปลี่ยนไปใช้ระบบภาษี 2 อัตราอย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้นหรือไม่ ก็คงต้องรอดูความชัดเจนในอนาคตกันต่อไปค่ะ
เรียบเรียงโดย : ลงทุนในบัญชีและภาษี
ขอบคุณทุกท่านที่แวะมาเยือนค่ะ 😊
ติดตามอ่านบทความอื่นๆ ได้ที่

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา