6 ต.ค. 2022 เวลา 13:30 • ธุรกิจ
ภาษีทั่วไปที่ควรรู้ มีอะไรบ้าง ?
ภาษีนั้นถูกตราขึ้นเป็นกฎหมาย โดยมีความหมายว่า สิ่งที่รัฐเรียกเก็บจากประชาชนโดยที่ผลตอบแทนกลับของภาษีก็คือสวัสดิการต่างๆ ที่ประชาชนได้รับจากรัฐฯ นั่นเอง
ซึ่งถ้าเราไม่จ่ายภาษีถือว่าผิดกฎหมาย เพราะกฎหมายกำหนดให้เป็นหน้าที่ที่ต้องจ่ายทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล
ภาษีนั้นจำแนกเป็น 2 ลักษณะ ได้แก่ ภาษีทางตรง และภาษีทางอ้อม
1. ภาษีทางตรง คือ ภาษีที่มีการเรียกเก็บเงินจากผู้บริโภคโดยตรงและไม่สามารถผลักภาระให้กับคนอื่นได้ เช่น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีป้าย เป็นต้น
เพื่อไม่เป็นการยืดยาวเกินไป ขอหยิบภาษีบางประเภทมาอธิบายต่อนะคะ
📌 ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คือ ภาษีที่จัดเก็บจากรายได้สุทธิของแต่ละคนโดยตรง จะมีการจัดเก็บในอัตราก้าวหน้า ตั้งแต่ 5-35%
โดยจะคำนวณรายได้ตามรอบปีปฎิทิน คือ 12 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม จนถึงวันที่ 31 ธันวาคมของทุกปี และยื่นแบบภาษีภายใน 31 มีนาคม ของปีถัดไป
📌 ภาษีเงินได้นิติบุคคล คือ ภาษีที่จัดเก็บจากกำไรสุทธิของห้างหุ้นส่วนหรือบริษัทที่เป็นนิติบุคคล จะมีการจัดเก็บในอัตราคงที่ ปัจจุบันอยู่ที่ 20%
และมีการลดหย่อนอัตราภาษีให้กับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs ในอัตรา 15%
โดยจะคำนวณรายได้ตามรอบระยะเวลาบัญชีของธุรกิจคือ 12 เดือน ปกติทั่วไปคือ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม หรือกิจการจะกำหนดรอบบัญชีอื่นก็ได้
เช่น 1 มีนาคม ถึง 30 เมษายน เป็นต้น และจะต้องยื่นแบบภาษีภายใน 150 วัน นับแต่วันสิ้นรอบระยะบัญชี
2. ภาษีทางอ้อม คือ ภาษีที่เราสามารถผลักภาระภาษีให้กับผู้บริโภคได้ เช่น ภาษีสรรพสามิต ภาษีศุลกากร ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ซึ่งมีหลักการจัดเก็บที่แตกต่างกันไปตามแต่ละประเภทภาษี
ทั้งนี้จะขออธิบายต่อในส่วนของภาษีตาม “ประมวลรัษฏากร” และเกี่ยวข้องกับ “กรมสรรพากร” เท่านั้นนะคะ
📌 ภาษีมูลค่าเพิ่ม
เป็นภาษีที่เก็บจากมูลค่าส่วนที่เพิ่มขึ้น จากคนทำธุรกิจขายสินค้าหรือให้บริการประเภทต่างๆ
โดยผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่มคือ ผู้ประกอบการขายสินค้าหรือให้บริการ รวมไปถึงผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้ส่งออก ซึ่งมีรายได้ต่อปีตั้งแต่ 1,800,000 บาทขึ้นไป ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือนิติบุคคลก็ตาม
ถ้าลองสังเกต ในทุกๆ วันที่เรามีการไปจับจ่ายใช้สอยต่างๆ เมื่อเราได้ “บิล” หรือ “ใบเสร็จ” มาจะเห็นคำว่า “ใบกำกับภาษี” หรือ “ใบเสร็จรับเงิน/ใบกำกับภาษีอย่างย่อ”
โดยในบิลจะมีตัวเลขบอกจำนวนเงินที่จ่ายไป ซึ่งในนั้นจะมี “ภาษีมูลค่าเพิ่ม” รวมอยู่ด้วย
เช่น เข้าเซเว่น ซื้อสินค้าในมูลค่าตามใบเสร็จ 1,000 บาท ในตัวเลขนี้จะประกอบด้วยค่าสินค้าราคา 934.58 บาทและค่าภาษีมูลค่าเพิ่มอีก 65.42 บาท นั่นเอง
ภาษีประเภทนี้จะต้องยื่นแบบ ภ.พ. 30 ทุกเดือน ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป หรือถ้ายื่นแบบออนไลน์ ภายใน 23 ของเดือนถัดไป และสำหรับเดือนที่ไม่มียอดซื้อขายเคลื่อนไหว ก็ต้องยื่นแบบเปล่าด้วย
📌 ภาษีธุรกิจเฉพาะ
เป็นภาษีที่จัดเก็บจากการประกอบกิจการเฉพาะอย่างแทนภาษีการค้าที่ถูกยกเลิก เช่น การธนาคาร การประกอบธุรกิจเงินทุน ธุรกิจหลักทรัพย์ ธุรกิจเครดิตฟองซิเอร์ การรับประกันชีวิต การรับจำนำ หรือการขายอสังหาริมทรัพย์เป็นทางค้าหรือหากำไร
ในการคำนวณภาษีธุรกิจเฉพาะ จะคำนวณจากฐานภาษีคือ รายรรับ ก่อนหักรายจ่ายใดๆ และกรณีทั่วไปของธุรกิจ เมื่อมีการขายอสังหาริมทรัพย์หรือการให้กู้ยืมเงินจะเสียภาษีที่อัตรา 3.3% (รวมภาษีท้องถิ่น 10% ของจำนวนภาษีธุรกิจเฉพาะ)
ภาษีธุรกิจเฉพาะต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีที่เรียกว่า ภ.ธ. 40 ภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป หรือถ้ายื่นแบบออนไลน์ ภายใน 23 ของเดือนถัดไป
📌 อากรแสตมป์
เป็นภาษีตามประมวลรัษฎากรอีกประเภทหนึ่ง ที่จะเรียกเก็บเมื่อมีการทำตราสารระหว่างกัน 28 ลักษณะ ตามที่กำหนดไว้ในบัญชีอัตราอากรแสตมป์
คำว่า “ตราสาร” ตามประมวลรัษฎากรหมายถึง เอกสารที่ต้องเสียอากรแสตมป์ ตามที่กำหนดไว้ในบัญชีอัตราอากรแสตมป์ หรือที่นิยมเรียกกันว่า “สัญญา” เช่น สัญญาเช่าอาคาร สัญญาเช่าซื้อทรัพย์สิน สัญญาจ้างทำของ สัญญากู้ยืมเงิน ฯลฯ
โดยจะใช้การขีดฆ่าแสดงถึงการใช้แสตมป์ดังกล่าว ซึ่งผู้ที่จะขีดฆ่าได้ต้องเป็นไปตามกำหนดของประมวลรัษฎากร
1
อย่างไรก็ดี ภาษีทั้ง 5 ประเภทที่กล่าวมาแล้วนั้น จัดเป็นส่วนของภาษีตามกฎหมายที่เรียกว่า “ประมวลรัษฏากร” และเกี่ยวข้องกับ “กรมสรรพากร” เท่านั้น
ส่วนภาษีอื่นๆ เช่น ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีบำรุงท้องที่ ภาษีป้าย ภาษีสรรพสามิต ภาษีศุลกากร จะเป็นภาษีที่เรียกเก็บโดยหน่วยงานอื่นเช่น หน่วยงานส่วนท้องถิ่นต่างๆ เพื่อใช้ในการบริหารจัดการที่ง่ายขึ้นค่ะ
1
ทั้งนี้ หากท่านดำเนินธุรกิจ ต้องมีความเข้าใจเบื้องต้นก่อนว่า ธุรกิจแต่ละประเภทเสียภาษีแตกต่างกัน เช่น
>> หากเป็นรูปแบบบริษัท หรือ ห้างหุ้นส่วนนิติบุคคล จะต้องชำระภาษีเงินได้นิติบุคคล
>> หากทำธุรกิจเฉพาะด้าน เช่น ธนาคาร จะต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
>> หากทำธุรกิจหอพักต้องชำระภาษีภาษีโรงเรือนและที่ดิน
>> หากมีการติดป้ายเพื่อหารายได้ หรือโฆษณาการค้าต้องชำระภาษีป้าย
 
>> หากทำธุรกิจเครื่องดื่มต้องชำระภาษีสรรพสามิต
>> หากทำธุรกิจส่งออกต้องชำระภาษีศุลกากร
ดังนั้น หากทำธุรกิจที่มีความเกี่ยวข้องกับภาษีหลายประเภท ก็มีผลทำให้ธุรกิจต้องเสียภาษีหลายประเภทไปด้วยนั่นเอง
นอกจากนี้ ภาษีแต่ละประเภทต่างมีสิทธิประโยชน์แตกต่างกัน เช่น การยกเว้นภาษีหรือค่าลดหย่อนภาษีต่างๆ การหักค่าใช้จ่าย การหักค่าเสื่อม เป็นต้น
ข้อมูลพื้นฐานเหล่านี้คือสิ่งจำเป็นที่ผู้ประกอบการควรมีความรู้และความเข้าใจเพื่อนำไปใช้ในการวางแผนดำเนินธุรกิจ ซึ่งจะส่งผลต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน การลดต้นทุนดำเนินงาน เพื่อให้สามารถยืนอยู่ในธุรกิจได้อย่างยั่งยืนค่ะ
เรียบเรียงโดย : ลงทุนในบัญชีและภาษี
ขอบคุณทุกท่านที่แวะมาเยือนค่ะ 😊
ติดตามอ่านบทความอื่นๆ ได้ที่

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา