14 ก.ย. 2022 เวลา 12:19 • การศึกษา
ทั่วโลกเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตราเท่าไรกันบ้าง ?
ตามสุภาษิตโบราณ มีเพียงสองสิ่งในชีวิตเท่านั้นที่แน่นอน คือ ความตายและภาษี ซึ่งภาษีอาจเป็นภาระทางการเงิน แต่การจ่ายภาษีมีความสำคัญด้วยเหตุผลหลายประการ
ภาษีถูกใช้เพื่อเป็นทุนในการบริการสาธารณะทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นทางการทหาร การศึกษาของรัฐ โครงสร้างพื้นฐาน
เช่น ถนนและสวนสาธารณะ การเกษียณอายุและโครงการด้านสุขภาพ อาจพูดได้ว่าภาษีเป็นกองทุนที่ประเทศต้องการเพื่อความอยู่รอด
ระบบภาษีของแต่ละประเทศไม่เหมือนกัน ซึ่งภาษีมีหลายรูปแบบ เช่น ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีทรัพย์สิน ภาษีมรดกและอสังหาริมทรัพย์ ภาษีสรรพสามิต ภาษีศุลกากร และภาษีอื่นๆ
นอกจากนี้ อัตราภาษีและระเบียบข้อบังคับในแต่ละประเทศก็แตกต่างกันออกไป หรือแม้แต่ในส่วนต่างๆ ของประเทศเดียวกัน
เช่น รัฐในสหรัฐอเมริกาส่วนใหญ่เรียกเก็บภาษีเงินได้บางรูปแบบ แต่อัตราภาษีเงินได้ของแต่ละรัฐอาจอยู่ที่ 1% ถึง 13.3%
โดยมี 7 รัฐ อันได้แก่ อลาสกา ฟลอริดา เนวาดา เซาท์ดาโคตา เท็กซัส วอชิงตัน และไวโอมิง ไม่เก็บภาษีเงินได้ของรัฐเลย
1
สำหรับบทความนี้จะขอกล่าวถือ ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เมื่อเทียบกับประเทศทั่วโลกแล้ว มีการจัดเก็บในอัตราเท่าไรกันบ้าง
โดยข้อมูลจากเว็บไซต์ World Population Review รายงานเมื่อปี 2021 เปิดเผยอันดับประเทศที่มีการจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา มากที่สุดในโลก ซึ่งอัตราการจัดเก็บสูงสุดอยู่ที่ 60%
โดยประเทศที่จัดเก็บภาษีประชาชนมากที่สุด 10 อันดับแรกของโลกล่าสุดในปี 2021 ได้แก่
อันดับ 1 โกตดิวัวร์ - 60%
อันดับ 2 ฟินแลนด์ - 56.95%
อันดับ 3 ญี่ปุ่น - 55.97%
อันดับ 4 เดนมาร์ก - 55.90%
อันดับ 5 ออสเตรีย - 55.00%
อันดับ 6 สวีเดน - 52.90%
อันดับ 7 อารูบา - 52.00%
อันดับ 8 เบลเยียม - 50.00%
อันดับ 9 อิสราเอล - 50.00%
อันดับ 10 สโลวีเนีย - 50.00%
1
ส่วนประเทศในแถบเอเชียนั้น ก็มีเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในอัตราที่แตกต่างกัน (ข้อมูลบางส่วน) ดังนี้ค่ะ
ญี่ปุ่น - 55.97%
อิสราเอล - 50%
เกาหลีใต้ - 45%
จีน - 45%
อินเดีย - 42.74%
ใต้หวัน - 40%
ไทย - 35%
เวียดนาม - 35%
ฟิลิปปินส์ - 35%
มาเลเซีย - 30%
ลาว - 25%
เมียนมาร์ - 25%
สิงคโปร์ - 22%
กัมพูชา - 20%
มีหลายคนบอกว่า ถ้าอยากได้สวัสดิการที่ดีต้องจ่ายภาษีให้มาก ซึ่งตรงนี้แอดมินก็ค่อนข้างเห็นด้วยค่ะ เพราะสวัสดิการก็คือการบริการจากภาครัฐ (ภายใต้เงื่อนไขที่ว่าเงินภาษีถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ปราศจากคอรัปชั่น)
ยกตัวอย่าง ประเทศที่มีการจัดเก็บภาษีในอัตราที่สูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลก แต่มีวิธีการบริหารจัดการประเทศได้อย่างดี นั่นก็คือ สวีเดน
เป็นประเทศที่มีระบบสาธารณูปโภคที่ครบครัน บ้านเมืองสะอาดสะอ้านน่าอยู่ เพราะมีการบริหารจัดการขยะที่ดีมาก
posttoday
atdowthailand
มีระบบการศึกษาที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนของรัฐ หรือเอกชน
มีระบบบำนาญที่ครอบคลุมประชากรทั้งประเทศ 100% อีกทั้งยังมีอัตราความยากจนในผู้สูงอายุที่ต่ำกว่าประเทศอื่นๆ
ดังนั้น สิ่งที่ประชาชนได้รับกลับจากการจ่ายภาษีนั้น อาจมากกว่าเงินที่เสียไป เนื่องจากรัฐบาลได้จัดหาสวัสดิการที่ดีเยี่ยมให้กับประชาชนนั่นเอง
สำหรับคนไทยเองก็ไม่ได้จ่ายภาษีกันน้อยๆ จากข้อมูลข้างต้นแล้ว จะพบว่าเราเสียภาษีกันค่อนข้างสูงเลยทีเดียวเมื่อเทียบกับชาติอื่นๆ
โดยอัตราภาษีของไทยอยู่ในช่วงระหว่าง 0%-35% โดยผู้ที่ต้องเสียภาษีตั้งแต่ 5%-35% คือผู้ที่มีรายได้สุทธิ 150,001 - 5,000,000 บาท/ปี ขึ้นไป
( เงินได้สุทธิช่วง 1-150,000 บาทได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี)
หากจะเทียบให้เห็นภาพชัดขึ้น สำหรับผู้ที่มีรายได้/ปี 500,001 บาท ในไทยเสียภาษีเงินได้ที่ 15% แต่ถ้าอยู่ญี่ปุ่นจะเสีย 20%
หรือหากมีรายได้เกิน 1,000,000 บาท ก็จะเสียภาษีในไทย 25% และญี่ปุ่นที่ 30%
เห็นได้ว่ายังอยู่ในระดับไม่ห่างกันมาก แต่คุณภาพของสวัสดิการที่ได้กลับแตกต่างกันมาก
เพราะเมื่อเทียบภาษีที่จ่ายกับสวัสดิการที่คนไทยได้รับ อาจยังไม่มากพอเท่าที่ควรจะเป็น
หรือไม่ครอบคลุมถึงประชากรทุกกลุ่ม ซึ่งกลุ่มคนที่ได้สวัสดิการที่ดีก็คือกลุ่มข้าราชการและพนักงานในภาคเศรษฐกิจที่เป็นทางการเท่านั้น
และที่ได้สวัสดิการดีรองลงมาหน่อย ก็จะเป็นกลุ่มแรงงานในระบบประกันสังคม ซึ่งมีจำนวนประมาณ 16 ล้านคน
ส่วนแรงงานในภาคเศรษฐกิจที่ไม่เป็นทางการ ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม จะเข้าถึงสวัสดิการได้น้อยนัก และแม้สวัสดิการบางอย่างอาจครอบคลุมแต่ในแง่คุณภาพก็อาจไม่เพียงพอ
ที่โชคดีหน่อยของไทยเรา ก็คือ ระบบสาธารณสุข ซึ่งถือเป็นสวัสดิการหนึ่งที่คนไทยพอจะเทียบกับประเทศอื่นได้บ้าง เพราะเป็นระบบที่ครอบคลุมประชากรอย่างกว้าง
แต่ถึงแม้เราจะสามารถเข้าถึงระบบสาธารณสุขได้ฟรี แต่ความเหลื่อมล้ำทำให้โรงพยาบาลมีคุณภาพไม่เท่ากัน ซึ่งคุณภาพของบริการที่ประชาชนได้นั้นแตกต่างกันราวฟ้ากับเหว
thaipublica
ทั้งนี้ เหตุผลส่วนหนึ่งก็น่าจะมาจาก จำนวนคนไทยที่เสียภาษีจริงๆ นั้นมีจำนวนค่อนข้างน้อย โดยมีเพียง 4 ล้านคน จากผู้ยื่นแบบภาษีทั้งหมด 11 ล้านคน
ส่วนที่เหลืออาจเป็นกลุ่มคนที่ได้รับยกเว้น (กลุ่มคนเกษตรกร ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ) หรือเป็นกลุ่มคนที่มีเงินได้ไม่พอที่จะต้องเสียภาษีนั้นเอง
เรียบเรียงโดย : ลงทุนในบัญชีและภาษี
ขอบคุณทุกท่านที่แวะมาเยือนค่ะ 😊
ติดตามอ่านบทความอื่นๆ ได้ที่

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา