4 ธ.ค. 2022 เวลา 12:20 • การศึกษา
งบกำไรขาดทุน VS งบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ
ต่างกันอย่างไร ?
1
งบกำไรขาดทุน หรือ Income statement เป็นหนึ่งในงบการเงินที่รายงานเกี่ยวกับรายได้ ค่าใช้จ่าย และสรุปเป็นกำไรหรือขาดทุน ในแต่ละรอบบัญชี ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพการดำเนินงานของบริษัทนั้น
อีกทั้งยังสามารถนำมาคาดการณ์ผลประกอบการในอนาคตได้ด้วย โดยงบกำไรขาดทุนมีส่วนประกอบหลัก 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนของรายได้ (Revenue) และส่วนของค่าใช้จ่าย (Expenses)
ในการแสดงตัวเลขในงบการเงิน สามารถแสดงรายได้และค่าใช้จ่ายแยกเป็นหลายส่วน เพื่อให้เหมาะแก่การบริหารและนำไปใช้ ได้แก่
- รายได้จากการขายและบริการ (Sale) คือ รายได้หลักของธุรกิจ หรือที่เรียกว่ารายได้ที่มาจากการดำเนินงาน
- รายได้อื่นๆ (Other Revenue) คือ รายได้ที่ไม่ได้มาจากการดำเนินงาน เช่น ดอกเบี้ยจากเงินทุนในธนาคาร รายได้จากการขายสินทรัพย์ เป็นต้น
- ต้นทุนการขาย (Cost of goods sold) คือ ราคาต้นทุนของสินค้า
- ค่าใช้จ่ายในการขาย (Selling Expenses) คือ ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการขายสินค้า เช่น ค่าโฆษณา ค่าขนส่ง เงินเดือนของพนักงานขาย เป็นต้น
- ค่าใช้จ่ายในการบริหาร (Administrative Expenses) คือ ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการบริหาร เช่น เงินเดือนพนักงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับฝ่ายขาย ค่าเช่าสำนักงาน เป็นต้น
- กำไรขั้นต้น (Gross profit) คือ กำไรที่มาจากยอดขายหักลบกับต้นทุนขาย หรือเป็นส่วนต่างระหว่างราคาซื้อขาย
- กำไรก่อนหักค่าใช้จ่ายทางการเงินและภาษีเงินได้ (EBIT) คือ กำไรที่มาจากการดำเนินงาน
- กำไรก่อนหักภาษีเงินได้ (EBT) คือ กำไรที่มาจากการดำเนินงานที่หักค่าใช้จ่ายทางการเงินออกแล้ว
- กำไรสุทธิ (Net income) คือ รายได้หลังหักค่าใช้จ่ายทุกอย่างแล้ว
สำหรับใครที่คุ้นเคยกับงบกำไรขาดทุนมาสักหน่อย คงพอจะทราบว่าในรายจ่าย จะมีค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริงรวมอยู่ด้วย คือ ค่าเสื่อมราคา และค่าใช้จ่ายตัดจำหน่าย
ซึ่งส่วนนี้เรียกว่า EBITDA เป็นที่นิยมในการดูว่าบริษัทค้าขายแล้วได้กำไรเป็นเงินสดจริงๆ เท่าไร โดยการนำ “ค่าเสื่อมราคา” และ “ค่าใช้จ่ายตัดจำหน่าย” บวกกลับเข้าไปนั่นเอง
อย่างไรก็ดี งบกำไรขาดทุนที่ได้กล่าวไปแล้วนี้ หลายท่านอาจจะคุ้นเคยกันมาพอสมควรแล้ว แล้วงบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จละ มันคืออะไร และต่างจากงบกำไรขาดทุนอย่างไร
📌 กำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ
คือ กำไรที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง ไม่สามารถลงในงบกำไรขาดทุนแบบปกติได้ ไม่สามารถนำไปจ่ายปันผลได้ และไม่ถูกนำไปคิดกำไรต่อหุ้นด้วย
งบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จ Comprehensive Income Statement (I/S – Successful Effort) จะบอกให้รู้ว่างวดนี้กิจการทำมาหาได้เท่าไร มีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นเท่าไร ซึ่งงบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จนี้แยกเป็นสองส่วน คือ
- ส่วนบน คืองบกำไรขาดทุนสำหรับงวด ส่วนนี้จะแสดงถึงการทำมาหาได้ของงวด ขายอะไร มีรายได้มาจากอะไร ต้นทุนที่ขาย จ่ายค่าอะไรไปบ้าง เหลือเป็นกำไรเท่าไร
- ส่วนล่าง (Other Comprehensive Income) หรือเรียกว่า OCI ส่วนนี้ไว้แสดงการเพิ่มขึ้นในส่วนเจ้าของที่ไม่ถือเป็นกำไรของงวด
คือส่วนของการเพิ่มขึ้นของมูลค่าสินทรัพย์ในงวดนั้นๆ ไม่ได้เกิดจากการดำเนินธุรกิจแต่อย่างใด แต่เจ้าของมั่งคั่งขึ้นเนื่องจากสินทรัพย์หรือทรัพยากรของกิจการที่มีราคาสูงขึ้น
เช่น ร้านของเรามีรถไฟฟ้าผ่าน ทำให้บริเวณร้านมีราคามากขึ้น ส่วนมูลค่าที่เพิ่มขึ้นนี้ จะแสดงให้รู้ว่าเรามั่งคั่งขึ้น ซึ่งทางบัญชีบอกอยากแสดงในงบการเงินด้วยก็ให้แสดงได้ แต่ไม่ให้ถือเป็นการดำเนินงาน คือไม่ถือเป็นกำไรจากการทำมาหากินตามปกติของกิจการนั่นเอง
งบกำไรขาดทุนเบ็ดเสร็จนี้ จะมีกิจการรูปแบบใดที่มีหน้าที่ต้องนำส่งบ้าง สามารถดูได้จากตารางข้างล่างนี้ค่ะ
เรียบเรียงโดย : ลงทุนในบัญชีและภาษี
ขอบคุณทุกท่านที่แวะมาเยือนค่ะ 😊
ติดตามอ่านบทความอื่นๆ ได้ที่

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา