23 ธ.ค. 2022 เวลา 13:40 • การศึกษา
10 เรื่องที่คนส่วนใหญ่มักทำผิดพลาดเมื่อต้องยื่นภาษี
ภาษีไม่ใช่เรื่องยาก แค่ต้องใช้การเตรียมตัวที่ดี แต่คนมักจะผิดพลาด เพราะมีรายละเอียดยิบย่อยมากเกินไป จนอาจเผลอหลงลืมบ้าง เข้าใจผิดบ้าง
เรามาลองสำรวจดูว่ามีข้อผิดพลาดไหนบ้าง ที่ส่วนใหญ่คนทั่วไปเผลอทำกัน เพื่อที่จะได้เข้าใจเรื่องภาษีอย่างชัดเจนและครบถ้วนมากขึ้น และวางแผนยื่นภาษีได้อย่างถูกต้อง สบายใจ และไร้กังวลกันค่ะ
1. คำนวณภาษีเงินได้ผิด
สำหรับเหล่ามนุษย์เงินเดือน การคำนวณภาษียังเป็นสิ่งที่หลายคนกังวัล ซึ่งการคำนวณภาษีเบื้องต้น ดังนี้
สูตรคำนวณ : [(เงินได้ - ค่าใช้จ่าย – ค่าลดหย่อน) – เงินบริจาค] * อัตราภาษี
- เงินได้ คือ รายได้ทั้งปี รวมโบนัส หรือถ้าเป็นพนักงานบริษัท ก็คือ เงินเดือน x12+โบนัส
- ค่าใช้จ่าย คือ ส่วนของค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่นำมาหักเป็นต้นทุนสำหรับการทำมาหารายได้ของเรา ซึ่งการหักค่าใช้จ่ายมี 2 แบบคือการหักค่าใช้จ่ายแบบตามจริง และ การหักค่าใช้จ่ายแบบเหมา
- ค่าลดหย่อน เป็นสิทธิประโยชน์ที่กฎหมายสนับสนุนเพื่อให้เสียภาษีน้อยลง เช่น ค่าลดหย่อนส่วนตัว คู่สมรส บิดามารดา บุตร อุปการะเลี้ยงดูคนพิการ เบี้ยประกันบิดามารดา ฯลฯ
- เงินบริจาค คือ เงินที่ได้รับสิทธินำมาลดหย่อนไม่เกิน 10% จากเงินได้สุทธิก้อนแรก เช่น เงินบริจาคเพื่อการศึกษา เงินบริจาคเพื่อสาธารณะประโยชน์
ขั้นสุดท้าย เมื่อคำนวณเงินได้สุทธิออกมาได้แล้ว ก็ต้องไปเทียบกับฐานภาษีของสรรพากร
2. ยื่นภาษีผิด
บางท่านเมื่อรู้ตัวว่ายื่นภาษีผิด ก็จะเกิดความกังวลว่าจะมีผลอะไรร้ายแรงหรือเปล่า ก็ไม่ต้องตกอกตกใจไปนะคะ เพราะเราสามารถยื่นเพิ่มเติมได้ เนื่องจากรายการเสียภาษีมีค่อนข้างเยอะ จึงอาจทำให้สับสนแล้วกรอกรายละเอียดยื่นภาษีผิดไปได้
3. ไม่เข้าใจเรื่องภาษีหัก ณ ที่จ่าย
ปกติเมื่อได้รับสลิปเงินเดือนมา เราจะเห็นว่ามีรายการถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายไป (กรณีเงินได้ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี) ทำให้จำนวนเงินที่ได้รับขาดไปบางส่วน
ซึ่งต้องทำความเข้าใจว่า ภาษีหัก ณ ที่จ่ายนี้ จะถูกหักออกจากเงินได้ของเราในแต่ละเดือนที่รับเงินได้ เป็นส่วนที่ทางรัฐกำหนดไว้เพื่อลดจำนวนเงินก้อนที่เราต้องจ่ายจำนวนมากในครั้งเดียวของการเสียภาษีตอนสิ้นปี
และเมื่อสิ้นปีคำนวณภาษีอีกครั้ง ถ้าเราถูกหักภาษีส่วนนี้มากเกินกว่าจำนวนภาษีสิ้นปีที่คำนวณออกมาได้ เราจะได้รับเงินภาษีคืน แต่ถ้าภาษีส่วนที่ถูกหักไว้น้อยกว่าภาษีสิ้นปีที่คำนวณได้ เราก็ต้องจ่ายเพิ่มนั่นเอง
4. หักลดหย่อนซ้ำในส่วนของบิดา มารดา
ค่าลดหย่อนบิดา มารดา มารถลดหย่อนได้ในกรณีที่ตนเองเลี้ยงดูบิดามารดาที่อายุมากกว่า 60 ปี และมีรายได้ต่อปีไม่เกิน 30,000 บาท ซึ่งจะมีสิทธิหักลดหย่อนได้คนละ 30,000 บาท (บิดา 30,000 บาท มารดา 30,000 บาท รวมเป็น 60,000 บาท)
ที่มักพลาดก็คือ คิดว่าลูกหนึ่งคนเท่านั้นที่ได้รับสิทธิเลี้ยงดูบิดาหรือมารดา
ความจริงแล้ว การใช้สิทธิลดหย่อนบิดามารดานั้นสามารถให้สิทธิใครลดหย่อนก็ได้ ขึ้นอยู่กับบุตรตกลงกันเอง ซึ่งเมื่อบุตรคนหนึ่งใช้สิทธิลดหย่อนไปแล้ว บุตรคนอื่นก็จะใช้ลดซ้ำไม่ได้
นอกจากนั้นถ้าหากคุณพ่อหรือคุณแม่เข้าข่ายเป็นผู้พิการหรือทุพพลภาพ ก็จะใช้สิทธิลดหย่อนเพิ่มได้อีก 60,000 บาท รวมทั้งหมดเป็น 90,000 บาท
5. เงินปันผลจากกองทุนรวม
คนที่มีรายได้สูงหลายคนเลือกที่จะลงทุนในกองทุนรวม โดยกองทุนรวมบางกองมีการจ่ายปันผล ซึ่งจะต้องเสียภาษี 10% (ทุกครั้งที่มีการจ่ายปันผล) เมื่อยื่นภาษีสิ้นปีสามารถเลือกนำเงินปันผลที่ได้มารวมเป็นรายได้ประจำปีเพื่อคำนวณภาษีใหม่ หรือเลือกไม่นำมารวมคำนวณก็ได้
6. ไม่เข้าใจเงื่อนไขการหักลดหย่อนด้วยประกันชีวิต
ประกันชีวิตเป็นเหมือนสิทธิขั้นพื้นฐานที่เราควรมีติดตัว บางคนเห็นประโยชน์ก็อาจทำประกันชีวิตไว้เยอะๆ เพราะหวังจะนำมาลดหย่อนภาษีให้ได้มากๆ เพราะเห็นว่าเบี้ยประกันชีวิตนำไปใช้เป็นค่าลดหย่อนได้ตามที่จ่ายจริง แต่กฎหมายกำหนดให้หักลดหย่อนสูงสุดได้ไม่เกิน 100,000 บาท เท่านั้น
เช่น ถ้าจ่ายเบี้ยประกันปีละ 1,000,000 บาท จะสามารถนำมาลดหย่อนได้ 100,000 บาทเท่านั้น และไม่ใช่ทุกประกันชีวิตจะสามารถนำมาลดหย่อนได้ แต่ต้องเป็นประกันแบบที่มีความคุ้มครองตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป
ส่วนประกันสุขภาพ สามารถนำเบี้ยประกันมาลดหย่อนภาษีตามที่จ่ายจริงได้ แต่ไม่เกิน 15,000 บาท และหากนำไปรวมกับประกันชีวิตทั่วไปและเงินฝากแบบมีประกันชีวิตแล้ว รวมกันต้องไม่เกิน 100,000 บาท
นอกจากนี้ค่าเบี้ยประกันบำนาญก็สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 15% ของเงินได้พึงประเมินและไม่เกิน 200,000 บาท และอาจลดหย่อนได้สูงสุด 300,000 บาทหากยังไม่ได้ใช้สิทธิเบี้ยประกันชีวิตแบบทั่วไปเลย และหากรวมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ,กบข,และ RMF จะต้องไม่เกิน 500,000 บาท
 
7. ไม่รู้ว่าซื้อประกันสุขภาพให้บิดามารดา ก็นำมาลดหย่อนได้
1
ปัจจุบันประกันสุขภาพ นับเป็นเรื่องจำเป็น ซึ่งถ้าซื้อประกันสุขภาพให้กับบิดามารดา ก็สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ด้วย สูงสุด 15,000 บาท (กรณีบิดามารดารายได้ไม่เกิน 30,000 บาทต่อปี) ได้ทั้งความอุ่นใจและได้ลดหย่อนภาษีไปด้วย
8. ฟรีแลนซ์ลืมขอใบ 50 ทวิ (หนังสือรับรองหัก ณ ที่จ่าย)
ฟรีแลนซ์หลายคนที่มีงานล้นมือ รายได้เข้าเยอะ ก็อาจจะมีกังวลเรื่องภาษีที่จะตามมาตอนสิ้นปี ยิ่งถ้าไม่มีความรู้เรื่อง 50 ทวิ จะยิ่งทำให้คุณพลาดอย่างมาก เพราะนี่คือสิ่งที่จะมาช่วยลดภาษีได้ เพราะมันคือภาษีส่วนที่เราถูกหักไปแล้วระหว่างปี
1
ดังนั้น เมื่อใดก็ตามที่คุณถูกหักภาษีรายได้ของคุณไว้ จะต้องขอใบ 50 ทวิ มาเก็บไว้เป็นหลักฐานในการยื่นภาษีสิ้นปี เพราะมันจะช่วยให้คุณเสียภาษีน้อยลง หรืออาจจะได้รับภาษีคืนก็ได้
9. ไม่สมัครพร้อมเพย์
1
หากต้องการได้เงินคืนภาษีเร็ว ต้องสมัครบริการพร้อมเพย์ จะทำให้ได้รับเงินคืนไวมาก โดยเงินคืนภาษีของเราจะถูกโอนเข้าบัญชีที่ลงทะเบียนพร้อมเพย์ไว้
แต่หากไม่มีพร้อมเพย์ สามารถนำหนังสือแจ้งคืนภาษีไปติดต่อที่ธนาคารกรุงไทย เพื่อนำเงินภาษีเข้าบัญชีได้เช่นกัน แต่อาจจะเสียเวลาในการเดินทางและดำเนินการกับทางธนาคารสักหน่อยค่ะ
 
10. ยื่นภาษีล่าช้า
เป็นปกติของการไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ภายในกำหนด ก็จะต้องมีบทลงโทษ การยื่นภาษีล่าช้าก็เช่นกัน โดยถ้ายื่นช้ากว่าเวลาที่กำหนดจะถือว่ามีความผิด ซึ่งจะต้องเสียดอกเบี้ยเพิ่มอีกร้อยละ 1.5% ต่อเดือน ของจำนวนเงินภาษีที่ต้องชำระ (ถ้ามีเศษของเดือนให้นับเป็น 1 เดือน) และค่าปรับไม่เกิน 2,000 บาท
เป็นอย่างไรบ้างคะ สำรวจดูแล้ว คุณมีจุดไหนที่อาจจะพลาดไปบ้างหรือเปล่าคะ เมื่อทราบอย่างนี้แล้ว ก็อุดรอยรั่วให้หมดนะคะ อย่าให้เงินทองที่หามาอย่างยากลำบากต้องรั่วไหลไปอย่างน่าเสียดายอีกต่อไปค่ะ
เรียบเรียงโดย : ลงทุนในบัญชีและภาษี
ขอบคุณทุกท่านที่แวะมาเยือนค่ะ 😊
ติดตามอ่านบทความอื่นๆ ได้ที่

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา