13 ธ.ค. 2022 เวลา 13:20 • การศึกษา
อยากเป็นฟรีแลนซ์ ต้องรู้อะไรบ้าง ?
และต้องวางแผนการเงินยังไงต่อ ?
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่อยากออกจากงานประจำ หรือวางแผนจะลาออกมาทำอาชีพฟรีเเลนซ์ ควรจะต้องรู้อะไรบ้าง มาเช็คข้อมูลได้จากบทความนี้ค่ะ
1) การรับเงินสวัสดิการว่างงานจากประกันสังคม
เมื่อว่างงานจะต้องเเจ้งสำนักงานจัดหางานภายใน 30 วัน นับจากวันที่ว่างงาน โดยถ้าลาออกหรือสิ้นสุดสัญญาจ้างตามกำหนดระยะเวลา
จะได้รับเงินชดเชยในอัตราร้อยละ 30 ของฐานเงินเดือนเฉลี่ยไม่เกิน 90 วัน (ฐานเงินเดือนขั้นต่ำ 1,650 บาท - สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท)
2) การเลือกประกันตนเองต่อกับประกันสังคม
หากต้องการเลือกประกันตนเองต่อกับประกันสังคม จะต้องสมัครเป็นผู้ประกันตนมาตรา 39 ภายใน 6 เดือน นับตั้งแต่วันออกจากงาน และต้องส่งเงินสมทบต่อเองในอัตรา 432 บาทต่อเดือน
โดยเมื่อเข้ามาตรา 39 จะได้รับความคุ้มครองต่อจากประกันสังคม ซึ่งจะได้รับ 6 สิทธิ ได้แก่ เจ็บป่วย คลอดบุตร ทุพพลภาพ เสียชีวิต สงเคราะห์บุตร และชราภาพ
ทั้งนี้ ถ้าไม่ได้สมัครประกันตนเองต่อ ก็ยังสามารถใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ได้เช่นกัน
3) ตรวจเช็คเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพก่อนลาออก
ให้ศึกษาเงื่อนไขและเกณฑ์ที่บริษัทกำหนดเรื่องอายุงาน ว่าครบกำหนดที่จะได้รับเงินสมทบส่วนของนายจ้างเมื่อใดและได้รับในอัตราเท่าใด
เช่น ถ้าอายุงานไม่เกิน 5 ปี เมื่อลาออกจะได้เงินสมทบของนายจ้างร้อยละ 50 แต่หากอายุงานเกิน 5 ปี จะได้รับเงินสมทบเต็มจำนวน เป็นต้น
จะเห็นว่า เงื่อนไขการได้รับเงินสมทบของนายจ้าง มีผลต่อการตัดสินใจออกจากงานในช่วงเวลานั้น
สำหรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเมื่อออกจากงาน เมื่อไรที่นำเงินออกจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ก็ต้องนำเงินสมทบส่วนของนายจ้างและเงินผลประโยชน์ที่ได้รับจากการลงทุนทั้งหมด ไปรวมกับเงินได้เพื่อเสียภาษีประจำปีด้วย
แต่ถ้ายังไม่อยากเสียภาษี สามารถทำเรื่องโอนเงินกองทุนฯ ทั้งหมดไปยังกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และถือต่อเป็นเวลา 5 ปีเต็ม เมื่ออายุครบ 55 ปี ขึ้นไป ก็จะสามารถนำเงินออกมาได้โดยที่ไม่ได้ต้องเสียภาษีเลยทั้งจำนวน
นอกจากเรื่องที่ต้องรู้ 3 ข้อข้างต้นแล้ว ก่อนออกจากงานประจำมาเป็นฟรีแลนซ์ ควรศึกษาเรื่องการวางแผนการเงินต่อด้วย ดังนี้
📌 เตรียมเงินสภาพคล่องเพิ่ม
เนื่องด้วยอาชีพอิสระ จะมีช่วงเวลาการทำงานที่ไม่แน่นอน ซึ่งอาจจะมีบางช่วงที่ไม่มีงานเลยก็เป็นได้ จึงควรเตรียมเงินสำรองไว้เพิ่มจากเดิม 2-4 เท่าตามความเหมาะสม รวมถึงอาจต้องเตรียมเงินสภาพคล่องสำหรับหมุนเวียนในธุรกิจแยกอีกก้อนหนึ่งอีกด้วย
📌 แยกกระเป๋าเงินส่วนตัว และกระเป๋าเงินธุรกิจจากกัน
สืบเนื่องจากการที่มีรายได้ไม่แน่นอน แต่ค่าใช้จ่ายจำเป็นยังคงต้องใช้อยู่ อีกทั้งค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับธุรกิจที่เพิ่มเข้ามา การทำงบประมาณส่วนบุคคล และงบประมาณธุรกิจ จึงเป็นสิ่งที่ควรกระทำ
โดยการแยกกระเป๋าเงินส่วนตัวและกระเป๋าเงินธุรกิจออกจากกัน จะช่วยลดปัญหาความซับซ้อนของเส้นทางการเงินในอนาคตได้
📌 วางแผนออมเพื่อการเกษียณ
เราสามารถเลือกออมผ่านกองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) และประกันชีวิตแบบสะสมทรัพย์หรือแบบบำนาญได้
โดยการออมผ่านเครื่องมือเหล่านี้ จะช่วยให้ฟรีแลนซ์ ที่ไม่มีเครื่องมือออมเงินภาคบังคับเหมือนมนุษย์เงินเดือน และไม่มีนายจ้างช่วยออมเพิ่มให้ ก็สามารถจัดการชีวิตให้ดีขึ้นได้ ซึ่งนอกจากจะเป็นการลงทุนระยะยาวแล้วยังได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีด้วย
และอีกอย่างที่สำคัญที่ควรคำนึงถึง ก็คือ การทำประกันคุ้มครองสุขภาพ ชีวิต และทรัพย์สิน เพราะการหวังพึ่งสวัสดิการจากรัฐเพียงอย่างเดียว ไม่ใช่สิ่งที่ดีนัก
1
การพิจารณาทำประกันคุ้มครองตัวเราเอง ก็เพื่อให้เรามีทางเลือกในการรักษาพยาบาลมากขึ้น จะช่วยลดมูลค่าความเสียหายที่อาจเกิดจากความเสี่ยงต่างๆ ได้อย่างดี
ดังนั้น หากอยากออกมาเป็นฟรีแลนซ์ ก็ควรเตรียมศึกษาสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ควรจะได้รับก่อนออกจากงานประจำ รวมถึงวางแผนเรื่องเงินให้พร้อม เพื่อที่จะสามารถเป็นฟรีแลนซ์ที่มีความเป็นอิสระได้ดั่งใจหวัง และดำเนินอยู่ได้อย่างมั่นคงค่ะ
ขอบคุณทุกท่านที่แวะมาเยือนค่ะ 😊
ติดตามอ่านบทความอื่นๆ ได้ที่

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา