23 ธ.ค. 2022 เวลา 12:19 • เพลง & ซีรีส์ เกาหลี
Reborn Rich : วิกฤติหนี้บัตรเครดิตครั้งใหญ่ของเกาหลีใต้ในปี 2003
สัปดาห์นี้ก็จะดำเนินมาถึงตอนจบของซีรีส์เกาหลีที่เรทติ้งมาแรงแซงทางโค้งที่สุดในปีนี้
เพราะนอกจากจะดำเนินเรื่องเกี่ยวกับการต่อสู้กันทางด้านธุรกิจของกลุ่มแชโบลแล้ว ยังเอาเรื่องราวทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจริงในอดีตเข้ามาผสานกับเนื้อเรื่องได้อย่างน่าสนใจ เหมือนกำลังพาผู้ชมนั่งเรียนวิชาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจเกาหลีใต้หลังปี 1987 เลยก็ว่าได้
เรื่องราวในซีรีส์แต่ละตอนที่หักมุมไปมาจนเราคาดเดาไม่ได้ กำลังมาถึงโค้งสุดท้ายที่มีฉากหลังอยู่ในช่วงปี 2002 - 2003 เกิดวิกฤติในวงการการเงินอีกครั้งเมื่อประชาชนเป็นหนี้บัตรเครดิตเกินขีดความสามารถชำระ ทำให้เกิดวิกฤติหนี้บัตรเครดิต และวิกฤตินั้นใหญ่ถึงขนาดนี้ว่า “ซุนยังการ์ด” ที่เป็นบริษัทบัตรเครดิตของกลุ่มแชโบลในซีรีส์ กำลังประสบปัญหาล้มละลายได้เลยทีเดียว
บทความนี้ Bnomics ก็เลยอยากเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงในอดีต
ว่าวิกฤติหนี้บัตรเครดิตนั้นเกิดขึ้นมาได้อย่างไร และมีจุดจบอย่างไร เราจะได้มาลุ้นกันใน 2 ตอนสุดท้ายว่า จินโดจุน พระเอกของเรื่อง จะสามารถนำวิกฤติหนี้บัตรเครดิต มาพลิกเป็นโอกาสให้เขาได้ครอบครองซุนยังกรุ๊ปหรือไม่
1
📌 ย้อนรอยช่วงอุตสาหกรรมบัตรเครดิตเกาหลีเติบโตอย่างก้าวกระโดด
หลังจากวิกฤติการเงินปี 1997 ธนาคารส่วนใหญ่เริ่มปล่อยกู้ให้กับภาคครัวเรือนเพิ่มขึ้นมาก ในช่วงปี 1999 ถึง 2005 สัดส่วนของหนี้ครัวเรือน คิดเป็น 30 - 50% ของหนี้ที่ธนาคารปล่อยกู้ไปทั้งหมด หรือเพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่าเมื่อเทียบกับในอดีต
1
เหตุที่เป็นอย่างนี้ก็เนื่องจาก
1) หลังจากวิกฤติการเงิน ความต้องการกู้เงินจากภาคธุรกิจลดต่ำลง และในขณะเดียวกันธนาคารกลางก็ใช้นโยบายผ่อนคลายทางการเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้สภาพคล่องที่หมุนเวียนในระบบธนาคารสูงมาก ในระหว่างปี 1998 - 2000 ธนาคารจึงปล่อยกู้ให้แก่ภาคครัวเรือนเป็นจำนวนมาก
2) ในช่วงนั้น มาตรฐานการครองชีพในเกาหลีใต้สูงขึ้น ราคาบ้านก็สูงขึ้น ทำให้ผู้บริโภคต้องการกู้ยืมเงินจากในอนาคตมาใช้มากขึ้น
3) เทคโนโลยีการติดต่อสื่อสารขณะนั้นก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็วจึงช่วงลดต้นทุนของบริการทางการเงินสำหรับรายย่อย
4) การปลดระเบียบข้อบังคับทางการเงินในขณะนั้น ทำให้ทั้งคนเกาหลีและต่างชาติรายใหม่ๆ เข้าสู่ระบบการธนาคารได้ และนโยบายของรัฐบาลในตอนนั้นก็ช่วยกระตุ้นให้เกิดการปล่อยสินเชื่อแก่ภาคครัวเรือน
ในช่วงปี 1999 - 2002 ธุรกิจบัตรเครดิตจึงเป็นหนึ่งในธุรกิจที่เติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงนั้น จำนวนบัตรเครดิตเพิ่มขึ้นจาก 39 ล้านไป กลายเป็น 105 ล้านใบ ในขณะที่ปริมาณการใช้บัตรเครดิตเพื่อทำธุรกรรมก็เพิ่มขึ้นกว่า 6 เท่าตัว (ในเรื่องเราจะเห็นที่ลูกชายคนรองของประธานจินยังชอล ต้องการซื้อซุนบังการ์ดกลับมาเป็นของตนเอง เนื่องจากมองว่าเป็นบริษัทที่มีเงินหมุนเวียนเร็วที่สุด)
ในปี 2002 สัดส่วนของหนี้ครัวเรือนต่อรายได้ เพิ่มขึ้นสูงถึง 64% จากที่เคยอยู่แค่ 41% ในปี 1999 แนวโน้มการนำบัตรเครดิตไปรูดซื้อสินค้าเพิ่มขึ้นสูงมาก คิดเป็นเกือบ 50% ของการใช้จ่ายผู้บริโภค ไหนจะมีการกดเงินสดล่วงหน้า บางส่วนก็กดเงินจากบัตรหนึ่ง เพื่อไปโปะหนี้อีกบัตรหนึ่ง ซึ่งยิ่งก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อระบบการเงินขึ้นเรื่อยๆ
LG Card ซึ่งเป็นบริษัทผู้ออกบัตรเครดิตรายใหญ่ของเกาหลีใต้ในขณะนั้น เริ่มพบว่า 70% ของหนี้เสียที่เกิดขึ้น มาจากบัญชีที่เปิดขึ้นมาในช่วงปี 2000 - 2001 ซึ่งเป็นช่วงที่ปริมาณการออกบัตรเครดิตพุ่งสูงเกินสองเท่าตัว
1
📌 จากหนี้บัตรเครดิตท่วมหัว…จนแชโบลเกือบจะเอาตัวแทบไม่รอด
บริษัทผู้ออกบัตรเครดิตมักจะหาเงินทุนมาสนับสนุนการขยายสินเชื่อบัตรเครดิตผ่านการออกตราสารในตลาดทุน ซึ่งคนที่มาซื้อตราสารเหล่านั้นก็คือ investment trust companies (ITCs), บริษัทประกันภัย, และกองทุนบำนาญ
แต่เมื่อการปล่อยกู้บัตรเครดิตเริ่มดูเหมือนจะมีกลิ่นตุๆ ว่าจะกลายเป็นหนี้เสีย นักลงทุนต่างก็เกิดความตื่นตระหนกถอนการลงทุนออกกันยกใหญ่ ถึงขนาดที่ ITCs เองก็ต้องขายพันธบัตรรัฐบาลที่ถืออยู่ออกมา เนื่องจากสภาพคล่องในตลาดรองตราสารหนี้เริ่มหายไป
และในเวลานั้นเองที่บริษัทผู้ออกบัตรเครดิตส่วนใหญ่เริ่มพบว่าแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะชำระหนี้ตามกำหนดได้ หลายบริษัทที่ประสบปัญหาสภาพคล่องจึงต้องชะลอการปล่อยสินเชื่อ หรือถึงขนาดระงับการปล่อยสินเชื่อเลยทีเดียว (ในซีรีส์ ซุนยังการ์ดต้องหยุดให้บริการกดเงินสด เพราะสภาพคล่องไม่พอ) ซึ่งก็ยิ่งบั่นทอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ยังถือตราสารหนี้อยู่เข้าไปอีก
ในตอนนั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจึงต้องออกกฎระเบียบเกี่ยวกับผู้ตรวบสอบและผู้ออกบัตรเครดิตให้รัดกุมขึ้น ห้ามไม่ให้มีการทำการตลาดแบบรุกหนักๆ
ช่วงกลางเดือนมีนาคม 2003 ธนาคารกลางเกาหลีอัดฉีดสภาพคล่องระยะสั้นกว่า 4 ล้านล้านวอนเข้าไปในระบบ open market operations ผ่านการซื้อหลักทรัพย์โดยมีสัญญาจะขายคืน (Reverse repo), การซื้อคืนพันธบัตรทันที และการไถ่ถอนพันธบัตรก่อนกำหนดเพื่อรักษาเสถียรภาพทางการเงิน
นอกจากนี้ ยังมีการอัดฉีดเงินช่วยเหลือผ่าน State-owned Korean Development
Bank (KDB) เพื่อช่วย LG Card ที่กำลังประสบปัญหาอีกด้วย
📌 บทเรียนจากวิกฤติบัตรเครดิตในอดีตสู่ปัจจุบัน
วิกฤติหนี้บัตรเครดิตในครั้งนั้น ถือได้ว่าเป็นบทเรียนที่มีค่ายิ่งสำหรับเกาหลีใต้และอีกหลายๆ ประเทศที่มีลักษณะเศรษฐกิจคล้ายๆ กัน
อย่างแรกคือทำให้เห็นว่า ต้องให้ความสำคัญกับการตรวจจับสัญญาณเตือนในระบบการเงิน ก่อนที่มันจะเริ่มไม่สมดุลมากขึ้นเรื่อยๆ อย่างเช่นการดูอัตราส่วนหนี้ต่อ GDP หรือ สัดส่วนหนี้สินต่อทรัพย์สิน เพื่อบริหารความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นแต่เนิ่นๆ
นอกจากนี้รัฐบาลควรอำนวยความสะดวกให้ข้อมูลในตลาดเครดิตไหลได้อย่างโปร่งใสขึ้น เพื่อป้องกันปัญหาความไม่สมมาตรของข้อมูล ช่วยจัดการความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากผู้กู้ยืมที่มีแนวโน้มผิดนัดชำระหนี้ได้มากขึ้น
ท้ายที่สุด ผู้วางนโยบายควรจะมีการยกระดับตรวจสอบอย่างรอบคอบ และกำกับดูแลให้ธุรกิจปฏิบัติตามกฎเกณฑ์อย่างเคร่งครัด มีข้อกำหนดด้านเงินทุนที่ชัดเจนเพื่อรองรับความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้น มีการกำหนดเครดิตลิมิต และยอดการชำระขั้นต่ำ เพื่อให้ครอบคลุมความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยให้ระบบการเงินมีเสถียรภาพมากยิ่งขึ้นกว่าในอดีต
นอกจากนี้ วิกฤติบัตรเครดิตในเกาหลีใต้ อาจจะสอนให้เรารู้ว่า
ความอยากได้อยากมี เป็นสิ่งที่มีอยู่ในตัวมนุษย์ทุกคน ทุกชนชั้น ขึ้นอยู่กับว่าเราจะจัดการกับความอยากได้อยากมีนั้นอย่างไร ถ้าเราคิดแต่จะยืมเงินในอนาคตมาใช้ หรือพึ่งพาแต่คนอื่น เราอาจจะไม่มีอนาคตให้หยิบยืมมาใช้อีกต่อไปก็ได้…
ผู้เขียน: ชนาภา มานะเพ็ญศิริ Economist, Bnomics
ภาพประกอบ : จินดาวรรณ อรรถมานะ Graphic Designer, Bnomics
▶︎ ติดตามช่องทางของ Bnomics ได้ที่
Line OA : @Bnomics https://bit.ly/3eYkTJC
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
เครดิตภาพ: VIU Original และ tvN

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา