20 ม.ค. 2023 เวลา 03:37 • การเมือง

กฎหมายน่ารู้: สมุนไพรไทยยุคโควิด-19 กับการแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่า

ในยุคที่มีโรคระบาด “โควิด-19”
ทำให้ทุกคนหันมาดูแลใส่ใจสุขภาพ
ของตนเองและครอบครัวมากขึ้น
อีกทั้งสมุนไพรไทยอย่างฟ้าทะลายโจร และกระชาย
สามารถช่วยยับยั้งโรคโควิด-19 ได้
ยิ่งทำให้ “สมุนไพรไทย”
เป็นที่นิยมและมีความต้องการมากขึ้นเรื่อย ๆ
การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โควิด-19 เมื่อปลายปี พ.ศ. 2562 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน กระทบต่อการดำเนินชีวิต สังคม เศรษฐกิจ และส่งผลให้เกิดภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขทั่วโลก ปัจจุบันหลายประเทศต่างมีการประกาศใช้มาตรการป้องกันและเฝ้าระวังการแพร่เชื้อไวรัสโควิด-19 อย่างเคร่งครัด รวมทั้งทุ่มเท คิดค้นวิธี เพื่อป้องกันและรักษาโรคระบาดร้ายแรงดังกล่าว
การแพทย์ดั้งเดิมและสมุนไพร นับเป็นความหวังหนึ่งของมนุษยชาติในการต่อสู้กับโรคโควิด-19 โดยในช่วงระหว่างการระบาดอย่างหนักของโรคโควิด-19 หลายประเทศในอาเซียนได้มีการส่งเสริมและผลักดันให้มีการศึกษาวิจัยสมุนไพรและตำรับยาแผนดั้งเดิมที่มีศักยภาพสำหรับใช้รักษาโรคดังกล่าว รวมทั้งบางประเทศได้จัดทำแนวทางปฏิบัติการใช้การแพทย์ดั้งเดิมเพื่อป้องกันและรักษาโรคโควิด-19
จากสถานการณ์ความผันผวนและมีการเปลี่ยนแปลงของโลก (VUCA World) ประกอบกับการระบาดของโรคโควิด-19 ที่มีผลกระทบรุนแรงต่อการดำรงชีวิตของประชาชนและระบบการแพทย์และการสาธารณสุขทั่วโลก ทำให้ทุกคนตระหนักถึงความมั่นคงและความยั่งยืนทางยา ซึ่งยาจากสมุนไพรเป็นอีกหนึ่งความหวัง
ดังจะเห็นได้จากหลายประเทศเร่งค้นหาและศึกษาวิจัยยาจากผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ ซึ่งประเทศไทยถือว่าเป็นแหล่งกำเนิดของสมุนไพรที่หลากหลาย มีภูมิปัญญาการใช้สมุนไพรเป็นยารักษาโรคมายาวนานมีนักวิทยาศาสตร์ที่มีความรู้ความสามารถ รวมทั้งมีนโยบายส่งเสริมการพัฒนายาจากสมุนไพร เพื่อการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน
ประเทศไทยมีแผนการพัฒนาสมุนไพรที่ระบุอยู่ในแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนแม่บทสมุนไพรแห่งชาติ ว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทย ฉบับที่ 1 พ.ศ. 2560-2564 ที่กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกได้ให้ความสำคัญของการพัฒนาสมุนไพรตั้งแต่ต้นทาง ได้แก่ การคัดเลือกเมล็ดพันธุ์และการปลูก ระหว่างทาง เช่น การแปรรูป และการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และปลายทาง ได้แก่ การส่งเสริมด้านการตลาดและการใช้ในภาคประชาชนและหน่วยบริการทางการแพทย์
แพทย์แผนไทยอภิรัช ประชาสุภาพ หัวหน้าหลักสูตรการแพทย์แผนไทย วิทยาลัยการแพทย์บูรณาการ (CIM) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) กล่าวว่า ขณะนี้มีหลายสถาบันการศึกษาเปิดสอนเกี่ยวกับการผลิตบุคลากรแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก ซึ่งต้องยอมรับว่าบุคลากรด้านนี้ของประเทศไทยมีจำนวนจำกัด
ดังนั้น วิทยาลัยการแพทย์บูรณาการ (CIM) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ (DPU) จึงได้มุ่งผลิตแพทย์แผนไทยยุคใหม่ เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกคนได้เข้ามาเรียนรู้เกี่ยวกับสมุนไพร เพื่อนำไปต่อยอดในการทำงานหรือการทำธุรกิจ เพราะถือว่า "สมุนไพร” เป็นภูมิปัญญารากเหง้าของคนไทยมาเป็นระยะเวลานาน จะเห็นได้จากในชุมชนต่าง ๆ ที่มีปราชญ์ชาวบ้าน หรือผู้สูงอายุได้นำสมุนไพรมาใช้กันอยู่แล้ว แต่การนำมาใช้ต้องมีความรู้ ความเข้าใจเป็นอย่างดี เพื่อให้ได้ประโยชน์จากการใช้สมุนไพรในการป้องกัน ดูแลสุขภาพ และรักษาโรคได้
ในยุคที่มีโรคระบาด “โควิด-19” ทำให้ทุกคนหันมาดูแลใส่ใจสุขภาพของตนเองและครอบครัวมากขึ้น อีกทั้งสมุนไพรไทยอย่างฟ้าทะลายโจร และกระชาย สามารถช่วยยับยั้งโรคโควิด-19 ได้ ยิ่งทำให้ “สมุนไพรไทย” เป็นที่นิยมและมีความต้องการมากขึ้นเรื่อย ๆ
แต่การใช้สมุนไพรนั้น ไม่สามารถหยิบมาทานได้ทันที เพราะไม่ว่าจะเป็นยาหรือสมุนไพรชนิดใด หากนำมาใช้ไม่ถูกวิธีและไม่เหมาะสมแล้ว จากคุณประโยชน์ก็จะกลายเป็นโทษได้เช่นเดียวกัน การมีความรู้เกี่ยวกับการใช้สมุนไพร จึงมีความสำคัญอย่างมาก ทั้งนี้ ในการนำสมุนไพรมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพร จึงต้องคำนึงถึงความปลอดภัย และมีประสิทธิภาพสูงสุด
ความหมายของสมุนไพร
ตามพระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. 2562 มาตรา 4 บัญญัติบทนิยามที่สำคัญไว้ ดังนี้
“มาตรา 4 ในพระราชบัญญัตินี้
“สมุนไพร” หมายความว่า ผลิตผลธรรมชาติที่ได้จากพืช สัตว์ จุลชีพ หรือแร่ ที่ใช้ ผสม ปรุง หรือแปรสภาพ เป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพร
“ผลิตภัณฑ์สมุนไพร” หมายความว่า
(1) ยาจากสมุนไพร และให้หมายความรวมถึงยาแผนไทย ยาพัฒนาจากสมุนไพร ยาแผนโบราณ ที่ใช้กับมนุษย์ตามกฎหมายว่าด้วยยา หรือยาตามองค์ความรู้การแพทย์ทางเลือกตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยคำแนะนำของคณะกรรมการผลิตภัณฑ์สมุนไพรประกาศกำหนด เพื่อการบำบัด รักษา และบรรเทาความเจ็บป่วยของมนุษย์ หรือการป้องกันโรค
(2) ผลิตภัณฑ์จากสมุนไพรหรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบสำคัญที่เป็นหรือแปรสภาพจากสมุนไพร ซึ่งพร้อมที่จะนำไปใช้แก่มนุษย์เพื่อให้เกิดผลต่อสุขภาพหรือการทำงานของร่างกายให้ดีขึ้นเสริมสร้างโครงสร้างหรือการทำงานของร่างกาย หรือลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค
(3) วัตถุที่มุ่งหมายสำหรับใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตผลิตภัณฑ์สมุนไพร
(4) วัตถุอื่นตามที่รัฐมนตรีโดยคำแนะนำของคณะกรรมการผลิตภัณฑ์สมุนไพรประกาศกำหนดให้เป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพร
ความตาม (1) (2) หรือ (3) ไม่หมายความรวมถึง
(ก) วัตถุที่มุ่งหมายสำหรับใช้ในการเกษตร การอุตสาหกรรม หรือการอื่นตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยคำแนะนำของคณะกรรมการผลิตภัณฑ์สมุนไพรประกาศกำหนด
(ข) วัตถุที่จัดเป็นยาแผนปัจจุบัน ยาแผนโบราณสำหรับสัตว์ อาหารสำหรับมนุษย์
หรือสัตว์ เครื่องกีฬา เครื่องมือเครื่องใช้ในการส่งเสริมสุขภาพ เครื่องสำอาง เครื่องมือแพทย์ วัตถุที่ออกฤทธิ์ต่อจิตและประสาท ยาเสพติดให้โทษ วัตถุอันตราย หรือวัตถุอื่นตามที่รัฐมนตรีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยคำแนะนำของคณะกรรมการผลิตภัณฑ์สมุนไพรประกาศกำหนด
“ยาแผนไทย” หมายความว่า ยาที่ได้จากสมุนไพรโดยตรง หรือที่ได้จากการผสม ปรุง หรือ แปรสภาพสมุนไพร ที่มุ่งหมายสำหรับใช้ตามศาสตร์องค์ความรู้การแพทย์แผนไทยหรือยาที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขประกาศกำหนดให้เป็นยาแผนไทย
“ยาพัฒนาจากสมุนไพร” หมายความว่า ยาที่ได้จากสมุนไพรโดยตรง หรือที่ได้จากการผสม ปรุง หรือแปรสภาพสมุนไพร ที่ไม่ใช่ยาแผนไทยและยาตามองค์ความรู้การแพทย์ทางเลือก
“สารสำคัญ” หมายความว่า วัตถุอันเป็นส่วนประกอบสำคัญของผลิตภัณฑ์สมุนไพร หรือสารในผลิตภัณฑ์สมุนไพร ที่ใช้เพื่อบำบัด รักษา และบรรเทาความเจ็บป่วยของมนุษย์ หรือการป้องกันโรค ส่งเสริมสุขภาพ บำรุงร่างกาย หรือลดปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรค
“ความแรงของสารสำคัญ” หมายความว่า
(1) ความเข้มข้นของผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีปริมาณของสาระสำคัญระบุเป็นน้ำหนักต่อน้ำหนัก น้ำหนักต่อปริมาตร หรือปริมาณของสารสำคัญต่อหนึ่งหน่วยการใช้
(2) การแสดงผลหรือสรรพคุณของผลิตภัณฑ์สมุนไพรตามที่ได้มีการทดสอบในห้องปฏิบัติการ ด้วยวิธีการที่ได้มาตรฐานหรือผ่านการใช้อย่างได้ผลเพียงพอแล้ว
“ตำรับ” หมายความว่า สูตรซึ่งระบุส่วนประกอบสิ่งปรุงที่มีสมุนไพรรวมอยู่ด้วย ไม่ว่าสิ่งปรุงนั้นจะมีรูปลักษณะใด และให้หมายความรวมถึงผลิตภัณฑ์สมุนไพรที่มีลักษณะเป็นวัตถุสำเร็จรูปทางเภสัชกรรม ซึ่งพร้อมที่จะนำไปใช้แก่มนุษย์
ฯลฯ ฯลฯ”
สำหรับความหมายของ “สมุนไพร” ในความหมายทั่วไป หมายถึง "ผลิตผลธรรมชาติ ได้จากพืช สัตว์ และแร่ธาตุ ที่ใช้เป็นยา หรือผสมกับสารอื่นตามตำรับยา เพื่อบำบัดโรค บำรุงร่างกาย หรือใช้เป็นยาพิษ" หากนำเอาสมุนไพรตั้งแต่สองชนิดขึ้นไปมาผสมรวมกัน ซึ่งจะเรียกว่า “ยา” ในตำรับยา นอกจากพืชสมุนไพรแล้วยังอาจประกอบด้วยสัตว์และแร่ธาตุอีกด้วย เราเรียก พืช สัตว์ หรือแร่ธาตุที่เป็นส่วนประกอบของยานี้ คือ เภสัชวัตถุ และพืชสมุนไพรบางชนิด เช่น เร่ว กระวาน กานพลู และจันทน์เทศ
คำว่า สมุนไพร ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 หมายถึง “พืชที่ใช้ทำเป็นเครื่องยา สมุนไพรกำเนิดมาจากธรรมชาติและมีความหมายต่อชีวิตมนุษย์โดยเฉพาะ ในทางสุขภาพ อันหมายถึงทั้งการส่งเสริมสุขภาพและการรักษาโรค”
นอกจากนี้ พระราชบัญญัติยา พ.ศ. 2510 มาตรา 4 ได้บัญญัติบทนิยามของคำว่า ““ยาสมุนไพร” หมายความว่า ยาที่ได้จากพฤกษาชาติ สัตว์ หรือแร่ธาตุ ซึ่งมิได้ผสมปรุง หรือแปรสภาพ” เช่น พืชก็ยังเป็นส่วนของราก ลำต้น ใบ ดอก ผล ฯลฯ มิได้ผ่านขั้นตอนการแปรรูปใด ๆ แต่ในทางการค้าแล้ว สมุนไพรมักจะถูกดัดแปลงในรูปแบบต่าง ๆ เช่น ถูกหั่นให้เป็นชิ้นเล็กลง บดเป็นผงละเอียด หรืออัดเป็นแท่ง และในความรู้สึกของคนทั่วไป เมื่อกล่าวถึงสมุนไพร มักนึกถึงเฉพาะต้นไม้ที่นำมาใช้เป็นยาเท่านั้น
ประโยชน์ของสมุนไพรไทย
ปัจจุบันสมุนไพรถูกนำมาประยุกต์ใช้ในหลายรูปแบบ ย่อมแสดงให้เห็นว่าสมุนไพรไทยนั้นมีคุณค่ามาก ซึ่งประโยชน์ของสมุนไพรที่ควรรู้ เพื่อสามารถนำไปใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด มีดังนี้
(1) นำมาสกัดเป็นน้ำมันหอมระเหย จะมีกลิ่นแรง หรือฉุน เนื่องจากสมุนไพรไทยเป็นพืชที่มีน้ำมันหอมระเหยอยู่ในตัว จึงทำให้มีกลิ่นที่ค่อนข้างแรง ปัจจุบันสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่มีส่วนประกอบของน้ำมันหอมระเหยของสมุนไพรไทย เช่น น้ำมันตะไคร้หอม น้ำมันไพล แชมพูมะกรูด เครื่องสำอางประเภทต่าง ๆ ครีมบำรุงหรือเจล และสารไล่แมลง
(2) ใช้เป็นยารับประทานรักษาโรค ในสมัยก่อนนิยมปลูกพืชผักและสมุนไพรเอาไว้กิน และใช้ภายในครัวเรือนอย่างเป็นปกติ จึงเป็นยารักษาโรคชั้นดีที่ไม่ต้องไปซื้อหาให้เสียเงิน นอกจากการรับประทานเป็นยารักษาโรคแล้ว ยังสามารถรับประทานเพื่อเป็นการป้องกันโรคได้ด้วย
(3) ใช้เป็นยาทาภายนอก นอกจากจะใช้สมุนไพรในการรับประทานเป็นยารักษาโรคต่าง ๆ แล้ว ยังสามารถใช้เป็นยารักษาภายนอกได้เป็นอย่างดี ซึ่งสมุนไพรไทยบางชนิดมีฤทธิ์เย็น จึงสามารถที่จะช่วยสมานบาดแผล ลดอาการอักเสบของบาดแผล ทำให้แผลไม่อักเสบ บวมแดงหรือติดเชื้อ
(4) นำมาทำเป็นอาหารและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ การนำสมุนไพรมาใช้รับประทาน โดยนำมาทำเป็นอาหารหรือเครื่องดื่มนั้น เนื่องจากสมุนไพรไทยมีรสขม เฝื่อน และมีกลิ่นฉุน ดังนั้น ในการนำมาสกัดหรือนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ จะช่วยให้สามารถรับประทานสมุนไพรไทยที่นำมาทำเป็นอาหารและเครื่องดื่มได้ง่ายขึ้น แต่อาจจะได้คุณค่าไม่เท่ากับการรับประทานสด ดังนั้นปัจจุบันจึงพบอาหารและเครื่องดื่มที่สกัดมาจากสมุนไพรไทยให้เลือกรับประทานเป็นจำนวนมาก
การแปรรูปผลิตภัณฑ์สมุนไพร
การนำพืชสมุนไพรมาแปรรูป ตามหลักการของการแปรรูปผลิตภัณฑ์ มักจะทำผ่านกระบวนการที่คล้ายคลึงกับการทำอาหาร โดยการนำส่วนของพืชสมุนไพรมาผสม ปรุง หรือแปรสภาพ เช่น การบดละเอียด โดยการเปลี่ยนแปลงสถานะของสมุนไพรให้แตกต่างไปจากเดิม เพื่อประโยชน์ในการใช้งานที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีความสำคัญ เพื่อให้การแปรรูปผลิตภัณฑ์สมุนไพรมีคุณภาพดี
ตลอดจนสามารถเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ให้มีคุณค่าใกล้เคียงกับผลิตภัณฑ์เดิมมากที่สุด เนื่องจากผลิตภัณฑ์บางประเภทไม่สามารถคงสภาพอยู่ได้นาน การแปรรูปจะสามารถตอบโจทย์การเก็บรักษา เพื่อคงคุณค่าและสรรพคุณที่ดีของพืชสมุนไพรไว้ให้ได้นานมากขึ้น พืชสมุนไพรมีหลายชนิด และมีสรรพคุณทางยา เพื่อการรักษา บำบัด บรรเทา หรือป้องกันโรค ความเจ็บป่วย ที่เกิดจากพืช สัตว์จุลชีพ
หรือธาตุวัตถุที่เมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วจะทำให้อวัยวะในส่วนต่าง ๆ เกิดความไม่สมดุล ตัวอย่างของสมุนไพรที่จะขอกล่าวถึง คือ สมุนไพรที่เกิดจากพืช ได้แก่
(1) ฟ้าทะลายโจร ถือเป็นสมุนไพรที่นำมาใช้ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ควบคู่กับการรักษาของแพทย์แผนปัจจุบัน โดยเป็นสมุนไพรที่ถูกบรรจุไว้ในบัญชียาหลักแห่งชาติ จุดเด่น คือ แอนโดรกราโฟไลด์ ที่มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ และบรรเทาอาการป่วยโรคเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ไม่รุนแรง เช่น คัดจมูก หรือมีน้ำมูก ลดโอกาสที่เชื้อไวรัสจะลุกลามลงปอด และใช้ในกลุ่มผู้มีความเสี่ยงต่ำต่อการเกิดอาการรุนแรง
หลักฐานการใช้ฟ้าทะลายโจรกับการติดเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ซึ่งมีภารกิจในด้านสมุนไพรและการแพทย์แผนไทยได้ค้นคว้าข้อมูลเพื่อสนับสนุนการใช้และวิจัยสมุนไพรในภาวะที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 พบว่า ฟ้าทะลายโจรเป็นสมุนไพรที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการป้องกันและรักษาโรคโควิด-19 เพราะก่อนหน้านี้มีสิทธิบัตรการป้องกันและรักษาการติดเชื้อไวรัสซาร์ส หรือ Severe acute respiratory syndrome; SARS (ซึ่งเป็นไวรัสตระกูลโคโรนาเช่นเดียวกับโควิด-19) ของสารแอนโดรกราโฟไลด์และอนุพันธ์
นอกจากนี้ ยังมีการศึกษาเพิ่มเติมถึงฤทธิ์ต้านเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 และบรรเทาอาการของโรคโควิด-19 ดังนี้
(1.1) งานวิจัยของประเทศจีน เมื่อวันที่ 18 กุมภาพันธุ์ 2563 พบว่าทางทีมวิจัยของประเทศจีน ได้คัดสมุนไพรจากคลังข้อมูล จำนวน 1,066 ชนิด เหลือสาร จำนวน 78 ชนิด ที่มีฤทธิ์ต้านไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 มาทดสอบด้วยเทคนิคการจับของโครงสร้างยากับเชื้อ (molecular docking) ในคอมพิวเตอร์ ซึ่งบรรดายาที่นำมาทดสอบพบว่า สารสำคัญในฟ้าทะลายโจร คือ “สารแอนโดรกราโฟไลด์และอนุพันธ์” มีบทบาทในการเข้าจับกับเชื้อในหลายตำแหน่ง โดยเป็นตำแหน่งสำคัญในการยับยั้งการเข้าเซลล์ของไวรัส และยับยั้งการแบ่งตัวของเชื้อไวรัส
(1.2) กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ร่วมกับกรมวิทยาศาสตร์
การแพทย์และองค์การเภสัชกรรม ดำเนินการศึกษาในหลอดทดลอง โดยทดสอบฤทธิ์ของสารสกัดฟ้าทะลายโจรและสารแอนโดรกราโฟไลด์ต่อการติดเชื้อโควิด พบว่า สารสกัดหยาบของฟ้าทะลายโจรและสารแอนโดรกราโฟไลด์ มีฤทธิ์ทำลายเชื้อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ 2019 ส่วนสารแอนโดรกราโฟไลด์มีฤทธิ์ต้านการแบ่งตัวของไวรัสชนิดนี้ แต่ไม่มีฤทธิ์ป้องกันการติดเชื้อไวรัสของเซลล์ปกติ (ทั้งนี้ยังไม่มีการศึกษาผลด้านภูมิคุ้มกัน) (รายงานผลเมื่อวันที่ 25 มีนาคม 2563)
จากนั้นจึงนำมาทดสอบในผู้ติดเชื้อโควิด-19 มีอาการอยู่ในระยะเวลาไม่เกิน 72 ชั่วโมง ที่รักษาตัวอยู่ในสถานที่กักกันโรคที่รัฐจัดให้ (state quarantine) มีอาการระดับเล็กน้อยถึงปานกลาง คือ มีไข้ ไอ และตัวร้อน (ซึ่งปกติจะไม่ได้มีการให้ยาชนิดใดอยู่แล้ว) โดยให้ยาแคปซูลสารสกัดฟ้าทะลายโจร ครั้งละ 60 มิลลิกรัม หรือ 3 เท่าของขนาดปกติ วันละ 3 ครั้ง จำนวน 6 ราย
ผลการศึกษาเบื้องต้น พบผู้ป่วยทุกรายมีอาการดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ ปัจจุบันกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือกกำลังจัดทำโครงร่างวิจัยเพื่อศึกษาประสิทธิผลและความปลอดภัยในผู้ป่วยโควิด-19 กลุ่มใหญ่ขึ้น
(1.3) จีนจัดทำแนวทางมาตรฐานในการวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคโควิด-19 ที่มีปอดอักเสบติดเชื้อ มีการแนะนำให้ใช้ยาฉีดกึ่งสังเคราะห์จากสารแอนโดรกราโฟไลด์ ในผู้ป่วยที่ยืนยันว่าติดเชื้อโควิด-19 ในระยะกลางถึงรุนแรง ร่วมกับยาตำรับแผนโบราณจีนอื่น ๆ
(1.4) มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ สาขาสาธารณสุขศาสตร์ (National University of Singapore, Saw Swee Hock School of Public Health) ได้เผยแพร่แนวทางการรักษาการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และทบทวนรายชื่อยาที่น่าจะนำมาใช้รักษาภาวะปอดเสียหายเฉียบพลัน
พบว่าอนุพันธ์ฟ้าทะลายโจร ชื่อ Dehydroandrographolide succinate ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนที่จีนเป็นยาฉีดรักษาปอดอักเสบจากการติดเชื้อไวรัส และติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจส่วนบน อาจจะนำมาใช้เยียวยาภาวะปอดเสียหายจากการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ได้ โดยใช้แบบพ่นละออง เพื่อหลีกเลี่ยงอาการไม่พึงประสงค์จากการให้แบบฉีดเข้าเส้นเลือด ยานี้ห้ามใช้ในผู้ป่วยที่มีการทำงานของตับและไตที่ไม่ดี ผู้ป่วยที่ใช้ยาวาร์ฟาริน หญิงตั้งครรภ์และให้นมบุตร รวมถึงผู้ที่มีประวัติการแพ้ฟ้าทะลายโจรมาก่อน
(2) กระชายขาว พืชสมุนไพรคู่ครัวที่นอกจากนิยมนำมาทำอาหารแล้ว ยังอยู่ในตำรับยาพื้นบ้านของคนไทยมาช้านาน โดยในรอบปีที่ผ่านมา “กระชายขาว” ค่อนข้างได้รับความสนใจในฐานะสมุนไพรที่ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ร่างกาย กระชายขาวเป็นสมุนไพรภูมิปัญญาพื้นบ้านที่นำมาใช้ประโยชน์ได้หลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นเหง้า ราก ใบ นิยมนำมาต้มดื่ม เพื่อรักษาอาการเจ็บป่วย โดยใส่น้ำมะนาว หรือน้ำผึ้งเพิ่มเติมลงไป เพื่อลดความขมของเหง้ากระชายขาวสด หรือนำมาบดทำเป็นยาในทางแพทย์แผนไทย
โดยมีความเห็นจาก ดร.ศุภฤกษ์ บวรภิญโญ อาจารย์ประจำคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้นหาตัวยาว่า ทีมวิจัยค้นพบว่ามีสารสกัดจากกระชายขาวที่สามารถยับยั้งการเจริญเติบโตของไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ได้ โดยมีที่มาจากสารสำคัญทั้ง 2 ตัวที่อยู่ในกระชายขาว คือ Pandulatin A และ Pinostrobin สามารถทำหน้าที่ยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อไวรัสต้นเหตุของโควิด-19
แม้กระชายขาวจะมีสรรพคุณทางยา แต่หากกินติดต่อกันเป็นเวลานานในปริมาณมากก็อาจส่งผลข้างเคียงต่อสุขภาพได้ โดยเฉพาะอาการร้อนใน แผลในปาก ปัญหาเหงือกร่น และภาวะใจสั่น เนื่องจากกระชายขาวเป็นสมุนไพรที่มีฤทธิ์ร้อน หากกินมากเกินสมควร ร่างกายอาจเสียสมดุลได้ ดังนั้น ถ้าหากจะกินกระชายขาวเพื่อรักษาโรค ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ทั้งนี้ เด็ก สตรีมีครรภ์ สตรีให้นมบุตร และผู้ป่วยโรคตับอักเสบ ไม่ควรกินกระชายขาว เพราะจะส่งผลต่อการทำงานของตับและไต
(3) ขิง เป็นอีกหนึ่งสมุนไพรที่มีรสเผ็ดร้อน เพราะขิงมีสารพฤกษเคมีที่ชื่อว่า gingerols (6-Gingerol), shogaols และมีน้ำมันหอมระเหยที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ ต้านการอักเสบ ลดอาการไอ และยับยั้งเชื้อไวรัสที่ก่อโรคในทางเดินหายใจได้ เป็นอีกหนึ่งสมุนไพรที่มีคุณค่าต่อการนำมาปรับใช้ในการดูแลสุขภาพ ช่วยเสริมภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย และช่วยเจริญอาหาร
โดยมีสรรพคุณช่วยในการขับลม แก้ท้องอืด จุกเสียดแน่นเฟ้อ คลื่นไส้อาเจียน แก้หอบไอ ขับเสมหะ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผู้คนต่างออกมาเสาะแสวงหาสมุนไพรชนิดนี้เพื่อชงดื่ม ด้วยหวังว่าจะมีส่วนช่วยในการระงับยับยั้งเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้บ้าง ไม่มากก็น้อย แต่ก็ควรที่จะใช้อย่างระมัดระวังในขณะเดียวกัน อ้างอิงจากความเห็นของกรมการแพทย์ทางเลือก ซึ่งมีคำเตือนถึงข้อควรระวังสำหรับการใช้ขิง
โดยระบุว่า หากต้องการใช้ระยะยาว ควรระวังการใช้ร่วมกับยาในกลุ่มต้านการแข็งตัวของเลือด (anticoagulant) และยาละลายลิ่มเลือด (antiplatelet) เนื่องจากอาจทำให้เลือดแข็งตัวช้าและทำให้เลือดไหลหยุดยาก ระวังการใช้ในผู้ป่วยที่มีปัญหาเรื่องการจับตัวของเกล็ดเลือด ระวังการใช้ในผู้ป่วยที่มีปัญหานิ่วในถุงน้ำดี ยกเว้นภายใต้การดูแลของแพทย์
ไม่แนะนำให้เด็กที่มีอายุต่ำกว่า 6 ปี รับประทาน เนื่องจากขิงมีรสเผ็ดมีคุณสมบัติอุ่นจึงไม่เหมาะกับผู้ที่มีความร้อนภายในร่างกายอยู่แล้ว เช่น ผู้ที่มีเหงื่อออกมาก มีเหงื่อออกเวลากลางคืน ตาแดง ถ้าจะรับประทานควรระมัดระวังเป็นพิเศษ
การศึกษาเกี่ยวกับโรคโควิด-19 ของขิงในระดับหลอดทดลอง พบว่าสารสำคัญในขิงมีแนวโน้มสามารถต้านเชื้อไวรัสได้ โดยจำเพาะกับเชื้อ SARS CoV-2 และอาจจะพัฒนาเป็นยาในการต้านไวรัสโควิด-19 ได้ในอนาคต ซึ่งมีการศึกษาวิจัยในประชากรของประเทศอิหร่าน พบว่าผู้ป่วยโรคโควิด-19 มีระดับอาการไอ หอบเหนื่อยและปวดกล้ามเนื้อลดลง เมื่อรับประทานยาขิงร่วมกับยาสมุนไพรชนิดอื่น แต่ผลต่ออาการอื่น ๆ และระยะเวลาการรักษาในโรงพยาบาลยังไม่แน่ชัด อาจจะไม่ใช่ผลของขิงเพียงอย่างเดียว จึงต้องศึกษาวิจัยเพิ่มเติมต่อไป
จากประโยชน์ของสมุนไพรในการใช้เป็นยารักษาโรคดังกล่าว จึงมีการพัฒนาวิธีการผลิตในรูปแบบสำเร็จที่สะดวกในการนำไปใช้ และเนื่องจากมีผู้นิยมใช้ยาสมุนไพรมากขึ้น จึงมีสถานที่ผลิตยาสมุนไพรเพิ่มมากขึ้นและมีการลงทุนนำเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูงมาใช้ในการสกัดสารออกฤทธิ์จากพืชสมุนไพรทำให้รูปแบบยามีความหลากหลายมากขึ้นด้วย สำหรับสถานที่ผลิตสมุนไพรที่สำคัญและเป็นที่รู้จัก ได้แก่ องค์การเภสัชกรรม โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร และคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ปัจจุบัน กระทรวงสาธารณสุขส่งเสริมให้มีการผลิตและใช้ผลิตภัณฑ์สมุนไพรทดแทนยาแผนปัจจุบันมากขึ้น ทั้งการผลิตในระดับโรงงานโดยหน่วยงานของกระทรวงเอง และส่งเสริมการผลิตทั้งในระดับผลิตภัณฑ์ชุมชน ทำให้อาชีพที่เกี่ยวข้องกับสมุนไพรเกิดขึ้นมากในชุมชนก่อให้เกิดการกระจายรายได้สู่ชุมชน ส่งผลถึงความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของชุมชนอย่างยั่งยืน
ประกอบกับในสถานการณ์ที่ประเทศไทยมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แม้จะมียาแพทย์แผนปัจจุบันที่แพทย์ใช้เป็นตัวยาหลักในการรักษาโรคโควิด-19 แล้วก็ตาม แต่เมื่อมีความต้องการมากขึ้น จึงเป็นเรื่องปกติที่จะทำให้ยาแผนปัจจุบันขาดตลาด และเป็นที่มาของการนำสมุนไพรไทยมาใช้ร่วมกับการรักษาโรคโควิด-19 โดยมีการแปรรูปผลิตภัณฑ์สมุนไพร
อย่างไรก็ตาม เพื่อความปลอดภัยในการใช้และการแปรรูปสมุนไพรดังกล่าว ผู้ที่เกี่ยวข้องจึงต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ ขั้นตอน และวิธีการที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติผลิตภัณฑ์สมุนไพร พ.ศ. 2562
สรุปสาระสำคัญ กล่าวคือ ผู้ผลิต นำเข้า หรือขายผลิตภัณฑ์สมุนไพร มีหน้าที่ต้องขออนุญาต (มาตรา 17) หรือขอขึ้นทะเบียนตำรับผลิตภัณฑ์สมุนไพร (มาตรา 39) หรือขอแจ้งรายละเอียด หรือจดแจ้งกับผู้อนุญาตเสียก่อนจึงจะผลิต นำเข้า หรือขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรนั้นได้ และมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติต่าง ๆ ในพระราชบัญญัตินี้
โดยมีพนักงานเจ้าหน้าที่ซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขแต่งตั้ง (มาตรา 4 บทนิยามคำว่า “พนักงานเจ้าหน้าที่”) เป็นผู้มีอำนาจควบคุม ดูแล และปฏิบัติการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัตินี้ (มาตรา 78 ถึงมาตรา 82) สำหรับบุคคลใดที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติดังกล่าว จะต้องได้รับโทษทางอาญาตามที่บัญญัติไว้ เช่น ผู้ที่ผลิต นำเข้า หรือขายผลิตภัณฑ์สมุนไพร โดยไม่ได้รับใบอนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 300,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ในส่วนของผู้เขียนบทความมีความเห็นว่า การใช้พืชสมุนไพรนั้นมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ และในหลายวัฒนธรรมทั่วโลก เพื่อประโยชน์ในการรักษาโรคต่าง ๆ เช่น การแพทย์แผนจีน อายุรเวทของประเทศอินเดีย หรือการแพทย์แผนโบราณของไทย ถึงแม้ในปัจจุบันการแพทย์แผนปัจจุบันจะเข้ามามีบทบาทในการรักษาโรคแล้วก็ตาม แต่ยังมีผู้คนอีกจำนวนไม่น้อยที่เชื่อถือ และนิยมใช้การแพทย์แผนโบราณที่นำสมุนไพรมาใช้ในการรักษาโรค
รวมทั้งการนำสมุนไพรมาใช้ในรูปของ “ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร” หรือที่นิยมเรียกกันว่า “อาหารเสริม” สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือเรื่องของความปลอดภัย เพราะแม้จะเป็นสิ่งที่มาจากธรรมชาติ แต่อาจมีผลข้างเคียงจากตัวสมุนไพรเอง หรือเมื่อใช้ร่วมกับยาแผนปัจจุบันอาจเกิดการออกฤทธิ์ที่ไม่พึงประสงค์ดังกล่าวแล้ว รวมทั้งในกระบวนการแปรรูปอาจมีการผสมสิ่งเติมแต่งลงไปในผลิตภัณฑ์สมุนไพร
ดังนั้น หากนำมาใช้ผิดไปจากตำรับยา อาจทำให้ไม่ได้ประสิทธิภาพตามที่ต้องการ และอาจเกิดอันตรายได้ ดังนั้น การจะใช้สมุนไพรเป็นยา จึงควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านสมุนไพร หรือแพทย์แผนไทยที่ได้รับการรับรองอย่างถูกต้อง รวมทั้งหากจะใช้สมุนไพรเพื่อการรักษาโรคร่วมกับยาแผนปัจจุบัน ก็มีความจำเป็นต้องปรึกษาแพทย์ทุกครั้งด้วย
โฆษณา