13 มี.ค. 2023 เวลา 01:50 • การศึกษา

บ้านนี้มีแต่ “รัก”

บ้านคือแหล่งรวมความสุขที่สุดของคนในครอบครัว ถึงกับมีคำเปรียบเปรยว่า “บ้านคือวิมานของเรา” แต่ด้วยสภาพสังคมที่มีการแข่งขันสูง ทำให้คนเราเกิดความเครียดมากขึ้น ความสุขในบ้านจึงถูกบั่นทอนลง ดังนั้น เรามาเรียนรู้เทคนิคสร้างความสุขให้กับคนในบ้านกันเถิด
กลยุทธ์ “ 4 ยอม ” สร้างสุขให้ชีวิต
บ้านจะมีความน่าอยู่ คนในบ้านจะมีความสุขได้ ถ้าเรามีหลักปฏิบัติที่ถูกที่ควร ได้แก่ “หลัก 4 ยอม” ดังนี้
หลักที่ 1 “ยอมให้”
ก่อนที่เราจะเป็นผู้รับ เราควรเป็นผู้ให้ หยิบยื่นสิ่งดี ๆ ให้กับสมาชิกในครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นการให้ความอบอุ่น ให้กำลังใจ หรือให้สิ่งของ ซึ่งการให้นั้นจะทำให้ผู้รับมีความสุข และเกิดความต้องการที่จะส่งต่อความสุขนั้นกลับคืนตอบแทนผู้ให้ เรียกได้ว่าผู้ให้คือผู้เสียสละก่อนนั่นเอง
หลักที่ 2 “ยอมเงียบ”
บางครั้งการพูดคุยกันภายในครอบครัว อาจจะสร้างความความขัดแย้งได้ เพราะฉะนั้น หลักการสำคัญคือต้องมีใครสักคน “ยอมเงียบ”
การไม่ยอมกัน ต่อล้อต่อเถียงกัน ย่อมทำให้เกิดการปะทะไม่รู้จบ ทำให้เสียบรรยากาศภายในบ้าน แต่ถ้ามีใครคนหนึ่งยอมเงียบ ย่อมทำให้บรรยากาศเลวร้ายนั้นสงบลงได้ ซึ่งไม่จำเป็นว่าคนที่เงียบจะต้องเป็นฝ่ายผิดเสมอไป
หลักที่ 3 “ยอมแพ้”
ถ้าคนในครอบครัวมัวแต่มุ่งจะเอาชนะกัน เรื่องวุ่นวายต่าง ๆ ภายในบ้านก็จะไม่มีวันสิ้นสุด อาจจะกลายเป็นเรื่องบานปลายใหญ่โตถึงขั้นแตกหักกันได้ แต่การที่มีคนหนึ่งยอมกลายเป็นผู้แพ้ เรื่องที่ไม่ลงตัวต่าง ๆ ก็อาจจะจบลงอย่างง่ายดาย
การยอมแพ้ให้กับคนในครอบครัวเราเอง ไม่ได้ทำให้เราเสียหน้า เพราะเราคือทีมเดียวกัน ถ้าคนในทีมมัวแต่ขัดแย้งกันเอง ทีมของเราจะไม่มีวันเดินไปถึงเส้นชัยได้เลย
หลักที่ 4 “ยอมรับ”
คนในครอบครัวควรเข้าใจและยอมรับในความแตกต่างของสมาชิกในครอบครัวให้ได้ เพราะในครอบครัวของเรานั้นมีสมาชิกมากมายตั้งแต่คนรุ่นก่อน ได้แก่ คุณปู่คุณย่า คุณตาคุณยาย คนรุ่นคุณพ่อคุณแม่ คนรุ่นลูกรุ่นหลาน ซึ่งคนแต่ละรุ่นย่อมมีความแตกต่างกันด้านความคิด เพราะแต่ละคนเติบโตมาในสภาวะสังคมที่แตกต่างกันออกไป
เพราะฉะนั้น เราทุกคนควรยอมรับ และทำความเข้าใจในความแตกต่างของอีกฝ่ายให้ได้ ที่สำคัญควรหมั่นพูดคุยปรับทัศนคติให้ตรงกันอยู่เสมอ
เราควรฝึกมองต่างมุม มองให้เห็นในมุมของผู้อื่นบ้าง เพราะต่างคนก็ยืนอยู่คนละมุม ความถูกผิดของแต่ละคนจึงแตกต่างกัน ดังนั้น การยอมให้ ยอมเงียบ ยอมแพ้ และยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างของอีกฝ่ายนั้นสำคัญมาก
เจริญพร
โฆษณา