21 เม.ย. 2023 เวลา 02:00 • สุขภาพ

ยาแก้ปวดชนิดเอ็นเสด ยาอันตรายสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน

อาการเจ็บปวด ปวดเมื่อยร่างกายเป็นอาการที่พบได้บ่อยในคนทั่วไป ผู้สูงอายุ รวมทั้งผู้ป่วยด้วยโรคเรื้อรัง เช่น เบาหวาน บางครั้งมาจากการบาดเจ็บของเอ็นกระดูกหรือกล้ามเนื้อ บางครั้งมาจากการเสื่อมของข้อ หรือเป็นการอักเสบของข้อต่อต่าง ๆ ของร่างกาย
การใช้ยาแก้ปวดเป็นวิธีการรักษาหนึ่งที่ข่วยบรรเทาอาการเจ็บปวดเหล่านั้นได้ ยาที่ใข้บ่อยและลดอาการปวดได้ดี มีชื่อว่า ยาแก้ปวดชนิดเอ็นเสดหรือยาต้านการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAIDS: Non-Steroidal Anti-Inflammatory Drugs) ตัวอย่างชื่อยา เช่น ไดโคลฟีแน็ค ไอบูโพรเฟ่น เมล็อคซิแคม เซเลค็อกซิบ และอื่น ๆ มากมายหลายชนิด
นอกจากการบรรเทาปวดที่มีประสิทธิภาพจากการใช้ยาแก้ปวดชนิดเอ็นเสด สิ่งที่ควรระมัดระวังหรือผลข้างเคียงจากการใช้ยากลุ่มนี้ ได้แก่ แผลในกระเพาะอาการ ภาวะไตวายเฉียบพลัน ภาวะการบวมน้ำ ภาวะตับอักเสบ ซึ่งผลข้างเคียงเหล่านี้เกิดได้ไม่บ่อยนัก อย่างไรก็ตาม การใช้ยากลุ่มนี้ในผู้ป่วยโรคเรื้อรัง โดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวาน ต้องระวังเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากอาจเพิ่มภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวเพิ่มขึ้น
การศึกษาวิจัยล่าสุดแสดงให้เห็นว่าการใช้ยาแก้ปวดชนิดเอ็นเสดเป็นปัจจัยเสี่ยงของภาวะหัวใจล้มเหลวในผู้ป่วยเบาหวานชนิดที่ 2
งานวิจัยดังกล่าวทำในประเทศเดนมาร์ก พบว่าการใช้ยาแก้ปวดชนิดเอ็นเสดในระยะสั้นมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นของการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลด้วยภาวะหัวใจล้มเหลวในผู้ป่วยเบาหวาน ความเสี่ยงสูงสุดในผู้ป่วยที่มีอายุมากกว่า 80 ปี ผู้ที่มีระดับระดับน้ำตาลสะสมสูง และผู้ใช้ยาแก้ปวดชนิดนี้เป็นครั้งแรก
สาเหตุที่ทำให้ยาแก้ปวดชนิดเอ็นเสดพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวในผู้ป่วยเบาหวาน คือ ทำให้เกิดการคั่งของของเหลวและความผิดปกติของเซลล์เยื่อบุหลอดเลือด สิ่งนี้สามารถนำไปสู่การเพิ่มขึ้นของความดันโลหิต ทำให้หัวใจทำงานหนักขึ้นและเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจล้มเหลว นอกจากนี้ เป็นที่ทราบกันดีว่า โรคเบาหวานมีความสัมพันธ์กับการทำงานของไตที่ลดลงและภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดแบบไม่แสดงอาการ ซึ่งอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวในผู้ป่วยที่ใช้ ยาแก้ปวดชนิดนี้
เป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน ในการตระหนักถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ยาแก้ปวดชนิดเอ็นเสด
แม้ว่ายาแก้ปวดชนิดเอ็นเสด จะมีประสิทธิภาพในการลดความเจ็บปวดและการอักเสบ แต่ก็อาจเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจล้มเหลวในผู้ป่วยบางราย
ด้วยเหตุนี้ ถ้าเป็นไปได้ผู้ป่วยเบาหวานควรพิจารณาทางเลือกอื่นในการรักษา เช่น การใช้ยาแก้ปวดแบบทานวด กายภาพบำบัด ใช้ยาแก้ปวดชนิดอื่นที่มิใช่เอ็นเสด หรือถ้าจำเป็นต้องใช้เอ็นเสดควรพิจารณาใช้ยาที่มีความเสี่ยงต่ำ คือ ยาชื่อนาพร็อกเซ็น (naproxen) และใช้เป็นระยะเวลาสั้น ๆ นอกจากนี้ควรสนับสนุนให้ผู้ป่วยมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ดีต่อสุขภาพเพื่อลดความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจล้มเหลว
อ้างอิง
Holt A, Strange J, Nouhravesh N, et al. Heart Failure Following Anti-Inflammatory Medications in Patients With Type 2 Diabetes Mellitus. J Am Coll Cardiol. 2023 Apr, 81(15) 1459–1470.

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา