14 เม.ย. 2023 เวลา 02:00 • สุขภาพ

กินอาหารแบบไหน ดีต่อหัวใจ

การรับประทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ เป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการมีสุขภาพที่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ที่มีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด
โดยทั่วไป อาหารที่ดีและมีประโยชน์ต่อสุขภาพ จะเน้นประเภทอาหารเป็นชนิด ๆ ซึ่งทำให้เราเน้นการกินอาหารเป็นอย่าง ๆ ไม่ทราบภาพรวมและแนวทางที่ขัดเจน การทราบว่าโปรแกรมหรือรูปแบบอาหาร ทราบถึงองค์ประกอบและสัดส่วนอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพจะช่วยให้เราเข้าใจและง่ายต่อการนำไปปฏิบัติได้เองในชีวิตประจำวัน
แล้วอาหารรูปแบบไหนล่ะ ที่ดีต่อหัวใจและสุขภาพ?
เมื่อเร็วๆ นี้ มีบททบทวนวรรณกรรมอย่างเป็นระบบและการวิเคราะห์อภิมาน รวบรวมงานวิจัยเชิงทดลองแบบสุ่มที่มีกลุ่มควบคุม เกี่ยวกับประสิทธิภาพของโปรแกรมการรับประทานอาหารรูปแบบต่าง ๆ และพฤติกรรมสุขภาพในการป้องกันการเสียชีวิตและป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด
บททบทวนวรรณกรรมนี้ วิเคราะห์ข้อมูลจากงานวิจัยทั้งหมด 40 งาน มีผู้เข้าร่วมรวมทั้งสิ้น 35,548 คน ผลพบว่าโปรแกรมการรับประทานอาหารแบบ ”เมดิเตอร์เรเนียน” และ “อาหารไขมันต่ำ” สามารถลดอัตราการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุและลดอัตราการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันในผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด นอกจากนี้โปรแกรมอาหารแบบเมดิเตอร์เรเนียนยังสามารถลดความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองได้อีกด้วย*
*อาหารเมดิเตอร์เรเนียนเป็นรูปแบบอาหารที่เน้นธัญพืชไม่ขัดสี ผลไม้ ผัก พืชตระกูลถั่ว ถั่ว เมล็ดพืช และไขมันที่ดีต่อสุขภาพ เช่น น้ำมันมะกอก ส่วนอาหารไขมันต่ำเน้นที่การลดปริมาณไขมันโดยรวมและจำกัดไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์ อาหารทั้งสองรูปแบบนี่มีองค์ประกอบร่วมกัน เช่น การจำกัดอาหารแปรรูป น้ำตาลที่เติม และเกลือ
ในทางกลับกัน การศึกษานี้พบว่าโปรแกรมการรับประทานอาหารอื่นๆ เช่น อาหารไขมันต่ำมาก ไขมันดัดแปลง โปรแกรมอาหารไขมันต่ำและโซเดียมต่ำ โปรแกรมอาการแบบออร์นิชและพริติกิน มีประโยชน์เพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยในการป้องกันการเสียชีวิตและโรคหัวใจและหลอดเลือด เมื่อเทียบกับการรับประทานอาหารตามปกติ
ดังนั้นแล้ว เราควรหันมารับประทานอาหารในรูปแบบเมดิเตอร์เรเนียนและอาหารไขมันต่ำให้มากขึ้น ลดการทานหวาน มัน เค็ม เพิ่มการรับประทานผักผลไม้ให้มากขึ้น เพียงเท่านี้ สุขภาพดีคงไม่ไกลเกินเอื้อม
อ้างอิง
Karam G, Agarwal A, Sadeghirad B, Jalink M, Hitchcock C L, Ge L et al. Comparison of seven popular structured dietary programmes and risk of mortality and major cardiovascular events in patients at increased cardiovascular risk: systematic review and network meta-analysis BMJ 2023; 380 :e072003 doi:10.1136/bmj-2022-072003
โฆษณา