20 ก.ค. 2023 เวลา 08:48 • ปรัชญา

วันอาสาฬหบูชา

ใกล้จะถึงวันอาสาฬหบูชาหรือวันธรรมจักร
เป็นวันที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงปฐมเทศนา ทำให้ท่านโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรม
ย้อนไปในสมัยพุทธกาล
หลังกาลที่เจ้าชายสิทธัตถะตรัสรู้พระอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณได้เป็นพระพุทธเจ้า
ต่อมาเกิดพระรัตนตรัยขึ้นครบองค์สามในวันที่พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าแสดงปฐมเทศนากัณฑ์แรกคือธรรมจักกัปปวัตตนสูตร ซึ่งเป็นทางไปถึงความดับทุกข์หรือทางไปสู่ความเป็นอริยะบุคคล ที่แสดงไว้ในอริยสัจสี่ ทุกข์ สมุทัย เหตุเกิดทุกข์ นิโรธ ความดับทุกข์ และมรรค ทางไปถึงความดับทุกข์ ทำให้ท่านโกณฑัญญะได้ดวงตาเห็นธรรม รู้แจ้งว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งทั้งปวงนั้นมีอันดับไปเป็นธรรมดา
* ผู้เขียนยังคงอยู่ในช่วง Long break for election จนกว่าจะได้รัฐบาลใหม่
* แต่ เมื่อใกล้จะถึงวันวันอาสาฬหบูชา ซึ่งผู้เขียนมีสิ่งประทับใจในอดีต คือย้อนอดีตไป เมื่อวันจันทร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2539 เป็นวันอาสาฬหบูชา และเป็นวันเกิดลูกคนแรกของผู้เขียน ดังนั้น เมื่อวันอาสาฬหบูชา กำลังจะมาถึง ผู้เขียนจึงเขียนบทความนี้ขึ้นเพื่อแสดงความขอบคุณต่อโชคชะตาที่มอบบุตรทำให้ชีวิตครอบครัวของผู้เขียนมีสมาชิกครบสมบูรณ์ แม้ช่วงเวลานี้ผู้เขียนจะยังคงอยู่ในช่วง Long break ครับ
รุ่งขึ้นจากวันอาสาฬหบูชา
จะเป็นวันเข้าพรรษาของพระภิกษุสงฆ์เป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งญาติโยมพุทธศาสนิกชนจำนวนหนึ่งนิยมการปฏิบัติที่ดียิ่งกว่าปกติเช่นเดียวกันด้วย ทั้งนี้ เพื่อเป็นการปฏิบัติถวายเป็นพุทธบูชา เป็นเครื่องสักการะที่สะอาดอย่างแท้จริง สละสิ่งเป็นมลทินเครื่องเศร้าหมองให้ห่างไกลจากกายวาจาใจให้หมด เพื่อจะได้ปรากฏความผ่องใส ควรแก่การจะเทิดทูนเป็นพุทธบูชา ธรรมบูชา สังฆบูชา ในวันอาสาฬหบูชาและในช่วงเวลาเข้าพรรษานี้
การปฏิบัติถวายเป็นพุทธบูชา
พุทธศาสนาสอนการภาวนา
เพื่อพัฒนาคนแบบรอบด้านโดยให้ภาวนาครบวงจรและครอบคลุมทั้ง 4 ด้าน คือ
1. กายภาวนา
2. ศีลภาวนา
3. จิตตภาวนา
4. ปัญญาภาวนา
1. กายภาวนา
คือการพัฒนากายให้มีสุขภาพดี แข็งแรง ไร้โรค แล้วต้องพัฒนาความสัมพันธ์กับสิ่งรอบกายด้วย โดยเริ่มจากสัมพันธ์กับปัจจัยสี่อย่างถูกต้องดีงามในทางที่เป็นประโยชน์ เช่น สัมพันธ์กับอาหาร โดยกิน เพื่อช่วยให้ร่างกายมีกำลัง มีสุขภาพดี ไม่ใช่เพื่อมุ่งเอร็ดอร่อยอวดโก้ แสดงฐานะ สัมพันธ์กับโทรทัศน์โดยดูเพื่อติดตามข่าวสาร แสวงหาความรู้ ส่งเสริมปัญญา มิใช่เพื่อหมกมุ่นในความสนุกสนานเพลิดเพลิน หรือเอาเป็นเครื่องมือเล่นการพนัน เป็นต้น
2. ศีลภาวนา
คือพัฒนาศีล โดยพัฒนาความสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมทางสังคมให้เป็นไปด้วยดี เริ่มแต่ไม่ก่อการเบียดเบียน ไม่ทำความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น แก่สังคม ประพฤติสิ่งที่เป็นประโยชน์เกื้อกูลต่อผู้อื่น ต่อสังคม มีระเบียบวินัย ประกอบสัมมาชีพด้วยความขยันหมั่นเพียร ฝึกฝนอบรมกายวาจาของตนให้ประณีตปราศจากโทษ ก่อคุณประโยชน์ และเป็นเครื่องสนับสนุนการฝึกอบรมจิตใจให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป
3. จิตตภาวนา คือ พัฒนาจิตใจ ให้มีคุณสมบัติดีงามพรั่งพร้อม ซึ่งอาจแบ่งออกได้เป็น 3 ด้าน ดังนี้
(1) คุณภาพจิต คือ ให้มีคุณธรรมต่างๆที่เสริมสร้างจิตใจให้ดีงาม เป็นจิตใจที่สูง ประณีต เช่น มีเมตตา มีความรัก ความเป็นมิตร มีกรุณา อยากช่วยเหลือปลดเปลื้องทุกข์ของผู้อื่น มีจาคะ คือมีน้ำใจเผื่อแผ่ มีคารวะมีความกตัญญู เป็นต้น
(2) สมรรถภาพจิต คือให้เป็นจิตที่มีความสามารถ เช่น มีสติดี มีวิริยะ คือความเพียร มีขันติ คืออดทน มีสมาธิ คือจิตตั้งมั่นแน่วแน่ มีสัจจะคือจริงจัง มีอธิษฐาน คือเด็ดเดี่ยวแน่วแน่ต่อจุดหมาย เป็นจิตใจที่พร้อมและเหมาะที่จะใช้งาน โดยเฉพาะงานทางปัญญา คือการคิดพิจารณาให้เห็นความจริงแจ่มแจ้งชัดเจน
(3) สุขภาพจิต คือ ให้เป็นจิตที่มีสุขภาพดี มีความสุข สดชื่น ร่าเริงเบิกบาน ปลอดโปร่ง สงบ ผ่องใส พร้อมที่จะยิ้มแย้มได้ มีปีติปราโมทย์ ไม่เครียด ไม่กระวนกระวาย ไม่คับข้อง ไม่ขุ่นมัวเศร้าหมอง ไม่หดหู่ โศกเศร้า เป็นต้น
4. ปัญญาภาวนา
คือพัฒนาปัญญาความรู้ความเข้าใจ ให้เกิดความรู้แจ้งเห็นจริง และใช้ความรู้แก้ปัญหาทำให้เกิดประโยชน์สุขได้ เริ่มแต่รู้เข้าใจศิลปวิทยา เรียนรู้ถูกต้องตามเป็นจริงไม่บิดเบือนหรือเอนเอียงด้วยอคติ คิดวินิจฉัยใช้ปัญญาโดยบริสุทธิ์ใจ รู้เข้าใจโลกตามเป็นจริง มองเห็นสิ่งทั้งหลายตามเหตุปัจจัย ตลอดจนรู้เท่าทันธรรมดาของสังขาร ถึงขั้นที่ทำให้มีจิตใจเป็นอิสระหลุดพ้นจากกิเลสและความทุกข์โดยสิ้นเชิง
ข้อเตือนใจในการปฏิบัติถวายเป็นพุทธบูชา ถ้าปฏิบัติที่ไม่ครบวงจร อาจได้ผลครึ่งเดียวแล้วตามมาด้วยผลเสียหลายอย่าง
ตัวอย่างเช่น การปฏิบัติตามหลักอนิจจังโดยปฏิบัติแบบครบวงจรและครอบคลุม แบ่งเป็น 2 ช่วง คือ
1. ทำจิต หรือปรับใน เพื่อเกิดสติมีความเข้าใจต่อสิ่งแวดล้อมที่เผชิญด้วยความไม่ประมาทต่อสิ่งที่อาจเป็นอันตราย ว่ามันเป็นธรรมชาติที่มีทั้งด้านดีและด้านร้ายเช่นนั้นเอง เมื่อเข้าใจก็จะตอบสนองได้ถูกต้องและไม่เร่าร้อนใจหรือเป็นทุกข์
2. ทำกิจ หรือปรับนอก สืบสวนหาเหตุปัจจัยแล้วจัดการให้เกิดผลดีและไม่ก่อผลเสีย ถ้าไม่ทำกิจ เราจะตกอยู่ในความประมาทเพราะไม่ได้แก้ปัญหาหรือไม่ได้ทำการสร้างสรรค์ นานเข้า บ่อยเข้าจึงกลายเป็นคนเฉื่อยชาเกียจคร้าน
ย้อนคิดเรื่องการปฏิบัติที่ไม่ถูกต้องและครบวงจร เช่น "ทำไมพุทธศาสนาไม่เจริญในอินเดีย"ทั้ง ๆ ที่ อินเดียเป็นแดนเกิดของพุทธศาสนา เป็นตัวอย่างการปฏิบัติที่ได้ผลครึ่งเดียวแล้วตามมาด้วยผลเสียหลายอย่าง
เหตุที่ทำให้เกิดความเสื่อมโทรมเลอะเลือนแก่พุทธศาสนาในหลายที่ มี 4 สาเหตุสำคัญ ดังนี้
1. ภาวะลงร่อง และแข็งทื่อ
2. ภาวะคลาดเคลื่อน และไข้วเขว
3. ภาวะเคลือบพอก และปะปน
4. ภาวะถดถอย และล้าหลัง
ภาวะลงร่อง และแข็งทื่อ
เหตุเพราะสิ่งที่เชื่อถือและปฏิบัติสืบ ๆ กันมายาวนาน โดยสักแต่ว่าทำตาม ๆ กันมา มักทำให้เกิดการย้ำเน้นเด่นชัดอยู่ในความหมายเพียงแง่หนึ่งแง่เดียว หรือเกิดความซ้ำที่ซ้ำทางตายตัว
หลวงพ่อชาพูดถึงการปฏิบัติสักแต่ว่าทำตาม ๆ กันมา โดยไม่ได้คิดพิจารณา เช่น พิธีเสี่ยงทายหาจุดเผาศพที่บุกรุกป่าไปเรื่อย ๆ ไม่รู้จักพัฒนา ต่อเมื่อมีคนรู้จักคิดสร้างเมนเผาศพ ให้ชาวบ้านมาเผาศพที่เดียวกันทำให้เกิดความสะดวกสบายกว่าเดิม
ภาวะคลาดเคลื่อน และไข้วเขว
เพราะการแปลความหมายผิดพลาดซึ่งอาจแปลผิด
เป็นการปฏิบัติด้วยความประมาท ไม่ตรวจสอบกับหลักการเดิมแท้ให้ถูกต้องชัดเจนอยู่เสมอหรือโดยตั้งใจแปลผิดเพื่อให้เป็นพุทธพาณิชย์
ท่านพุทธทาสยกตัวอย่างการการแปลผิดในอินเดีย
แปลปฏิจจสมุปบาทว่า เป็นการเวียนว่ายตายเกิดหลายภพชาติ ทำให้มองไม่เห็นปัจจุบันธรรมของปฏิจจสมุปบาทที่เป็นกระบวนการเมื่ออวิชชาเกิดขึ้นแล้วอีก 11 กระบวนการจะเกิดขึ้นทันมีและต่อเนื่องเร็วเหมือนสายฟ้าแลบ
ภาวะเคลือบพอก และปะปน
เกิดจากการขาดความรู้ความเข้าใจและปล่อยให้ความเชื่อถือและข้อปฏิบัติภายนอกเข้ามาหุ้มห่อบดบังหรือคลุกเคล้าปะปนกับเนื้อหาสาระที่แท้จริง จนเป็นสิ่งเคลือบพอกแทนของจริง จนแยกของจริงไม่ออก
ภาวะถดถอย และล้าหลัง
ไม่สามารถก้าวหน้าใกล้เข้าไปสู่หลักการที่แท้จริงของพุทธศาสนา แต่กลายเป็นห่างไกลออกไปจากหลักการที่แท้นั้นมากยิ่งขึ้น เหตุเพราะขาดการศึกษา ขาดความรู้ความเข้าใจและปล่อยปะละเลย มัวแต่จมอยู่กับเรื่องราวเก่าๆ ไม่รู้จักการพิจารณาอย่างแยบคายที่เรียกว่าโยนิโสมนสิการ
Why not the best?
ปลอกเปลือกความต้องการของเผด็จการ
ซึ่งสวนทางกับความต้องการของประชาชน
ดูหนังดูละครความเสื่อมโทรมเลอะเลือนแก่พุทธศาสนาในอินเดีย แล้วย้อนดูความล้าหลังของประชาธิปไตยไทย ที่เสียงของประชาชน 75% ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลตามเจตจำนงของประชาชน
ซ้ำร้าย ว่าที่นายกตามเจตนารมณ์ของประชาชนกลับถูกนิติสงครามเล่นงานราวกับเป็นผู้ร้ายของประเทศ
หรือว่าประชาธิปไตยแบบไทยๆ ก็วนเวียนอยู่กับ 4 เหตุความเสื่อมโทรมเลอะเลือน เช่นกัน
1. ภาวะลงร่อง และแข็งทื่อ ด้วยระบบอุปถัมภ์ ที่ปฏิบัติแบบสองมาตรฐานในด้านบวกอย่างไร้หลักคุณธรรมโดยให้ผลประโยชน์จูงใจ เช่น สนับสนุนให้ความก้าวหน้าเฉพาะคนที่เป็นพวก เช่น การ Vote นายกรัฐมนตรี
2. ภาวะคลาดเคลื่อน และไข้วเขว ด้วยระบบสองมาตรฐานในด้านลบคือปฏิบัติต่อคนที่เป็นพวกโดยมองข้ามข้อบกพร่อง ในขณะที่ปฏิบัติกับคนที่ไม่เป็นพวกแบบพยายามจับผิด
3. ภาวะเคลือบพอก และปะปน ด้วยการแบ่งแยกแล้วเข้าครอง โดยระบอบเผด็จการสร้างคุณค่าจอมปลอมเป็นมนต์สะกดให้คนเคยชินจนยึดติดกับวัฒนธรรมที่คนเห็นคนไม่เท่ากัน
4. ภาวะถดถอย และล้าหลัง เห็น คนไม่เท่ากันและเขากลัวประชาชนจะลืมตาอ้าปากได้แล้วจะส่งเสียงได้ จึงต้องสะกัดคนที่จะช่วยยกระดับรายได้คนขึ้นเป็นชนชั้นกลาง ต้องกดให้ประชาชนอยู่บันไดขั้นที่หนึ่งของมาสโลว์ เพื่อให้ประชาชนคิดแต่เรื่องจะเอาตัวชีวิตให้รอด โดยไม่มีเวลาคิดถึงการแก้ที่รากของปัญหา
หรือว่าประชาชนปฏิบัติยังไม่ครบวงจร เหมือนเพิ่งเดินไปได้เพียงครึ่งทาง
จึงยังไม่ได้ชิมความหอมหวานของผลไม้ประชาธิปไตย
ที่อำนาจเป็นของประชาชน
เหมือนมีพลังอำนาจแห่งไฟอยู่ในไม้ไผ่
แต่ต้องเอาไม้ไผ่สองซี่มาถูกันอย่างต่อเนื่องเกิดการสะสมความร้อนนานพอจนสุดเส้นทางแล้วจะพบไฟอยู่ในไม้ไผ่
กระบวนการสะสมความร้อนอย่างต่อเนื่องไม่หยุดเพื่อให้อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึงจุดติดไฟ แล้วจะเกิดการเปลี่ยนแปลงมีสิ่งใหม่คือไฟเกิดขึ้นมานั้น
หลวงพ่อชา พูดสอนเรื่องเอาไม้ไผ่สองซี่มาถูกันต่อเนื่องเกิดการสะสมความร้อนนานพอจนสุดเส้นทางแล้วจะพบไฟอยู่ในไม้ไผ่ แต่การเดินไปได้ครึ่งทางแล้วหยุดพักเพราะท้อหรือเหนื่อย จะทำให้อุณหภูมิลดลงไปเรื่อยๆ เหมือนการเดินถอยหลัง ย้อนทางห่างจากเป้าหมายไปเรื่อยๆ เมื่อออกเดินใหม่อีกครั้งก็ต้องย้อนการสะสมระยะทางหรือความร้อนขึ้นไปใหม่ และถ้าไปหยุดแบบเดิมอีก ก็จะวนไป วนมาไม่รู้จบ
แล้วคนก็ไปประกาศว่าไม่มีไฟในไม้ไผ่ เพราะเขาได้ลองทำแล้ว แต่ความจริงคือทำไม่ต่อเนื่องไปจนสุดเส้นทาง
การเดินไปได้ครึ่งทางแล้วหยุดพักเพราะท้อหรือเหนื่อย จะทำให้อุณหภูมิลดลงไปเรื่อยๆ เหมือนการเดินถอยหลัง ย้อนทางห่างจากเป้าหมายไปเรื่อยๆ เมื่อออกเดินใหม่อีกก็ต้องย้อนการสะสมระยะทางหรือความร้อนเพิ่มขึ้นใหม่ และถ้าไปหยุดอีก ก็จะวนไป วนมาไม่รู้จบ แล้วคนก็ไปประกาศว่าไม่มีไฟในไม้ไผ่ เพราะเขาได้ลองทำแล้ว แต่ความจริงคือทำไม่ต่อเนื่องไปจนสุดเส้นทาง
พุทธะสอนว่า
เส้นทางที่ถูกต้องชอบธรรมนั้น มีโอกาสผิดพลาดได้เพียงสองข้อ คือ
หนึ่ง ไม่เริ่มเดินไปบนเส้นทาง
สอง เดินไปไม่สุดเส้นทาง
เส้นทางที่ถูกต้อง
แม้จะถูกบิดเบือนด้วยเหตุต่างๆ ทำให้คนเดินออกนอกเส้นทาง แต่เมื่อคนรู้สึกตัวว่าฝืนธรรมชาติของตัวเองเพราะมีความกดดัน คนก็จะกลับคืนไปเดินบนเส้นทางได้ง่าย
เพราะเส้นทางที่ถูกต้องจะมีแรงธรรมชาติช่วยหนุนส่งให้เดินไปบนเส้นทางได้อย่างลื่นไหล
อุปสรรคของเส้นทางที่ถูกต้อง
คือ “โลกนี้มีของสองสิ่งที่เหมือนกันแต่มีลักษณะเป็นคู่ตรงข้าม” แม้ว่าเราเลือกเส้นทางที่ถูกต้องราวกับได้อยู่บนถนนซุปเปอร์ไฮเวย์ แต่ก็ยังต้องเดินไปด้วยความไม่ประมาท เพราะยังมีคนที่เลือกเส้นทางที่ไม่ถูกต้อง ไม่ชอบธรรมนั้น อยู่ร่วมโลกเดียวกันกับเราและทำให้เกิดสภาวะสงครามเย็นที่เราต้องป้องกันจุดอ่อนให้ปลอดภัย
ข้อสังเกต
ในเวลาวิกฤต หรือเกิดสภาวะชุลมุน
ธรรมชาติได้เปิดให้เห็นธาตุแท้ที่เป็นตัวแท้จริง ของแต่ละคน
คนที่ตื่นจะรู้จักระวังป้องกันตัวและเห็นโอกาสเก็บเกี่ยวข้อมูลสำคัญเอาไว้
คนที่หลับ จะหลงเข้าไปติดในกับดักที่นักล่าอาศัยสถานการ์ณวิกฤตชุลมุนในการลักขื่อเปลี่ยนเสาเพื่อแปลงร่างกลายเป็นผู้นำพาฝูงชนเข้าไปในทางที่เขาจัดเตรียมไว้แล้ว
ประมาณว่า
คนโง่ ย่อมตกเป็นเหยื่อของคนฉลาด (แกมโกง) ครับ
โฆษณา