28 ก.ย. 2023 เวลา 09:37 • ประวัติศาสตร์

"วิญญานคำสาปที่กลายเทพ" หน๊านี๊!!!!

+++ช่วงไสยศาสตร์คำสาป มหาเวทย์ผนึกมาร jujutsu kaisen กลายเป็นกระแส วันนี้ขอแนะนำ วิญญานคำสาประดับประเทศผู้ชีวิตพลิกผัน “สุกาวาระ โนะ มิจิซาเนะ” วิญญาณคำสาปที่ได้รับการสักการะบูชาในฐานะเทพประจำรัฐ “เท็นมังเท็นจิน” และ เทพการศึกษา
+++นามที่ว่า เท็นมังเท็นจิน ว่ากันว่ามาจากชื่อเต็ม ๆ ว่า “โซระมิตสึไดจิไซเท็นจิน” (天満大自在天神 / Soramitsu Daijizai Tenjin) แปลตามชื่อว่า เทพสวรรค์ผู้สถิตอยู่ ณ โซระมิตสึ ซึ่งโซระมิตสึนี้ สามารถอ่านแบบจีนได้ว่าเท็นมัง ยังมาจากคำที่อ่านแบบเดียวกันแต่เขียนต่างกัน คือคำว่า 虚空見 (Soramitsu) เขียนอยู่ในจดหมายเหตุญี่ปุ่น นิฮ่อนโชกิ แปลว่าอากาศในภาษาบาลี หรือ อวกาศในภาษาไทยนั้นเอง
+++นอกจากนี้ยังเชื่อกันว่า ชื่อนี้มีที่มาจากการที่ว่า “วิญญาณเฮี้ยนของมิจิซาเนะได้กลายเป็นเทพอสุนี ปกคลุมทั่วแผ่นฟ้า” (Tenman ยังแปลได้ว่า เต็มฟ้า คับฟ้า ทั่วฟ้า) นั่นเองงง
+++มิจิซาเนะ แห่งตระกูลสุกาวาระ เกิดในปีค.ศ. 845 ในตระกูลสายบุ๋น ซึ่งเป็นตระกูลที่ได้รับตำแหน่งพิเศษ อะซอน (ตำแหน่งในยุคอะสุกะและเฮอัน) เป็นตำแหน่งที่มีมายาวนานก่อนระบบขุนนางในวัง ปู่ของเขา คิโยโทโมะ เป็นถึงขุนนางชั้นสาม และเป็นถึงเจ้ากองมหาวิทยาลัย (เทียบได้กับกระทรวงศึกษาธิการในปัจจุบัน)
+++พ่อของมิจิซาเนะคือ โคเรโยชิ ก็ได้เป็นถึงขุนนางในชั้นสาม และยังได้เปิดโรงเรียนกวดวิชาในคฤหาสน์ของตนเพื่อให้ผู้ที่ต้องการเตรียมสอบเข้าโรงเรียนหลวง และสำหรับผู้ที่ต้องการเป็นข้าราชการในวัง โดยคฤหาสน์นั้นตั้งอยู่ที่เมืองคุวาบาระ ในเกียวโต
มิจิซาเนะเป็นบุตรคนที่สาม พี่อีกสองคนแต่ไม่ปรากฏชื่อเสียงใด ๆ
+++ส่วนตัวมิจิซาเนะนั้น แต่งกลอนยอดเยี่ยมตั้งแต่อายุเพียง 5 ขวบ จากนั้นได้ผ่านการสอบเข้าโรงเรียนหลวง ซึ่งในสมัยนั้นเรียกกันว่า มหาวิทยาลัย ( Daigaku ไดกาคุ) หลังจบการศึกษาในปีค.ศ. 870 ได้รับใช้ในวังในฐานะนักวิชาการ (ราชบัณฑิต) เริ่มต้นโดยเป็นขุนนางชั้นห้า
มิจิซาเนะช่วงอายุ11ปี
+++เมื่อขึ้นเป็นขุนนางชั้นห้า มิจิซาเนะได้ทำงานในกรมยุทธ์เป็นเวลาหนึ่ง ก่อนถูกย้ายไปประจำที่กรมราษฎร์ ด้วยความเชี่ยวชาญในตัวอักษรจีนและความเก่งกาจในทั้งเพลงกลอนและอักษร เขาได้รับงานให้แต่งกลอนจาก ฟูจิวาระ โนะ โมโตสึเนะ ผู้มีอิทธิพลในตระกูลฟูจิวาระ (ตระกูลที่สืบทอดมาจากเชื้อสายจักรพรรดิสายหนึ่งและมักจะให้คนในตระกูลดองกับเชื้อสายจักรพรรดิเสมอๆ) และได้รับงานเขียนกลอนจากจักรพรรดิ 1 ครั้ง ภายหลังได้เข้าไปทำงานในกรมราชการ จึงได้เข้ามามีส่วนในเรื่องการศึกษาและวิทยาการมากยิ่งขึ้น
+++เมื่อโคเรโยชิผู้เป็นบิดาได้สิ้นชีพไป มิจิซาเนะได้สืบทอดโรงเรียนกวดวิชา และในปี 877 ยังได้รับการแต่งตั้งให้เป็นศาสตราจารย์ด้านอักษรศาสตร์ในกองมหาวิทยาลัย ซึ่งถือเป็นตำแหน่งสูงสุดสำหรับนักประวัติศาสตร์ในสมัยนั้น
+++ในปี 886 มิจิซาเนะถูกส่งให้ไปเป็นผู้ว่าราชการในดินแดนซานุกิ (จังหวัดคากาวะในปัจจุบัน) เป็นธรรมเนียมในสมัยนั้นที่ผู้ที่ไม่มีอิทธิพลเส้นสายมักจะถูกส่งไปประจำที่ต่างจังหวัดอย่างน้อยหนึ่งสมัย ในช่วงที่ไปประจำที่ซานุกิเป็นเวลา 4 ปีนั้นได้เขียนกลอนส่วนตัวมากขึ้น งานในฐานะผู้ว่าราชการส่วนใหญ่คือการสอดส่องการทำงานของคนของทางการเพื่อส่งให้ทางวังตบรางวัลหรือลงโทษตามสมควร
+++ตลอด 4 ปีไม่ค่อยมีผลงานเด่น ๆ เท่าใดนัก มีเพียงถูกบันทึกไว้ว่าเคยได้ขอให้พระภิกษุในศาสนาพุทธและนักบวชในลัทธิชินโตช่วยกันทำพิธีขอฝนให้ผ่านภัยแล้งไปได้
+++อย่างไรก็ตาม ช่วงที่ประจำการอยู่ที่ซานุกินั้น ได้เกิดเหตุอะโค ในปี 888 ฟุจิวาระ โนะ โมโตะสึเนะ สงสัยต่อหลักฐานการขึ้นครองราชย์ของจักรพรรดอุดะ มิจิซาเนะได้ส่งหนังสือประณามไปยังโมโตะสึเนะ และได้ความดีความชอบในสายตาของจักรพรรดิอุดะ เมื่อครบวาระที่ซานุกิ
+++มิจิซาเนะได้กลับเข้ามาประจำที่วังซึ่งทางจักรพรรดิอุดะได้พยายามรวบรวมอำนาจของตนเพื่อตัดกำลังของตระกูลฟูจิวาระอยู่พอดี ตำแหน่งต่าง ๆ ในวังจึงตกเป็นของตระกูลเชื้อสายจักรพรรดิอีกสายคือ ตระกูลมินาโมโตะ ซึ่งมิจิซาเนะ ผู้ที่ไม่ได้มาจากตระกูลขุนนางชั้นสูง ก็ได้ผลพลอยได้ ถูกแต่งตั้งให้ครองหลายตำแหน่ง เช่น เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประจำราชวงศ์ถัง กงสุล และอื่น ๆ
+++ถึงแม้จะได้รับตำแหน่งเอกอัครราชทูตของญี่ปุ่นประจำราชวงศ์ถัง แต่ตัวเขากลับเป็นผู้เรียกร้องให้ยกเลิกการเจริญสัมพันธ์ทางการทูตกับราชวงศ์ถังเสียเองในปี 894 แม้ว่ามิจิซาเนะจะเชี่ยวชาญเรื่องการเขียนอักษรจีน แต่ความสามารถในการพูดนั้นไม่มีเลย หากถูกขอให้เป็นผู้แปลภาษาในการเจรจาก็อาจเสียหน้าเอาได้นั่นเอง
+++เมื่อจักรพรรดิอุดะมอบอำนาจให้พระราชกุมาร จักรพรรดิไดโกะ ในปี 901 มิจิซาเนะก็ถูกเล่นงานทางการเมืองโดยฝ่ายตรงข้าม ฟูจิวาระ โนะ โทคิฮิระ ซึ่งคอยแนะนำจักรพรรดิไดโกะต่าง ๆ นา ๆ มิจิซาเนะจึงถูกลดยศตำแหน่งให้เป็นเพียงเจ้าหน้าที่ธรรมดาและส่งไปประจำที่ดาไซฟุ ( จังหวัดฟุกุโอกะในปัจจุบัน)
ช่วงประจำอยู่ที่ดาไซฟุ
===========================================
+++หลังมิจิซาเนะอยู่ที่ดาไซฟุได้ราว ๆ 2 ปี ก็ได้ตรอมใจจนสิ้นชีพไป หลังจากนั้น ได้เกิดเหตุการณ์แปลกประหลาดมากมายในเกียวโตจนผู้คนเชื่อว่าเป็นแรงพยาบาทอาฆาตของมิจิซาเนะ
เริ่มต้นจาก:
*โรคร้ายแพร่ระบาดในเกียวโต
*ภัยแล้ง
*ฟูจิวาระ โนะ โทคิฮิระ ผู้ที่แนะนำให้จักรพรรดิไดโกะเนรเทศเขา เสียชีวิตในวัย 39
*พระกุมารของจักรพรรดิไดโกะ ล้มป่วยและเสียชีวิตต่อเนื่องกันหลายต่อหลายราย
*เกิดเหตุฟ้าผ่าที่วังเซเรียวเด็น จนเกิดเพลิงไหม้ ทำให้ขุนนางหลายคนโดยเฉพาะผู้ที่มีส่วนร่วมในการเนรเทศมิจิซาเนะ ได้เสียชีวิตกันมากมาย
*ถัดมาไม่กี่เดือน จักรพรรดิไดโกะได้ล้มป่วยและสิ้นพระชนม์
+++ว่ากันว่า เหตุการณ์เหล่านี้ยังคงดำเนินต่อไปในสมัยถัดมา มีฟ้าผ่าแทบทุกพื้นที่ในเกียวโต ยกเว้นที่เมืองคุวาบาระ ซึ่งเป็นที่ตั้งของคฤหาสน์ตระกูลสุกาวาระนั่นเอง จนเกิดคำว่า “คุวาบาระ คุวาบาระ” ในหมู่ชาวบ้านเพื่อใช้ป้องกันอย่างเช่นฟ้าผ่า เพราะเชื่อกันว่า เหตุฟ้าผ่าทั่วท้องที่นั้นมาจากแรงอาฆาตของมิจิซาเนะ แต่มิจิซาเนะก็ยังห่วงคฤหาสน์ที่เคยอาศัย จึงเว้นพื้นที่นี้
+++เพื่อให้เหตุการณ์สงบ จักรพรรดิองค์ต่อ ๆ มาได้สร้างศาลเจ้าขึ้นเพื่อบูชามิจิซาเนะ คืนยศถาบรรดาศักดิ์ให้หลังความตาย พร้อมถอดถอนบันทึกที่เกี่ยวข้องกับการเนรเทศมิจิซาเนะ แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้เหตุการณ์สงบลงแต่ จนในปี 987 หรือ 84 ปีหลังจากที่มิจิซาเนะได้ตายไปแล้ว
วิญญาณคำสาปของมิจิซาเนะ
+++จักรพรรดิอิจิโจ ได้มีการยกฐานะของมิจิซาเนะให้เป็นเทพประจำรัฐ "เทพเท็นมังเท็นจิน"(Tenman Tenjin เทพสวรรค์ผู้สถิต ณ ฟากฟ้า) เทพแห่งการศึกษา พร้อมสร้างศาลเจ้าขนาดใหญ่ขึ้นในทางเหนือของนครเกียวโต ศาลเจ้าคิตะโนะเท็นมังกู (北野天満宮 / Kitano Tenmangu) ทุกอย่างจึงเริ่มกลับสู่ปกติสุข
+++แต่ยังว่ากันว่า พื้นที่เมืองคุวาบาระ หากใครไปอยู่อาศัยก็จะเจอเหตุการณ์แปลก ๆ จนอยู่อาศัยกันไม่ได้ แต่ทุกครั้งที่มีการลบชื่อนี้ออกจากนครเกียวโต ไม่ว่าจะเปลี่ยนชื่อหรือแบ่งที่ดินให้พื้นที่อื่นจนหมด จะเกิดอาเพศแปลก ๆ จนทำให้แม้ในปัจจุบัน
+++เมืองคุวาบาระยังคงเหลืออยู่ในนครเกียวโต แต่ถูกลดขนาดเหลือแค่เพียงประมาณ 10 ตารางเมตร ซึ่งเป็นถนน ไม่มีตัวอาคาร ไม่มีคนอยู่อาศัย มีแต่ป้ายรถประจำทางเท่านั้น เพื่อนำพื้นที่ไปใช้สอยและป้องกันเหตุประหลาด แต่ก็ไม่สามารถลบออกจากสารระบบได้ กลายเป็นพื้นที่ปริศนาที่มีตำนานมาจนถึงปัจจุบัน ทั้งนี้ เมืองคุวาบาระยังมีรหัสไปรษณีย์เฉพาะตัวด้วย คือ 604-0976
+++นับแต่นั้นมา สุกาวาระ โนะ มิจิซาเนะ ก็เป็นที่รู้จักในนาม เท็นจินซามะ (Tenjin-sama) เทพแห่งการศึกษา มีศาลเจ้าที่บูชาเป็นเทพหลักประจำศาลมากมาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นศาลเจ้าพิเศษที่ไม่ได้ลงท้ายด้วยคำว่า จิงจะ ( Jinja ศาลเจ้า) ไทฉะ (Taisha ศาลเจ้าใหญ่) หรือจิงกู ( Jingu วังเทวาลัย) แต่เป็นคำว่า เท็นมังกู (Tenmangu วังฟากฟ้า)
+++แม้หลังถูกส่งไปที่ดาไซฟุ มิจิซาเนะก็ยังทำงานด้วยความบริสุทธิ์ใจและซื่อตรงต่อจักรพรรดิ แต่ก็ไม่ได้รับความเป็นธรรมหรือการตอบแทนแต่อย่างใด เมื่ออยู่ได้เพียง 2 ปี มิจิซาเนะก็ได้สิ้นใจในช่วงดอกบ๊วยบานของปี 903 ศิษย์ของเขา อุมาซากะ โนะ ยาสุยุกิ ได้นำร่างของเขาขึ้นเกวียนเทียมโคตัวหนึ่งเพื่อเดินทางไปที่วัดเพื่อทำพิธีศพอย่างเป็นทางการ แต่เมื่อมาถึงจุดหนึ่ง วัวกลับไม่ยอมเดินไปต่อ
+++สุดท้ายยาสุยุกิก็คิดว่านี่เป็นอาจเป็นประสงค์ของมิจิซาเนะ และทำการฝังศพของเขา ณ จุดนั้น ซึ่งไม่รู้ว่าบังเอิญหรือจงใจ จุดนั้นเป็นจุดที่ต้นบ๊วยได้ขึ้นอยู่พอดี ในเวลาถัดมา ที่นี่ก็ได้กลายเป็นศาลเจ้าดาไซฟุเท็นมังกู (Dazaifu Tenmangu) มีร่างของมิจิซาเนะเป็นวัตถุบูชาหลัก มีต้นบ๊วยในตำนานในบริเวณศาลเจ้า ด้วยเหตุนี้ ศาลเจ้าเท็นมังกูทั่วญี่ปุ่นจึงมักจะมีรูปปั้นวัว โดยมีไว้ให้คนไปลูบที่หัววัวโดยเฉพาะเพื่อเป็นสิริมงคล กล่าวกันว่าจะช่วยให้หัวดี
+++ศาลเจ้าเท็นมังกูทั่วประเทศมักจะมีต้นบ๊วย หนึ่งคือเพื่อบูชามิจิซาเนะเพราะชื่นชอบดอกบ๊วยอย่างยิ่ง ว่ากันว่า ดอกบ๊วยศาลเจ้าเท็นมังกูจะบานเร็วกว่าที่อื่น ๆ ทุก ๆ ปี ตรงกับช่วงที่มิจิซาเนะสิ้นชีพ และมีเทศกาลดอกบ๊วยด้วย
==ตำนานของสุกาวาระ โนะ มิจิซาเนะ นั้นมีแทบจะตามรายทาง ที่เดินทางจากการถูกเนรเทศ ทั้งในเพลงกล่อมเด็ก ตำนานพื้นบ้านท้องถิ่นของญี่ปุ่น
==สมเป็น1ใน3วิญญานคำสาปที่ยิ่งใหญ่ที่สุดจริงๆ

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา