9 ต.ค. 2023 เวลา 11:29 • สุขภาพ

วันสุขภาพจิตโลก

พรุ่งนี้ 10 ตุลาคม วันสุขภาพจิตโลก
สุขภาพจิตที่ดีนำไปสู่การมีสุขภาวะที่ยั่งยืนและสังคมที่มั่นคง การป้องกัน รักษา ส่งเสริม และฟื้นฟูสุขภาพจิตของคนในสังคมจึงไม่ใช่บทบาทของหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่ต้องเป็นภารกิจระดับชาติที่ทุกภาคส่วนร่วมมือกันเพื่อข้ามผ่านความท้าทายหลากหลายมิติซึ่งทับซ้อน เกี่ยวเนื่อง และส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อสุขภาพจิตของคนในสังคมทั้งสิ้น
งานวิจัย อนาคตสุขภาพจิตสังคมไทย พ.ศ. 2576 (Futures of Mental Health in Thailand 2033) เป็นการผนึกกำลังกันระหว่างกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางเล็กทรอนิกส์ (ETDA) และศูนย์วิจัยอนาคตศึกษาฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ เพื่อทำความเข้าใจสถานการณ์ปัจจุบันและองค์ประกอบต่าง ๆ ที่จะมีส่วนกำหนดภาพอนาคตหลากหลายรูปแบบของสุขภาพจิตคนในสังคมไทย จนต่อยอดเป็นข้อเสนอสู่การปฏิบัติให้กับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
หนึ่งในภาพอนาคตที่เป็นไปได้และเห็นสัญญาณการเปลี่ยนแปลงที่เด่นชัดมากขึ้นคือ “การระเบิดของความหวาดกลัว (Terror outburst)” คาดการณ์ภาพความเจ็บปวดและความหวาดกลัวจากผลกระทบของปัญหาสังคมที่สะสมและถูกละเลยมานาน ปะทุกลายเป็นความรุนแรงครั้งใหญ่ บังคับให้ทุกภาคส่วนต้องยกระดับการแก้ไขปัญหาแบบบูรณาการอย่างแท้จริง
สภาพสังคมที่มีปัญหาสะสม ค้างคา และถูกละเลยมานาน เช่น ความรุนแรงในครอบครัว ความรุนแรงในสถานศึกษา ความขัดแย้งในสังคม ปัญหาสุราและสารเสพติด ความยากจน ความเหลื่อมล้ำ จริยธรรมสื่อ รวมไปถึงกระบวนการยุติธรรม ส่งผลให้ประชาชนเกิดความรู้สึกหวาดกลัว เจ็บปวด บอบช้ำ โกรธแค้น สะสมทับซ้อนกันหลายชั้น
ส่งผลให้เกิดความเสียหายแก่บุคคล ชุมชน และสังคมอย่างร้ายแรง และเกิดเป็นผลกระทบอื่นตามมา เช่น อัตราการหย่าร้างที่สูงขึ้น อัตราการเกิดที่ลดลง มีเยาวชนต้องออกจากระบบการศึกษาโดยไม่จำยอมมากขึ้น ประชากรแรงงานมีศักยภาพการแข่งขันและผลิตผลด้อยลง สังคมมีอัตราการเกิดอาชญากรรมและโศกนาฏกรรมรุนแรงและถี่บ่อยมากขึ้น ผู้คนมีความเสี่ยงในการเกิดโรคจิตเวชและมีอัตราการเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายสูงขึ้นจนควบคุมได้ยาก
ผู้คนในสังคมดังกล่าวมีภาวะกดดันและต้องเอาตัวรอด รู้สึกหวาดระแวง ขาดความเห็นอกเห็นใจ และไม่ไว้ใจซึ่งกันและกัน บรรทัดฐานของสังคมเปลี่ยนไปจนเกิดเป็นความเคยชินต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นรอบตัว ผู้คนไม่กล้าออกจากที่พักอาศัยไปหาความสุขเพราะไม่มั่นใจเรื่องความปลอดภัยของตนเองและคนรอบข้าง ภายในเมืองขาดแคลนพื้นที่และสภาพแวดล้อมเพื่อสุขภาพจิตเริ่มเสื่อมโทรมเนื่องจากผู้คนไม่กล้าเข้ามาใช้งานหรือมีกิจกรรมร่วมกับคนแปลกหน้า ผู้คนใช้เวลาอยู่ในที่พักอาศัยมากขึ้น พึ่งพาแพลตฟอร์มดิจิทัลและสื่อออนไลน์เพื่อความบันเทิง
ในขณะเดียวกันก็จะพบเนื้อหาที่เต็มไปด้วยความรุนแรง ผู้ป่วยจิตเวชถูกเหมารวมว่าเป็นผู้ก่อเหตุความรุนแรงในสังคม ทำให้ผู้คนที่เริ่มมีความเสี่ยงพบอาการจิตเวชหวาดกลัวการถูกตีตราและการถูกปฏิเสธจากสังคม มักปฏิเสธอาการเจ็บป่วยของตนเอง พยายามปกปิดอาการ และไม่ยอมเข้ารับกระบวนการดูแลจิตใจอย่างเหมาะสม
หากจะป้องกันไม่ให้สังคมพัฒนาไปถึงภาพอนาคตนั้น ทุกภาคส่วนจำเป็นต้องร่วมมือกันอย่างเต็มที่ตั้งแต่วันนี้ เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องสุขภาพจิต ยกระดับการเข้าถึงบริการสุขภาพจิตอย่างทั่วถึง จัดตั้งหน่วยงานพิเศษขึ้นเพื่อดูแลวาระดังกล่าวโดยเฉพาะ มีการพิจารณาปรับปรุงกฎหมายและการกำกับดูแลความปลอดภัยในชีวิตทั้งในโลกจริงและโลกดิจิทัล รวมถึงมีการพัฒนาพื้นที่และสภาพแวดล้อมอย่างรอบด้าน เพื่อสร้างความปลอดภัยและยกระดับสุขภาวะของผู้คนในทุกมิติ
อ่านเรื่องราวของภาพอนาคตสุขภาพจิตสังคมไทยในอีก 10 ปีข้างหน้าแบบละเอียด พร้อมข้อเสนอสู่การปฏิบัติได้ที่:
#FutureTalesLAB #FuturePossible #FutureofHealth #FuturesofMentalHealth #WellBeing #MQDC
โฆษณา