11 ต.ค. 2023 เวลา 04:23 • ข่าวรอบโลก

ใกล้หน้าหนาว เหตุการณ์ “ก่อกวนท่อก๊าซใต้ทะเลครั้งใหม่” มาอีกแล้ว

ครั้งนี้เป็นท่อสายย่อยในทะเลบอลติก “ฟินแลนด์-เอสโตเนีย”
10 ตุลาคม 2023: มีรายงานข่าวสำคัญเริ่มต้นจากสื่อทางฟากฝั่งตะวันตกว่า ท่อก๊าซธรรมชาติใต้ทะเลบอลติกความยาว 77 กิโลเมตรที่เชื่อมต่อแผ่นดินสองประเทศคือ ฟินแลนด์-เอสโตเนีย (ตำแหน่งตามรูปหน้าปกบทความ) มีชื่อว่า Balticconnector เกิดมีรอยรั่วขึ้นมา โดยบริษัทผู้ดำเนินการท่อดังกล่าวให้ข้อมูลว่า แรงดันในท่อดังกล่าวเริ่มตก “อย่างผิดสังเกต” ในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา
2
โครงการท่อก๊าซใต้ทะเล Balticconnector เริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2020 เป็น “ท่อก๊าซแบบสองทาง” คือสามารถสูบก๊าซส่งออกไปได้ทั้งสองทิศทาง (เริ่มจากฟินแลนด์หรือเอสโตเนียก็ได้) ก่อสร้างขึ้นเพื่อทำให้เครือข่ายก๊าซของฟินแลนด์และเอสโตเนียครอบคลุมการกระจายใช้งานมากขึ้น และยังเพื่อให้สามารถถ่ายโอนก๊าซตามปริมาณที่ต้องการได้อย่างรวดเร็วขึ้น
1
เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา Gasgrid บริษัทผู้ดำเนินการท่อก๊าซดังกล่าวได้ระบุว่า “Balticconnector ได้รับความเสียหายจากปัจจัยภายนอกที่ส่งผลกระทบต่อท่อ” และคาดการณ์ว่าต้องใช้เวลาซ่อมแซมก่อนที่จะกลับมาใช้งานได้ “อีกหลายเดือนข้างหน้า” ในบริเวณน่านน้ำที่เป็นจุดรอยรั่วนั้นยังมีสายเคเบิลสื่อสารใต้น้ำอยู่ไม่ไกลกันและได้รับความเสียหายด้วยเช่นกัน
2
เครดิตภาพ: Reuters
“เซาลี นีนิสเตอ” ประธานาธิบดีของฟินแลนด์กล่าวว่า สาเหตุการรั่วของท่อก๊าซ Balticconnector ยังไม่ชัดเจน แต่ “มีแนวโน้มว่าความเสียหายต่อท่อส่งก๊าซและสายเคเบิลสื่อสารจะเป็นผลมาจากการกระทำภายนอก” - อ้างอิง: Reuters
“เพตเตรี ออร์โป” นายกรัฐมนตรีฟินแลนด์กล่าวว่า ความเสียหายต่อท่อส่งก๊าซที่เกิดขึ้นในตอนนี้ “ไม่สามารถเกิดขึ้นเองได้ในสภาพการใช้งานตามปกติ” (สื่อว่ามีการกระทำหรือภัยคุกคามจากภายนอกต่อตัวท่อก๊าซแน่นอน) - อ้างอิง: Yle
นีนิสเตอได้มีการหารือเกี่ยวกับเหตุการณ์ดังกล่าวกับเลขาธิการนาโต “เยนส์ สโตลเทนเบิร์ก” ซึ่งเขาสัญญาว่าจะให้ความช่วยเหลือฟินแลนด์ในการสืบสวนเหตุการณ์ครั้งนี้ เนื่องจาก “ฟินแลนด์ได้เป็นสมาชิกนาโตแล้ว” หลังจากเกิดสงครามในยูเครน - อ้างอิง: Politico
2
นายกรัฐมนตรีฟินแลนด์กล่าวว่าเขา “ไม่เห็นว่าจะเป็นภัยร้ายแรง” ต่อการจัดหาพลังงานให้กับประเทศซึ่งมีการพึ่งพาใช้ก๊าซธรรมชาติเพียง 5% บริษัทก๊าซในเอสโตเนียและฟินแลนด์อย่าง Elering และ Gasgrid ตามลำดับ ก็ไม่คาดว่าจะเกิดการขาดแคลนก๊าซเช่นกัน แม้ว่าท่อส่งก๊าซจะไม่ได้รับการซ่อมแซมให้เสร็จทันในช่วงฤดูหนาวนี้ก็ตาม เนื่องจากก๊าซส่วนใหญ่ที่พวกเขาต้องการจะถูกเก็บไว้ในโรงเก็บก๊าซของลัตเวีย - อ้างอิง: Reuters
และอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้มองว่าเหตุการณ์นี้ไม่ส่งผลกระทบมากต่อฟินแลนด์ เพราะฟินแลนด์ได้เปลี่ยนการจัดหาก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียด้วยการซื้อก๊าซธรรมชาติเหลวซึ่งส่วนใหญ่มาจากสหรัฐอเมริกา (แต่มีราคาที่สูงลิ่วกว่ามาก) อันเนื่องมาจากมาตรการคว่ำบาตรต่อรัสเซีย
1
<ท่าเทียบเรือในฟินแลนด์สำหรับเรือบรรทุกก๊าซธรรมชาติเหลวจากสหรัฐอเมริกา เครดิตภาพ: Gasgrid Finland
Yle สื่อของฟินแลนด์ได้พุ่งเป้าไปที่การนำเสนอข่าวของสื่อรัสเซีย เช่น Moskovsky Komsomolets (MK.RU) และสำนักข่าว Interfax โดยรายงานคำพูดของประธานาธิบดีฟินแลนด์ว่า เหตุการณ์ท่อรั่วครั้งนี้เกิดจากการก่อวินาศกรรม ทั้งที่ “เซาลี นีนิสเตอ” ประธานาธิบดีฟินแลนด์ไม่ได้เอ่ยถึงคำว่า “ก่อวินาศกรรม” แต่อย่างใด เขาใช้คำว่า “การกระทำที่ส่งผลกระทบต่อท่อจากภายนอก”
เหตุการณ์ก่อกวน Balticconnector ในครั้งนี้ ทำให้กลับได้รับความสนใจเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับ “เหตุการณ์ก่อวินาศกรรมนอร์ดสตรีม” เมื่อเลยหนึ่งปีมาแล้ว มีทฤษฎีต่างๆ ออกมาอย่างหลากหลาย แต่ที่ได้รับความสนใจและเป็นเรื่องสะเทือนบนสื่อโลกนั่นคือ การออกมาเปิดโปงของ “ซีมัวร์ เฮิร์ช” นักข่าวอเมริกันอาวุโส จนกระทั่งต่อมาเมื่อไม่นานนี้ก็มีการเปิดเผยข้อมูลบางส่วนจากการสืบสวนอย่างเป็นทางการของทีมอัยการในยุโรปซึ่งเป็นจุดเกิดเหตุ โดยเรื่องราวของฝั่งยุโรปนั้นมันแตกต่างจากของเฮิร์ชเอามากๆ
1
บทความที่ทางเพจได้เคยลงไว้ เกี่ยวกับ “ทฤษฎีก่อวินาศกรรมนอร์ดสตรีม” ซึ่งเปิดเผยล่าสุดโดย ซีมัวร์ เฮิร์ช อ่านรายละเอียดได้ตามลิงก์ด้านล่างนี้
ส่วนอีกบทความเป็น “ข้อมูลสืบสวนนอร์ดสตรีมที่เปิดเผยออกมาบางส่วนจากทางการเยอรมนี” อ่านรายละเอียดได้ตามลิงก์ด้านล่างนี้
เรียบเรียงโดย Right SaRa
11th Oct 2023
  • แหล่งข่าวอ้างอิง:
<เครดิตภาพปก: (บน) – Washington Post (ล่าง) - bnn>
โฆษณา