8 พ.ย. 2023 เวลา 18:06 • ประวัติศาสตร์

นักองค์ราชาวดี (พระนโรดม) ไทยสถาปนากษัตริย์เขมรครั้งสุดท้าย สู่การเป็นเมืองขึ้นฝรั่งเศส

นักองค์ราชาวดี หรือพระบาทสมเด็จพระนโรดม (บ้างก็เรียก สมเด็จพระนโรดมพรหมบริรักษ์) เป็นพระมหากษัตริย์กัมพูชาองค์สุดท้ายที่สยาม (ไทย) สถาปนาขึ้นในฐานะเมืองประเทศราช เปลี่ยนผ่านมาสู่การเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสมาตลอดถึง 90 ปี (พ.ศ.2406-พ.ศ.2496)
แต่ก่อนที่เราจะเล่าถึงนักองค์ราชาวดี เราขอเล่าปูมหลังเกี่ยวกับเรื่องกัมพูชาภายใต้ประเทศราชของสยาม และเรื่องไทยสถาปนากษัตริย์เขมรเสียก่อน
เขมร ตกเป็นเมืองประเทศราชของสยามตั้งแต่หลังจากที่สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) สร้างกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี พระองค์ทรงส่งกองทัพจากลพบุรี (พระราเมศวร) และสุพรรณบุรี (ขุนหลวงพะงั่ว) ไปตีเมืองพระนครธมจากพระบรมลำพงษ์ราชา (พระราชนัดดาในพระเจ้าแตงหวาน) จนสำเร็จ หลังจากนั้นสยามและเขมรก็ทำสงครามกันอยู่หลายครั้ง ต่อมาสยามเริ่มเข้าไปมีอิทธิพลทางด้านวัฒนธรรมในเขมรอย่างจริงจังในช่วงปลายยุคกรุงธนบุรีถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์
ในรัชกาลสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี สมเด็จเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึก (พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ) ได้ยกทัพไปปราบจลาจลในเขมร แต่ต้องยกทัพกลับกรุงธนบุรีกระทันหันเนื่องจากเกิดเหตุจลาจลในพระนคร เมื่อจัดการทุกอย่างเรียบร้อยดีแล้ว สมเด็จพระเจ้าพระยามหากษัตริย์ศึกจึงปราบดาภิเษกเป็นพระมหากษัตริย์ และสร้างกรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานีใหม่
ขณะเดียวกันกัมพูชาเองก็มีทั้งศึกในและศึกนอกจากญวน พระยายมราช (แบน) ได้ให้นักองค์เองลี้ภัยเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารราชสำนักสยาม โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ ทรงรับนักองค์เองไว้เป็นพระราชบุตรบุญธรรม ส่วนพระยายมราช (แบน) ได้รับการเลื่อนยศเป็นเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ ต่อมาได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้สำเร็จราชการกัมพูชาในขณะที่นักองค์เองยังทรงพระเยาว์อยู่
เมื่อนักองค์เองเจริญพระชันษาและทรงผนวชแล้ว ได้เสด็จกลับไปครองราชสมบัติในกัมพูชา ทรงพระนามว่า "สมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดีศรีสุริโยพรรณฯ" ส่วนเจ้าพระยาอภัยภูเบศร์ (แบน) ปกครองเมืองพระตะบอง
ดังนั้น ราชสำนักสยามตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 1 จนถึงสมัยรัชกาลที่ 4 จะทรงชุบเลี้ยงเจ้านายเขมรเป็นพระราชบุตรบุญธรรม และเป็นองค์ประกันเพื่อมิให้เกิดการกระด้างกระเดื่องในฐานะที่กัมพูชาเป็นเมืองประเทศราชของสยาม เจ้านายเขมรที่จะขึ้นราชาภิเษกเป็นกษัตริย์กัมพูชา ต้องมาจากการแต่งตั้งของราชสำนักกรุงรัตนโกสินทร์ สยามจึงมีสิทธิ์ในการสถาปนากษัตริย์กัมพูชา เรามักจะเรียกกันดีว่า "ไทยสถาปนากษัตริย์เขมร"
ขณะเดียวกัน เจ้านายเขมรที่ไปบวชเรียนและเติบโตในราชสำนักสยาม จะซึมซับกับศิลปวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ ของสยาม และจะนำวัฒนธรรมเหล่านี้จากสยามกลับไปเผยแพร่ในกัมพูชาเมื่อต้องกลับไปครองราชสมบัติ
กษัตริย์เขมรที่เคยเสด็จมาพำนักและเจริญพระชันษาในกรุงเทพฯ สืบสันตติวงศ์ต่อกันมาในระยะนั้นมีสมเด็จพระนารายณ์รามาธิบดี (นักองค์เอง) สมเด็จพระหริรักษ์รามาธิบดี (นักองค์ด้วง) สมเด็จพระนโรดมพรหมบริรักษ์ (นักองค์ราชาวดี) และสมเด็จพระศรีสวัสดิ์ (นักองค์สีสุวัตถิ์)
นักองค์ราชาวดี เป็นพระราชโอรสของสมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี (นักองค์ด้วง) และเป็นพระเชษฐาของพระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ (นักองค์สีสุวัตถิ์,สมเด็จพระศรีสวัสดิ์) พระมหากษัตริย์องค์ถัดมาที่ครองราชย์สืบต่อ พระองค์เสด็จพระราชสมภพเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2377 ที่จังหวัดตาแก้ว
เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ สมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี ได้ส่งให้มาฝึกราชการอยู่ที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งขณะนั้นตรงกับรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 3) โดยระหว่างที่ประทับอยู่ในกรุงเทพฯ ทรงมีสถานะเป็นพระราชบุตรบุญธรรมของกษัตริย์สยาม และเสด็จออกผนวชในสังกัดธรรมยุติกนิกาย ที่วัดบวรนิเวศวิหารฯ นาน 1 พรรษา
ปี พ.ศ. 2400 ในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) สมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี มีใบบอกเข้ามายังกรุงเทพมหานครว่า “ตนมีชนมายุเจริญล่วงมากแล้ว ขอพระราชทานให้พระเจ้าแผ่นดินสยาม ทรงตั้งนักองค์ราชาวดี บุตรคนโตเป็นมหาอุปราช ออกไปช่วยรักษาเมืองเขมร” ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ตามที่พระเจ้ากรุงกัมพูชาทรงขอมา
หลังจากนั้น 3 ปี (พ.ศ.2403) สมเด็จพระหริรักษ์รามมหาอิศราธิบดี เสด็จสวรรคต เกิดศึกชุลมุนแย่งราชสมบัติกันระหว่างนักองค์ราชาวดีมหาอุปราช กับนักองค์ศรีวัตถา พระอนุชา เมื่อสยามทราบเรื่องจึงเรียกทั้งสองฝ่ายเข้ากรุงเทพฯ โดยตัดสินใจสนับสนุนให้นักองค์ราชาวดีขึ้นเป็นกษัตริย์แห่งกรุงกัมพูชา พร้อมทั้งจัดพิธีราชาภิเษกขึ้นที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามฯ (วัดโพธิ์) กรุงเทพฯ โดยมีขุนนางกัมพูชาในกรุงเทพร่วมประกอบพิธี การนี้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานพระปรมาภิไธยแก่นักองค์ราชาวดีว่า
องค์สมเด็จพระนโรดม บรมรามเทวาวตาร คุณสารสุนทรฤทธิ์ มหิศวราธิบดี ศรีสุริโยสุรัตน์นฤพัทธพงศ์ดำรงราช บรมนารถมหากำโพชาธิบดินทร สรรพศิลปสิทธิ์สถิตสถาพร พรหมามรอำนวยไชย เป็นมไหสวริยาธิบดีในปฐพีดล สกลกัมโพชาณาจักร อัครมหาบุรุษรัตนวัฒนาดิเรก เอกอุดมบรมบพิตร พระเจ้ากรุงกัมโพชาธิบดี
ในปี พ.ศ. 2406-พ.ศ.2407 รัฐบาลฝรั่งเศสได้ดำเนินนโยบายต่างประเทศเชิงรุก หลังจากที่ฝรั่งเศสยึดครองญวนได้ ในเวลาต่อมา รัฐบาลฝรั่งเศสสั่งการให้กงสุลของตนประจำกรุงเทพฯ คือ กงต์ เดอ กาสเตลโน (Comte de Castelnau) เรียกร้องสิทธิ์โดยอ้างว่า บัดนี้ฝรั่งเศสเข้ายึดญวนใต้ได้แล้วก็ควรจะมีอำนาจที่จะสืบสิทธิ์ของญวนเหนือดินแดนเขมรด้วย เพราะเขมรเป็นเมืองขึ้นของญวน
คำอ้างของฝรั่งเศสแท้จริงมิใช่แค่เหตุผลเพื่อผดุงความยุติธรรมเท่านั้น แต่ฝรั่งเศสยังมีผลประโยชน์ทับซ้อนเกี่ยวกับเมืองเขมรอย่างลับๆ อีกด้วย
ดังนั้น เพื่อให้ได้มาซึ่งจุดยุทธศาสตร์ปากแม่น้ำโขงตั้งอยู่ พวกฝรั่งเศสจึงต้องทุ่มหมดหน้าตักด้วยการซื้อใจพระนโรดม (นักองค์ราชาวดี) โดยไม่ต้องทำสงครามแย่งชิงเขมรไปจากสยามด้วยการเกลี้ยกล่อมแกมบังคับกษัตริย์เขมรให้เห็นโอกาสที่จะเป็นอิสระและการมีเอกราชของเขมรอยู่ในมือของพระองค์
ในวันที่ 11 สิงหาคม พ.ศ.2406 รัฐบาลฝรั่งเศสได้ส่ง พล.ร.ต. เดอ ลา กรองดิแยร์ นำเรือรบไปจอดที่หน้าเมืองอุดงมีชัย และเกลี้ยกล่อมให้พระนโรดมลงพระนามในสนธิสัญญาฉบับหนึ่งกับฝรั่งเศส ซึ่งสำเร็จลงอย่างง่ายดาย แต่พระนโรดมก็ได้มีศุภอักษรเข้ามาถวายรายงานทันทีว่าจำใจต้องลงนาม เพราะว่าถูกฝรั่งเศสบังคับ
จะด้วยยังทรงกริ่งเกรงในอำนาจของสยาม หรือไม่อยากหักหาญพระราชหฤทัยพระเจ้าแผ่นดินสยามไม่ทราบได้ หลังเหตุการณ์นั้น พระนโรดม ได้กราบบังคมทูลมายังกรุงเทพฯ ว่า ถูกบีบบังคับให้ทำสัญญาโดยตนไม่เต็มใจ ความว่า
ครั้งนี้ อัดมิราลเดอ ลากรันดิเอ บังคับให้ข้าพระพุทธเจ้าทำหนังสือสัญญา ณ เมืองเขมร ข้าพเจ้าคิดกลัวว่าจะมีความผิดกับกรุงเทพฯ เป็นอันมาก แต่ข้าพเจ้าคิดกลัวไปว่าถ้าเกิดวิวาทกันขึ้นกับฝรั่งเศส ความครหาติเตียนข้าพเจ้าก็จะมากขึ้น ด้วยใจพระยาเขมรแลราษฎรทุกวันนี้เป็นสามพวกอยู่ ก็จะพากันว่าได้ผู้นั้นผู้นี้เป็นเจ้าเมืองไม่สบายฤๅ ความข้อนี้สิ้นปัญญาแล้ว จึงยอมทำหนังสือสัญญากับฝรั่งเศส
เพื่อเป็นการรักษาสิทธิ์ของสยามเหนือเขมร ฝ่ายสยามรีบทำสัญญาลับกับเขมรเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม พ.ศ.2406 เพื่อกดดันให้พระนโรดมยืนยันว่าเขมรยังเป็นประเทศราชของสยามและเพื่อผูกมัดเขมรไว้กับสยามต่อไป แต่สัญญาฉบับนี้ก็มิได้ช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น ซ้ำร้ายยังก่อให้เกิดสงครามเย็นระหว่างสยามกับฝรั่งเศสอีกด้วย รัฐบาลกรุงปารีสได้ประท้วงและประกาศว่าสัญญาลับฉบับดังกล่าวเป็นโมฆะ
รัฐบาลสยามไม่สามารถต่อรองหรือกีดกันอะไรได้จึงเลือกตัดใจ คือปล่อยเขมรจากประเทศราชของตนเป็นรัฐในอารักขาของฝรั่งเศส แม้สูญเสียศักดิ์ศรี อุดมการณ์ และมรดกของบรรพชน แต่สิ่งที่รักษาได้คือ เอกราชและอธิปไตยที่ยังคงอยู่ ดังนั้นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงมีพระราชหัตถเลขามาถึงพระนโรดม ความว่า
“…ก็ถ้าจะมีผู้ใดคิดคลางแคลงสงสัยว่าข้าพเจ้าขุ่นข้องหมองหมางกับเธอประการใด จึงคิดอ่านเหหันผันแปรจะยักย้ายไปอย่างอื่นจึงไม่ไปอภิเษก ให้สมกับการที่พระยาราชวรานุกูลไปนัดหมายไว้นั้น ถ้าผู้ใดวิตกสงสัยไปดังนี้ การนั้นไม่ตรงกับสิ่งที่เป็นแท้จริงเลย เจ้านายฝ่ายเขมรทั้งปวงนั้น ดำรงชีพอยู่ในกาลบัดนี้ ผู้ใดจะเป็นที่สนิทคุ้นเคยกับข้าพเจ้ามากกว่าเธอมีฤๅ…”
“…ก็เมื่อเจ้าเวียตนามก่อให้เกิดเหตุ จนฝรั่งเศสได้เมืองญวนฝ่ายใต้ตกเป็นของเอมเปรอ ซึ่งมีอำนาจใหญ่โตขึ้นกว่าเจ้านายฝ่ายฝรั่งเศส แต่ก่อนอย่างนี้แล้ว เมืองเขมรก็มีทางที่ค้าที่ขายก็ซึ่งจะปิดอยู่ไม่ให้ฝรั่งเศสเข้ามาทักมาทาย แสวงหาทางที่จะเป็นประโยชน์กับเขานั้น จะให้ไม่รู้จักกันเหมือนอย่างแต่ก่อนทีเดียวจะเป็นได้ฤๅ…”
“…เมื่อฝรั่งเศสมาอยู่เมืองญวนฝ่ายใต้ ก็เป็นฟันใกล้ลิ้นกับเมืองเขมร จะไม่ให้ไปถึงกันอย่างไรได้ การจะเป็นอย่างไรในข้างใดข้างโน้นก็เป็นได้ทุกประการ ไม่มีใครเห็นเป็นพยาน ไม่ต้องกลัวครหานินทา เขมรมีกำลังน้อยจะรู้ที่ทำอย่างไรได้ ข้าพเจ้าคาดจิตเห็นใจเธอและพระยาพระเขมรผู้ใหญ่อยู่หมดจริง ๆ ไม่ได้ขุ่นข้องหมองหมางอันใดด้วยเหตุนั้นดอก…”
ทางรัฐบาลสยามซึ่งต้องรักษามิตรภาพกับทางฝรั่งเศสจึงไม่มีทางโต้เถียง จึงจำยอมแต่โดยดี ทำให้อิทธิพลของสยามในเขมรตั้งแต่นั้นมาแทบไม่มีเหลืออีกเลยโดยรูปธรรม แต่โดยนามธรรมแล้ว จะมีก็แต่สิทธิ์ของสยามแต่โบราณกาลในการประกอบพิธีราชาภิเษกเท่านั้น
แต่โดยกฎมณเฑียรบาลและจารีตของราชสำนักแล้วถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งต่อจิตวิญญาณของกษัตริย์องค์ใหม่ โดยครรลองแล้วพระนโรดมจะต้องเดินทางมาประกอบพิธีนี้ในกรุงเทพฯ ตามโบราณราชพิธี อีกทั้งเครื่องราชกกุธภัณฑ์ทั้งหมดสยามก็เก็บรักษาอยู่ที่นี่ เหตุผลดังกล่าวแสดงว่าสยามมีอำนาจเหนือกว่าในเชิงทฤษฎี จะขาดราชสำนักสยามไม่เป็นอันขาด
ทว่าฝรั่งเศสยังคงสร้างสถานการณ์ให้พิธีนี้ต้องเกิดขึ้นในดินแดนเขมรเพียงเท่านั้น เพื่อกำจัดอิทธิพลของสยามที่เหลืออยู่ให้หมดไปโดยสิ้นเชิง ดังปรากฏว่าในวันที่ 3 มีนาคม พ.ศ.2407 เมื่อพระนโรดมทรงออกเดินทางจากเมืองอุดงมีชัยเพื่อจะมากรุงเทพฯ นายทหารฝรั่งเศสก็หาทางขัดขวางโดยเข้ายึดเมืองอุดงชัย แล้วชักธงฝรั่งเศสขึ้นเหนือพระราชวัง พระนโรดมจึงต้องตัดสินพระทัยเดินทางกลับทันที
ในช่วงเวลาต่อมา ทหารฝรั่งเศสได้กักบริเวณพระนโรดม และไม่อนุญาตให้เดินทางออกนอกประเทศ และเสนอเข้ามาทางกรุงเทพฯ ว่าจะกำหนดให้พิธีราชาภิเษกมีขึ้นในวันที่ 3 มิถุนายน พ.ศ.2407 แต่จะมีขึ้นในแผ่นดินเขมรเท่านั้น โดยขอให้สยามนำเครื่องราชอิสริยยศและพระสุพรรณบัฏมาส่ง
ฝ่ายสยามเห็นว่าเพื่อเป็นการประนีประนอมและสมานสามัคคีกับฝ่ายฝรั่งเศสที่ไซง่อนจึงได้จัดขุนนางผู้ใหญ่คือ พระยามนตรีสุริยวงศ์ เป็นหัวหน้าคณะชาวสยามโดยสารเรือฝรั่งเศสไป ส่วนเครื่องราชกกุธภัณฑ์นั้น เจ้าพนักงานสยามนำลงเรือกลไฟสงครามครรชิตล่องไปขึ้นฝั่งเขมรที่เมืองกำปอต แล้วเดินเท้าต่อไปยังอุดงมีชัย
นายเดมูแลง ในฐานะผู้แทนของรัฐบาลฝรั่งเศส ก็เป็นประธานตัวจริงในพิธีราชาภิเษกให้พระนโรดม ในขณะที่ท่านพระยามนตรีสุริยวงศ์ผู้แทนรัฐบาลสยาม เป็นก็แต่เพียงขุนนางชั้นผู้ใหญ่ที่ได้รับมอบหมายให้นำเครื่องราชาภิเษกไปส่งให้เท่านั้นในทางปฏิบัติ ทั้งนี้ ไกรฤกษ์ นานา ได้เปิดเผยข้อมูลใหม่เกี่ยวกับพิธีราชาภิเษกของพระนโรดม ภายในกัมพูชา จากหลักฐานของฝรั่งเศส ดังนี้
“…วันที่ 3 มิถุนายน ค.ศ.1864 นับเป็นอีกหน้าหนึ่งของประวัติศาสตร์อินโดจีนที่ต้องบันทึกไว้ เมื่อข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของเราคือ ท่านเดมูแลง(M. Desmoulins) เดินทางมาถึงจากไซง่อน ท่านเดมูแลงได้ทำหน้าที่อันน่ายกย่องในฐานะผู้แทนของพระองค์พระจักรพรรดิอย่างภาคภูมิเป็นประธานในพิธี
การมาร่วมพิธีของผู้แทนจากสยาม สร้างความอึดอัดให้เราชาวฝรั่งเศสไม่น้อย มันเหมือนเป็นการมาเพื่อชิงตัวประกันไม่มีผิด แต่ทุกอย่างก็ดำเนินไปด้วยดี ในขณะที่ชาวสยามรีๆ รอๆ อยู่นั้น ท่านเดมูแลงก็นำมงกุฎไปถวายให้พระนโรดมอย่างคล่องแคล่วเป็นการเสร็จสิ้นพิธีการ และขั้นตอนที่พระนโรดมกังวลใจนักหนา”
ดังนั้น พระนโรดม ทรงเป็นพระมหากษัตริย์กัมพูชาพระองค์สุดท้ายภายใต้การปกครองของสยาม และพระองค์แรกภายใต้อาณานิคมของฝรั่งเศส
การปกครองกัมพูชาในช่วงแรกของฝรั่งเศส ฝรั่งเศสไม่ได้เข้ามาแทรกแซงกิจการภายในกัมพูชามากนัก บทบาทในช่วงนี้ของฝรั่งเศสได้สนับสนุนให้สถานะของกษัตริย์มั่นคงขึ้น เช่นการปราบกบฏสวา ระหว่าง พ.ศ. 2408-พ.ศ.2410 และการปราบกบฏชาวนาที่นำโดยพูกอมโบเมื่อ พ.ศ. 2410 ในช่วงนี้ ฝรั่งเศสควบคุมด้านการทหาร การต่างประเทศ และการคลังเป็นหลัก
นอกจากนั้นได้แต่งตั้งให้พระสีสุวัตถิ์ที่เคยมีข้อขัดแย้งกับพระนโรดมก่อนขึ้นครองราชย์ให้เป็นอุปราชของกัมพูชา และปี พ.ศ.2409 พระบาทสมเด็จพระนโรดมจึงได้ทรงมีพระราชดำริให้ย้ายราชธานีจากกรุงอุดงมีชัยมาที่กรุงพนมเปญเป็นเมืองหลวงของประเทศอีกครั้ง ทำให้กรุงพนมเปญเป็นเมืองหลวงนับแต่นั้นเป็นต้นมา สิ้นสุดยุคสมัยอุดงที่ดำเนินมาหลายร้อยปี
หลัง พ.ศ. 2426 ซึ่งฝรั่งเศสยึดครองเวียดนามได้อย่างสมบูรณ์ ทำให้ฝรั่งเศสเปลี่ยนนโยบายในการปกครองกัมพูชา เริ่มจากปี พ.ศ. 2427 ข้าหลวงทอมสัน เสนอให้มีการปฏิรูปในกัมพูชาครั้งใหญ่ ทั้งด้านการเก็บภาษี การตำรวจและการยกเลิกระบบไพร่ทาส แต่พระนโรดมไม่ให้ความร่วมมือ พยายามร้องเรียนไปยังรัฐบาลฝรั่งเศส จนข้าหลวงทอมสันนำเรือปืนเข้ามาทอดสมอริมพระราชวังและข่มขู่ให้พระนโรดมลงพระนามาภิไธย พระนโรดมจึงทรงลงพระนามาภิไธยเมื่อ 17 มิถุนายน พ.ศ. 2427
ผลที่เกิดมาตามจากการบังคับให้ปฏิรูปของฝรั่งเศส คือการเกิดกบฏชาวนาภายในประเทศ องค์พระสีวัตถากลับมาเป็นผู้นำกบฏที่มีฐานที่มั่นทางตะวันออกของกัมพูชา ฝรั่งเศสได้ส่งกำลังทหารเข้าปราบปรามกบฏและตั้งข้อสงสัยพระนโรดมอยู่เบื้องหลังการก่อกบฏครั้งนี้ ผลจากการปราบปรามทำให้ชาวกัมพูชาอพยพเข้าพระตะบองที่ยังอยู่ภายใต้การปกครองของสยามกว่า 40,000 คน
การกบฏกินระยะเวลากว่าสองปี ยุติลงเมื่อข้าหลวงคนใหม่คือฟิลิปินี เข้าเจรจากับพระนโรดมให้ยุติการกบฏภายใน 1 มกราคม พ.ศ.2430 โดยฝรั่งเศสจะชะลอการปฏิรูประบบไพร่ทาส พระนโรดมจึงออกประกาศเรียกร้องให้ยุติการกบฏและประกาศนิรโทษกรรม องค์พระสีวัตถาหนีเข้าไปอยู่ที่แม่น้ำโขงตามแนวชายแดนกัมพูชา-ลาว การกบฏจึงสิ้นสุดลง
ฝรั่งเศสจัดตั้งสหภาพอินโดจีนขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2430 โดยให้ขึ้นกับกระทรวงอาณานิคม ข้าหลวงใหญ่ประจำสหภาพอินโดจีนประจำที่ฮานอย ส่วนกัมพูชาเป็นรัฐในอารักขาจึงมีผู้ว่าการสูงสุดเป็นตัวแทนของฝรั่งเศส
เมื่อพระนโรดมประชวรหนักเมื่อ พ.ศ. 2440 ขณะมีพระชนม์ได้ 61 พรรษา ฝรั่งเศสเตรียมการสถาปนาพระสีสุวัตถิ์เป็นกษัตริย์โดยให้พระองค์ยอมมอบอำนาจการบริหารทั้งหมดให้ฝรั่งเศส อย่างไรก็ตาม เมื่อพระนโรดมหายประชวร ไม่ได้สวรรคตอย่างที่คาด ฝรั่งเศสจึงบังคับให้พระองค์ออกพระราชบัญญัติลงวันที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2440 เพื่อปฏิรูปการปกครอง ได้แก่การให้สิทธิประชาชนครอบครองทรัพย์สิน และกำหนดให้กฎหมายที่ใช้บังคับได้ต้องมีผู้ว่าการสูงสุดของฝรั่งเศสลงนาม
ในปี พ.ศ. 2443 พระองค์ยุคนธร โอรสของพระนโรดมเดินทางไปฝรั่งเศสเพื่อเปิดเผยความไม่ยุติธรรมของฝรั่งเศสให้สื่อมวลชนทราบและเรียกร้องการปกครองตนเอง ผลคือพระองค์ยุคนธรถูกถอดออกจากบรรดาศักดิ์ และต้องลี้ภัยในสยามตลอดชีวิต พระนโรดมเสด็จสวรรคตเมื่อ 25 เมษายน พ.ศ. 2447 พระสีสุวัตถิ์ขึ้นครองราชสมบัติขึ้นเป็นพระบาทสมเด็จพระสีสุวัตถิ์ และได้ลงนามมอบอำนาจการบริหารราชการแผ่นดินให้ฝรั่งเศสจนหมด กัมพูชาจึงกลายเป็นอาณานิคมของฝรั่งเศสอย่างสมบูรณ์
หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง พระบาทสมเด็จพระนโรดม สีหนุ ทรงเป็นผู้นำการเรียกร้องเอกราชคืนจากฝรั่งเศส ในที่สุดฝรั่งเศสคืนเอกราชให้แก่กัมพูชาโดยสมบูรณ์ในวันที่ 9 พฤศจิกายน พ.ศ.2496 เป็นการสิ้นสุดการปกครองกัมพูชาโดยฝรั่งเศสมาอย่างยาวนานถึง 90 ปี พระองค์จึงได้รับการยกย่องให้เป็นพระบิดาแห่งชาติของกัมพูชา
แหล่งที่มาและเรียบเรียง
หมายเหตุ : เราเคยเขียนประวัติของพระนโรดมสีหนุไปแล้ว อ่านได้ที่นี่เลยครับ https://www.blockdit.com/posts/652c1efc1318ec7820d5d2d7
โฆษณา