24 พ.ย. 2023 เวลา 03:00 • สุขภาพ

Bed Rotting เทรนด์ดูแลสุขภาพด้วยการอยู่บนเตียงนอนทั้งวัน

‘เมื่อวาน ทำงานเหนื่อยๆ ทั้งวันแล้ว วันนี้ เรามานอนเปื่อยๆ ทั้งวันดีกว่า ’
ประโยคที่กล่าวไปนี้ ไม่ใช่แค่การวางแผนตั้งแต่แรก แต่เป็นสัญชาตญาณที่กระตุ้นให้คุณกระทำสิ่งนี้โดยอัตโนมัติ
และไม่แปลกที่เราจะยอมต่อสัญชาตญาณ เพราะ ตลอดทั้งสัปดาห์ ความอ่อนล้าจากการทำงาน การออกไปพบปะเพื่อนๆ การเดินทางในแต่ละวัน และกิจวัตรประจำวันต่างๆ ที่ใช้พลังงานมหาศาลจนมันได้สะสมความอ่อนล้า ซึ่งสุดท้าย ทางออกง่ายๆ จึงมาลงเอ่ยที่เตียงนอนหนึ่งหลัง
หากเตียงนอนในห้องนอนเรา เปรียบเหมือนเซฟโซนหรือที่พักฟื้นจิตใจแรกๆ ที่คุณนึกถึง การนอนและทำกิจวัตรต่างๆ บนเตียงตลอดทั้งวัน ก็อาจจะฟื้นฟูร่างกายและจิตใจของเราได้เช่นกัน จึงกลายเป็นเทรนด์ใน Tiktok ที่มีผู้เข้าชมเป็นหลักล้านในช่วงกลางปี อย่าง ‘Bed Rotting’
แล้ว Bed Rotting คืออะไร มีผลกระทบทางชีวิตด้านไหนบ้าง และวิธีการนอนเปื่อยที่ดีต้องทำอย่างไร Inside Your Mind จะพาทุกคนไปทำความเข้าใจไปพร้อมๆ กัน
Credit : freepik
[ Bed Rotting คืออะไร ]
Bed Rotting หรือ การนอนเปื่อยบนเตียง เทรนด์นี้เกิดขึ้นในแอพพลิเคชั่น TikTok ที่นิยมในหมู่วัยรุ่นเจน Z โดยนิยามของเทรนด์นี้ เป็นการดูแลตัวเองที่ใช้เวลาไปกับการอยู่บนเตียง ไม่ว่าจะเป็นการงีบหลับ กินข้าว ดูคลิปวิดีโอ ท่องโลกออนไลน์ และกิจกรรมอีกมากมายที่เราสามารถทำได้บนเตียงนอน เพื่อรับมือกับความเหนื่อยล้าและความเบื่อหน่ายในชีวิตประจำวัน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ทำงานหนักหรือใช้พลังงานตลอดทั้งวัน พวกเขาควรจะหาเวลาในการชาร์จพลังงานของตัวเอง เพื่อให้มีแรงในการทำกิจกรรมหรือกิจวัตรได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
Credit : canva
[ ผลกระทบที่น่ากังวลของการนอนเปื่อย ]
แม้การนอนจะเป็นการพักผ่อนอีกอย่างหนึ่ง แต่การนอนหรือทำกิจวัตรประจำวันบนเตียงตลอดทั้งวัน ก็ไม่ได้ดีต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตขนานนั้น ซึ่งผลกระทบที่ควรระวังนั้น มีดังนี้
1.การนอนหลับ
ดร.ไดแอนน์ ออเจลลี (Dr.Dianne Augelli) ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์ด้านการนอนหลับที่ Weill Cornell Medicine และ New-York Presbyterian และ ดร.รีเบคก้า ร็อบบินส์ (Dr. Rebecca Robbins) นักวิทยาศาสตร์ด้านการนอนหลับที่ Brigham and Women's Hospital ในบอสตัน ได้กังวลเกี่ยวกับเทรนด์นี้ ว่า
หากใช้เตียงนอนสำหรับกินข้าว เล่นโทรศัพท์ และงีบหลับเป็นพักๆ สมองของคุณอาจจะสับสนและสั่งการนอนหลับบนเตียงนอนได้ยาก หากอธิบายให้เข้าใจง่าย ก็คือ การเชื่อมโยงของสมองระหว่างเตียงนอนกับการนอนหลับจะถูกรบกวนจากกิจวัตรประจำวันต่างๆ ที่ทำบนเตียง ทำให้คุณไม่สามารถนอนหลับได้อย่างเต็มที่
2. ชีวิตประจำวัน
การอยู่บนเตียงทั้งวัน ก็ส่งผลกระทบต่อคุณค่าชีวิตด้วย โดย ดร. แคทรีนา ออสท์เมเยอร์ (Dr. Katrina Ostmeyer) นักจิตวิทยาและซีอีโอของ Beyond the Individual ได้กล่าวไว้ว่า
ในชีวิตประจำวัน คุณมีโอกาสค้นหาความสุขและความหมายของชีวิตได้ แต่การนอนเปื่อยนั้น กำลังพาคุณไปสู่ภาวะซึมเศร้า แม้ทั้งสองจะมีประโยชน์ที่ต่างกัน แต่เมื่อคุณอยู่แต่บนเตียงนอน โอกาสเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อสร้างความภาคภูมิใจในตัวเองก็จะลดลง
3. สุขภาพ
ในด้านสุขภาพกาย ดร. เทเรซา มาร์โค (Dr. Theresa Marko) ผู้เชี่ยวชาญด้านคลินิกที่ได้รับการรับรองจากคณะกรรมการด้านกายภาพบำบัดออร์โธปิดิกส์และเจ้าของ Marko Physical Therapy ในแมนฮัตตัน กล่าวถึงการนอนเปื่อยที่มีผลกระทบต่อสุขภาพกายว่า
การนอนบนเตียง เป็นเวลานานนั้น ส่งผลเสียต่อกล้ามเนื้อและข้อต่อ เนื่องจากการนอนจะทำให้คุณสูญเสียมวลกล้ามเนื้อและการไหลเวียนของเลือดและออกซิเจนที่จะไหลเวียนกล้ามเนื้อน้อยลง ซึ่งอาจส่งผลลามไปยันปอดได้
ส่วนด้านสุขภาพจิตนั้น นิโคล ฮอลลิงส์เฮด (Nicole Hollingshead) นักจิตวิทยาและผู้ช่วยศาสตราจารย์ทางคลินิกด้านเวชศาสตร์ที่ Ohio State University กล่าวว่า
การนอนเปื่อย เป็นกิจกรรมที่ทำให้ความมีสีสันหรือชีวิตชีวาลดลง เนื่องจากการใช้โซเชียลมีเดีย การงีบหลับ และกิจกรรมต่างๆ บนเตียงที่ก่อให้เกิดความโดดเดี่ยวทางสังคมจนนำพาเราไปสู่ภาวะซึมเศร้า รวมถึงความกระตือรือร้นในกระตุ้นอารมณ์และแรงจูงใจที่ค่อยๆ จางหายไป
Credit : freepik
[ การนอนเปื่อยที่ดีเป็นอย่างไร ]
จากที่กล่าวมาในหัวข้อที่แล้ว อาจจะคิดว่า ‘การนอนเปื่อยนั้นส่งผลเสียต่อร่างกายมาก’ แต่พวกเราต้องอย่าลืมว่า ‘คุณต้องไม่ทำพฤติกรรมนี้จนติดเป็นนิสัย’ ซึ่งเราขอแนะนำการนอนเปื่อยๆ ที่ดีต่อตัวเรา ซึ่งมีวิธีดังต่อไปนี้
1. หลีกเลี่ยงการนอนเปื่อยบนเตียงนอน
ดร.ไดแอนน์ ออเจลลี ได้แนะนำว่า จริงๆ แล้ว การนอนเปื่อยสามารถทำที่ไหนก็ได้ ซึ่งการเปลี่ยนบรรยากาศหรือพื้นที่ในการนอนเปื่อย ไม่ว่าจะเป็นโซฟา เปล หรือมุมไหนของบ้าน ก็สามารถชาร์จพลังงานได้เช่นกัน
2. ดึงสติตัวเองระหว่างนอนเปื่อย
การดึงสติตัวเองระหว่างนอนเปื่อย คือ การตั้งนาฬิกาปลุกหรือจับเวลาไม่ให้คุณอยู่บนเตียงนานเกินไป โดยคำแนะนำจากคอร์ทนีย์ เดแองเจลิส (Courtney DeAngelis) นักจิตวิทยาจาก NewYork-Presbyterian/Columbia University Irving Medical Center ได้แนะนำว่า การตั้งนาฬิกาปลุกหรือจับเวลาสามารถส่งสัญญาณเตือนและบอกคุณว่า ให้คุณทำกิจวัตรอื่นๆ ได้แล้ว
3. พยุงตัวเองออกจากเตียงแล้วไปทำกิจกรรม
ถึงการอยู่บนเตียงจะช่วยผ่อนคลายและชาร์จพลังได้ แต่การขยับเขยื้อนร่างกายด้วยกิจกรรมต่างๆ ตั้งแต่เติมอาหารสมองด้วยการอ่านหนังสือบนโต๊ะ นั่งเขียนบันทึกเรื่องราวที่ผ่านมา เล่นโยคะในพื้นที่กว้างๆ หรือการออกกำลังกายข้างนอก ยังคงเป็นกิจกรรมสามัญประจำบ้านที่ค่อยช่วยให้เรามีสุขภาพกายและจิตใจที่ดีอยู่เสมอ
Credit : freepik
การนอนเปื่อย เป็นกิจกรรมผ่อนคลายในระยะสั้นสำหรับคนที่ใช้พลังงานหนัก หากคุณใช้มันเพื่อหลีกเลี่ยงความเครียดและวิตกกังวล มันก็จะกลายเป็นการสุมเชื้อไฟให้ร้อนขึ้น ฉะนั้นแล้ว อย่าอยู่บนเตียงนานจนเกินไป พยายามพยุงตัวเองออกเซฟโซนให้ได้ แล้วออกไปรับประสบการณ์ ชาร์จพลัง รวมถึงค้นหาคุณค่าของชีวิตจะดีกว่า
เพราะยังไงซะ เตียงนอนก็เป็นเพียงแค่ที่พักใจชั่วคราว
Writer by Purin Ausawateerageat
Resource :
โฆษณา