16 ธ.ค. 2023 เวลา 15:19 • ประวัติศาสตร์
Wright Brothers National Memorial

120 ปี เครื่องบินลำแรก และสงครามสิทธิบัตรที่ทำให้อเมริกาไม่มีเครื่องบินรบในสงครามโลก

ประวัติศาสตร์การบินของมนุษย์เริ่มขึ้น เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม ค.ศ. 1903 เหนือเนินทรายอันโดดเดี่ยวบนแหลมที่ยื่นไปในทะเล นอกคิตตีฮอว์ค หมู่บ้านชาวประมงเล็กๆ ในรัฐนอร์ท แคโรไลนา ออร์วิล ไรท์ ช่างจักรยานจากโอไฮโอ ควบคุมอากาศยานปีกสองชั้น ใช้เครื่องยนต์ขนาด 12 แรงม้าขับใบพัดสองข้างซึ่งหมุนสวนทางกัน ให้ขึ้นบินเป็นระยะทาง 36 เมตรได้เป็นครั้งแรกของโลก โดยมีวิลเบอร์ พี่ชายของเขา วิ่งตามไปข้างๆ
เหตุการณ์สำคัญที่เปลี่ยนแปลงโลก และเริ่มต้นยุคการบิน คือเที่ยวบินระยะเวลา 12 วินาทีอันเป็นตำนานครั้งนั้น นอกจากพี่น้องไรท์ทั้งสอง ยังมีเจ้าหน้าที่ตรวจการณ์ชายฝั่งอีกเพียง 5 คน ซึ่งแวะเข้ามาเป็นอเมริกันมุงเท่านั้น ที่เป็นประจักษ์พยานให้ หากไม่ถูกบันทึกภาพไว้โดยยามชายฝั่ง ที่ช่วยกดชัตเตอร์ให้ได้จังหวะพอดี โลกภายนอกคงยากที่จะเชื่อ
ออร์วิล ไรท์ นำ Flyer 1 ขึ้นบินได้สำเร็จเป็นเครื่องบินลำแรกของโลก จากรางที่เห็นด้านซ้าย ถ่ายโดย จอห์น แดเนียลส์ ยามชายฝั่งที่ไม่เคยเห็นกล้องถ่ายรูปมาก่อน
การบินของมนุษย์เป็นความฝันของนักประดิษฐ์ตลอดมาทุกยุคทุกสมัย ช่วงต้นศตวรรษที่ยี่สิบนั้น ความฝันนี้เข้าใกล้ความจริงอย่างไม่เคยมีมาก่อน เมื่อ แซมวล แลงก์ลีย์ แห่งสถาบันสมิทโซเนียน ประดิษฐ์เครื่องบินไร้คนขับพลังไอน้ำ ขึ้นบินได้ไกลเกือบหนึ่งกิโลเมตรในปี 1896 เฟอร์ดินานด์ เซปเปลินก็สร้างเรือเหาะไฮโดรเจนได้สำเร็จในปี 1900 เช่นกัน เครื่องยนต์สันดาปภายในน้ำหนักเบาก็ถูกพัฒนาขึ้นแล้ว
สิ่งประดิษฐ์ที่ทุกคนรอคอยคืออากาศยานหนักกว่าอากาศ ที่นำคนขึ้นสู่ท้องฟ้าและควบคุมได้ จึงไม่ไกลเกินเอื้อม แม้จะมีนักบุกเบิกการบินหลายคนทั้งในยุโรปและอเมริกาได้ลองพยายามแล้ว ก็ยังไม่มีใครสร้างได้สำเร็จ
เครื่องบินลำแรกของโลกกลับเป็นผลงานของนักประดิษฐ์นอกสายตา จากเมืองเดย์ตัน รัฐโอไฮโอ ที่ศึกษาด้วยตัวเอง วิลเบอร์ (1867-1912) และออร์วิล ไรท์ (1871–1948) ไม่มีทั้งคุณวุฒิการศึกษา หรือเงินทุน อย่าว่าแต่การเรียนมหาวิทยาลัย ทั้งสองคนไม่ได้จบมัธยมปลายด้วยซ้ำ แต่เปี่ยมด้วยแรงบันดาลใจอย่างแรงกล้า และมีอิสระเต็มที่ในการทำงาน
ม้ามืดทางการบิน
ทั้งสองเป็นบุตรของมิลตัน ไรท์ บาทหลวงผู้มีชื่อเสียง ซึ่งเคยเป็นนักกิจกรรมต่อต้านการมีทาส และเคยได้รับตำแหน่งบิชอป เขาไม่ร่ำรวย ในบ้านมีสมบัติน้อยชิ้น แต่เต็มไปด้วยหนังสือ มิลตันเดินทางไปทั่วสหรัฐ และซื้อของเล่นเฮลิคอปเตอร์ยางยืดกลับมาให้ลูกเล่น ซึ่งได้จุดประกายความใฝ่ฝันทางการบินให้แก่วิลเบอร์และออร์วิลแต่วัยเยาว์ เมื่อเด็กทั้งสองทำมันหัก ก็ช่วยกันทำขึ้นใหม่เอง
ผลงานของนักบุกเบิกการบินในยุคนั้น แซมวล แลงก์ลีย์ และออคตาฟ ชานูท ซึ่งช่วยเหลือแนะนำแก่พี่น้องไรท์
ทั้งสองคนออกจากโรงเรียนมาก่อตั้งธุรกิจแรก คือทำหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น ที่สร้างแท่นพิมพ์ขึ้นเอง ต่อมาเมื่อจักรยานเริ่มได้รับความนิยมก็ขายโรงพิมพ์ มาเปิดร้านจักรยานแทน ทั้งขาย ซ่อม และผลิตจักรยานของตัวเองขายในเมืองเดย์ตัน
วิลเบอร์ และออร์วิล ถือว่าออตโต ลิเลียนทาล นักบุกเบิกการบินชาวเยอรมัน เป็นวีรบุรษในดวงใจ เมื่อทราบข่าวการสละชีวิตของลิเลียนทาล ระหว่างทดลองเครื่องร่อนในปี 1896 จินตนาการในวัยเด็กของทั้งสองได้ถูกปลุกขึ้นอีกครั้ง พี่น้องไรท์ในวัยเกือบ 30 และยังไม่มีครอบครัว ก็ได้เริ่มโปรเจคเครื่องบินของเขา
ถึงแม้ไม่ได้เรียนมาโดยตรง และวิศวกรรมการบินคงไม่มีสอนที่ไหนในขณะนั้น แต่ทั้งสองได้ขวนขวายศึกษาทุกอย่างเกี่ยวกับอากาศพลศาสตร์ รวมทั้งการบินของนก เขาซื้อหนังสือที่เกี่ยวข้องทุกเล่มมาอ่านอย่างกระหายใคร่รู้ และออกแบบการทดลองอย่างเป็นระบบ เพื่อสะสมความรู้อย่างรอบคอบไปทีละขั้น
แบบจำลองอุโมงค์ลม ตามที่พี่น้องไรท์สร้างขึ้นใช้เอง
นักประดิษฐ์ที่ไม่จบมัธยมทั้งสองนี้ เป็นคนแรกๆของโลกที่ใช้อุโมงค์ลมที่เขาสร้างขึ้นเองในร้านจักรยาน ทดสอบแบบจำลองปีกเครื่องบิน (airfoil) กว่า 200 รูปร่าง โดยใช้เครื่องมือที่วัดสมดุลแรงยกและแรงต้าน (balance) ได้อย่างแม่นยำ ข้อมูลเหล่านี้ ห้องปฏิบัติการที่ล้ำสมัยในยุคหลังได้ทดสอบซ้ำพบว่ามีความคลาดเคลื่อนเพียงไม่เกิน 2% พี่น้องไรท์ยังได้ดัดแปลงเครื่องยนต์มอเตอร์ไซค์เพื่อมาใช้กับเครื่องบิน และออกแบบใบพัดเครื่องบินขึ้นเองอีกด้วย
ปีกเครื่องบินที่ใช้หน้าตัดแอร์ฟอยล์ประสิทธิภาพสูง เพื่อสร้างแรงยก เป็นสิ่งที่ริเริ่มขึ้นมาก่อนแล้วโดยลิเลียนทาล ใบพัดที่ขับด้วยเครื่องยนต์แกสโซลีนก็เป็นสิ่งที่ไม่เกินความคาดหมายของนักประดิษฐ์คนอื่นๆ แต่สิ่งที่พี่น้องไรท์คิดได้ไม่เหมือนใครมี และทำให้การบินบรรลุผลสำเร็จนั่นคือ “วิธีการควบคุม”
การควบคุมเครื่องบินทั้งสามแกน และโครงสร้างของ Wright Flyer 1
เครื่องบินที่ลอยอยู่ในอากาศนั้นควบคุมได้ยากกว่ารถที่วิ่งบนพื้น การเคลื่อนที่จะต้องถูกควบคุมได้ทั้งสามแกนหมุน คือการกระดกหน้า-หลัง (pitch), การส่ายซ้าย-ขวา (yaw) และ การโคลง (roll) การควบคุมที่่ง่ายที่สุดคือการส่ายรอบแกนในแนวดิ่ง ที่ใช้หางเสือแนวตั้ง (rudder) การกระดกก็ใช้ปีกเล็กแนวนอน ที่เรียกว่า หางเสือนอน (elevator) ซึ่งไรท์จัดไว้ด้านหน้าของปีกหลักแบบสองชั้น
ส่วนการโคลง หรือการหมุนรอบแกนที่ขนานกับทิศทางการเคลื่อนที่ ซึ่งจำเป็นต้องใช้ร่วมกับหางเสือในการบังคับเลี้ยว คือสิ่งที่ยังเป็นปัญหาในเวลานั้น ถ้าหากออกแบบให้มุมปะทะของปีกข้างซ้ายและขวาปรับได้ เพื่อให้แรงยกไม่เท่ากัน กลไกควบคุมก็จะซับซ้อนเกินไป
กล่องยางในที่เปลี่ยนประวัติศาสตร์โลก
ระหว่างที่ครุ่นคิดเรื่องการควบคุมเครื่องบิน พี่น้องไรท์ก็ทำงานร้านจักรยานไปด้วย วันหนึ่งมีลูกค้ามาเปลี่ยนยางในรถจักรยาน ซึ่งบรรจุมาในกล่องกระดาษสี่เหลี่ยมทรงยาว วิลเบอร์ลองเอากล่องเปล่ามาบิดเล่นดู จึงสังเกตเห็นว่าถ้ากดที่มุมกล่องแต่ละปลายในแนวทแยงมุมสลับคู่กัน ผนังกล่องจะเกิดการบิดตัวได้ เขาจึงคิดวิธีง่ายๆในการบังคับปีกเครื่องบินได้ทันที
กล่องสี่เหลี่ยมอันเป็นที่มาของการบิดเบนปีก (wing warping)
ปีกสองชั้นของเครื่องบินนั้นเหมือนกับผนังกล่องกระดาษสี่เหลี่ยม หากต่อสายเคเบิลจากคันโยกที่ตัวนักบินไปยังปลายปีกแต่ละมุมแล้วดึงสาย ก็จะทำให้เกิดการบิดเบนของปีก (wing warping) ข้างซ้ายและขวาในทิศทางตรงกันข้าม ซึ่งนำมาใช้ควบคุมการโคลง (roll) ได้
พี่น้องไรท์จึงเริ่มสร้างเครื่องร่อนตามแนวคิดนี้ก่อนที่จะติดเครื่องยนต์เข้าไป เขาเริ่มการบินทดสอบตั้งแต่ปี 1900 ที่คิตตี ฮอว์ค ริมทะเลรัฐนอร์ท แคโรไลนา ซึ่งได้รับการแนะนำสถานที่จากออคตาฟ ชานูท นักบุกเบิกการบินอาวุโสที่ไรท์ไปขอปรึกษา เนื่องจากเป็นเนินทรายขนาดใหญ่ ห่างไกลผู้คน ช่วยลดการกระแทกจากอุบัติเหตุได้ แล้วยังมีลมทะเลช่วยเพิ่มแรงยก
หลักการควบคุมปีก wing warping ซึ่งพี่น้องไรท์นำมาใช้กับว่าวตั้งแต่ปี 1899
พวกเขาเดินทางไปทดสอบเครื่องบินที่นั่นทุกปี ครั้งละหลายสัปดาห์ บินด้วยเครื่องร่อนไปกว่าพันครั้ง ความพยายามของไรท์มากกว่าที่ผู้ใดเคยทำมาก่อน แม้แต่ออตโต ลิเลียนทาล ฮีโรของพวกเขา
เมื่อการออกแบบลงตัว ทั้งสองจึงยื่นขอสิทธิบัตร “Flying Machine” ในเดือนมีนาคม 1903 ซึ่งมักถูกเข้าใจผิดว่าเป็นสิทธิบัตรของตัวเครื่องบิน ซึ่งไม่เป็นสิ่งใหม่เพราะมีเครื่องร่อนรูปทรงเดียวกันมาก่อนแล้ว สาระสำคัญของสิทธิบัตรนี้จริงๆอยู่ที่การควบคุมเครื่องบินติดเครื่องยนต์ที่สมบูรณ์ครบทั้งสามแกน
สิทธิบัตรสหรัฐ US 821,393 ซึ่งได้รับในปี 1906 หัวใจอยู่ที่วิธีการควบคุม
เขาใช้เวลาพัฒนาเครื่องยนต์และระบบใบพัดตลอดปี 1903 กว่าที่เครื่องยนต์เบนซิน 12 แรงม้าทำด้วยอลูมิเนียมน้ำหนักเบาเครื่องแรกจะสำเร็จ ก็ผ่านพ้นฤดูร้อนซึ่งเป็นช่วงการทดสอบปกติไปแล้ว
พี่น้องไรท์เริ่มการประกอบเครื่องบินที่คิตตี ฮอว์ค ในเดือนกันยายน 1903 คราวนี้มันจะไม่ใช่การทดสอบเครื่องร่อน แต่จะเป็นการขับเครื่องบินจริงๆ โชคไม่ดีเกิดปัญหากับระบบส่งกำลัง โซ่ที่ใช้ขับใบพัดหลุดทำให้เพลาขับเสียหาย ต้องกลับโอไฮโอไปกลึงเพลามาใหม่
ต้นเดือนธันวาคมปีนั้น แซมวล แลงก์ลีย์ นักฟิสิกส์ชื่อดัง เลขาธิการของสถาบันสมิทโซเนียน ซึ่งได้รับทุนวิจัยจากรัฐบาลก้อนใหญ่ ได้ทดสอบเครื่องบิน Aerodrome แบบมีคนขับของเขาเช่นกันที่วอชิงตัน ดีซี ผลก็คือเครื่องบินเสียการควบคุมและพุ่งลงแม่น้ำโปโตแมค นักบินได้รับการช่วยเหลือ แต่ Aerodrome แตกเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย
เมื่อไรท์ทราบข่าวนี้ จึงตัดสินใจกลับไปคิตตีฮอว์คทันที จะรอไปปีหน้าไม่ได้ หากกลัวความหนาวเย็น แลงก์ลีย์ซ่อมเครื่องบินเสร็จ อาจไม่มีใครรู้จักชื่อของพี่น้องไรท์อีกเลยก็ได้ ทั้งสองกลับมาถึงคิตตี ฮอว์ค ในวันที่ 11 ธันวาคม 1903 พร้อมชิ้นส่วนใหม่
เครื่องยนต์แกสโซลีน 12 แรงม้า ระบายความร้อนด้วยน้ำ สำหรับหมุนใบพัดคู่ของเครื่องบินลำแรก
เที่ยวบินที่ 1.0
ภูมิประเทศของคิตตี ฮอว์คนั้นเป็นทะเลทราย เครื่องบิน Wright Flyer 1 จึงขึ้นบินจากล้อเลื่อนที่วิ่งไปตามรางไม้ยาว 20 เมตร ที่วางบนพื้นทราย และพุ่งสวนกระแสลมเพื่อช่วยเพิ่มแรงยก วิลเบอร์ผู้พี่โยนเหรียญเสี่ยงทายได้ขึ้นบินเป็นคนแรกแต่เขายกหัวเชิดขึ้นเร็วเกินไป เครื่องบินจึงตกลงสู่พื้น ต้องซ่อมอยู่สามวัน
คิวต่อมาเป็นของออร์วิล 10 โมงครึ่ง วันที่ 17 ธันวาคม 1903 สภาพอากาศพอเหมาะ เขานอนราบกับปีก ซึ่งไม่เพียงเป็นการลดแรงต้านอากาศ แต่ยังเพื่อให้ใช้เอวในการควบคุมสายเคเบิลได้สะดวก ออร์วิลค่อยๆเร่งเครื่องยนต์ และควบคุมเครื่องบินให้ยกตัวขึ้นจากรางได้สำเร็จ
แม้จะบินไปได้เพียง 36 เมตรในเวลา 12 วินาที แต่นั่นคือการบินครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ชาติ ทั้งคู่ผลัดกันบินต่อมาอีกหลายครั้งในวันนั้น ระยะทางไกลที่สุดที่บินได้คือ 260 เมตร ที่ความสูงประมาณ 3 เมตรเหนือพื้นทราย
ความสำเร็จที่คิตตี ฮอว์ค ไม่ได้เกิดจากโชคช่วย แต่เกิดจากการล้มลุกคลุกคลาน ครั้งแล้วครั้งเล่าโดยไม่ล้มเลิก ส่วนที่ล้มเหลวมากกว่าใครนั้นข่าวไม่ได้ลง
จุดเริ่มต้นของยุคการบินนี้ กลับไม่เป็นข่าวใหญ่ในเวลานั้น ในวันรุ่งขึ้น มีเพียงหนังสือพิมพ์ในรัฐเวอร์จิเนีย และโอไฮโอ เท่านั้นที่ลงข่าวพาดหัวเล็กๆจากคำบอกเล่าที่คลาดเคลื่อน เช่นเรียกเครื่องบินว่าเรือเหาะ (airship) และบินด้วยความเร็วสูง เนื่องจากนักข่าวไม่เข้าใจว่าเครื่องบินๆได้อย่างไร จึงแต่งเรื่องเพิ่มเข้าไปเองว่ามีใบพัดหกใบด้านล่าง ทั้งที่มีแค่ใบพัดสองแกนด้านบน และสร้างแรงยกจากปีกด้วยการเคลื่อนที่ไปข้างหน้า
ทำให้หลายคนสงสัยว่าเป็นความจริงหรือที่ช่างจักรยานจะสามารถทำในสิ่งที่นักประดิษฐ์คนดังอื่นๆอย่างแลงก์ลีย์ยังทำไม่ได้ ต้องรออีกหลายเดือนกว่าที่ข่าวนี้จะแพร่ไปทั่วอเมริกา
หนังสือพิมพ์ในดัลลัส ลงข่าวเครื่องบินของไรท์ช้าไปหนึ่งเดือน เรียกเครื่องบินว่า "aerostat" และมีใบพัดใต้ท้องในรูปด้วย ซึ่งของจริงไม่มี
พี่น้องไรท์รู้ตัวว่าเครื่องบินของเขายังต้องพัฒนาต่อไปอีกก่อนที่จะนำมาใช้งานได้จริง จึงไม่ยอมแสดงการบินในที่สาธารณะ แต่ข่าวความสำเร็จของเขาเป็นแรงบันดาลใจให้นักประดิษฐ์อื่นทั้งในยุโรปและอเมริกา พัฒนาเครื่องบินและไปได้ไกลกว่าต้นตำรับของไรท์เองเสียอีก
คู่แข่งขันปรากฏตัว
ศูนย์กลางกิจกรรมการบินอย่างแท้จริงในเวลานั้น กลับอยู่ที่ฝรั่งเศส ซึ่งมีนักประดิษฐ์เครื่องบินแนวหน้าอยู่มากมายเช่น ลุยส์ เบลริโอต์ (ซึ่งบินข้ามช่องแคบอังกฤษได้เป็นคนแรกในปี 1909), แฟร์ดินัง แฟร์แบร์ (ครูการบินของซิกอร์สกี), กาเบรียล วัวซัง และ อองรี ฟาร์มัง ซึ่งเป็นผู้ผลิตเครื่องบินลำแรก ที่ชาลส์ ฟานเดนบอร์นใช้บินเข้ามายังกรุงเทพในปี 1911 สมัยรัชกาลที่ 6 ที่หลายคนเข้าใจผิดว่าเป็นของพี่น้องไรท์ แต่ไม่เกี่ยวข้องกันเลย
ในปี 1906 อัลแบร์โต ซานโตส-ดูมองต์ เศรษฐีน้ำตาลชาวบราซิล-ฝรั่งเศส ได้ทำการบินเป็นระยะทางกว่า 200 เมตรใกล้กับปารีส และอ้างว่าเครื่องบินของเขาต่างหากที่เป็นการบินด้วยเครื่องยนต์ครั้งแรกของโลก ไม่ใช่เครื่องบินของพี่น้องไรท์ที่ใช้แรงลมช่วย แต่ที่จริง ไรท์ได้ขึ้นบินที่โอไฮโอ ซึ่งลมสงบ เมื่อปี 1905 ได้เป็นระยะทางกว่า 40 กิโลเมตร ก่อนหน้านั้นแล้ว แต่ไม่ได้ออกข่าวทั่วไป
ยิ่งกว่านั้นในเดือนมิถุนายน 1908 เครื่องบิน June Bug ติดเครื่องยนต์ 40 แรงม้าของ เกลน เคอร์ติสส์ นักประดิษฐ์และแข่งมอเตอร์ไซค์ชาวอเมริกัน ที่ได้รับการสนับสนุนจากทั้งอเลกซานเดอร์ เกรแฮม เบลล์ (ผู้คิดค้นโทรศัพท์) และเฮนรี ฟอร์ด ได้ทำการบินในที่สาธารณะไกลกว่า 1 กิโลเมตรได้สำเร็จเป็นครั้งแรก
เครื่องบิน Curtiss Jenny (JN-4D) ปี 1915 ที่ใช้เอเลอรอนควบคุมการโคลง
เครื่องบินของเคอร์ติสส์ควบคุมการโคลง ด้วยปีกเล็กแก้เอียง หรือเอเลอรอน (aileron) ซึ่งดีกว่าแบบบิดเบนปีกของไรท์ และกลายเป็นมาตรฐานการควบคุมเครื่องบินในปัจจุบัน
พี่น้องไรท์จึงตัดสินใจเปิดตัวเครื่องบินของเขาต่อสาธารณะเป็นครั้งแรกในเดือนสิงหาคม 1908 ที่กรุงปารีส ฝรั่งเศส โดยมีน้องสาว แคเทอรีน ซึ่งพูดฝรั่งเศสได้ ไปเป็นล่ามและขึ้นบินโชว์ด้วย โลกจึงได้รู้จักว่า Wright Flyer 1 หรือที่นิยมเรียกว่า “คิตตี ฮอว์ค” เป็นเครื่องบินลำแรกของโลกจากงานนี้นั่นเอง
แต่แล้ว ขณะที่เส้นทางธุรกิจดูจะไปได้ดี หายนะก็เกิดขึ้น ระหว่างการทดสอบเครื่องบินที่จะขายให้รัฐบาลที่ฐานทัพใกล้กับวอชิงตัน ดีซี ในเดือนกันยายนปี 1908 นั้น เครื่องบินซึ่งยังใช้ระบบ wing warping แบบเดิม ที่ออร์วิล ไรท์ ขึ้นบินกับนายทหารตัวแทนจากกองทัพ เกิดขัดข้องตกสู่พื้น ออร์วิล รอดมาได้อย่างเหลือเชื่อ แต่นายทหารที่ไปด้วยไม่รอด อุบัติเหตุเครื่องบินครั้งแรกของโลกคราวนั้นทำให้ชื่อเสียงของไรท์ต้องมัวหมอง
อย่างไรก็ตาม ผลงานแสดงการบินที่สร้างชื่อไว้ในฝรั่งเศส ทำให้ไรท์ได้รับการยอมรับในอเมริกา ได้เข้าพบประธานาธิบดีแทฟท์ ที่ทำเนียบขาวในปี 1909 และเตรียมเปิดโรงงานเครื่องบินเพื่อขายให้กับกองทัพ โดยเงินลงทุนของเจพีมอร์แกน และครอบครัวมหาเศรษฐีแวนเดอร์บิลท์ ซึ่งเป็นญาติห่างๆของไรท์ ขณะนั้นสิทธิบัตรการควบคุมเครื่องบินของพวกเขาได้รับการจดทะเบียนแล้วในปี 1906
วิลเบอร์ ไรท์, ประธานาธิบดีวิลเลียม แทฟต์, ออร์วิล ไรท์ และน้องสาวแคเทอรีน ที่ทำเนียบขาว
สงครามสิทธิบัตรเครื่องบิน กับการที่สหรัฐไม่มีเครื่องบินรบใช้ในสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง
แม้จะสร้างเครื่องบินได้สำเร็จเป็นคนแรก แต่ด้วยความไม่ชำนาญทางธุรกิจ ทำให้เครื่องบินของไรท์ล้าหลังกว่าคู่แข่งที่เริ่มต้นทีหลังอย่างเห็นได้ชัด ผู้ผลิตอื่นๆล้วนหันไปใช้ เอเลอรอน แทนการบิดเบนปีกกันหมดแล้ว แต่ไรท์ยังยึดติดกับ wing warping ที่ตนเองคิดขึ้น ซึ่งนอกจากทำให้โครงสร้างอ่อนแอแล้ว การควบคุมก็ยุ่งยากกว่าด้วย
เครื่องบินของไรท์ ควบคุมด้วยคันโยก 3 ก้านแบบดั้งเดิมทั้งที่มีมือเพียงสองข้าง ส่วนเคอร์ติสได้ออกแบบใหม่เป็นล้อพวงมาลัยชิ้นเดียว ใช้ร่วมกับสายเคเบิลที่โยงเข้ากับตัวเสื้อนักบิน ขณะที่ก้านโยกของเบลริโอต์ ใช้ควบคุมหางเสือได้ด้วยคล้ายกับคันบังคับของเครื่องบินรบในปัจจุบัน
ในยุคแรกนั้นซึ่งยังไม่มีมาตรฐานการออกแบบ แต่ละแบรนด์มีวิธีการขับเฉพาะตัวของใครของมัน เครื่องบินของไรท์นับว่าใช้งานยากที่สุด
Wright Flyer รุ่นปี 1909 ยังคงใช้ wing warping และไม่ได้พัฒนาจากเดิมเท่าใดนัก
เครื่องบินของไรท์ยิ่งดูล้าสมัยขึ้นไปอีกเมื่อลอว์เรนซ์ สเปอรี คิดค้นระบบออโตไพล็อตทำงานด้วยไจโรสโคปขึ้นได้สำเร็จในปี 1914
ในปี 1909 บริษัทของไรท์กล่าวหาบริษัทเครื่องบินของเคอร์ติสส์ ว่าละเมิดสิทธิบัตรของตน ขอให้จ่ายค่ารอยัลตีมหาโหด 20% จากราคาเครื่องบิน ซึ่งย่อมถูกปฏิเสธ ไรท์จึงยื่นฟ้องบริษัทของเคอร์ติสส์หลายคดี ในศาลสหรัฐ โดยตีความว่าสิทธิบัตร US 821,393 นั้นได้ครอบคลุม เอเลอรอน ไว้ด้วยแล้ว แม้ว่าเครื่องบินของไรท์จะยังไม่เคยใช้ เอเลอรอนเองเลยก็ตาม ฝ่ายเคอร์ติสส์ก็ฟ้องกลับอีกหลายคดีเช่นกัน
ศาลได้ตัดสินในปี 1914 ให้ไรท์ชนะทุกคดี ทั้งนี้คดีละเมิดสิทธิบัตรไม่ได้ไปดูว่าตัวผลิตภัณฑ์ของเจ้าของสิทธิบัตรเป็นอย่างไร แต่ดูจากข้อความข้อถือสิทธิ (claims) ในสิทธิบัตรที่กำหนดขอบเขตความคุ้มครองเอาไว้
ซึ่งเอเลอรอนในเครื่องบินของเคอร์ติสส์ ทำหน้าที่เดียวกับ wing warping คือการปรับมุมปะทะของปีกโดยการหมุนรอบแกนตามขวางเช่นเดียวกัน แม้จะเป็นปีกเล็กที่แยกออกมาก็ตาม ถือว่าเป็นสาระสำคัญที่สิทธิบัตรครอบคลุมไว้แล้ว เคอร์ติสส์จึงเป็นฝ่ายละเมิดสิทธิบัตรต้องจ่ายเงินชดเชยก้อนโตให้กับบริษัทไรท์
วิลเบอร์ ไรท์ บินใกล้เทพีแห่งเสรีภาพที่นิวยอร์คในปี 1909 นำเรือแคนูติดไปด้วย เผื่อต้องลงจอดในน้ำ
ออร์วิลล์ ไรท์ขายหุ้นในบริษัททั้งหมดในปี 1915 และได้ควบรวมกับบริษัทเครื่องบินมาร์ติน ส่วนวิลเบอร์นั้นอายุสั้นไม่ได้อยู่จนเห็นการตัดสิน บริษัทไรท์-มาร์ตินมีรายได้จากการเรียกเก็บค่ารอยัลตีสิทธิบัตรเป็นหลัก แต่ขายเครื่องบินของตัวเองไปได้เพียงร้อยกว่าลำซึ่งน้อยมาก เมื่อเทียบกับเครื่องบินของบริษัทอื่นๆ โดยเฉพาะเคอร์ติสส์ ที่ขาย Curtiss Jenny เพียงรุ่นเดียวได้เกือบเจ็ดพันลำ ส่วนใหญ่นำไปใช้ในงานไปรษณีย์
คดีสิทธิบัตรของไรท์ ซึ่งมีความไม่ชอบมาพากลหลายอย่าง สร้างความงุนงงให้กับอุตสาหกรรมการบินในอเมริกายุคนั้นอย่างมาก ผู้ผลิตรายใหม่ๆหยุดชะงักการลงทุน เพราะกลัวจะไปละเมิดสิทธิบัตรของผู้อื่น ทั้งไรท์,เคอร์ติสส์ และนักพัฒนาเครื่องบินอื่นๆซึ่งมีสิทธิบัตรของตัวเอง ก็เอาอย่างเรียกร้องค่ารอยัลตีจากผู้ผลิตอื่นบ้าง เกิดเป็นสงครามสิทธิบัตรที่ฟ้องกันไปมาระหว่างหลายบริษัท
การพัฒนาเครื่องบินของอเมริกาสมัยนั้นล้าหลังกว่าในยุโรป ทั้งฝรั่งเศส, อังกฤษ, เยอรมัน หรือแม้แต่รัสเซีย ที่สิทธิบัตรไม่ครอบคลุมไปถึง ก็ยังล้ำหน้ากว่ามาก
จนกระทั่งสหรัฐอเมริกาเข้าร่วมรบสงครามโลกครั้งที่ 1 ในเดือนเมษายน ปี 1917 เกือบจะไม่มีเครื่องบินรบใช้ ต้องส่งนักบินไปขับเครื่องบินรบของอังกฤษและฝรั่งเศสแทนในยุโรป แม้แต่รุ่นยอดนิยมอย่าง Curtiss Jenny ก็ใช้เป็นเครื่องฝึกนักบินเท่านั้น มีสมรรถนะไม่พอที่จะทำการรบได้
คงยากจะเชื่อว่าเครื่องบินรบลำแรกๆ ในกองทัพสหรัฐ ต้นกำเนิดการบิน กลับผลิตในฝรั่งเศส อย่างเช่น Nieuport 28 ลำนี้
รัฐบาลสหรัฐจึงขอให้บริษัทผู้ผลิตเครื่องบินต่างๆในประเทศ สร้างระบบ “สิทธิบัตรรวมหมู่” หรือ patent pool เพื่อแลกเปลี่ยนสิทธิระหว่างกัน โดยคิดค่ารอยัลตีเพียง 1% แทน จึงตกลงกันได้ แต่สงครามโลกก็ยุติลงเสียก่อนที่จะได้เห็นเครื่องบินรบอเมริกัน
เมื่อเข้าสู่ทศวรรษ 1920 กลายเป็นยุคทองของการบิน สิทธิบัตรเครื่องบินของไรท์หมดอายุลง (สมัยนั้นอายุสิทธิบัตรคือ 17 ปี) มีบริษัทผลิตเครื่องบินเกิดขึ้นมากมาย Boeing และ Lockheed ก็ก่อตั้งขึ้นในช่วงนี้ แต่บริษัทของไรท์หลุดจากวงการธุรกิจเครื่องบินไปแล้ว และหันไปเน้นผลิตเครื่องยนต์แทน เครื่องบินสปิริตออฟเซนต์ลุยส์ ที่ชาลส์ ลินด์เบิร์ก ใช้บินข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกได้เป็นคนแรก ก็ใช้เครื่องยนต์ 200 แรงม้าของบริษัทไรท์
ต่อมาบริษัททั้งสองที่เคยเป็นคู่ปรับเก่า คือไรท์และเคอร์ติสส์ ก็ได้ควบรวมกันเป็น Curtiss-Wright ในปี 1929 ปัจจุบันเป็นกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของ Lockheed-Martin นั่นเอง
ผลงานออกแบบของเล่นของ ออร์วิล ไรท์ในวัย 50
ในบั้นปลาย ออร์วิล ไรท์ ได้ไปเป็นกรรมการที่ปรึกษาการบินแห่งชาติ หรือ NACA ซึ่งเป็นต้นกำเนิดขององค์การ NASA ในปัจจุบัน ถึงแม้จะไม่มีผลงานด้านการบินอีก แต่เขาได้ออกแบบของเล่น “Flips and Flops” ทำออกขายและได้รับสิทธิบัตรในปี 1925 ด้วย ออร์วิลขึ้นบินกับ Lockheed Constellation เป็นครั้งสุดท้ายในปี 1944 เขากล่าวว่าช่วงปีกของเครื่องบิน 38.5 เมตร นั้นยาวกว่าระยะทางการบินครั้งแรกของเขาอีก
ในปี 2021 ยานบินปีกหมุน ingenuity ขององค์การนาซา ที่ถูกส่งไปปฏิบัติการเป็นอากาศยานลำแรกบนดาวอังคาร ได้นำเศษผ้าใบชิ้นเล็กๆจากปีกเครื่องบินลำแรก Wright Flyer 1 ติดไปด้วย โดยซ่อนไว้ที่สายไฟของแผงโซลาร์ เพื่อเป็นการรำลึกถึงคุณูปการของพี่น้องตระกูลไรท์ ขณะนี้ก็ยังอยู่บนดาวอังคาร
ภายในระยะเวลา 120 ปี เครื่องบินเจ็ทได้กลายมาเป็นยานพาหนะในชีวิตประจำวัน ที่ขนส่งสินค้าและผู้คนนับพันล้านคนในแต่ละปี ซึ่งล้วนมีที่มาย้อนไปได้ถึงจุดกำเนิดเล็กๆ ของเครื่องบินปีกสองชั้นทำด้วยไม้หุ้มผ้า ขับดันด้วยใบพัดไม้หนึ่งคู่ เที่ยวบินแรกบนหาดทรายริมทะเล ที่มีนักบินหนึ่งคน ชื่อออร์วิล ไรท์ ช่างจักรยานที่เรียนไม่จบมัธยม แต่ได้เปลี่ยนหน้าประวัติศาสตร์โลกไปชั่วนิรันดร์
อนุสรณ์สถานแห่งชาติพี่น้องตระกูลไรท์ ที่เนิน kill devils หรือ kitty hawk เดิม รัฐนอร์ท แคโรไลนา
Herbert A. Johnson, The Wright Patent Wars and Early American Aviation, 69 J. Air L. & Com. 21 (2004)
โฆษณา