7 ม.ค. เวลา 14:00 • ไลฟ์สไตล์

ถอด 6 บทเรียนชีวิตผ่านอเมริกันฟุตบอล

อเมริกันฟุตบอลเป็นหนึ่งในกีฬายอดนิยมของสหรัฐฯ เป็นเกมที่ส่งลูกบอลด้วยการใช้มือที่คนอเมริกันเรียกว่า “ฟุตบอล” ต่างจากฟุตบอลที่ใช้เท้าเตะที่คนไทยและทั่วโลกรู้จัก ซึ่งคนอเมริกันจะเรียกเกมนี้ว่า ซอคเกอร์ (soccer)
รูปแบบของอเมริกันฟุตบอลที่ได้รับความนิยมมากที่สุดคือระดับอาชีพ(NFL) กับระดับมหาวิทยาลัย(NCAA) เป็นเกมที่มีผู้เล่นทีมละ 11 คน เวลาในการแข่งขันจะแบ่งเป็น 2 ครึ่ง แต่ละครึ่งแบ่งออกเป็น 2 ควอเตอร์ (quarter) แต่ละควอเตอร์มี 15 นาที รวมเป็น 60 นาที มีเวลาพักครึ่งระหว่างควอเตอร์ที่ 2 และควอเตอร์ที่ 3 เป็นเวลา 20 นาทีสำหรับ NFL หรือ 12 นาทีสำหรับระดับ NCAA
หลักการดูอเมริกันฟุตบอลอย่างหยาบๆ คือ แบ่งเป็นทีมรับกับทีมรุกที่ผลัดกันเล่น ฝ่ายครองบอลคือฝ่ายรุกจะนำทีมโดยควอเตอร์แบ็คที่ต้องนำบอลขึ้นหน้าไปให้ไกลเกิน 10 หลาภายในหนึ่งซีรีย์หรือการรุก 4 ครั้งเพื่อจะได้เล่นต่อ ถ้าสามารถนำบอลไปสุดแดนฝ่ายตรงข้ามได้ที่เรียกว่า เอนด์โซน (endzone) ก็จะแต้มคะแนนเรียกว่า ทัชดาวน์ (touchdown) จากนั้นก็เปลี่ยนฝ่ายเล่น แต่ถ้าเคลื่อนลูกได้ไม่ถึง10หลาในสี่ครั้งนั้นก็เปลี่ยนฝ่ายรุก หรือถ้าฝ่ายรุกเสียการครองลูกในระหว่างการเล่นสี่ครั้งนั้นก็ให้เปลี่ยนทีมรุก
โดยส่วนตัวชอบดูระดับมหาวิทยาลัยมากกว่า เพราะเป็นเหมือนเวทีพัฒนานักฟุตบอลมือสมัครเล่นที่ได้รับทุน ที่ผู้เล่นยังมีพื้นที่ในการเรียนรู้จากข้อผิดพลาด เป็นโอกาสได้ค้นหาตัวเองและฝึกปรือจนมั่นใจว่ามีภาวะทางร่างกายและจิตใจได้เติบโตเต็มที่ รวมถึงทักษะจำเป็นต่างๆเพื่อให้พร้อมกับการเล่นในระดับอาชีพ จึงทำให้เกมระดับมหาวิทยาลัยดูสนุกกว่าระดับอาชีพ
ในระหว่างนี้ ถ้านักฟุตบอลที่ต้องการหาโอกาสใหม่ ๆ ให้ตัวเอง ก็สามารถโอนย้ายโดยแจ้งกับมหาวิทยาลัยต้นสังกัดเพื่อให้ลงชื่อในระบบ NCAA Transfer Portal (เริ่มปี 2018) มหาวิทยาลัยต่างๆก็สามารถเข้าระบบเพื่อทำการติดต่อกับนักกีฬาคนนั้นๆ จากนั้นก็ขึ้นอยู่กับนักกีฬาที่สามารถตัดสินใจจะไปกับมหาวิทยาลัยใหม่หรืออยู่มหาวิทยาลัยเดิมต่อก็ได้
แน่นอนว่ากีฬาประเภททีม ทุกตัวเล่นมีความสำคัญทั้งหมดเพราะต่างเป็นตัวขับที่เคลื่อนทีมให้ไปข้างหน้า ถ้าหนึ่งคนล้มนั่นหมายความว่าล้มทั้งทีม
แต่ตำแหน่งที่สำคัญที่เป็นหัวใจของทีมรุกคือ ตำแหน่งควอเตอร์แบ็ค ที่จะรับบอลในเกือบทุกการเล่นจากตำแหน่งเซ็นเตอร์ (center) และมี Offensive Linemen* คอยปกป้องและยื้อเวลาให้ควอเตอร์แบ็คมีเวลาในการขว้างได้มากที่สุด จากนั้นควอเตอร์แบ็คจะส่งหรือโยนบอลต่อให้กับรันนิ่งแบค (running back) หรือขว้างให้กับตำแหน่งที่มีสิทธิ์รับบอลได้หรืออาจพาบอลวิ่งไปเองก็ได้
(*ไลน์แมนทั้งห้าคน มีสามตำแหน่ง คือ 1 center, 2 guard, และ 2 tackle จึงเป็นผู้เล่นที่ตัวใหญ่ทั้งในด้านส่วนสูงและน้ำหนัก เพราะสามตำแหน่งนี้จะใช้ความแข็งแกร่งในการปะทะเพื่อปกป้องควอเตอร์แบ็คมากกว่าใช้ความเร็วในการวิ่ง)
ควอเตอร์แบ็คจึงเปรียบได้กับแม่ทัพของทีมรุกที่ต้องมีความแม่นยำในการส่งลูกไปยังตำแหน่งที่มีสิทธิ์รับลูกได้ (eligible receivers) รวมถึงควบคุมจังหวะการเล่นของทีมและเข้าใจแต่ละแผนการเล่นเป็นอย่างดี มีความว่องไวในการสังเกตทีมรับ จึงต้องมีทักษะในการอ่านเกมและตัดสินใจตอบโต้ได้อย่างรวดเร็ว
แม้ว่าจะมีความเข้าใจในเกมอเมริกันฟุตบอลเพียงน้อยนิดแต่ค่อนข้างจะหลงใหลในการดูเกมแข่ง เพราะนอกจากจะได้ความสนุกแล้วยังได้สาระด้วย
2
บางครั้งผู้บรรยายจะบอกเล่าเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเกี่ยวกับเกมหรือกระทั่งตัวผู้เล่นในทีมที่สะท้อนให้เห็นอะไรหลายๆอย่าง ที่สามารถนำมาปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้อีกต่างหาก โดยเฉพาะในระหว่างเกมกับโอกาสในการรุกสี่ครั้งในหนึ่งซีรี่ย์เพื่อนำลูกไปให้ได้เกินสิบหลา และหลังจบเกมการแข่งขันยังมีบทเรียนสำคัญที่ชวนให้ย้อนมองชีวิต ดังนี้
● บทเรียนระหว่างเกม
1. โอกาสกับความสำเร็จ
โอกาสไม่เคยหยุดรอใคร แต่หนึ่งโอกาสที่เสียไปย่อมมีโอกาสใหม่ ๆ ผ่านเข้ามาเสมอ แม้ว่าครั้งนี้ล้มเหลว ยังมีโอกาสหรือความสําเร็จอื่นที่รออยู่ข้างหน้า ความมุ่งมั่นช่วยให้ประสบความสำเร็จ และความสำเร็จเองก็ต้องผ่านการล้มเหลวมานับครั้งไม่ถ้วน
ต้องฝึกปรับตัว เรียนรู้และพัฒนาตัวเองเสมอๆ นอกจากประสบการณ์จะงอกเงย ความรู้ทักษะก็จะงอกงามช่วยเพิ่มโอกาสในอาชีพการงานให้กับตัวเอง รวมถึงความพร้อมกับการกล้าตัดสินใจ กล้าที่จะเปลี่ยนบางอย่างเพื่อนําไปสู่สิ่งที่ดีกว่าด้วยความมั่นใจด้วยประสบการณ์และทักษะที่สะสมมา
2. อุปสรรคระหว่างเกม
แม้แต่ทีมที่ประสบความสำเร็จก็ต้องได้เจอกับความล้มเหลวหรือพ่ายแพ้ที่จะเกิดขึ้นสักวัน ไม่ใช่ทุกเกมจะเป็นเกมดี ไม่มีปัญหา อุปสรรคต้องมีให้แก้ไขหรือปรับปรุง ในขณะที่ต้องพาทีมก้าวไปข้างหน้าพร้อมๆกับเรียนรู้ที่จะเลี่ยงข้อผิดพลาดที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
เมื่อพบอุปสรรคหรือปัญหา ความกดดันหรือความท้าทายต่างล้วนเป็นโอกาสให้เราแกร่งขึ้น ที่จะช่วยเติมความเชื่อมั่นในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าโดยไม่ได้ตระเตรียม การฝึกใจให้แข็งแกร่งจะช่วยให้ผ่านเรื่องราวต่างๆไปได้และเอาตัวรอดได้ในทุกๆความยากลำบาก
 
ในทุกวันที่ชีวิตยังต้องดำเนิน เราอาจมีวันที่แย่ๆ ปะปนอยู่ด้วยเสมอ มีหลายสิ่งอย่างที่เราต้องเรียนรู้และลงมือทำ หยุดด้อยค่าตัวเองหรือฝึกมีอคติกับตัวเองให้น้อยลง เพื่อให้พร้อมรับและเต็มใจที่จะเปลี่ยนวิธีคิดเกี่ยวกับทุกสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไป
3. ฟื้นตัวให้เร็วจากการสูญเสีย
ถ้าไม่สามารถเดินหน้าจากความผิดพลาดจากโอกาสครั้งเก่าได้ ก็จะส่งผลกระทบถึงโอกาสใหม่ที่เข้ามาด้วยเช่นกัน
“ล้ม(ต้อง)แล้วลุก(ให้ได้)” เป็นเรื่องที่พูดง่ายแต่ทำยาก แต่ก็ไม่ยากเกินไปถ้าคิดจะลงมือทำ ความผิดพลาดที่กระทบใจให้รู้สึกท้อแท้ เสียใจ ผิดหวัง ไม่ใช่เป็นเรื่องของความอ่อนแอแต่หมายถึงการอนุญาตให้ตัวเองล้มและผิดหวังได้ เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยฝึกใจให้แข็งแกร่ง
บอกเตือนตัวเองเสมอๆว่า เราทุกคนทำผิดพลาดได้ หลายสิ่งอย่างอาจจะไม่เป็นไปตามแผนที่วางไว้ แต่ให้เรียนรู้จากสิ่งที่เกิดขึ้น อย่างน้อยถ้าเราคิดแบบนี้ได้ก็จะช่วยให้เราก้าวไปในทิศทางที่ดีขึ้น เพราะความบากบั่นจะช่วยให้เราเข้าใจและยอมรับความผิดหวังที่เกิดขึ้นได้
ในชีวิตไม่ใช่เรื่องที่ต้องมาวัดว่าใครเก่งกว่าใคร แต่วัดที่ว่าใครล้มแล้วลุกได้เร็วและเดินได้ต่อไปอย่างมั่นคงมากกว่า ถ้าแพ้แล้วไม่ลุก เราก็จะจมปลักและหยุดอยู่ตรงนั้น อย่างน้อยการได้ฟื้นตัวกลับมาอยู่ในสถานะที่เคยเป็น เพื่อให้พร้อมก้าวไปข้างหน้าต่อไป
4. ยอมรับว่าทุกสิ่งเปลี่ยนแปลงได้เสมอและตลอดเวลา
ทุกตำแหน่งในทีมสามารถเปลี่ยนตัวเล่นได้ ไม่ว่าจะเป็นระหว่างเกมเพราะได้รับบาดเจ็บจนต้องเปลี่ยนตัวอย่างกะทันหัน หรือมีการย้ายมหาวิทยาลัยหลังจากจบฤดูกาลการแข่งขัน คนในทีมจึงต้องปรับตัวให้ทันเพื่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา
ดังนั้น มีสติระลึกว่าทุกสิ่งทุกอย่างตกอยู่ภายใต้กฎของธรรมชาติที่เราไม่สามารถควบคุมได้ และไม่มีอะไรคงอยู่ตลอดไป ทุกวินาทีคือการเปลี่ยนแปลง บางอย่างจึงต้องปล่อยให้เกิดขึ้นและเป็นไป ยอมรับการเปลี่ยนแปลงและลงมือทำกับสิ่งที่เรามี
ยิ่งเราคุ้นเคยกับการเปลี่ยนแปลงได้เร็วเท่าไร ก็จะพบกับความสำเร็จได้เร็วยิ่งขึ้นเท่านั้น เราจึงต้องพร้อมปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา
● บทเรียนหลังเกม
5. ชัยชนะหรือความพ่ายแพ้ไม่คงอยู่ตลอดไป
ในความเป็นจริง “ไม่มีใครชนะตลอดเวลา ไม่มีใครแพ้อยู่เสมอ” อาจมีทีมฟุตบอลไม่กี่ทีมที่ยังไม่เคยแพ้ในช่วงเริ่มฤดูกาลการแข่งขัน แต่ถึงจุด ๆ หนึ่งทีมเหล่านี้อาจพบกับความพ่ายแพ้ได้เช่นกัน
 
แน่นอนว่า ไม่มีใครชอบความพ่ายแพ้ แต่ความสำเร็จเกิดจากการที่เราเรียนจากความพ่ายแพ้ และรู้ว่าล้มแล้วต้องลุกขึ้นมาได้ต่างหาก เช่นเดียวกับชีวิต ไม่มีใครประสบความสำเร็จมาตั้งแต่เกิด แม้แต่เด็กทารกต้องล้มลุกคลุกคลานก่อนจะเดินได้
คนที่ตระหนักว่า เป็นธรรมชาติของชีวิตที่มักมีอุปสรรคเข้ามาให้เราเผชิญและแก้ไขอยู่เสมอ ก็จะมองว่าอุปสรรคคือความท้าทาย เพราะเข้าใจว่าอุปสรรคเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้และสามารถเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และเห็นทุกอุปสรรคมีจุดบกพร่องที่ให้บทเรียนที่เป็นประโยชน์ในชีวิต ก็จะเกิดความมุ่งมั่นพร้อมที่จะเปลี่ยนอุปสรรคให้เป็นความท้าทาย เปลี่ยนความท้อแท้ให้เป็นแรงบันดาลใจเพื่อผลักให้ตัวเองได้ลุกขึ้นและเดินหน้าต่อไป
6. เรียนรู้และเติบโตอยู่เสมอ
แม้ว่าเราจะเก่งอะไรมากแค่ไหน เราทุกคนต่างก็ยังมีพื้นที่ให้เรียนรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ
บางครั้ง เราอาจมองข้ามการเรียนรู้วิธีจัดการกับความสำเร็จ ซึ่งมีความสำคัญพอๆกับการเรียนรู้วิธีจัดการกับความล้มเหลว
การเปิดกว้างต่อแนวคิดใหม่ๆ ช่วยให้เราปรับปรุงตนเองทั้งในเรื่องส่วนตัวและหน้าที่การงานได้ เพราะถ้ามองว่าตัวเองเก่งแล้ว ดีแล้ว หรือมั่นใจในตัวเองมากเกินไป อาจทำให้ไม่ได้ดึงศักยภาพแท้จริงที่ตัวเองมีทั้งหมดออกมา จึงคิดว่าไม่จำเป็นต้องเรียนรู้หรือพัฒนาใดๆเพิ่มแล้ว จนกลายเป็นอุปสรรคทำให้ตกม้าตายในภายหลังได้
ส่วนคนที่ไม่เคยล้มเหลวอะไรเลย แสดงว่าไม่เคยทำอะไรใหม่ และคนที่อยู่คงเดิมหรือล้มเหลวอยู่บ่อยๆ เพราะไม่เคยเรียนรู้ แต่คนที่สำเร็จและเติบโตได้จะเรียนรู้และปรับตัวอยู่เสมอ
ความผิดพลาดไม่ใช่สิ่งที่นำมาซ้ำเติมตัวเองว่าด้อยคุณค่า และความผิดพลาดที่ผ่านๆมาไม่ใช่คำจำกัดความเป็นเรา แต่ความผิดพลาดคือบทเรียนที่จะช่วยให้เราเก่งขึ้นและแข็งแกร่งขึ้น ทั้งในด้านส่วนตัวและหน้าที่การงาน เพราะทุกคนที่ประสบความสำเร็จต้องผ่านจุดนี้ด้วยกันทั้งนั้น
ชัยชนะและความสำเร็จมากับความมั่นใจที่เป็นพลังงานดีให้กับชีวิต
 
แต่ชัยชนะไม่ใช่ทุกอย่างของชีวิต ไม่ว่าจะเก่งแค่ไหน ดีเพียงใด สุดท้ายก็อาจพ่ายแพ้ให้กับบางอย่าง เราจึงต้องพร้อมตัวเองด้วยการเรียนรู้อยู่เสมอเพราะสิ่งที่ไม่คาดเดาที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
ส่วนความพ่ายแพ้และล้มเหลวมากับความรู้สึกท้อแท้ที่อาจมาพร้อมกับความรู้สึกด้อยค่า
 
ความล้มเหลวไม่ใช่เรื่องสนุกแต่เราควรถือให้เป็นบทเรียนสำคัญให้กับตัวเอง เพราะความล้มเหลวเป็นเพียงส่วนหนึ่งของกระบวนการความสำเร็จ แต่ให้เรียนรู้วิธีจัดการกับความล้มเหลว และพัฒนาให้ตัวเองดีขึ้นอยู่เสมอๆ อะไรที่แย่ๆ ที่ไม่จำเป็นในชีวิตก็ทิ้งปล่อยไป
เราเลือกที่จะเป็นคนที่ล้มเหลวหรือคนที่ประสบความสำเร็จได้ .. อยู่ที่ตัวเรา

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา