2 ก.พ. 2024 เวลา 03:00 • สุขภาพ

5 เทคนิคปลอบประโลมตัวเองจากความวิตกกังวลที่ใช้ได้ทุกที่ทุกเวลา

หากเปรียบความวิตกกังวล ก็เหมือนกับเวลาที่คุณอยู่ข้างนอก แล้วจู่ๆ ก็มีเมฆครื้มๆ โถมเข้ามา ให้คุณวิตกกับมันว่า ฝนจะตกรึเปล่า
ณ ปัจจุบันนี้ เอ๊ะ ไม่ใช่ซิ ทุกช่วงวัยที่เราเติบโตมา เราก็มักจะมีเรื่องให้วิตกกังวลอยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่วัยเด็ก ที่คุณวิตกว่า พ่อแม่จะทะเหล่ทะไหลไปที่ไหน วัยเรียนที่กังวลว่า จะโดนสั่งการบ้านรึเปล่า วัยทำงาน ที่การได้ร่วมงานโปรเจคใหญ่กลายเป็นวิตกกังวลกับศักยภาพของตัวเอง จนถึงวัยชรา ที่เรากลัวกับชีวิตหลังเกษียณ
แน่นอนว่า ความรู้สึกนี้เกิดขึ้นกับทุกคนบนโลก รวมถึงตัวผมที่รู้สึกวิตกกังวลจากการหาไอเดียในงานเขียน มันบ่งบอกได้ว่า ทุกช่วงวัยจะต้องรู้สึกวิตกกังวลอยู่แล้ว
โดยเฉพาะวัยทำงาน นายพงษ์ศักดิ์ ธงรัตนะ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนสุขภาวะองค์กร สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ข้อมูลสายด่วนสุขภาพจิต 1323 เมื่อเดือน ม.ค. 2566 พบว่า วัยแรงงานอายุ 20-59 ปี ขอรับบริการเรื่องความเครียด วิตกกังวล ไม่มีความสุขในการทำงาน สูงอันดับ 1 กว่า 5,989 สาย จากทั้งหมด 8,009 สาย
ซึ่งวงวนความวิตกกังวล จะนำพาความเครียด อึดอัดใจ ความเศร้าโศก รวมไปถึงควบคุมร่างกายจนส่งผลเสียในการดำเนินชีวิตในแต่ละวันได้
หากไม่อยากให้ความวิตกกังวลมาเป็นอุปสรรคในชีวิตประจำวัน Inside Your Mind ขอแนะนำให้ทุกคนหาเวลาปลอบโยนให้คลายกังวลกับ 5 เทคนิคปลอบประโลมตัวเองจากความวิตกกังวลที่ใช้ได้ทุกที่ทุกเวลา จะมีอะไรบ้างนั้น ตามมาดูกันเลย
1. โถแห่งความกังวล (The Worry Jar)
เป็นวิธีการขจัดความกังวลฉบับเด็ก ที่จะช่วยให้คุณทิ้งความกังวลในหัว เริ่มจากยอมรับความคิดของตัวเอง แล้วขีดเขียนมันลงไปในกระดาษหรือเศษกระดาษ จากนั้นก็พับกระดาษแล้วใส่ลงโถแล้วปิดฝามันเอาไว้ เพื่อไม่ให้คุณกลับมานึกถึงความวิตกกังวลนั้นอีก
2. การพูดปลอบตัวเอง (Positive Affirmations)
การพูดปลอบตัวเองแบบ Positive Affirmations สามารถใช้ข้อความสั้นๆ ในการปลอบตัวเองให้มีความมั่นใจและคิดแต่สิ่งดีๆ ซึ่งมันจะพาคุณออกจากวงจรความคิดลบที่เป็นตะกอนของความวิตกกังวล ได้แก่
- ฉันคู่ควรกับความรักนี้
- ฉันต้องเชื่อมั่นในตัวเอง
- ฉันอนุญาตให้ตัวเองหยุดพักได้
- ฉันไม่ควรคิดแบบนี้
- ฉันจะทิ้งความคิดแย่ๆ นี้ไป
นี้เป็นแค่ข้อความตัวอย่างที่ใช้ปลอบประโลมตัวเอง ยังมีอีกเยอะที่คุณสามารถค้นหาได้ และย้ำว่า การพูดครั้งเดียวอาจจะไม่ได้ส่งผลอะไรกับจิตใจคุณมาก แต่หากคุณปฏิบัติซ้ำๆ และหายใจเข้าลึกๆ จิตใจของคุณก็คลายความกังวลได้
3. จดบันทึก (Journaling)
การจดบันทึกจะช่วยประมวลความคิดและความรู้สึกที่สับสนระหว่างความรู้สึกจริงๆ กับมารยาทที่ควรแสดงออก เพราะบางครั้ง การแสดงออกกิริยาท่าทางมักจะตรงข้ามกับความรู้สึกจริงๆในตัวเรา จนมันเอ่อค้างอยู่ในใจ ดังนั้นแล้ว การจดหรือเขียน จะระบายสิ่งที่เอ่อค้างในใจให้สงบสติอารมณ์ได้
แต่ถ้าหากคุณเบื่อการจดบันทึกแบบเดิมๆ ก็สามารถเปลี่ยนหัวข้อและรูปแบบในการเขียนได้ อย่างเช่น วันนี้อาจจะเขียนเป็นคำขอบคุณ บทกวี ความเรียง ใส่รูปภาพไปด้วย เป็นเรื่องราวละครมีตัวละครหลัก หรือคำแนะนำ ก็ช่วยปลอบประโลมจากความวิตกได้เหมือนกัน
4. เทคนิคกายภาพแบบ Grounding (Physical Grounding)
เป็นเทคนิคที่ใช้ในเวลาที่ความเครียดและวิตกกังวลทวีความรุนแรงขึ้น ซึ่งจะมีวิธีปฏิบัติดังต่อไปนี้
- หยิบวัตถุขึ้นมาและโฟกัสไปที่สัมผัส ว่า สิ่งนี้หนักหรือเบา อ่อนหรือแข็ง เรียบหรือหยาบ เนื้อสัมผัสเป็นอย่างไร เป็นต้น
- คุณสัมผัสสิ่งนั้นแล้วรู้สึกอย่างไร เช่น สบายหรืออึดอัด ภาคภูมิใจหรือผิดหวัง เป็นต้น
- คุณรู้สึกอย่างไร เมื่อเอามือสัมผัสน้ำ เช่น อุ่นหรือเย็น น้ำนิ่งหรือไหลแรง เป็นต้น
- ลองสูดกลิ่นที่คุณชื่นชอบ เช่น กลิ่นเสื้อผ้าที่พึ่งซัก กลิ่นดอกไม้ที่พึ่งซื้อ กลิ่นน้ำหอมที่พึ่งเปิดใช้ เป็นต้น
5. ฝึกหายใจ (Breathing Exercises)
เทคนิคที่ใกล้ตัวที่สุดและไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายสักบาท แน่นอนว่า เวลากังวลคุณไม่รู้ตัวว่า จังหวะการหายใจคุณเป็นอย่างไร ทว่า หากคุณดึงสติตัวเองมาโฟกัสที่ลมหายใจ แล้วปรับจังหวะให้หายใจเข้าลึกๆ ก็ช่วยให้คุณรู้สึกดีทั้งร่ายกายและจิตใจ
แต่ไม่ได้มีแค่หายใจเข้าหายใจออกเท่านั้น ยังมีเทคนิคฝึกหายใจให้เลือกปฏิบัติอีกมากมาย สามารถนำมาใช้ได้ตามลิงค์นี้เลย
จะว่าไปแล้ว ความวิตกกังวลอาจจะแค่หลอกให้เรามองข้ามของตัวเองเท่านั้น เมื่อคุณย้อนมองตัวเอง จะรู้ว่า ยังมีสิ่งสวยงามรอบตัวคุณอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นผู้คนที่ใกล้ชิดคุณที่พร้อมจะเปิดใจไปกับคุณ สิ่งของที่ภาคภูมิใจจากการได้ครอบครอง รวมถึงสัตว์เลี้ยงตัวน้อยๆ ละอีกมากมายที่พาคุณก้าวผ่านความวิตกกังวลไปได้เช่นกัน
ฉะนั้นแล้ว คุณควรใส่ใจตัวเองแทนใส่ใจความวิตกกังวลไม่ดีกว่าเหรอ
โฆษณา