3 พ.ค. เวลา 01:20 • ประวัติศาสตร์

“การประท้วงที่เฮย์มาร์เก็ต” ต้นกำเนิดวันแรงงาน กับนโยบายทำงาน 8 ชั่วโมง

“ระยะเวลา 8 ชั่วโมงจะต้องถูกตราไว้ในกฎหมายให้เป็นระยะเวลาทำงานของเหล่าแรงงานทั้งหลาย นับตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม ปี 1886 นี้เป็นต้นไป” นี่คือคำประกาศจากที่ประชุมของสหภาพการค้าและแรงงานแห่งสหรัฐอเมริกาและแคนาดา (Federation of Organized Trades and Labor Unions of the United States and Canada) ประกาศเอาไว้ในที่ประชุม ก่อนที่จะนำมาซึ่งการประท้วงครั้งใหญ่ของชนชั้นแรงงานในสหรัฐอเมริกา ที่จบลงด้วยการนองเลือดอีกครั้งหนึ่ง
ในปัจจุบันนี้เราอาจจะรู้กันดีว่าโดยปกติแล้ว เราจะแบ่งเวลาออกเป็น 3 ส่วนหลัก ๆ ส่วนละ 8 ชั่วโมง โดยคิดเป็นทำงาน 8 ชั่วโมง นอน 8 ชั่วโมง และทำอะไรก็ได้ที่ตนเองต้องการอีก 8 ชั่วโมง (ฟังดูเป็นอุดมคติ เพราะจริง ๆ แล้วเราแบ่งแบบเป๊ะ ๆ ขนาดนั้นไม่ได้) แต่ทว่าในอดีตนั้น เวลาทำงานต่อวันนับว่ายาวนานกว่านั้นอีกหลายชั่วโมง โดยเฉพาะกับในช่วงศตวรรษที่ 19 ที่ซึ่งอุตสาหกรรมรุ่งเรืองและแรงงานเป็นที่ต้องการจนต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำกันในระดับ 10-16 ชั่วโมงต่อวัน
เวิร์กไร้บาลานซ์นี้ได้ทำให้แรงงานจำนวนไม่น้อยปรารถนาที่จะมีเวิร์กไลฟ์บาลานซ์บ้างและนำมาสู่การต่อสู้เพื่อสิทธิแรงงานในหลาย ๆ ด้าน เวลางาน 8 ชั่วโมงเองก็เป็นหนึ่งในนั้น
ขบวนการเคลื่อนไหวทางสิทธิแรงงานอย่าง “วันละ 8 ชั่วโมง” (eight-hour day movement) ได้เข้ามามีบทบาทอย่างมากในการยกระดับคุณภาพชีวิตของแรงงาน แต่ทั้งนี้การต่อสู้ของพวกเขาเองก็ไม่ได้ง่ายดาย และต้องเผชิญหน้ากับหลายสิ่งหลายอย่าง หนึ่งในนั้นก็คือเหตุการณ์ที่เฮย์มาร์เก็ตที่เราจะหยิบมาเล่าให้อ่านกันในสัปดาห์นี้
⭐ขบวนการเคลื่อนไหว “วันละ 8 ชั่วโมง”
อันที่จริงแล้วเรื่องของการทำงานวันละ 8 ชั่วโมงนี้ไม่ใช่อะไรที่ใหม่แกะกล่องขนาดนั้น เพราะถ้าย้อนกลับไปในศตวรรษที่ 16 เมื่อครั้งที่สเปนได้เข้ามาตั้งอาณานิคมในอเมริกา โดยพระเจ้าฟิลิปเปที่ 2 ได้ทรงตราพระราชกฤษฎีกา กำหนดให้แรงงานทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวัน แบ่งเป็นเช้า 4 ชั่วโมง และบ่าย 4 ชั่วโมง โดยให้เหตุผลว่าเป็นเพื่อสุขภาพของเหล่าแรงงาน โดยสำหรับคนงานเหมืองนั้นจะได้ชั่วโมงงานอยู่ที่ 7 ชั่วโมงต่อวัน และกฎหมายนี้ใช้กับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นแรงงานสเปนหรือแรงงานชนพื้นเมืองก็ตาม
ในช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรม ชั่วโมงทำงานต่อวันก็ได้เพิ่มขึ้นมาจากปัจจัยที่ต้องการผลผลิตที่มากขึ้น โดยในพระราชบัญญัติโรงงานปี 1847 นั้น กำหนดชั่วโมงงานที่ 10 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้หญิงก็ใช้เวลาแรงงานที่ 10 ชั่วโมงเหมือนกันหมด ที่หนักหน่อยก็เป็นที่ฝรั่งเศสซึ่งกำหนดชั่วโมงเอาไว้ถึง 12 ชั่วโมงด้วยกัน
1
ชั่วโมงทำงานที่มากย่อมไม่ใช่ผลดี ดังที่คาร์ล มาร์กซ์ เคยเขียนถึงในหนังสือ “ว่าด้วยทุน” (Das Kapital) เอาไว้ว่า “การเพิ่มชั่วโมงทำงานไม่เพียงแค่เป็นการทำให้ทรัพยากรแรงงานเสื่อมสภาพเท่านั้น หากแต่ยังเป็นการเร่งความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าและความตายของทรัพยากรแรงงานไปด้วยในตัว” คุณภาพชีวิตแรงงานที่ย่ำแย่นี้ทำให้เกิดการพยายามรณรงค์ประท้วงให้ลดเวลาลงเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของแรงงาน โดยประเทศแรก ๆ ในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมที่มีเวลางาน 8 ชั่วโมงนั้นอยู่ที่อีกฟากหนึ่งของโลกอย่างที่ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์
ขบวนการเคลื่อนไหว “วันละ 8 ชั่วโมง” เป็นอะไรที่ค่อนข้างกว้าง เพราะเกิดขึ้นมาในระดับสากล ดังที่มีการยื่นเรื่องเข้าไปในที่การประชุมใหญ่ที่เจนีวาขององค์การแรงงานสากล
ซึ่งกว่าจะมีการลดเวลางานกันจริงจังก็ล่วงเข้าสู่ศตวรรษที่ 20 ไปแล้ว โดยมีเหตุการณ์สำคัญอย่างการปฏิวัติรัสเซียเป็นตัวอย่างว่าถ้าหากแรงงานพร้อมใจกันที่จะปฏิวัติขึ้นมามันจะส่งผลต่อโลกประชาธิปไตยทุนนิยมอย่างไร อีกทั้งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 ก็มีการเร่งอุตสาหกรรมการผลิตขนาดใหญ่ซึ่งก็ทำให้นักอุตสาหกรรมเห็นผลกระทบของเวลางานที่มากเกินไป ทำให้ข้อเรียกร้อง 8 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ได้รับการยอมรับและกำหนดใช้เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน
⭐บรรยากาศแรงงานอเมริกันก่อนเฮย์มาร์เก็ต
ในช่วงเวลาก่อนที่เวลางาน 8 ชั่วโมงจะเห็นผลนั้น ก็นับว่ามีเหตุการณ์ประท้วงหลากหลายเหตุการณ์ในหลากหลายประเทศ อย่างเช่นที่อเมริกาเองก็มีการประท้วงหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการขึ้นค่าแรง ไปจนถึงเรื่องของเวลาทำงาน
ในกรณีของขบวนการเคลื่อนไหว 8 ชั่วโมงต่อสัปดาห์นี้ มีศูนย์กลางการเรียกร้องหลักอยู่ที่ชิคาโก ซึ่งเป็นเมืองอุตสาหกรรมหลักหลังสงครามกลางเมืองและดำเนินมาตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 1860s ซึ่งก็มีการตรากฎหมายขึ้นมาจริง ๆ ทว่ามันกลับมีช่องโหว่และไม่มีประสิทธิภาพมากพอที่จะให้โรงงานทำตาม แถมยังมีการบอกด้วยว่าเวลางานลดลงก็ต้องตัดเงินตามเวลาที่หายไปซึ่งทำให้แรงงานไม่พอใจ และดำเนินการต่อสู้เพื่อเวลางาน 8 ชั่วโมงโดยไม่หักเงินให้เกิดขึ้นจริง
ในช่วงเวลาที่เศรษฐกิจซบเซาระหว่างปี 1882 - 1886 นำมาซึ่งการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรมเพื่อหวังที่จะกอบกู้วิกฤตทางเศรษฐกิจ พอใช้แรงงานหนัก ก็ทำให้เกิดการรวมกลุ่มของแรงงานเพื่อสิทธิของแรงงานขึ้นมา เช่นกลุ่มอัศวินแรงงาน (Knights of Labor) ที่มีสมาชิกกว่า 700,000 คน ซึ่งกลุ่มนี้เป็นสายประท้วงสันติ ผิดกับอีกกลุ่มหนึ่งอย่างกลุ่มอนาธิปไตย ซึ่งก็แยกออกไปหลายกลุ่ม และบางกลุ่มก็เป็น “กองกำลังติดอาวุธ” ด้วยโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปฏิวัติล้มทุนนิยมและสถาปนาเศรษฐกิจสังคมนิยมขึ้นมา
⭐เฮย์มาร์เก็ต: ประท้วงอย่างสันติ หรือก่อการร้ายอนาธิปไตย?
หลังการประกาศกร้าวถึงการบัญญัติเรื่องเวลาทำงาน 8 ชั่วโมง ทำให้ในวันที่ 1 พฤษภาคม ปี 1886 ซึ่งเป็นวันที่ได้กำหนดหมุดหมายไว้ในแถลงการณ์ของที่ประชุมของสหภาพการค้าและแรงงานฯ ก็ได้เกิดการเดินขบวนหยุดงานประท้วง และตั้งเวทีปราศรัย ซึ่งนี่ไม่ได้เิดแค่ในชิคาโก หากแต่เป็นการประท้วงทั่วทั้งสหรัฐอเมริกา ซึ่งมีการประมาณการจำนวนผู้ประท้วงที่ราว ๆ 3 แสน ถึง 5 แสนคน โดยเฉพาะในชิคาโกมีผู้ประท้วงอยู่ที่ราว ๆ 3 หมื่นคนโดยประมาณ
การประท้วงดำเนินการต่อเนื่องตั้งแต่วันที่ 1 จนถึงวันที่ 3 ซึ่งการประท้วงนี้ทางฝ่ายแรงงานได้ดำเนินการไปอย่างสันติ ปราศจากความรุนแรง ทว่าในวันที่ 3 นี้ ก็ได้มีตำรวจเข้ามาปราบจราจลด้วยอาวุธปืน ส่งผลให้ฝ่ายแรงงานเสียชีวิต 2 คน ความรุนแรงในการปราบปรามของตำรวจนี้ ทำให้ฝ่ายอนาธิปไตยไม่พอใจ จึงไปรวบรวมพรรคพวกเพื่ออกมาประท้วงที่เฮย์มาร์เก็ตในวันถัดมา
การชุมนุมที่เฮย์มาร์เก็ตเกิดขึ้นในวันที่ 4 ของการประท้วง ในวันนี้เต็มไปด้วยการกล่าวปราศรัยของฝ่ายแรงงานที่นำโดยบุคคสำคัญในแวดวงหลายคน เหตุการณ์ดำเนินไปอย่างสงบ จนกระทั่งเวลาสี่ทุ่มครึ่งหลังจากที่ผู้นำคนสุดท้ายกล่าวปราศรัยจบ เหล่าตำรวจก็เดินหน้าเข้ามาประกาศสั่งให้ยุติการชุมนุมทันที
ซึ่งนั่นเองที่ทำให้เหตุการณ์ในครั้งนี้กลายเป็นการประท้วงที่นองเลือด เพราะมีระเบิดไดนาไมต์ปริศนาขว้างเข้ามายังกลุ่มตำรวจ ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต และนำสู่การเปิดฉากยิงแลกกระสุนกันระหว่างฝ่ายผู้ประท้วงที่เป็นกลุ่มอนาธิปไตยกับตำรวจ ไม่กี่นาทีต่อมาผู้คนก็หนีออกไปจากเฮย์มาร์เก็ตกันหมดหลงเหลือ็เพียงผู้บาดเจ็บและผู้เสียชีวิต
ความสูญเสียที่เกิดขึ้นนี้ทำให้คนงานจำนวนไม่น้อยเกรงกลัวที่จะออกไปชุมนุมอีก และกลับไปยอมทนทำงาน 10 ชั่วโมงต่อวันเหมือนเดิม เกิดการกวาดล้างและประหารผู้นำกลุ่มอนาธิปไตยไป การประท้วงเรียกร้องเวลางาน 8 วันต่อสัปดาห์หยุดชะงักลงไปตั้งแต่นี้
เหตุการณ์ดังกล่าวเป็นที่ประณามอย่างกว้างขวางถึงการกระทำของตำรวจหลังจากนั้น ซึ่งกลุ่มผู้นำอนาธิปไตยที่ถูกจับ 8 คนนั้น ปรากฎกายที่เฮย์มาร์เก็ตแค่ 2 คนเท่านั้นเอง อีกทั้งบางกลุ่มยังมองว่านี่เป็นการจัดฉากของเหล่่าเจ้าของโรงงานที่จ้างให้คนแฝงตัวเข้าไปก่อความไม่สงบและโยนความผิดให้ผู้ประท้วง
⭐กำเนิดวันแรงงาน
หลังเหตุการณ์ที่เฮย์มาร์เก็ต ในช่วงเวลาต่อมาก็ได้มีการพยายามที่จะขอเวลาทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวันอีกหลายครั้ง ซึ่งก็มีการพยายามเรื่อยมาต่อเนื่องหลายปี โดยประธานของสหภาพแรงานอเมริกันก็ได้หารือและมีความคิดที่จะหยุดงานประท้วงเอาเวลางาน 8 ชั่วโมงในวันที่ 1 พฤษภาคมปี 1890 ซึ่งก็ได้เอาเรื่องนี้เข้าไปในที่ประชุมใหญ่เจนีวาขององค์การแรงงานสากลครั้งที่ 2 ในปี 1889
ทางที่ประชุมใหญ่ก็ได้ลงความเห็นว่า นี่ควรจะให้เป็นวันเดินขบวนเรียกร้องครั้งใหญ่ในระดับนานาชาติ ตลอดจนมองว่าที่เลือกวันนี้ก็เพื่อเป็นการรำลึกถึงเหตุการณ์การต่อสู้เพื่อเวลาทำงาน 8 ชั่วโมงครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์ที่เต็มไปด้วยความสูญเสีย ด้วยในอีกทางหนึ่ง
และนั่นเองที่ทำให้เกิดวันแรงงานสากลขึ้นมาจนถึงปัจจุบัน วันแรงงานจึงไม่ใช่วันหยุดธรรมดา หากแต่เป็นวันหยุดที่เกิดขึ้นเพื่อเป็นการหยุดงานประท้วงและเรียกร้องถึงคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของชนชั้นแรงงานด้วย
เรื่อง : ณัฐรุจา งาตา
ภาพประกอบ : บริษัท ก่อการดี จำกัด
════════════════
Bnomics - Bangkok Bank Economics
'Be an Economist for Everyone'
วิเคราะห์ เจาะทุกประเด็นเศรษฐกิจ ให้เป็นเรื่องง่ายสำหรับคุณ
════════════════
#ประวัติศาสตร์ #วันแรงงาน #แรงงาน #อุตสาหกรรม #เศรษฐกิจ #การเมือง #Bnomics #BBL #BangkokBank #ธนาคารกรุงเทพ
อ้างอิง:
Cervera, César. La jornada de ocho horas: ¿un invento «sindicalista» del Rey Felipe II?. https://www.abc.es/historia/abci-jornada-ocho-horas-invento-sindicalista-felipe-201905080106_noticia.html
Marx, Karl. Capital Volume One, Chapter Ten: The Working-Day. https://www.marxists.org/archive/marx/works/1867-c1/ch10.htm
Foner, Philip Sheldon. May day : a short history of the international workers' holiday, 1886-1986. https://archive.org/details/maydayshorthisto0000fone
Jentz, John B. Eight-Hour Movement. Encyclopedia of Chicago. http://www.encyclopedia.chicagohistory.org/pages/417.html
arbejdermuseet. 100th anniversary of the 8-hour workday. https://www.arbejdermuseet.dk/en/100th-anniversary-of-the-8-hour-workday/
Carr, Edward Hallett. The Russian Revolution : from Lenin to Stalin, 1917-1929. https://archive.org/details/russianrevolutio0000carr
สถาบันพระปกเกล้า. การเคลื่อนไหวของขบวนการแรงงานไทย

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา