24 พ.ค. 2019 เวลา 05:14 • ธุรกิจ
หัวเว่ย...ธุรกิจนี้เพื่อชาติ
ตอนที่ 5
1
หลังจากหัวเว่ยพัฒนาตู้สาขาโทรศัพท์ระบบดิจิตอลสำเร็จในปี 1993 แต่กลับไม่ได้รับการตอบรับจากลูกค้าเท่าไรนักแม้กระทั่งชาวจีนด้วยกันเองเพราะถูกมองว่าเป็นสินค้าด้อยคุณภาพ เนื่องจากยังไม่มีใครยอมรับและให้ความเชื่อถือสินค้าที่ผลิตจากเซินเจิ้น
เหริน เจิ้งเฟยจึงต้องพาขุนพลของหัวเว่ยไปกบดานอยู่ตามตลาดในชนบทที่บริษัทข้ามชาติเข้าไปไม่ถึง จากนั้นจึงกลับมาเปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ในงานการสื่อสารโทรคมนาคมนานาชาติปักกิ่งในปี 1994 ซึ่งเป็นผู้ผลิตสินค้าด้านเทคโนโลยีโทรคมนาคมจีนเพียงรายเดียวท่ามกลางผู้ผลิตชั้นนำจากทั่วโลก ทำให้หัวเว่ยได้รับความสนใจมากขึ้น
1
ในปีเดียวกันนี้เอง เจียงเจ๋อหมิน เลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์เดินทางมาตรวจงานที่กวางตุ้ง ทำให้ เหริน เจิ้งเฟย ได้มีโอกาสเข้าร่วมการสัมมนาในฐานะตัวแทนนักธุรกิจด้านอุตสาหกรรมไฮเทคจากเซินเจิ้น เขาแสดงวิสัยทัศน์ในที่ประชุมว่า
เทคโนโลยีตู้สาขาโทรศัพท์ระบบดิจิตอลมีความสำคัญเท่ากับความมั่นคงของชาติ ถ้าประเทศใดไม่มีเทคโนโลยีนี้เป็นของตนเอง ก็เหมือนประเทศนั้นขาดกองทัพ รัฐบาลควรให้ความสำคัญด้านนี้และทำให้ผู้ผลิตในประเทศสามารถสู้กับบริษัทข้ามชาติที่เข้ามาทำธุรกิจนี้ในจีนได้
การที่รัฐบาลให้สิทธิพิเศษทางภาษีกับบริษัทข้ามชาติ แต่บริษัทผู้ผลิตในประเทศต้องเสียภาษีเต็มจำนวน ทำให้ผู้ผลิตในประเทศไม่สามารถแข่งขันกับบริษัทต่างชาติได้ ซึ่งไม่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมการสื่อสารของชาติ
หลังจากนั้นไม่นานรัฐบาลจีนจึงยกเลิกสิทธิพิเศษทางภาษีสำหรับตู้สาขาโทรศัพท์จากต่างชาติ ทำให้ผู้ผลิตในจีนรวมถึงหัวเว่ยได้ประโยชน์เป็นอย่างมาก
ตู้สาขาโทรศัพท์ดิจิตอลรุ่น C&C08 ของหัวเว่ยซึ่งผ่านการรับรองจากภาครัฐออกสู่ตลาดและทำรายได้ถึงหนึ่งพันห้าร้อยล้านหยวน หลายคนอาจภาคภูมิใจกับความสำเร็จนี้ แต่เหรินเจิ้งเฟยกลับมองว่ามันเล็กน้อยเกินไป เมื่อเทียบกับการลงทุนหลายแสนล้านหยวนด้านการสื่อสารและโทรคมนาคมของจีน
ในปี 1995 เมื่อประธานาธิบดีไต้หวันไปเยือนอเมริกาและประกาศว่าไต้หวันจะประกาศเอกราช กองทัพจีนจึงทำการซ้อมรบใหญ่ที่ชายฝั่งทางตอนใต้เพื่อส่งสัญญาณเตือนพฤติกรรมการแบ่งแยกดินแดนของไต้หวัน
1
ตอนนี้สถานการณ์ที่ช่องแคบไต้หวันตึงเครียดมาก
ปีถัดมา ขณะไต้หวันจัดให้มีการเลือกตั้ง สหรัฐส่งเรือรบเข้าสู่ช่องแคบไต้หวันเพื่อข่มขวัญกองทัพจีนทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐและจีนตกต่ำลงเป็นอย่างมาก
และในปีนี้อีกเช่นกันญี่ปุ่นประกาศเอกราชเหนือเกาะเตียวหยู ทำให้ชาวจีนพากันประท้วงอย่างดุเดือดเพื่อพิทักษ์เกาะเตียวหยู และพวกเขารู้สึกเหมือนว่ากำลังถูกรุมล้อมจากศึกหลายด้าน
ยามนี้เลือดรักชาติของ เหริน เจิ้งเฟย ผู้ที่คิดจะทำธุรกิจเพื่อตอบแทนคุณแผ่นดิน ได้เขียนบทความเตือนสติคนหนุ่มสาวในประเทศว่า
1
ต่างชาติที่เข้ามาทำธุรกิจในจีนล้วนมาเพื่อหวังผลประโยชน์ ไม่มีใครนำความรู้มาให้อย่างแท้จริง วิธีการของต่างชาติคือนำเทคโนโลยีเข้ามาขายสุดท้ายจีนก็ได้แต่นำเข้า
ถ้าจีนยังไม่มีเทคโนโลยีหรืออุตสาหกรรมของชาติอย่างแท้จริง สุดท้ายก็จะต้องเสียเอกราชของชาติไปเหมือนในอดีต
นอกจากนั้นเหรินเจิ้งเฟยยังเตือนสติเหล่าขุนพลของหัวเว่ยที่เตรียมไปร่วมชุมนุมอีกด้วย ว่าการไปชุมนุมครั้งนี้คนญี่ปุ่นไม่เห็น แต่จะเป็นการสร้างความกดดันให้รัฐบาล การหลั่งเลือดให้ประเทศชาติเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าทุกคนยอมพลีชีพเพื่อเหตุการณ์นี้แล้วใครจะเขียนซอฟต์แวร์ ใครจะมาพัฒนาผลิตภัณฑ์
หัวเว่ยเป็นบริษัทเอกชน หน้าที่ของพวกเราคือต้องพัฒนาเทคโนโลยีให้ก้าวหน้า อ๊อกจุดเชื่อมให้แข็งแรง ขายสินค้าให้ได้มาก ๆ และช่วยกันจ่ายภาษี เพื่อให้ประเทศชาติมีเงิน ถ้าประเทศชาติมีเงินเราก็จะเป็นส่วนหนึ่งของประเทศที่ร่ำรวย
ด้วยข้อความที่ระอุด้วยเลือดรักชาตินี้ ไม่เพียงทำให้หนุ่มสาวชาวหัวเว่ยมีกำลังใจในการพัฒนาเทคโนโลยีต่อไป แต่ยังทำให้หัวเว่ยได้รับการตอบรับอย่างดียิ่งขึ้นในตลาดสื่อสารของจีน
ในปี 1999 วิสัยทัศน์ในการทำธุรกิจเพื่อชาติของ เหริน เจิ้งเฟย ก็บรรลุถึงขีดสุด เมื่อสหรัฐเรียกร้องให้จีนเปิดเสรีด้านโทรคมนาคม การเงิน และการบริการเพื่อแลกกับการเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก เหริน เจิ้งเฟย แถลงจุดยืนอย่างมั่นคงว่า...
การพัฒนาเทคโนโลยี GSM ของหัวเว่ยประสบความสำเร็จ จนทำให้ประเทศประหยัดเงินด้านการนำเข้าเทคโนโลยีจากต่างชาติหลายพันล้านดอลลาร์
การที่อเมริกาใช้อำนาจทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งไปทำลายความสามารถในการควบคุมเศรษฐกิจในประเทศ ของรัฐบาลที่อ่อนแอกว่า เป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสม
1
ความพยายามหนึ่งเดียวของชาวจีนคือทำให้ประเทศแข็งแกร่งให้เร็วที่สุดจึงจะคานอำนาจไว้ได้ นี่คือสิ่งที่ทุกคนควรทำให้กับประเทศชาติ
หลังจากนั้นไม่นาน สถานเอกอัครราชทูตจีนในยูโกสลาเวียก็ถูกระเบิด ซึ่งอเมริกาอ้างว่าเป็นการระเบิดผิดเป้า ทำให้ผู้บริหารของรัฐบาลรวมทั้งประชาชนชาวจีนพากันโกรธแค้นอย่างหนักไม่เว้นแม้แต่พนักงานของหัวเว่ย
ในการร่วมชุมนุมประท้วงต่อเหตุการณ์นี้ เหริน เจิ้งเฟย กล่าวกับพนักงานว่า
1
“สงครามคือการเมืองที่หลั่งเลือด
การเมืองคือรูปแบบสูงสุดของเศรษฐกิจ
ทุกอย่างล้วนขึ้นอยู่กับพื้นฐานทางเศรษฐกิจว่าแกร่งพอไหม
การแข่งขันของนานาชาติในอนาคตมิใช่ภาครัฐ แต่เป็นภาคธุรกิจ...ธุรกิจจะเป็นผู้แบกรับภาระอันยิ่งใหญ่ในการแข่งขันกับต่างชาติ
พวกเราต้องช่วยกันสร้างธุรกิจของชาติให้รุ่งเรือง ใช้เทคโนโลยีทำให้ชาติเข้มแข็ง
จงใช้เวลาต่อจากนี้ช่วยกันสร้างความมั่นคงให้ชาติ”
1
ในเหตุการณ์ครั้งนี้ เหริน เจิ้งเฟย และพนักงานของหัวเว่ยแสดงตนว่ายินดีร่วมทุกข์ร่วมสุขกับประเทศและพี่น้องร่วมชาติ รวมถึงบริจาคเงินสองแสนหยวนให้กับครอบครัวของเจ้าหน้าที่จีนสามรายที่เสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนี้
เพียงชั่วพริบตาความตั้งใจในการทำธุรกิจเพื่อชาติของเหรินเจิ้งเฟยก็บรรลุผล ชาวจีนทั่วประเทศต่างให้การสนับสนุนสินค้าของหัวเว่ย
ไชน่าโมบายลงนามสั่งซื้อระบบ GSM ของหัวเว่ยทันทีแปดสิบล้านหยวน และการกระทำครั้งนี้ช่วยพลิกโฉมการผูกขาดตลาดโทรศัพท์มือถือในจีนของ โมโตโรลา อีริคสัน และโนเกีย รวมถึงกลายเป็นรากฐานอันแข็งแกร่งของหัวเว่ยในการบุกตลาด GSM ในต่างประเทศอีกด้วย
1
สิ่งที่น่าสนใจคือ จีนมักปลูกฝังให้ประชาชนใส่ใจกับเรื่องใหญ่ระดับชาติ เมื่อมีปัญหาพวกเขาสามารถรวมตัวกันได้ภายในพริบตา
แต่สำหรับเหรินเจิ้งเฟยนั้นตรงกันข้าม เขาไม่ส่งเสริมให้พนักงานสนใจกับปัญหาระดับชาติ แต่ส่งเสริมให้พนักงานทำหน้าที่ของตนให้ดีที่สุดซึ่งจะทำให้ชาติเข้มแข็งตามมา
เหริน เจิ้งเฟย ทหารบ้านนอกที่ไม่มีความรู้ทางธุรกิจ ทำให้ขุนพลของหัวเว่ยกลายเป็นกองทัพนานาชาติที่เกรียงไกรได้อย่างไร ฝากติดตามเรื่องราวของ “หัวเว่ย...ธุรกิจนี้เพื่อชาติ” ในตอนต่อไปด้วยนะคะ
ตามอ่านบทความชุด “หัวเว่ย...ธุรกิจนี้เพื่อชาติ” ได้ตามลิ้งค์นี้นะคะ
1
Reference : หัวเว่ย จากมดสู่มังกร

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา