23 ส.ค. 2021 เวลา 00:40 • สุขภาพ
📌 รวมทุกข้อมูลจากงานวิจัยที่มีการตีพิมพ์ของวัคซีนทุกยี่ห้อ
งานวิจัยนี้ถูกตีพิมพ์ในวารสาร Nature Reviews Immunology เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2021 รวบรวมข้อมูลจากงานวิจัยของวัคซีนทุกยี่ห้อที่มีการตีพิมพ์ สรุปและเปรียบเทียบให้เห็นภาพง่ายขึ้น โดยการตีพิมพ์งานวิจัยที่เป็นการรีวิวแบบนี้ คณะนักวิจัยจะไม่ใช่คนทำการทดลองเอง แต่จะต้องอ่านงานวิจัยเกี่ยวกับเรื่องที่จะเขียนรีวิวเยอะมาก เพื่อที่จะเขียนรีวิวให้ครอบคลุมและละเอียดที่สุด โดยงานวิจัยที่ถูกอ้างอิงในการรีวิวครั้งนี้มีทั้งหมด 94 ฉบับ
⏩ หมายเหตุ : การรีวิวงานวิจัยคือการอ่านงานวิจัยที่ถูกตีพิมพ์ลงในวารสารวิชาการต่างๆ แล้วนำข้อมูลมาสรุปและเรียบเรียงใหม่ให้เป็นเรื่องราว ดังนั้นข้อมูลของวัคซีนในการรีวิวครั้งนี้ จึงไม่มีข้อมูลของงานวิจัยที่ยังไม่ถูกตีพิมพ์
1
เป็นเวลามากกว่า 15 เดือนแล้วตั้งแต่ที่วัคซีนโควิดได้มีการทดลองในมนุษย์ครั้งแรกเมื่อเดือนมีนาคม 2020 ซึ่งถือเป็นการร่วมมือร่วมใจของนักวิจัยทั่วโลกในการต่อสู้กับไวรัสโควิดที่มีชื่อเป็นทางการว่า SARS-CoV-2 ซึ่งก่อให้เกิดโดยตรงต่อระบบทางเดินหายใจ
1
จากข้อมูลเดือนมกราคม 2021 พบว่าขณะนี้มีวัคซีนโควิดประเภทต่างๆทั้งที่มีการใช้แล้ว และ ยังอยู่ในขั้นตอนการวิจัย มากถึง 322 ยี่ห้อ; 99 ยี่ห้อ อยู่ในขั้นตอนทดสอบระดับคลีนิค, 25 ยี่ห้อ อยู่ในขั้นตอนการทดลองเฟส 3 เพื่อหา % efficacy และอีก 18 ยี่ห้อ ได้รับอนุมัติให้มีการใช้ในกรณีฉุกเฉินเรียบร้อยแล้ว
ซึ่งในการรีวิวครั้งนี้ จะรวบรวมข้อมูลของวัคซีนที่มีการตีพิมพ์ตั้งแต่ช่วงปลายปี 2020 ถึงต้นปี 2021 ได้แก่ Pfizer, Moderna, AstraZeneca, Johnson & Johnson, Sputnik V, Sinovac, Sinopharm, Novavax และ Covaxin ซึ่งจนถึงวันที่ 14 มิถุนายน 2021 วัคซีนทุกยี่ห้อที่กล่าวมายกเว้น Novavax ได้รับการอนุมัติให้ใช้งานในมนุษย์ แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่
📌 1. สรุปข้อมูลจากงานวิจัยเฟส 3 ของวัคซีนยี่ห้อต่างๆ
https://doi.org/10.1038/s41577-021-00592-1
>> แบบภาษาไทย
**ให้แชร์ทั้งบทความถ้าอยากนำไปเผยแพร่ต่อ ไม่อนุญาตให้เซฟไปเฉพาะรูปภาพ
@EveryGreen
▪️ นอกจากข้อมูลในตาราง ยังมีวัคซีนอีกหลายยี่ห้อที่กำลังทำการทดลองเฟส 3 อยู่และคาดว่าจะมีผลการทดลองออกมาภายในปีนี้ เช่น Inovio, AnGes, ReiThera, The Chinese Academy of Medical Sciences, Shifa, Cuba เป็นต้น
▪️ ถึงอย่างไรก็ตาม ตารางนี้เป็นเพียงการรวบรวมข้อมูลเพื่อให้เห็นภาพรวมเท่านั้น เพราะวัคซีนแต่ละยี่ห้อทำการทดลองในพื้นที่ต่างกัน, ช่วงเวลาต่างกัน, ประชากรต่างกัน จึงไม่สามารถนำค่า % Efficacy มาเปรียบเทียบกันโดยตรงได้ แต่จากหลายๆงานวิจัยพบว่าวัคซีน mRNA และ วัคซีน Protein subunit กระตุ้นระดับแอนติบอดี้ได้ดีกว่าวัคซีน Viral vector และ วัคซีนเชื้อตาย
▪️ ค่า % Efficacy ของแต่ละวัคซีนที่ได้จากการทดลองเฟส 3 เป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นที่ถูกใช้ในการพิจารณาเพื่ออนุมัติการใช้งานเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น CureVac ซึ่งเป็นวัคซีน mRNA เหมือน Pfizer/Moderna แต่ผลการทดลองเฟส 3 ได้ค่า % Efficacy เพียง 47% เท่านั้น ถือว่าไม่ผ่านเกณฑ์ จึงไม่ถูกอนุมัติให้นำมาใช้งาน
▪️ ดังนั้น ค่า % Efficacy อาจไม่ได้บอกค่าประสิทธิภาพที่แท้จริง (% Effectiveness) ของวัคซีนนั้นๆ เมื่อนำไปใช้ฉีดจริงให้กับประชากร
**จากตารางข้อมูลเฟส 3 ด้านบน ทางเพจ EveryGreen เคยเขียนถึงข้อมูลเฟส 3 โดยละเอียดของวัคซีนบางยี่ห้อไว้แล้ว อ่านเพิ่มเติมได้ตามลิงค์ด้านล่าง
📌 มีหลายปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อค่า % Effectiveness หรือ ค่าประสิทธิภาพของวัคซีนที่ได้จากการฉีดจริง
อย่างที่กล่าวไปก่อนหน้า ว่าค่าประสิทธิผล (% Efficacy) ที่ได้จากการทดลองเฟส 3 ต่างกับค่าประสิทธิภาพ (% Effectiveness) ที่ได้จากการฉีดจริง ซึ่งทั้งสองค่าอาจจะมีแนวโน้มไปในทางเดียวกันหรือต่างกันก็ได้
สิ่งที่แตกต่างอย่างเห็นได้ชัดคือ กลุ่มตัวอย่างในการทดลองเฟส 3 จะมีจำนวนไม่มากเท่าประชากรในการฉีดจริง เพราะเพื่อให้ได้ค่า % Efficacy ที่มีคุณภาพและเชื่อถือได้ จะต้องมีการควบคุมตัวแปรต่างๆ จึงไม่สามารถกำหนดกลุ่มตัวอย่างให้เยอะเกินไป และโดยส่วนมากกลุ่มตัวอย่างจะอยู่ในวัยทำงาน สุขภาพแข็งแรง มีโรคประจำตัวไม่มาก
ในทางกลับกัน การฉีดวัคซีนเฟส 4 หรือ การฉีดวัคซีนในโลกจริง จะเป็นการฉีดให้กับประชากรจำนวนมาก หลายล้านคน ทำให้กลุ่มตัวอย่างมีความหลากหลาย ทั้งอายุ สุขภาพร่างกาย ดังนั้น ถึงแม้จะควบคุมตัวแปรต่างๆไม่ได้ แต่จุดแข็งของค่า % Effectiveness อยู่ที่การเก็บข้อมูลจากประชากรจำนวนมาก ยิ่งมีข้อมูลมากเท่าไหร่ ยิ่งเห็นประสิทธิภาพของวัคซีนยี่ห้อนั้นๆได้ชัดเจนขึ้น
รูปภาพแสดงถึงปัจจัยต่างๆที่มีผลกระทบต่อค่าประสิทธิภาพของวัคซีนจากการฉีดจริง ซึ่งมีทั้งจากผู้ที่ได้รับการฉีดเอง (อายุ, สุขภาพ, โรคประจำตัว), จากสายพันธุ์ไวรัสในพื้นที่นั้น (ดื้อมาก/น้อย) และ จากวัคซีน (วัคซีนประเภทไหน, กระตุ้นภูมิคุ้มกันต่างกันหรือไม่, ระยะห่างระหว่างเข็ม) เป็นต้น [https://doi.org/10.1038/s41577-021-00592-1]
📌 ค่า % Efficacy และ % Effectiveness ของวัคซีนต่อไวรัสโควิดสายพันธุ์ต่างๆ
🦠 สายพันธุ์ อู่ฮั่น : พบครั้งแรกที่ จีน, ธันวาคม 2019
*สายพันธุ์อ้างอิง
AstraZeneca - 55-81%
Pfizer - 95%
Moderna - 94.1%
Johnson and Johnson - 66%
Novavax - 89%
Sinovac - 50-90%
🦠 สายพันธุ์ แอลฟ่า : พบครั้งแรกที่ อังกฤษ, กันยายน 2020
อัตราการแพร่เชื้อ : แพร่ง่ายกว่าสายพันธุ์อู่ฮั่น ประมาณ 50%
AstraZeneca - 75%
Pfizer - 90%
Moderna - ลดระดับการป้องกันของแอนติบอดี้ไป 2.3-6.4 เท่า
Johnson and Johnson - 70%
Novavax - 86%
Sinovac - ไม่มีข้อมูล
🦠 สายพันธุ์ เบต้า : พบครั้งแรกที่ แอฟริกาใต้, กันยายน 2020
อัตราการแพร่เชื้อ : แพร่ง่ายกว่าสายพันธุ์อู่ฮั่น ประมาณ 25%
AstraZeneca - 10%
Pfizer - 75%
Moderna - ลดระดับการป้องกันของแอนติบอดี้
Johnson and Johnson - 72% (อเมริกา), 66% (อเมริกาใต้), 57% (แอฟริกาใต้)
Novavax - 60%
Sinovac - ไม่มีข้อมูล
🦠 สายพันธุ์ แกมม่า : พบครั้งแรกที่ บราซิล/ญี่ปุ่น, ธันวาคม 2020
อัตราการแพร่เชื้อ : แพร่ง่ายกว่าสายพันธุ์อู่ฮั่น ประมาณ 1.4-2.2 เท่า
AstraZeneca - ไม่มีข้อมูล
Pfizer - ไม่มีหลักฐานว่าลดระดับการป้องกันของระบบภูมิคุ้มกัน
Moderna - ลดระดับการป้องกันของแอนติบอดี้
Johnson and Johnson - 68%
Novavax - ไม่มีข้อมูล
Sinovac - 51%
🦠 สายพันธุ์ เดลต้า : พบครั้งแรกที่ อินเดีย,ธันวาคม 2020
อัตราการแพร่เชื้อ : แพร่ง่ายกว่าสายพันธุ์อู่ฮั่น ประมาณ 97%
AstraZeneca - 92% ป้องกันการอยู่โรงพยาบาล (ถ้าฉีดเข็มเดียว % Effectiveness อยู่ที่ 60-71%)
Pfizer - ลดระดับการป้องกันของแอนติบอดี้ แต่ยังพอป้องกันได้บ้าง (ถ้าฉีดเข็มเดียวเปอร์เซนต์การป้องกันอยู่ที่ 88%)
Moderna - ลดระดับการป้องกันของแอนติบอดี้ 6.8 เท่า (แต่ยังพบว่าผู้ที่ฉีดวัคซีนส่วนใหญ่ มีระดับภูมิคุ้มกันที่สู้กับเชื้อได้)
Johnson and Johnson - ข้อมูลยังไม่สามารถสรุปได้ เบื้องต้นมีรายงาน %Effectiveness อยู่ที่ 60%
Novavax - ไม่มีข้อมูล
Sinovac - ไม่มีข้อมูล
📌 อาการข้างเคียงต่างๆที่พบจากการฉีดวัคซีน
▪️ ส่วนมากเป็นอาการเล็กน้อย เช่น ปวด บวม แดง บริเวณที่ฉีด เป็นไข้ ปวดหัว อ่อนเพลีย ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ หายเองภายใน 2-3 วัน
▪️ อาการข้างเคียงรุนแรงมีรายงานพบน้อยกว่า แตกต่างกันไปในแต่ละวัคซีน เช่น
🔺 Anaphylaxis หรือ อาการแพ้วัคซีนอย่างรุนแรง
- มีรายงานพบ 66 เคส จากการฉีดวัคซีน mRNA 17,524,676 คน ในอเมริกาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2021 ซึ่งอาจจะเกี่ยวข้องกับสาร Polyethylene glycol (PEG) ในวัคซีน เคสส่วนมากเป็นผู้หญิง (63 จาก 66)
- 92% ของผู้ที่มีอาการได้รับการรักษาฉุกเฉินโดยให้ Adrenaline และ ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต
🔺 Myocarditis หรือ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ
- ในเดือนพฤษภาคม 2021 มีรายงานจากหลายเคสว่าพบอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (Myocarditis และ Pericarditis) ในอเมริกา ทั้งจากการฉีด Pfizer และ Moderna
- เดือนกรกฎาคม 2021 พบ 5,166 เคสจากการฉีด Pfizer และ 399 เคส จาก Moderna จากผู้ฉีดวัคซีนทั้งหมด 129 ล้านคน ในอเมริกา
- อาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบยังมีรายงานพบในประเทศอิสราเอล
🔺 VITT หรือ อาการลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับภาวะเกล็ดเลือดต่ำ
- เดือนมีนาคม 2021 องค์การยาแห่งสหภาพยุโรปรายงานว่ามีผู้ที่ถูกวินิจฉัยอาการลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับภาวะเกล็ดเลือดต่ำหลังฉีดวัคซีน AstraZeneca และเสียชีวิต 30 คน ซึ่งถือเป็นจำนวนน้อย แต่ก็ทำให้ยุโรปบางประเทศระงับการฉีด AstraZeneca และ ประเทศอังกฤษจำกัดอายุการฉีดของ AstraZeneca เฉพาะในผู้สูงอายุเท่านั้น
- ในประเทศอเมริกาก็พบการเกิดลิ่มเลือดอุดตันหลังฉีดวัคซีน Johnson & Johnson เช่นเดียวกัน แต่พบน้อยมาก คือ มีผู้เสียชีวิต 6 คน จากผู้ฉีดวัคซีน 6.8 ล้านคน ทำให้องค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐระงับการฉีดวัคซีน Johnson & Johnson เป็นช่วงเวลาสั้นๆเมื่อเดือนเมษายน 2021
- ถึงแม้ดูเมือนว่าการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันจะสัมพันธ์กับวัคซีน Viral vector มากกว่า แต่ก็มีรายงานพบในวัคซีน mRNA บ้างเช่นกัน
- อัตราพบการเกิดภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำหลังฉีดวัคซีนแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ พื้นที่ที่พบมากสุดคือ แถบสแกนดิเนเวีย (1 ใน 10,000) ซึ่งมากกว่าประเทศอังกฤษ อาจเป็นผลมาจากกรรมพันธุ์ เช่น มีรายงานพบในคนเอเชียน้อยมาก
⏩ หมายเหตุ​ : มีงานวิจัยจากประเทศเยอรมัน ศึกษาคนที่มีภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำหลังฉีดวัคซีน AstraZeneca พบว่าลักษณะการเกิดลิ่มเลือดอุดตันคล้ายกับการเกิดลิ่มเลือดอุดตันจากการใช้ยา Heparin
[ Heparin เป็นยาที่ทำให้เลือดไม่จับตัวเป็นก้อนแข็ง ใช้ในการรักษาหลายโรคที่เลือดจับตัวแข็งผิดปกติ เช่น หลอดเลือดแดง/ดำอุดตัน แต่มีรายงานพบอาการข้างเคียงของยา Heparin ที่พบได้น้อย นั่นก็คือ HIT (Heparin-induced thrombocytopenia) หรือก็คือการที่ Heparin ไปจับตัวกับ PF4 (Platelet factor 4) เกิดเป็นโครงสร้าง Heparin-PF4 complex ซึ่งร่างกายจะสร้างแอนติบอดี้มาจัดการกับโครงสร้างนี้ แต่ว่าแอนติบอดี้ก็จะกระตุ้นให้เกล็ดเลือดทำงาน จนเกิดการสร้างลิ่มเลือดขึ้นมา ]
ปรากฎว่ามีการตรวจพบแอนติบอดี้ต่อ Heparin-PF4 complex ในผู้ที่ฉีดวัคซีน AstraZeneca ทั้งที่ไม่มีประวัติการรับยา Heparin มาก่อน แต่แตกต่างกันตรงที่ แอนติบอดี้ของผู้ที่มีภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำที่เกิดจากยา Heparin จะกระตุ้นเกล็ดเลือดเพิ่มขึ้น ในกรณีที่มี Heparin เข้มข้น แต่ว่าแอนติบอดี้ของผู้ที่ฉีด AstraZeneca จะไม่กระตุ้นเกล็ดเลือด แม้จะเพิ่มความเข้มข้นของ Heparin แต่จะกระตุ้นเมื่อเพิ่ม PF4 ลงไป
ถึงแม้จะไม่มีหลักฐานการเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างแอนติบอดี้ Heparin-PF4 complex กับวัคซีนโควิด (โดยเฉพาะแบบ Viral vector) อย่างชัดเจน แต่การทดลองในห้องแล็บพบว่า PF4 สามารถจับตัวกับสารบางอย่างซึ่งเป็นส่วนประกอบในวัคซีนได้ ร่างกายจึงอาจเข้าใจว่าเป็นโครงสร้างของ Heparin-PF4 complex แล้วเกิดการกระตุ้นแอนติบอดี้ขึ้นมา จนทำให้เกิดภาวะลิ่มเลือดอุดต่ำร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำ นอกจากนั้น การทดลองในหนู ก็พบว่าวัคซีนแบบ Viral vector ทำให้ภาวะลิ่มเลือดอุดตันแบบยา Heparin ได้เช่นกัน
ประกอบกับอาการของโรคส่วนใหญ่จะไม่เกิดหลังฉีดวัคซีนทันที แต่จะมีอาการเมื่อร่างกายเริ่มกระตุ้นระดับภูมิคุ้มกันแล้ว (มีการสร้างแอนติบอดี้แล้ว) ซึ่งระยะสังเกตอาการภาวะลิ่มเลือดอุดตันร่วมกับเกล็ดเลือดต่ำ คือ 5-30 วันหลังฉีดวัคซีน จึงนำมาสู่ข้อสันนิษฐานว่าการเกิด VITT อาจไม่ใช่อาการข้างเคียงแบบใหม่ของการฉีดวัคซีน แต่เป็นการกระตุ้นแอนติบอดี้ที่ทราบกันดีอยู่แล้วในร่างกายขึ้นมา
ทั้งนี้อาจพิจารณาให้ Non-heparin anticoagulant เพื่อเป็นแนวทางในการรักษา ร่วมกับให้ Intravenous immunoglobulin (IVIG) เพื่อไปปฏิกิริยาของบล็อคแอนติบอดี้
📌 สรุปส่งท้าย
▪️ วัคซีนสามารถป้องกันอาการป่วยได้อย่างเดียวหรือป้องกันการติดเชื้อด้วย?
ส่วนมาก วัคซีนจะถูกรายงานว่าสามารถช่วยลดอาการป่วยรุนแรงได้ ส่วนหลักฐานที่ว่าวัคซีนช่วยลดการติด/แพร่เชื้อได้นั้นยังมีจำกัด
แต่มีงานวิจัยว่าหลังฉีดวัคซีน Pfizer สามารถช่วยลดปริมาณไวรัสโควิดที่ตรวจพบในร่างกายได้ ซึ่งถ้าปริมาณไวรัสมีน้อย โอกาสที่จะแพร่เชื้อต่อก็ต่ำ รวมถึงงานวิจัยเฟส 3 ส่วนใหญ่ จะติดตามผลเฉพาะผู้ติดเชื้อที่แสดงอาการเท่านั้นเพราะเก็บข้อมูลง่าย แต่ก็มีงานวิจัยที่เก็บข้อมูลทั้งจากผู้ไม่ติดเชื้อ, ผู้ติดเชื้อแบบแสดงอาการ และผู้ติดเชื้อแบบไม่แสดงอาการ ซึ่งพบว่าวัคซีนสามารถช่วยลดการติด/แพร่เชื้อได้
ดังนั้นถ้าจะพูดให้ถูกคือ วัคซีนสามารถช่วยลดการติด/แพร่เชื้อได้ แต่ยังไม่มีวัคซีนโควิดยี่ห้อไหนที่ป้องกันการติด/แพร่เชื้อได้ 100%
▪️ปัจจุบันยังไม่มีการกำหนด Correlates of Protection ของโควิด กล่าวคือ ไม่ทราบว่าการป้องกันการติดเชื้อโควิดจริงๆต้องใช้ระบบภูมิคุ้มกันส่วนไหนกันแน่ เพราะระบบภูมิคุ้มกันของมนุษย์มีความซับซ้อนและมีหลายระบบ ทั้งแบบ Humoral responses เช่น ระดับแอนติบอดี้ และ Cellular responses เช่น การกระตุ้นภูมิคุ้มกันแบบเซลล์
ซึ่งทั้งสองระบบมีบทบาทในการสู้กับเชื้อโรคทั้งคู่ แต่บางโรคอาจจะเน้นไปที่การใช้ระดับแอนติบอดี้ในการป้องกัน ขณะที่บางโรคอาจจะเน้นไปที่ระบบภูมิคุ้มกันแบบเซลล์ ยกตัวอย่างเช่น HBV หรือ ไวรัสตับอักเสบบี ถ้าหากฉีดวัคซีนครบโดสแล้วอย่างน้อย 1-2 เดือน มีการตรวจว่าระดับแอนติบอดี้ขึ้นสูง ก็จะถือว่าร่างกายได้รับการกระตุ้นภูมิคุ้มกันทั้งแบบระดับแอนติบอดี้และแบบเซลล์ ในอนาคตถ้าตรวจพบระดับแอนติบอดี้ลดลงจนติดลบ ก็ไม่ต้องฉีดวัคซีนซ้ำอีกถ้าไม่ใช่คนมีความเสี่ยงสูง เพราะร่างกายมีความทรงจำจากระบบภูมิคุ้มกันแบบเซลล์หลงเหลืออยู่
▪️ แต่จากข้อมูลในปัจจุบัน พบว่าโควิดนั้นมีแนวโน้มเหมือนไข้หวัดใหญ่ เพราะวัคซีนไข้หวัดใหญ่จะเน้นไปที่การป้องกันด้วยระดับแอนติบอดี้ ถ้าระดับแอนติบอดี้ต่อไวรัสไข้หวัดใหญ่สูง ก็จะถือว่าป้องกันไวรัสไข้หวัดใหญ่ได้ดี ทำต้องฉีดวัคซีนเพื่อคงระดับแอนติบอดี้ไว้ทุกปี
ซึ่ง การวัดการป้องกันต่อไวรัสโควิดในปัจจุบันก็เน้นไปที่การวัดระดับแอนติบอดี้เช่นกัน ตอนแรกอาจจะเป็นเพราะว่าตรวจวัดง่าย มีวิธีวัดที่ได้มาตรฐานหลายวิธี แต่ต่อมากลับพบว่าเมื่อระดับแอนติบอดี้ลดลง ไม่ว่าทั้งจากวัคซีนหรือจากการติดเชื้อตามธรรมชาติ ร่างกายก็จะกลับมาติดไวรัสโควิดได้อีกครั้ง แสดงว่าระดับแอนติบอดี้อาจจะเป็นกลไกการป้องกันหลักของโควิดเหมือนไข้หวัดใหญ่ โดยการทดลองในสัตว์ก็พบว่า Neutralizing antibodies มีบทบาทช่วยไม่ให้โปรตีนหนาม (S protein) ของไวรัสโควิดจับกับเซลล์ตัวรับในระบบทางเดินหายใจ จึงช่วยลดการติดเชื้อได้
ดังนั้นจึงมีแนวโน้มว่าต่อไปอาจต้องฉีดวัคซีนโควิดกระตุ้นไปทุกปีเหมือนวัคซีนไข้หวัดใหญ่ แต่อย่างไรก็ตามยังไม่มีการสรุปแน่ชัดว่าวัคซีนเข็มกระตุ้นนั้นจำเป็นจริงหรือไม่ ถ้าจำเป็นมต้องเว้นระยะเวลาเท่าไร ยังต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมต่อไป
งานวิจัย >>
Tregoning, J.S., Flight, K.E., Higham, S.L. et al. Progress of the COVID-19 vaccine effort: viruses, vaccines and variants versus efficacy, effectiveness and escape. Nat Rev Immunol (2021).
คำแนะนำการดูแลรักษาผู้ป่วยที่เกิด VITT จากสมาคมโลหิตวิทยาแห่งประเทศไทย >>

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา