22 ก.ค. 2022 เวลา 02:00 • สุขภาพ
เจ็บหนัก เพราะหมูกระทะ
“ผมไปกินหมูกระทะ ร้านแถวบ้านเมื่อช่วงเที่ยง ไปกินกับเพื่อน ตอนนั้นอาการทั่วไปยังปกติดี ต่อมา ช่วง 6 โมงเย็น ของวันเดียวกัน ผมรู้สึกเป็นไข้สูง หนาวสั่น หูขวาอื้อ และมีอาการปวดศีรษะอย่างรุนแรง จึงเดินทางมาตรวจที่โรงพยาบาล”
ที่มา https://commons.m.wikimedia.org/wiki/File:โต๊ะจีนหมูกะทะ.JPG
เรื่องเล่าจากผู้ป่วยรายหนึ่งที่มาตรวจรักษาที่โรงพยาบาล และในภายหลังได้รับการวินิจฉัยว่าติดเชื้อในกระแสเลือด เยื่อหุ้มสมองอักเสบเฉียบพลัน และมีภาวะหูดับ จากเชื้อแบคทีเรีย ที่มีชื่อว่า “สเตร็ปโตค็อกคัส ซูอิส” (Streptococcus Suis) หรือ โรคไข้หูดับ
เอ…แล้วมันเกี่ยวอะไรกับหมูกระทะด้วยเล่า คำตอบคือ เกี่ยวกัน โดย เชื้อโรคตัวนี้ปนเปื้อนอยู่ในเนื้อหมูดิบ ขั้นตอนการรับประทานหมูกระทะ ทั่วไป คือ ต้องไปตักหมูดิบมา ที่โต๊ะ จากนั้นใช้ตะเกียบ ซึ่งผู้ป่วยรายนี้ใช้ตะเกียบตนเอง ทั้งคีบหมูลงกระทะ และใช้รับประทานอาหารด้วยกัน นี่เอง อาจเป็นไปได้ ที่ผู้ป่วยอาจได้รับเชื้อชนิดนี้เกาะติด กับตะเกียบ เข้าไปได้โดยตรง จนเกิดการติดเชื้อตามมา
จริง ๆ แล้ว การติดเชื้อไข้หูดับนี้ ไม่จำเป็นต้องเกิดจากการกินหมูกระทะเพียงอย่างเดียว การรับประทานอาหารประเภทอื่น ที่มีโอกาสเสี่ยงที่จะสัมผัสหมูดิบที่มีการปนเปื้อนของเชื้อสเตร็ปโตคอคคัส ซูอิส การรับประทานหมูสุก ๆ ดิบ ๆ ก็มีความเสี่ยง จากการ ปิ้ง ย่าง ชาบู ลาบ ลู่ เลือดหมู ที่ปรุงไม่สุก
นอกจากนี้ อาชีพปศุสัตว์ ขายหมูที่ตลาด หรือทำงานในโรงฆ่าสัตว์ รวมถึง พ่อบ้าน แม่บ้าน ที่ทำกับข้าวทานเองที่ใช้เนื้อหมูปรุงอาหาร ก็มีความเสี่ยงเช่นกัน โดยเชื้อสามารถเข้าทางแผลเล็ก ๆ หรือรอยแยกทางผิวหนังที่สัมผัสได้
เมื่อรับเชื้อนี้เข้าไป มีโอกาสสูงที่จะติดเชื้อในกระแสเลือด ติดเชื้อในเยื่อหุ้มสมอง ข้อติดเชื้อ ติดเชื้อในหูชั้นใน (ทำให้หูดับ) มีภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ มีโอกาสพิการและเสียชีวิตสูง บางรายงานอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 30%
ดังนั้นแล้ว โปรดระมัดระวัง ถ้าต้องกินอาหารพวกปิ้ง ย่าง ชาบู หรือหมูกระทะ แยกตะเกียบของดิบกับของสุก ระวังการสัมผัสหมูดิบโดยตรง พิจารณาใส่ถุงมือป้องกัน ล้างมือให้สะอาดทุกครั้งถ้าสัมผัส และพยายามปรุงหมูให้สุก อย่ากินดิบ ๆ โดยเด็ดขาด
ถ้าไม่เช่นนั้นแล้ว อาจเจ็บหนัก เพราะหมูกระทะ เหมือนผู้ป่วยรายนี้
โฆษณา