21 พ.ย. 2022 เวลา 06:34 • ภาพยนตร์ & ซีรีส์
EP.6 กะเทาะเปลือกแชบอลเกาหลีบนหน้าประวัติศาสตร์ ผ่าน Hidden messages ใน Reborn Rich
(ขอความกรุณาไม่คัดลอก ดัดแปลง หรือนำเนื้อหาในบทความต่อไปนี้ไปใช้ในเชิงพาณิชย์ หากต้องการนำเนื้อหาไปใช้รบกวนอ้างอิง หรือให้เครดิตหน่อยนะคะ ขอบคุณค่ะ)
สวัสดีค่ะคุณผู้อ่านทุกท่าน ช่วงนี้สุดสัปดาห์ ซีรีส์เกาหลีแข่งกันออนแอร์เป็นเวลาเล่น ทำเอาดูจนไม่ได้หลับนอนเลย ฝั่งวังหลวง Under the Queen’s Umbrella ว่าเข้มข้นแล้ว เพราะ Ep.12 มีการคัดตัวพระชายาองค์รัชทายาท หรือที่เรียกว่างานคันแทค (간택; 揀擇)
ทางฝั่งผู้เขียนขอแวบมาเม้ามอยซีรีส์เรื่องใหม่อย่าง Reborn Rich หน่อยค่ะ ถึงแม้จะออนแอร์ไปได้แค่ 2 ตอนแรก แต่เนื้อเรื่องก็สนุก ชวนติดตามตั้งแต่เปิดเรื่อง หลายคนอาจจะขอพักดูก่อน เพราะตัวละครเยอะเกินจำไม่ไหว วันนี้ซอจะมาชวนเหลาตระกูลอภิมหาเศรษฐีในเรื่อง พร้อมกับกะเทาะ between the line ที่ซ่อนอยู่ในแต่ละฉากช่วงที่พระเอก หัวหน้าทีมยุนของเราได้โอกาสกลับไปใช้ชีวิตในฐานะ “จินโดจุน” หลานชายคนเล็กของซุนยังกรุ๊ปกันค่ะ
ขอแนะนำพล็อตและตัวละครภายในตระกูลคร่าว ๆ ก่อนนะคะ เรื่องราวเริ่มขึ้นในปี 2022 พระเอกของเรื่อง ซงจุงกิ รับบทเป็นยุนฮยอนอู หรือหัวหน้าทีมยุน แผนกบริหารสินทรัพย์อนาคตเครือบริษัทยักษ์ใหญ่ “ซุนยังกรุ๊ป” (SY) แต่หน้าที่จริง ๆ ทำตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ ตั้งแต่ดูแลความเรียบร้อยเวลาจัดงานอีเวนต์ ตามหาสมาชิกในตระกูลที่ตามตัวยาก เปลี่ยนฝาชักโครก และบินไปเมืองนอกเพื่อตามเอาเงินของบริษัทที่ถูกยักยอกไป เรียกว่าทำงานถวายหัวเจ้านายเลยทีเดียว
แต่สุดท้ายความซื่อสัตย์ของเขา กลับเป็นภัยต่อตนเอง เมื่อหัวหน้ายุนไปพบว่ามีคนในบริษัทกำลังยักยอกสินทรัพย์จำนวนมหาศาลของซุนยังกรุ๊ปไปไว้ยัง paper company หรือบริษัทที่ไม่มีตัวตนในตุรกี จำนวนกว่า 600ล้าน$ จึงเอาเรื่องนี้ไปรายงานรองประธาน รองประธานสั่งให้พระเอกไปเมืองนอกเพื่อตามเอาเงินกลับมา แต่สุดท้ายกลับมีคนในตระกูลมาชิงเอาเงินก้อนนี้ไป แล้วฆ่าพระเอกตาย
ทว่าเรื่องราวไม่คาดคิดก็เกิดขึ้น หัวหน้ายุนของเรายังไม่ตาย แต่ได้รับโอกาสให้เริ่มต้นชีวิตใหม่ในตัวตนของ “จินโดจุน” หลานชายคนเล็กของเครือซุนยังที่ตัวเองทำงานอยู่ด้วย โดยช่วงเวลานั้นคือปี 1987 ที่สาธารณรัฐเกาหลี ถึงตรงนี้ทุกคนอาจจะงงว่าใครคือจินโดจุน แล้วพระเอกย้อนเวลากลับไปได้เหรอ??
จินโดจุนในวัยเด็ก รับบทโดย คิมคังฮุน น้องอายุเพียง 13ปี แต่ต้องเล่นเป็นคนอายุ 30 มีความคิดความอ่านแบบผู้ใหญ่ ขอชมว่าทำได้เหมือนมาก ๆ เลยค่ะ
คำตอบคือ พระเอกเราเฉลยในท้าย EP2 ว่า นี่ไม่ใช่การสิงร่าง ไม่ใช่การเดินทางข้ามเวลา หรือการกลับชาติมาเกิดใหม่ แต่ว่าเขากำลังได้โอกาสกลับมามีชีวิตใหม่ ซึ่งเป้าหมายของพระเอกก็คือตามหาว่าคนในตระกูลเครือบริษัทซุนยัง คนไหนเป็นคนสั่งฆ่าเขาในปี 2022
ถัดมาเรามาทำความรู้จักสมาชิกในตระกูลจิน ตระกูลอภิมหาเศรษฐีในเรื่องกันค่ะ ผู้นำตระกูลที่เป็นหัวเรือใหญ่ของบ้าน และเป็นประธานบริษัทซุนยังคือ “จินยางชอล” มีภรรยาคือ “อีพิลอ๊ก” ทั้งคู่อยู่ในสถานะ คุณปู่และคุณย่าของบ้าน ทั้งสองคนมีลูกด้วยกัน 4 คน
ลูกชายคนโตชื่อจินยองกี ในพาร์ทปี 2022 เขาดำรงตำแหน่งประธานซุนยังกรุ๊ป เพราะจินยางชอลตายไปแล้ว แต่ในพาร์ทปี 1987 เขาดำรงตำแหน่งรองประธานซุนยังกรุ๊ป เพราะจินยางซอลยังมีชีวิตอยู่
จินซองจุนในวัยเด็ก รับบทโดย น้องมุนซองฮยอน ช่วงนี้น้องรับงานละคนบ่อยมาก ทั้งบทนายน้อยยุลวัยเด็กใน Alchemy of Souls และ บทองค์ชายชิมโซกุนใน Under the Queen's Umbrella
จินยองกี แต่งงานกับซนจองแร มีลูกชายด้วยกัน 1 คน ชื่อ จินซองจุนซึ่งถือได้ว่าเป็นหลานรักของปู่ เป็นคนที่ปู่ฝากฝังจะให้สืบทอดดูแลกิจการของซุนยังในอนาคต
ลูกชายของประธานจินคนที่สองชื่อ จินดงกี ดำรงตำแหน่งประธานบริษัทประกันภัยซุนยัง แต่งงานกับยูจีนา มีลูกสาวด้วยกัน 1 คนชื่อ จินเยจุน เยจุนเท่าที่สังเกตคาแรคเตอร์จะมีความอิจฉาซองจุน ลูกพี่ลูกน้องตัวเองอยู่หน่อย ๆ ที่ดูจะได้ปกครอง และครอบครองอาณาจักรซุนยัง
ลูกคนที่สามถัดมาคือ จินฮวายอง ลูกสาวคนเดียวของประธานจิน ดำรงตำแหน่งประธานห้างสรรพสินค้าซุนยัง แต่งงานกับ ชเว-ชางเจ อัยการท้องถิ่นประจำกรุงโซล บุคลิกจะคอยเอาใจเมีย เป็นลูกไล่เมียอยู่บ่อย ๆ ทั้งคู่ไม่มีลูก
ลูกคนที่สี่ คือจินยุนกี ลูกชายคนสุดท้องของจินยางชอล เป็นลูกชายนอกคอก เพราะไปแต่งงานกับอีแฮอิน ดาราสาวที่ครอบครัวไม่ยอมรับ อีกทั้งเลือกอาชีพเป็นคนทำหนัง ไม่สืบทอดกิจการของครอบครัว ทำให้ประธานจินตัดขาด ไม่มองเป็นลูก จินยุนกีกับอีแฮอิน มีลูกชายด้วยกันสองคนคือ จินฮยองจุน (พี่) และ จินโดจุน (น้อง) ซึ่งพระเอกของเราในปี 1987 ได้มาโอกาสใช้ชีวิตในฐานะของ “จินโดจุน”
พล็อตต่อจากนี้ คุณผู้อ่านคงเดาได้ไม่ยาก ในเมื่อครอบครัวมีสมาชิกเยอะ ทั้งรุ่นพ่อแม่ รุ่นลูก แน่นอนว่าทุกคนหวังจะชิงดีชิงเด่นกัน อยากครอบครองทรัพย์สมบัติ และมรดกของคุณปู่จินยางชอล ผู้ก่อตั้งซุนยังกรุ๊ป
หลังจากรู้พล็อตเนื้อเรื่อง และตัวละครคนในตระกูลคร่าว ๆ ไปแล้ว ซอขอชวนเม้ามอย ฝอยปมการเมือง สังคม เศรษฐกิจที่ซ่อนอยู่ในเรื่องนี้กันค่ะ เนื้อหาที่จะเล่าใน blog นี้ ส่วนใหญ่จะตัดมาจากฉากใน EP2 ของซีรีส์ Reborn Rich
เพราะฉะนั้นเพื่ออรรถรส และความเข้าใจ ไปถึงบางอ้อด้วยกัน อยากให้คุณผู้อ่านทุกคนดูจบ EP2 ก่อนแล้วมาอ่านจะเข้าใจบริบท เนื้อเรื่องแต่ละฉาก แต่ละสถานการณ์ที่ซีรีส์สอดแทรกมาค่ะ แต่ใครที่ยังไม่ดูซีรีส์จะมาอ่านก่อนเพื่อกระตุ้นต่อม เผื่อจะโดนป้ายยาให้ไปดูตอนถัดไปหลังจากนี้ก็ได้นะคะ ^^
ก่อนจะเริ่มสกัด hidden messages ในแต่ละฉากของซีรีส์ แชบอลคืออะไร เกี่ยวข้องกับครอบครัวหรือตระกูลใหญ่ในเกาหลีอย่างไร มารู้จักกันค่ะ
โฉมหน้าประธานเครือบริษัทแชบอล ของเกาหลีใต้ (อัพเดตปี2021)
Timeline ในซีรีส์ Reborn Rich หลังจากพระเอกได้โอกาสกลับมาใช้ชีวิตใหม่ คือปี 1987 ถ้าแฟน ๆ ซีรีส์จำกันได้ ปีนี้คือไทม์ไลน์เดียวกับในเรื่อง Snowdrop (2022) ที่ซอเคยเขียนเล่าไว้เลย ช่วงนี้ถือเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อทางการเมืองของเกาหลีใต้ เพราะใกล้ถึงช่วงเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตยที่ปกครองด้วยเผด็จการรัฐบาลทหาร เป็นรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง 100%
คอซีรีส์เกาหลี หรือติ่ง Hallyu ทุกคนน่าจะเคยได้ยินคำว่า “แชบอล” Chaebol มาไม่มากก็น้อย นิยามสั้น ๆ ของแชบอลคือ กลุ่มนักธุรกิจที่มั่งคั่งดำเนินกิจการเป็นเครือบริษัทขนาดใหญ่ หรือที่เราได้ยินคำว่า “กรุ๊ป” ยกตัวอย่างเช่น ซัมซุง (Samsung) แบรนด์สมาร์ทโฟนและเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ชื่อดัง ในเครือซัมซุง ก็จะประกอบไปด้วยธุรกิจอื่น ๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น โรงพยาบาล โรงแรม โลจิสติคส์ หรือธุรกิจกลุ่มเอนเตอเทนเมนต์
อีกแบรนด์หนึ่งที่คนไทนต้องรู้จักคือ ฮุนได หรือ Hyundai บริษัทผลิตรถยนต์ แต่รู้มั้ยว่านอกจากรถยนต์แล้วฮุนไดยังเป็นเจ้าของอุตสาหกรรมหนัก ปิโตรเคมี ธุรกิจก่อสร้าง และห้างสรรพสินค้า ถามว่าเครือธุรกิจเยอะขนาดนี้ แล้วจะดูแลไหวมั้ย คำตอบคือไหวค่ะ ส่วนใหญ่หุ้นบริษัทย่อยต่าง ๆ สมาชิกในครอบครัวจะเป็นผู้ถือครอง ดังนั้นแชบอลจึงมีลักษณะเป็นธุรกิจครอบครัว หรือที่คนไทยเชื้อสายจีนเรียกกันว่าระบบ “กงสี”
ถ้าดูตามรากศัพท์ในภาษาเกาหลีคำว่า แชบอล (재벌; 財閥) ตัว “แช” 財 นั้นมาจาก 재산 재물 (แชซาน แชมูล ตามลำดับ) มีความหมาย ทรัพย์สิน สมบัติ ส่วน “บอล” 閥 มาจาก 문벌; 門閥 (มุนบอล) มีความหมายว่า วงศ์ตระกูล สายเลือด สายสกุล แปลรวมกันได้ความว่า วงศ์ตระกูลที่มีทรัพย์สินมั่งคั่ง
จุดเริ่มต้นของแชบอล ต้องเท้าความกลับไปในสมัยโชซอนว่า สังคมเกาหลีเป็นสังคมที่มีชนชั้น ชนชั้นหลัก ๆ ที่ทุกคนเห็นภาพเมื่อดูซีรีส์คือชนชั้นสูง กลุ่มขุนนาง หรือยังบัน (양반; 兩班) ถัดมาคือชนชั้นล่าง ได้แก่ประชาชน ชาวนา พ่อค้า หรือซังมิน (상민; 常民)
ช่วงปลายสมัยโชซอนชนชั้นล่างบางคนเริ่มตื่นตัว หาทางเลื่อนระดับสถานะทางสังคมด้วยการค้าขาย และการศึกษา อยากสอบเป็นข้าราชการ มียศถาบรรดาศักดิ์เหมือนยังบัน จึงเกิดการขยายตัวของชนชั้นกลาง หรือชุงอิน (중인; 中人) ได้แก่ขุนนางระดับล่าง เจ้าหน้าที่ปกครองท้องถิ่น ช่างฝีมือ นักแปล
ตัวอย่างชนชั้นกลาง กยอนอู รับบทโดย จูวอน จากเรื่อง My Sassy Girl (2017)
กลุ่มชุงอินนี้เองทำหน้าที่เก็บภาษี เก็บส่วยสาอากรจนร่ำรวยมีเงินถุงเงินถัง แม้จะเข้าสู่ยุคที่เกาหลีถูกปกครองโดยญี่ปุ่นแล้วก็ตาม (1910-1945) ชนชั้นกลางเป็นกลุ่มที่ปรับตัวตามสภาพสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปมากที่สุด รู้จักทำมาหากิน เปิดรับสิ่งใหม่ ๆ ผ่อนปรน ปฏิบัติตามข้อตกลงชาวญี่ปุ่นที่เป็นผู้บัญชาการใหญ่ในเกาหลีช่วงอาณานิคม
หลังจากเกาหลีได้รับเอกราช แบ่งประเทศเป็นเกาหลีเหนือ-เกาหลีใต้ ที่เกาหลีใต้ดำเนินการปกครองแบบประชาธิปไตยโดยมีประธานาธิบดีเป็นประมุข ในยุคสาธารณรัฐที่ 1 (1948-1960) อีซึงมัน ประธานาธิบดีคนแรกปรับปรุงอุตสาหกรรมภายในประเทศด้วยการขายสินทรัพย์ที่เคยเป็นของจักรรวรรดิญี่ปุ่นให้นายทุน ในราคาที่ถูก กลุ่มนายทุนหรือพ่อค้าที่มาซื้อสินทรัพย์นี้ก็คือพวกชนชั้นกลางดั้งเดิมในปลายสมัยโชซอนที่มีเงินเก็บนั่นเองค่ะ ธุรกิจแบบแชบอลจึงถือกำเนิดขึ้นในยุคนี้
ต่อมาเข้าสู่ช่วงทศวรรษ 1960s หรือยุคสาธารณรัฐที่ 3 (1963-1972) ยุคของรัฐบาลพัคจองฮี เกาหลีใต้ยังคงได้รับเงินสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกาและสหประชาชาติอยู่ เพราะยังอยู่ในยุคสงครามเย็น อเมริกากลัวว่าประเทศนี้เศรษฐกิจล้มละลายจะกลายไปเป็นคอมมิวนิสต์
พัคจองฮีเลือกเงินบริหารถูกจุด ไม่เอาเงินทุนที่ได้มาโปรยเล่น โดยเลือกสนับสนุนธุรกิจที่ควรพัฒนา คือกลุ่มHeavy and Chemical Industry (HCI) ได้แก่พวกเหล็ก ปิโตรเคมี รถยนต์ อุปกรณ์เครื่องจักร การต่อเรือ และอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเป็นฐานเศรษฐกิจของเกาหลีใต้
กลุ่มบริษัทฮั้ว เข้ามาประมูลได้ทำธุรกิจ HCI ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มแชบอล แชบอลบางรายก็ดำเนินธุรกิจด้านนี้อยู่แล้วเช่น ฮุนได เท่ากับได้รับการสนับสนุนไปฟรี ๆ ส่วนแชบอลที่ร่ำรวยมาจากธุรกิจอื่น ก็เริ่มได้ผูกขาดได้ธุรกิจกิจการใหม่ แลกกับการติดสินบนรัฐบาล เพื่อรับผลประโยชน์ทำธุรกิจไม่กี่เจ้าในประเทศ
รูปบน อี-บย็องชอล ประธานซัมซุงกรุ๊ป (คนกลาง) เข้าพบพัคจองฮี(คนขวา) | รูปล่าง ช็อง-จูยอง ประธานฮุนไดกรุ๊ป ร่วมเฟรมกับพัคจองฮี(คนกลาง)
แล้วแชบอลรวยได้ยังไง? คำตอบก็คือ ฉันให้เงินรัฐบาลแลกกับการผูกขาดกิจการบางอย่าง ส่วนรัฐบาลให้ฉันค้ำประกัน รวมถึงเงินกู้ และสินเชื้อผ่านสถาบันการเงินของรัฐ (อารมณ์ฉันเป็นเจ้าของธนาคารพาณิชย์ อยากกู้เงินเท่าไร รัฐจัดให้)
นอกจากนี้รัฐยังยกกำแพงภาษีไม่ให้ต่างชาติเข้ามาแข่งขัน มีการประกันการขายสินค้าอีกด้วย นโยบายเหล่านี้ทำให้แชบอลเติบโตอย่างรวดเร็ว เป็นกำลังหลักในการพัฒนาเศรษฐกิจเกาหลีให้ก้าวกระโดดจากประเทศยากจนที่ได้รับผลกระทบจากสงคราม เป็นหนึ่งในสี่เสือเอเชียที่เศรษฐกิจเจริญรุดหน้าอย่างไม่น่าเชื่อ
การเติบโตของแชบอล นำมาสู่ผลเสียหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ รวยกระจุก จนกระจาย บริษัทใหญ่ไล่กินควบรวมบริษัทเล็ก SMEs ไม่ได้แจ้งเกิด
แรงงานถูกเอาเปรียบ ค่าแรงถูกกด พนักงานที่เคยอยู่ SMEs ก็ต้องตกงาน ผลที่เลวร้ายที่สุดคือเมื่อธุรกิจของแชบอลล้มละลายเพราะการลงทุนเกินตัว และการที่รัฐเข้าไปแทรกแซงนโยบายทางการเงิน เศรษฐกิจของประเทศเกาหลีก็แทบจะล้มตาม เห็นได้จากวิกฤตเศรษฐกิจในปี 1997 หรือที่คนไทยรู้จักกันชื่อวิกฤตต้มยำกุ้ง
รัฐบาลอยากปฏิรูป เข้าไปเปลี่ยนแปลงฐานธุรกิจของแชบอลไม่ให้มีอำนาจล้นฟ้าหรือไม่? คำตอบ อยาก! แต่ทำไม่เคยสำเร็จ เพราะสายสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างแชบอลกับฝ่ายบริหาร (ลึก ๆ รัฐก็ยังต้องการเงินบริจาค หรือสินบนจากแชบอลอยู่)
ชองวาแด (청와대) ทำเนียบประธานาธิบดีเกาหลีใต้ หรือที่รู้จักในนามของ Blue House
ในช่วงต้นของ Reborn Rich EP2 เราจะได้เห็นคนจากทำเนียบประธานาธิบดี Blue House (ชองวาแด 청와대; 靑瓦臺) มาขอพบประธานจินยางชอล แล้วบรรยายคุณงามความดีของรัฐบาลชุดปัจจุบันให้ประธานฟัง โดยประธานตอกกลับว่าจะมาเรียกเก็บเงินสินะ!
ฉากนี้สะท้อนให้ก็นว่าที่ผ่านมาอำนาจของแชอบลผูกโยงเข้ากับพรรคการเมืองที่ได้เป็นรัฐบาลมาตลอด กล่าวคือ เมื่อถึงคราวเลือกตั้ง เปลี่ยนประธานาธิบดี พรรคการเมืองต่างต้องทำแคมเปญหาเสียง ซึ่งต้องใช้เงินจำนวนมาก แล้วพรรคการเมืองในเกาหลีใต้ เดิมทีไม่ได้ร่ำรวยอย่างพรรคก๊กมินตั๋งของไต้หวัน แชบอลจึงกลายเป็นแหล่งทุนสนับสนุนของพรรคเมืองไปโดยปริยาย
เมื่อพรรคการเมืองดังกล่าวชนะ ได้เลือกตั้งเป็นรัฐบาล แชบอลก็ขอผลตอบแทนเป็นนโยบายหรือสิทธิที่เอื้อประโยชน์ในการทำธุรกิจ ซึ่งรัฐบาลไม่สามารถปฏิเสธได้ อย่างในเรื่องประธานจินยางชอลขอผูกขาดธุรกิจเซมิคอนดัคเตอร์ (semi-conductor) แต่เพียงผู้เดียว
เซมิคอนดัคเตอร์ สำคัญไฉน ทำไมประธานจินถึงอยากได้มา แม้ลูก ๆ ในตระกูลต่างเห็นว่าซื้อธุรกิจนี้มามีแต่จะเจ๊ง เพราะญี่ปุ่น กับอเมริกาต่างพากันกดราคาจนเกาหลีสู้ไม่ไหวในตลาดโลก เซมิคอนดัคเตอร์เป็นสารกึ่งตัวนำที่ใช้ทำอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ตั้งแต่ชิ้นส่วนขนาดเล็ก เช่น ชิป หรือแผงวงจร ซึ่งเป็นอะไหล่ชิ้นสำคัญในการผลิตและพัฒนาอุปกรณ์ไฟฟ้า และเทคโนโลยีต่าง ๆ
แน่นอนว่าความต้องการชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์สูงขึ้นเรื่อย ๆ ในช่วงต้นปี 1990s เมื่อเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ และอินเทอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวัน พฤติกรรมของผู้บริโภคจึงเปลี่ยนไป
ประธานจินที่เล็งเห็นโอกาสนี้จึงอยากทำธุรกิจผลิตเซมิคอนดัคเตอร์ เพื่อส่งออกไปขาย ทั้ง ๆ ที่รู้ว่าต้องแข่งกับญี่ปุ่น เหมือนที่บอกกับพระเอกตัวจิ๋วของเราว่า “วาฬสู้กันจนกุ้งหลังหัก ทำยังไงจะให้กุ้งเป็นฝ่ายชนะ?” กุ้งที่ว่านี้ก็คือประเทศเกาหลีใต้นี่เองค่ะ
แล้วถามว่าประธานจินจะประสบความสำเร็จธุรกิจเซมิคอนดัคเตอร์ในอนาคตหรือไม่? ต้องให้พระเอกของเรามาช่วยนั่งเทียนหรือเปล่า? คำตอบคือไปรุ่งแน่นอน หลายคนยังไม่รู้ว่าตัว mainboard ของผลิตภัณฑ์ SONY แบรนด์สินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของญี่ปุ่น ผู้ผลิตคือซัมซุงของเกาหลี ในตลาดโลก เกาหลีกลายเป็นประเทศรับผลิตอะไหล่เพื่อนำไปติดตั้งหรือใช้งานในสินค้าแบรนด์อื่น (Original Equipment Manufacturer: OEM) เพราะต่างชาติมองว่าเกาหลีค่าแรงถูก และผลิตอะไหล่ได้มีประสิทธิภาพ
ย้อนกลับไปหน้านี้ไม่กี่ฉาก ในงานเลี้ยงวันเกิดของประธานจิน ลูกชายคนโตจ้างเชฟที่เรียนทำอาหารในโตเกียวมาทำซูชิให้พ่อกิน แล้วถามพ่อว่าอร่อยมั้ย? เมื่อประธานจินพยักหน้า เขาก็ย้ำว่า...ว่าแล้วเชียว ของในประเทศยังเทียบญี่ปุ่นไม่ได้ แม้แต่ยอดขายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ก็ยังเทียบญี่ปุ่นไม่ติด (บริษัทของประธานจินทำยอดได้ 2.3 ล้านล้านวอน ในขณะที่บริษัทญี่ปุ่นทำยอดขายได้ 20 ล้านล้านวอนอัพ) แต่ลูกชายคนโตของประธานจินก็ยังภูมิใจอย่างน้อย ผลิตภัณฑ์ของซุนยางก็เป็นที่หนึ่งในประเทศ
สถานการณ์ข้างต้น ฉายให้เราเห็นภาพตลาดสินค้าต่างประเทศในช่วงก่อนปี 2000 ว่า คนเกาหลีส่วนใหญ่บ้าเห่อสินค้านอกจากญี่ปุ่น มองว่าสินค้าญี่ปุ่นคุณภาพดี ราคาสูง เทียบเท่าของอเมริกาหรือยุโรป ในขณะที่สินค้าจีนคุณภาพมาตรฐาน ราคาถูก ลำดับ Position brand ในสายตาคนเกาหลีจึงเป็นญี่ปุ่น เกาหลี จีน ตามลำดับ ถ้าต้องซื้อโทรศัพท์สักเครื่อง อาจจะเรียงลำดับแบรนด์ในดังนี้
  • 1.
    Nokia (Finland)
  • 2.
    Motorola (USA)
  • 3.
    Ericsson (Sweden)
  • 4.
    Sumsung (Korea)
ส่วนสาเหตุที่สินค้าเกาหลีขายดีในประเทศก็ต้องตอบว่า รัฐบาลตั้งแต่สมัยพัคจองฮีในทศวรรษ 1960 ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบปิดประเทศมาตลอด ลดค่าเงินวอน เพิ่มการส่งออก ขณะเดียวกันก็ยกกำแพงภาษีให้สูง ไม่ให้ต่างชาติเข้ามาแข่งขันสินค้าภายในประเทศ ราคาสินค้าอุปโภคบริโภคอยู่ในระดับที่ถูก เพราะค่าจ้างแรงงานถูก ต้นทุนการผลิตต่ำ รวมถึงประชาชนส่วนใหญ่ต้องการช่วยเหลือคนในประเทศด้วยกันเอง จึงเลือกอุดหนุน national brand เข้าตำรา เกาหลีทำ เกาหลีซื้อ เกาหลีใช้
1
กว่าเกาหลีจะยอมเปิดประเทศ ให้แบรนด์ต่างชาติเข้ามาค้าขายก็ช่วงต้นปี 1990เลยค่ะ เพราะเกาหลีเองก็เริ่มอยากขายของตัวเองให้ประเทศอื่นบ้าง เลยต้องผ่อนปรน ลดกำแพงภาษี
ประเด็นถัดมาที่จะชวนเม้าคือ ประธานจินจะให้เงินสนับสนุนนักการเมืองคนไหน แล้วเพราะอะไรพระเอกวัยจิ๋วของเราถึงปักธงโนแทอู?
ก่อนที่ประธานจินจะตัดสินใจให้เงินสนับสนุน คนของทำเนียบมาขายของ อวยว่ารัฐบาลปัจจุบันห่วงใยและใส่ใจประชาชน เป็นบิดาประชาธิปไตยของประเทศจากการออกปฏิญญา 6.29
2
Hidden message ที่ซ่อนในฉากนี้ ก่อนจะไปถึงปฏิญญา 6.29 ต้องสรุปย่อ ๆ ให้คุณผู้อ่านเข้าใจสภาพสังคม การเมืองเกาหลีใต้ ช่วงปี 1950-1987 ก่อนว่า แม้เกาหลีจะปกครองด้วยระบบประชาธิปไตย แต่ประธานาธิบดีที่ได้มานั้นมาจากการเลือกตั้งจากประชาชนจริง ๆ นับครั้งได้ ที่เหลือคือประธานาธิบดีแก้กฎหมาย เพิ่มวาระให้ตัวเองได้สืบอำนาจ โดยประธานาธิบดีในยุคดังกล่าวเป็นทหารเกือบทั้งหมด
Gwangju Uprising in 1980
แน่นอนว่าต้องมีการประท้วง ชุมนุมต่อต้าน ขับไล่รัฐบาลที่ไม่ชอบธรรมอยู่แล้ว แต่ทางฝ่ายรัฐบาลก็ตั้งหน่วยงานเข้ามาปราบปราบ และจัดการอยู่เนือง ๆ ไล่คนเก่าไปได้ คนใหม่ที่มาแทนก็เป็นลูกน้อง หรือสมาชิกในพรรคเดิม ทำให้การเมืองเกาหลีวนเป็นวงจรอุบาทว์ จุดพีคในปี 1980 กลุ่มนักศึกษา ปะชาชนออกมาประท้วงที่เมืองกวังจู เพื่อขับไล่ช็อนดูฮวาน ประธานาธิบดีคนที่ 5 ที่สืบทอดอำนาจต่อจากรัฐธรรมนูญยูชินของรัฐบาลพัคจองฮี ผลลัพธ์คือเกิดการสังหารหมู่นักศึกษาจำนวนมาก
ประธานาธิบดีคนที่ 5 ช็อน-ดูฮวาน นักการเมืองสายทหาร
หลายปีต่อมา ประชาชน นักศึกษาออกมาประท้วงให้รัฐบาลรับผิดชอบเหตุการณ์สังหารหมู่ที่เกิดขึ้น รวมถึงพรรคฝ่ายค้านออกมาเดินขบวน ล่ารายชื่อเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับยูชินที่มีลักษณะเผด็จการ การชุมนุมลุกลามไปถึงกลุ่มสหภาพแรงงาน พนักงานออฟฟิศ ซึ่งถูกนายจ้าง และนายทุนเอารัดเอาเปรียบเรื่องค่าแรง พรรคฝ่ายค้านที่ว่านี้มีหัวหอกหลัก ๆ ที่ต่อต้านรัฐบาลทหารอยู่ 2 คน คือ “คิมแดจุง” และ “คิมยองซัม” (จำชื่อ 2 คนนี้ไว้ให้ดีนะคะ)
ในปี 1987 เกิดกลุ่มสหพันธ์ประชาธิปไตยขนาดใหญ่ต่อต้านรัฐบาลทหาร เรียกร้องให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเด็ดขาด โดยในเดือนพฤษภาคม - มิถุนายน พรรครัฐบาลเตรียมจะส่ง “โนแทอู” นักการเมืองสายทหาร เพื่อนซี้ซ็อนดูฮวานลงสมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีสมัยหน้า เพื่อสืบทอดอำนาจต่อ ประชาชนหมดอาลัยตายอยากกับพรรครัฐบาลชุดนี้จึงลุกฮือออกมาชุมนุมกันหลักล้านทั้งประเทศ ไม่กลัวการปราบปรามจากเจ้าหน้าที่รัฐ
โนแทอู นักการเมืองสายทหาร สังกัดพรรครัฐบาลเดียวกับช็อน-ดูฮวาน
วันที่ 20 มิถุนายน รัฐบาลเตรียมจะประกาศสภาวะฉุกเฉิน ปราบปรามการชุมนุมครั้งใหญ่เหมือนเหตุการณ์ปี 1980 ที่กวังจู แต่ในวันที่ 29 มิถุนายน รัฐบาลเกิดเปลี่ยนใจยอมรับข้อเรียกร้องของประชาชนที่ออกมาเดินขบวน กล่าวคือ ตรวจสอบเหตุการณ์สังหารหมู่ที่ควังจู คืนความยุติธรรมให้กับเหยื่อที่เสียชีวิต แก้ไขรัฐธรรมนูญให้ประชาชนเป็นเจ้าของอำนาจแท้จริง โดยสภาสมัชชาต้องมาจากการเลือกตั้ง และประธานาธิบดีอยู่ได้วาระเดียว หรือ 5 ปี (ซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้ใช้มากระทั่งถึงปัจจุบัน)
การยอมรับข้อเรียกร้องในวันที่ 29 เดือน 6 นี้เองก็คือที่มาของ “ปฏิญญา 6.29” ค่ะ ส่วนคนในทำเนียบที่มาขอเงินสนับสนุนจากประธานจินในซีรีส์ Reborn Rich ก็มาจากรัฐบาลช็อนดูฮวาน
สงสัยกันต่อใช่มั้ยคะ ทำไมลูก ๆ ของประธานจินถึงเชียร์ดีเจกับวายเอส? (เอ๊ะ! ใช่ค่ายเดบิ้วศิลปินหรือเปล่า?) ในขณะที่พระเอกจิ๋วของเราบอกให้เลือก โนแทอู พรรครัฐบาลปัจจุบันที่ดูทรงแล้วเข็นไปต่อไม่ไหว ประชาชนเหม็นขี้หน้าสุด
มาไขคำตอบกันค่ะ
  • ดีเจ DJ = คิมแดจุง Kim Dae-jung
  • วายเอส YS = คิมยองซัม Kim Young-sam
คิมแดจุง (ซ้าย) | คิมย็องซัม (ขวา)
ทั้งสองคนสังกัดพรรคฝ่ายค้าน ร่วมแรงร่วมใจต่อต้านรัฐบาลทหารมาตลาด จินดงกีลูกชายคนที่สอง บอกประธานจินว่าควรสนับสนุนคิมแดจุง เพราะเป็นที่นิยมในกลุ่มนักศึกษาและประชาชน ในขณะที่ลูกสาวคนที่สาม บอกให้สนับสนุนคิมยองซัม เพราะคิมแดจุงมีศัตรูเยอะ เรื่องนี้แน่นอนค่ะ เพราะคิมแดจุงเคยวิจารณ์ ต่อต้านรัฐบาลทหารสมัยพัคจองฮี จนต้องหนีตายถึง 2 ครั้ง
อย่างไรก็ตามการลงสมัครชิงตำแหน่งเดี่ยวดันไม่ได้เกิดขึ้นตามที่พระเอกคิดไว้ ในหน้าประวัติศาสตร์ คิมแดจุงกับคิมยองซัมสุดท้ายกลายมาเป็นเพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด ความเห็นไม่ตรงกัน เปิดศึก ลงสมัครเลือกตั้งประธานาธิบดีทั้งคู่ แทนที่จะลงสมัครคนเดียว (ประมาณว่า...จะได้รู้กันไปเลยว่าใครดีกว่ากัน) ทำให้เกิดการแย่งฐานเสียงกันเอง
โนแทอู (ซ้าย) | ช็อนดูฮวาน (ขวา)
การเลือกตั้งในปี 1988 สุดท้ายชัยชนะควรจะเป็นของพรรคฝ่ายค้าน เพราะประชาชนต่อต้านรัฐบาลทหารสุดขีด กลับตกเป็นของโนแทอู รัฐบาลชุดก่อนในที่สุด
แม้จะจบการเลือกตั้ง โนแทอูได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีแล้ว ทำไมจินโดจิน ยังเชียร์ให้ประธานจินให้เงินสนับสนุน ดีเจ และวายเอสต่อ?
คำตอบก็คือ หลังโนแทอูหมดวาระไปแล้ว คิมยองซัม นักการเมืองสายพลเรือน ขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีคนที่ 7 ของเกาหลีใต้ในปี 1993 ส่วนคิมแดจุงรับตำแหน่งประธานาธิบดี คนที่ 8 ในปี 1998 หรือสมัยถัดมา
เนื้อหาพาร์ทการเมืองและเศรษฐกิจที่เม้ามานี้ บางคนอาจจะรู้สึกยังไม่ได้ฟิลลิ่ง ขอจัดหนักกว่านี้อีก ซอขออนุญาตป้ายยาให้ไปอ่านเวอร์ชันเต็มได้ที่ลิงก์ด้านล่างนี้นะคะ ซอเคยเขียนไว้ตอนเรื่อง Snowdrop ออนแอร์ (ส่วนถ้าใครเคยอ่าน EP snowdrop มาก่อนอาจจะรู้สึกเดจาวูนิด ๆ เพราะซอหยิบมาเล่าใหม่นั่นเองค่า) ⬇️
ถ้าคุณผู้อ่านท่านใดสนใจอยากเรื่องราวของแชบอลเพิ่มเติม และอยากท่องเวลาย้อนกลับไปยุค 90s เพื่อให้อินกับซีรีส์ Reborn Rich EP3 ที่จะเริ่มเล่าเหตุการณ์ในปลายทศวรรษ 90s ซอขออนุญาตฝากร้านเป็น blog จากเรื่อง EP Twenty-five Twenty-One ไว้ให้อ่านกันนะต่อนะคะ ⬇️
Topic กล่องแอปเปิ้ลปริศนา กับกุญแจรถคืออะไร?
หลังจากดูลาดเลาว่าสองคิมทะเลาะกัน แย่งกันลงสมัคร ทำให้ประธานจินตัดสินใจให้เงินสนับสนุนโนแทอู ตามคำแนะนำของพระเอกจิ๋ว ถึงตรงนี้ทุกคนอาจจะงงว่าทำไมมีฉากลูกชายคนโตของประธานจิน ขับรถขนลังแอปเปิ้ลไปมอบให้คนชมรมปีนเขา ลังแอปเปิ้ล (Apple box) ที่เห็นนี้ไม่ใช่ผลไม้แต่อย่างใดค่ะ ข้างในใส่เงินดอลลาร์สหรัฐไว้อยู่ ซึ่งการให้เงินใส่ลังแอปเปิ้ลเต็มคันรถเป็นธรรมเนียมการติดสินบนของแชบอลกับพรรครัฐบาลในช่วงปี 1960s-1980s
บางทีก็มีคนลือว่ามีคนมาส่งแอปเปิ้ลที่ทำเนียบประธานาธิบดี ก็คือการส่งสวยดี ๆ นี่เองค่ะ อย่างฉากส่งกุญแจรถให้นี่ ก็คือให้ไปขับรถขนเงินซะนะ ฉันเตรียมเงินไว้ให้คุณแล้ว
ของรางวัลที่ดินย่านบุนดัง เมืองซองนัม มีมูลค่าขนาดที่ขอเป็นรางวัลได้อย่างไร?
ย่านบุนดัง เมืองซองนัม ภูมิภาคคยองกี ซึ่งพระเอกจิ๋วขอเป็นของรางวัลแทนเงินนั้น ตั้งอยู่ด้านล่างของกรุงโซล ใกล้กับย่านคังนัม ปัจจุบันเดินทางด้วยรถไฟประมาณ 15 นาทีก็ถึง แน่นอนในช่วงปลายทศวรรษ 1980s คังนัม และบุนดังยังไม่เจริญมากเท่าที่ควร แม้จะมีการสร้างถนน ตึกราบ้านช่องบริเวณนี้แล้ว แต่พื้นที่บางแห่งก็ยังรกร้าง เป็นสลัมคนจน ไม่ก็เป็นป่ารกทึบอยู่ ทำให้พื้นที่ไม่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจแต่อย่างใด
ภาพย่านคังนัม (강남) กรุงโซล ในทศวรรษปี 1980
ภาพย่านบุนดัง (분당구) เมืองซองนัม ในปีทศวรรษ 1980
คุณผู้อ่านอาจจะสงสัยว่าทำไมคังนัมในสมัยก่อนถึงมีความเป็นชนบท ไกลปืนเที่ยง ไม่มีคนอยู่ คำตอบก็ต้องย้อนกลับไปในสมัยโชซอนเลยค่ะ กษัตริย์โชซอนเลือกสร้างพระราชวังเกือบทั้งหมดอยู่บริเวณ “คังบุก” (강북) หรือ เหนือแม่น้ำฮัน (한강; 漢江) แม่น้ำสายหลักที่ไหลผ่ากลางกรุงโซล
โดยพื้นที่เหนือแม่น้ำฮันขึ้นไปนั้น ด้านหลังเป็นที่ตั้งของภูเขา อย่างพระราชวังคยองบกอยู่ด้านหลังภูเขาพุกคัน (북한산) ซึ่งเป็นทำเลหรือตำแหน่งที่ดีที่สุด (명당; 明堂) ตามหลักฮวงจุ้ย (풍수; 風水) กล่าวคือนิยมสร้างอาคารที่มีลักษณะภูมิศาสตร์หันหน้าเข้าหาน้ำ และด้านหลังพิงภูเขา (배산임수; 背山臨水)
ทำเลที่ตั้งของพระราชวังคยองบก (경복궁)
แม้แต่ชองวาแด หรือทำเนียบประธานาธิบดี ก็ตั้งตามหลักฮวงจุ้ยนี้ คือด้านหน้ามีคลองชอง-กเย (청계천) และแม่น้ำฮัน ส่วนด้านหลังเป็นภูเขาพุกคันเช่นเดียวกับพระราชวังคยองบก
(แต่ประธานาธิบดีคนปัจจุบันยุนซ็อกยอล ย้ายออกไปแล้ว ไม่ได้ทำงานที่นี่นะคะ ไปทำงานที่กระทรวงกลาโหมแทน มีคนลือว่าปธน.ยุน กลัวอาถรรพณ์ปธน. คนก่อน ๆ ที่บั้นปลายชีวิตหรือท้ายวาระพบกับจุดจบไม่ดี แล้วก็ฮวงจุ้ยที่ว่าดี ก็มีซินแสทักว่าการที่ตัวอาคารหลักตั้งพิงยอดเขาสูงชั้น ดูเหมือนหัวมังกร ทำให้มังกรถูกกักขังไว้ข้างใน)
ดังนั้นความเจริญ ถนนหนทาง อาคารราชการ บ้านขุนนางต่างพระเนตรพระกรรณ ห้างหรู จึงตั้งอยู่เหนือแม่น้ำฮันมาตั้งแต่สมัยโชซอนลากยาวมาถึงราวยุคทศวรรษ 1960s-1970s เลยค่ะ ทำให้พื้นที่เขตล่างแม่น้ำฮัน หรือที่เรียกว่า “คังนัม” (강남) กลายเป็นพื้นที่ไกลปืนเที่ยง หรือเขตชนบทที่ไม่มีใครสนใจโดยปริยาย
ย่านบุนดัง เมืองซองนัม ในทศวรรษ 1990
ทว่าในปลายทศวรรษ 1980s ย่างก้าว 1990s เกาหลีใต้พัฒนาประเทศให้เป็นอุตสาหกรรมทันสมัยมากขึ้น ธุรกิจก่อสร้าง โรงงานอุตสาหกรรมและเทคโนโลยีต่าง ๆ เจริญเติบโตต่อเนื่อง พื้นที่บริเวณเหนือแม่น้ำฮันย่อมต้องแออัด จึงเกิดการระบายที่ตั้งโรงงาน และย้ายถิ่นฐานของคนเมืองไปบริเวณล่างแม่น้ำฮัน พื้นที่ดังกล่าวหรือคังนัม ในเวลาต่อมาจึงมีมูลค่าอสังหาริมทรัพย์แพงที่สุด และมีการพัฒนาพื้นที่อยู่ตลอดเวลา ทั้งคอนโด และอพาร์ทเมนต์หรู ต่างก็ตั้งอยู่บริเวณนี้
ในกรณีของย่านบุนดัง ประธานจินบอกที่ดินตรงนั้นไม่มีประโยชน์ เพราะใช้ทำเครื่องปั้นดินเผา แต่ต่อมาในช่วงต้นทศวรรษ 1990s เริ่มมีคอนโดหรูเข้ามาก่อสร้าง และในช่วงต้นปี 2000 ได้รับการพัฒนาในฐานะเมืองใหม่ ความที่เป็นเขตเมืองเก่า ต่างจากโซลทำให้บุนดังเป็นเมืองที่สะอาดตา ถนนออกแบบมาอย่างดี บนถนนไม่มีเสาโทรศัพท์ เป็นที่ตั้งของสำนักงานบริษัทชั้นนำด้านไอที และความบันเทิง เช่น Naver Nexon KakaoTalk นอกจากนี้ยังมีคาเฟ่ และร้านอาหารสไตล์ยุโรปอีกด้วย ราคาที่ดินในปัจจุบันแพงพอ ๆ กับย่านคังนัม
เงื่อนไขที่ใช้เงินซื้อไม่ได้ คือหนังสือตอบรับเข้าศึกษาคณะนิติศาสตร์ ม.โซล
มหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล (Seoul National University) แฟน ๆ ซีรีส์เกาหลีคงได้ยินชื่อนี้คุ้นหูในซีรีส์รั้วมหาวิทยาลัยอยู่บ่อย ๆ แน่ เพราะม.โซล เป็นมหาวิทยาลัยอันดับ 1 ของเกาหลีใต้ วัดจากคะแนน ranking ของมหาวิทยาลัยทั้งประเทศ โดยจากหนังสือพิมพ์ Korea JoongAng Daily ปี 2022 เดือนพฤศจิกายน รายงานว่าปัจจุบัน ม.โซล ทำสถิติติดท๊อปอันดับ 1 มา เป็นระยะเวลา 7 ปีมาแล้ว และคณะที่มีชื่อเสียงที่สุดก็ต้องยกให้คณะนิติศาสตร์ (อารมณ์ถ้าจะเรียนกฎหมายที่ไทย ก็ต้องเลือก มธ.)
ถ้าใครดูซีรีส์ Extraordinary Attorney Woo หรือทนายอูยองอู น่าจะจำได้ว่านางเอกของเรื่องก็จบจาก law school เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง มาจากม.โซล แม้จะเป็นออทิสติก แต่เพราะดีกรีจาก ม.โซล ยังต้องทำให้ทนายจุนมยองซอก ซึ่งเป็นหัวหน้าพิจารณามองอูยองอูใหม่ รวมถึงทนายควอนมินอูซึ่งไม่ได้จบจากม.โซล เกิดความอิจฉาริษยาเล็กน้อย
พิพิธภัณฑ์แห่งชาติเกาหลีด้านหลังประตูควังฮวามุน สัญลักษณ์ของอะไร?
ถ้าจะให้เห็นภาพมากขึ้น ต้องชวนมองไปด้านหลังของพิพิธภัณฑ์แห่งชาติเกาหลีค่ะ ซึ่งจริง ๆ บริเวณที่ตั้งของอาคารดังกล่าว และพื้นที่ด้านหลังอาคาร คือพระราชวังคยองบก ที่ประทับของเชื้อพระวงศ์ในสมัยโชซอน ก่อตั้งในปี 1394 ในรัชสมัยของพระเจ้าแทโจ ปฐมกษัตริย์ โดยจำลองผังสถาปัตยกรรมมาจากพระราชวังกรุงนานกิงของราชวงศ์หมิง (the Forbidden city of Nanjing) ถูกใช้เป็นพระราชวังหลักสลับกับพระราชวังชางด็อก เพราะมีช่วงที่พระราชวังคยองบกถูกเผาทำลาย ต้องบูรณะอยู่บ่อย ๆ
ประตูควังฮวามุน พระราชวังคยองบกในปี 1900 ก่อนญี่ปุ่นจะเข้ายึดครองเกาหลี
ท้องพระโรงที่กษัตริย์ใช้ว่าราชการ
พระราชวังคยองบกเป็นสัญลักษณ์ของความยิ่งใหญ่ของอาณาจักรโชซอนอีกด้วย ด้วยเป็นศูนย์รวมอำนาจของชนชั้นนำ ผู้ปกครองประเทศ เมื่อเกาหลีตกเป็นอาณานิคมของญี่ปุ่น พระราชวังคยองบกจึงถูกแปรสภาพการใช้งานเป็นที่ทำการรัฐบาลแห่งใหม่ มีการดัดแปลงอาคารสร้างอาคารแบบตะวันตกคร่อมหน้าพระราชวัง บังทัศนียภาพของตัววังและหมู่พระตำหนักทั้งหมด นัยหนึ่งเป็นการทำลายความเป็นเกาหลีให้หมดสิ้น
หลังเกาหลีได้รับเอกราช และญี่ปุ่นหมดอำนาจลง อาคารดังกล่าวถูกใช้เป็นพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ ตามที่ปรากฏในซีรีส์ Reborn Rich
รูปบน ช่วงที่ญี่ปุ่นเข้ายึดครองเกาหลี สร้างอาคารตะวันตกคร่อมพระราชวัง | รูปล่าง หลังเกาหลีได้รับเอกราช มีการสร้างประตูควังฮวามุนขึ้นมาใหม่
ในปี 1968 รัฐบาลเกาหลีได้บูรณะพระราชวังคยองบก หลังเสียหายจากสงครามโลกและสงครามเกาหลี โดยเน้นซ่อมแซมตัวพระราชวัง กำแพง และประตูควังฮวามุนขึ้นใหม่ ด้านหน้าพิพิธภัณฑ์แห่งชาติ เพื่อบังอาคารดังกล่าว และรื้อส่วนอาคารตะวันตกให้แยกออกจากพระตำหนักต่าง ๆ
ถัดมาในปี 1995 อาคารหลังนี้จึงถูกทุบทิ้งในที่สุด และมีการบูรณะพระราชวังครั้งใหญ่ สร้างทางเดิน ตำหนักและพลับพลาใหม่ ตลอดจนปรับปรุงสวนต่าง ๆ ให้เป็นสถานที่สำคัญของชาวเกาหลี
ละครเรื่องนี้ไม่ใช่ละครแฟนซี เรื่องเหนือวิญญาณ พระเอกไม่ได้สิงร่าง กลับชาติมาเกิดใหม่ แต่ได้รับโอกาสที่จะเริ่มต้นชีวิตใหม่!
ท้าย Reborn Rich EP2 พระเอกในวัย 19 ซึ่งเข้าเรียนในคณะนิติศาสตร์ ม.โซลได้สำเร็จได้บอกกับคนดูไว้ว่า เขาได้รับโอกาสให้ใช้ชีวิตใหม่ พร้อมย้ำว่านี่ไม่ใช่เรื่องเหนือจินตนาการ ผิดธรรมชาติ จะมาโยงเข้าผีสางไม่ได้นะ
ขอบคุณภาพจากเพจเฟสบุ๊ก โคตรฮิต
ฉากนี้สะท้อนให้คนดูเห็นค่านิยม แนวคิดของคนเกาหลีได้เป็นอย่างดีค่ะว่าความสำเร็จ หรือสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตนั้นไม่ได้มาจากชาติตระกูล คนในสังคมเท่าเทียมกัน การที่จินโดจินสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงได้ ก็ไม่ได้ยัดเงินเข้า หรือสอบติดเพราะมาจากตระกูลแชบอล แต่มาจากความสามารถของเขาเอง
คนเกาหลีในสมัยโชซอนเลื่อนชนชั้น หรือสถานะของตัวเองได้ยาก เพราะถูกแนวคิดขงจื๊อใหม่ครอบไว้มิด ไม่กล้าขัดต่อคำสอน แต่คนเกาหลีในสมัยปัจจุบันส่วนใหญ่เลื่อนชนชั้นของตัวเองด้วยการศึกษา ชีวิตจะก้าวหน้าได้ ต้องหาความรู้ และพัฒนาตัวเองอยู่ตลอด สังคมเกาหลีจึงเต็มไปด้วยการแข่งขัน ถึงแม้จะมีความเหลื่อมล้ำทางรายได้ แต่เรื่องการศึกษานั้น ไม่ว่าคุณจะอยู่ในชนบทหรือในเมืองก็ต้องขยันเรียนทุกคนเพื่ออนาคต
อย่างในพาร์ทปี 2022 พระเอกในบทหัวหน้ายุน แม้จะจบการศึกษาระดับมัธยมปลาย แต่ก็ฝ่าฟันจนเข้ามาทำงานเครือซุนยังกรุ๊ปได้ พอเลิกงานก็ไม่ได้กลับบ้าน แต่เลือกเรียนพิเศษ หา soft skill หรือทักษะอื่น ๆ เพิ่มเติมชดเชยที่ตัวเองไม่ได้เรียนมหาวิทยาลัยมา หรือไม่ก็ทำ OT โดยที่ไม่ได้ค่าจ้าง ที่เป็นแบบนี้ก็เพราะคนเกาหลีมีค่านิยมแบบขงจื๊อถือว่าบริษัทเปรียบเสมือนบ้านและครอบครัวของตน ชาติต้องมาก่อนครอบครัว ส่วนครอบครัวต้องมาก่อนตัวเอง ก่อนปี 2000 คนเกาหลีทำงาน 6 วัน (จันทร์-เสาร์)
วันนี้ซอขอจบ Blog แบบแหกกฎสปอยล์ ชวนเม้ามอยสไตล์เกาแต่เพียงเท่านี้ แล้วเจอกันใหม่ Ep.7 นะคะ บางประเด็นถ้าใครตามอ่าน Blog ของซอมาอาจจะรู้สึกคุ้น ๆ เหมือนชิม “เหล้า(เล่า)เก่า” ใน “ขวดใหม่” คิดเสียว่าได้รีเพลย์ทบทวนประวัติศาสตร์การเมือง เศรษฐกิจเกาหลีช่วงหัวเลี้ยวหัวต่ออีกครั้งแล้วกันนะคะ รับรองว่าซีรีส์เรื่องหน้า มีไทม์ไลน์ยุค 80-90s โผล่มาอีก คุณผู้อ่านต้องเป็นเซียนแกะ hidden scene ได้แน่นอนค่ะ
รับชมละครเรื่อง Reborn Rich ซับไทยแบบถูกลิขสิทธิ์ได้ทางแอปพลิเคชัน Viu ทุกวันศุกร์-เสาร์-อาทิตย์ เวลา 22.00 เป็นต้นไปค่ะ
Fun Fact about Korean
- คัก-คา (각하; 閣下) ในช่วงบทสนทนาระหว่างประธานจิน กับคนจากทำเนียบประธานาธิบดี หรือประธานจินกับประธานาธิบดี รวมถึงนักการเมืองทหารในเรื่อง Snowdrop เวลาต่อสายโทรศัพท์คุยกับนายใหญ่ มักจะได้ยินคำว่า “คัก-คา” ลงท้ายเสมอ คำนี้ถ้าเทียบกับภาษาไทยก็อารมณ์คำนำหน้า ฯพณฯ (พะนะท่าน) ใช้นำหน้าชื่อหรือตำแหน่งข้าราชการผู้ใหญ่
แต่คักคา ใช้เป็นคำลงท้ายประธานาธิบดี เช่น 대통령 각하 (แท-ทง-นยอง / คัก-คา) หรืออาจใช้แทนประธานในประโยคที่ดำรงตำแหน่งสูงก็ได้ค่ะ
2022년 11월 21일 - 서지혜 쓴 글.
References
แหล่งอ้างอิงข้อมูลที่ซอใช้เขียน Blog ep นี้ เกือบทั้งหมดเป็นแหล่งเดิมกับที่ใช้เมื่อตอนเขียน EP.2 ความรักบนเส้นขนานที่ 38: ประชาธิปไตยเกาหลีใต้ที่กำลังเบ่งบานเฉกเช่น Snowdrop ถ้าคุณผู้อ่านคนไหนสนใจอยากไปตามค้นคว้าต่อ สามารถดูได้ช่วงท้ายของ https://shorturl.asia/RjZTm
โฆษณา