24 พ.ค. 2019 เวลา 11:59 • ธุรกิจ
หัวเว่ย...ธุรกิจนี้เพื่อชาติ
ตอนที่ 6
หลังจาก เหริน เจิ้งเฟย ตั้งใจแน่วแน่แล้วว่าต้องการให้หัวเว่ยขึ้นแท่นผู้นำเทคโนโลยีโทรคมนาคมระดับโลก และใช้เทคโนโลยีสร้างความมั่นคงให้ชาติ
เพื่อให้ความคิดนี้บรรลุผลด้วยความรวดเร็ว ทางลัดของ เหริน เจิ้งเฟย คือ การสร้างนวัตกรรมหรือผลิตภัณฑ์ใหม่โดยการปรับปรุงของเดิมที่มีอยู่แล้ว
หรือไม่ก็จ่ายเงินซื้อเทคโนโลยีของคนอื่นมาปรับปรุง เนื่องจากเขาเห็นว่าการจะทำเองทุกอย่างคงทำให้ไม่ทันกับเวลาและความต้องการของตลาดในเวลานั้น เนื่องจากหัวเว่ยด้อยกว่าคู่แข่งระดับโลกในหลาย ๆ ด้าน
ตัวอย่างเช่นเรื่องของเทคโนโลยีการส่งด้วยแสงระยะสั้น หรือ Optical Transmission นั้น หัวเว่ยใช้วิธีซื้อมาจากบริษัทที่อยู่ในระดับแนวหน้าของโลกอย่างบริษัท ออพติไมท์ ของอเมริกาในปี 2002 ด้วยราคาเพียงสี่ล้านดอลลาร์จากการประมูลสินทรัพย์ของบริษัทที่ที่ล้มละลาย
หลังจากผ่านการวิจัยซ้ำ ๆ ถึงเก้าเดือนก็ประสบความสำเร็จในพัฒนาต่อยอดจนทำให้สามารถส่งข้อมูลผ่านแสงด้วยระยะทางถึง 4,600 กิโลเมตร เมื่อนำเข้าตลาดจึงทำให้ได้รับการตอบรับอย่างรวดเร็ว
เทคโนโลยีนี้ทำให้หัวเว่ยชนะการประมูลโครงการนำแสงที่ระยะทาง 18,000 กิโลเมตร ซึ่งนับยาวที่สุดในโลกของรัสเซียในปี 2003 นอกจากนี้ยังชนะการประมูลโครงการใยแก้วนำแสงขนาดใหญ่ที่สุดในลาตินอเมริกาในปี 2004 ด้วยระยะเวลาสั้น ๆ เพียงสองปีหัวเว่ยก็สามารถก้าวเข้ามาเป็นผู้นำของวงการได้สำเร็จ
นอกจากการหาซื้อสิทธิบัตรมาพัฒนาต่อยอดจนประสบความสำเร็จแล้ว หัวเว่ยยังใช้วิธีการแลกเปลี่ยนสิทธิบัตรทางปัญญากับบริษัทระดับโลกอย่าง อีริคสัน อัลคาเทล โนเกีย-ซีเมนส์ และควอลคอมม์
เช่นในกรณีของการแลกเปลี่ยนสิทธิบัตรเทคโนโลยีบรอดแบนด์ DSLAM หรืออุปกรณ์ส่งสัญญาณเพื่อเข้าถึงสายผู้เช่าดิจิตอล ซึ่งเป็นการคิดค้นของอัลคาเทล กับเทคโนโลยีสถานีฐานส่งสัญญาณมือถือซึ่งเป็นการคิดค้นของหัวเว่ย หลังจากเจรจาอยู่สองปีในที่สุดหัวเว่ยก็บรรลุข้อตกลงในการแลกเปลี่ยนสิทธิบัตรกับอัลคาเทล
หลังจากนั้นเพียงไม่นานเทคโนโลยี DSLAM ที่หัวเว่ยนำมาพัฒนาต่อยอดก็ครองตลาดเป็นอันดับสองของโลกในปี 2007 และแซงต้นตำรับอย่างอัลคาเทลจนขึ้นแท่นผู้นำอันดับหนึ่งได้สำเร็จในปี 2008
ด้วยวิธีคิดอันชาญฉลาดของ เหริน เจิ้งเฟย หัวเว่ยไม่เพียงได้เทคโนโลยีสำคัญโดยไม่ต้องเริ่มจากศูนย์ แล้วยังทำให้หัวเว่ยเข้าแข่งขันในตลาดได้อย่างรวดเร็ว
นอกจากวิธีการดังกล่าวแล้วหัวเว่ยยังใช้วิธีการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของจีนอย่าง มหาวิทยาลัยซิงหัว มหาวิทยาลัยปักกิ่ง มหาวิทยาลัยโพสต์แอนคอมมิวนิเคชั่นปักกิ่ง ในการค้นคว้าและพัฒนาระบบออปติคอลเน็ตเวิร์ค ระบบ CDMA และเทคโนโลยีการสื่อสารดิจิตอล
นอกจาการร่วมมือกับสถาบันวิจัยในประเทศแล้วหัวเว่ยยังร่วมมือกับไอบีเอ็ม, อินเทล, ไมโครซอฟท์, เท็กซัสอินสทรูเมนต์, เอเกียร์, อัลเทอร่า, ซัน, และบริษัทอื่น ๆ อีกนับร้อยบริษัทในการตั้งห้องแล็บและวิจัยร่วมกันด้าน Computer terminal 3G และ 4G
นอกจากการตั้งห้องวิจัยร่วมกับบริษัทชั้นนำระดับโลกแล้วพวกเขายังร่วมทุนตั้งบริษัทและศูนย์วิจัยร่วมกับ เอ็นอีซี พานาโซนิค ซีเมนส์ และโมโตโรลา เพื่อเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากงานวิจัยร่วมกันอีกด้วย
จากการเข้าไปร่วมมือกับบริษัทชั้นนำต่าง ๆ นี้ทำให้งานวิจัยและพัฒนาของหัวเว่ยก้าวหน้าขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันยังทำให้เจ้าหน้าที่ระดับสูงของหัวเว่ยได้ดูดซับการทำงานและมาตรฐานการวิจัยระดับโลกแบบที่จีนไม่เคยมี
แต่ตลาดเทคโนโลยีการสื่อสารที่ควบคุมด้วยโปรแกรมบรอดแบนด์ หรือเทคโนโลยี 3G ซึ่งเป็นเทคโนโลยีระดับหัวใจนั้นมีต้นกำเนิดจากประเทศในยุโรป หัวเว่ยเพียงแค่นำมาพัฒนาต่อยอดและเป็นผู้ตามมาโดยตลอด
แม้หัวเว่ยจะไม่ได้เปรียบในเทคโนโลยีระดับหัวใจนี้แต่หัวเว่ยก็พยายามสร้างข้อได้เปรียบให้ตัวเองด้วยการเป็นผู้ผลิตชิปด้วยตัวเอง
โดยในปี 1992 หัวเว่ยตั้งทีมงานเฉพาะกิจเพื่อออกแบบวงจรรวมสำหรับผลิตชิป หลังจากใช้ความพยายามอยู่ถึงสี่ปี พวกเขาก็ประสบความสำเร็จสามารถผลิตชิปสำหรับตู้สาขาโทรศัพท์ที่ควบคุมด้วยโปรแกรมระดับล้านเลขหมาย หลังจากนั้นก็ประสบความสำเร็จในการผลิตชิปสำหรับการส่งสัญญาณนำแสง บรอดแบนด์ มัลติมีเดีย GSM CDMA 3G และ 4G
เมื่อการผลิตชิปของหัวเว่ยประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ในปี 2004 หัวเว่ยจึงแยกศูนย์ออกแบบวงจรรวมที่ทำหน้าที่ผลิตชิปออกเป็นบริษัทในชื่อ ไฮซิลิคอน เพื่อผลิตชิปส่งไปขายทั่วโลก
ไฮซิลิคอนเติบโตอย่างรวดเร็วและสามารถคิดค้นแผ่นชิปและจดทะเบียนสิทธิทางปัญญากว่าสองพันรายการ จนกลายเป็นที่รู้จักในวงการผลิตชิปของโลก
แม้ เหริน เจิ้งเฟย จะพาหัวเว่ยก้าวผ่านด่านสำคัญในการสร้างเทคโนโลยีเป็นของตัวเองได้สำเร็จ แต่ยังมีอีกด่านหนึ่งที่สำคัญมากไม่แพ้กันคือการบริหารจัดการ
เหมือนเช่นเดิมคือจีนยังไม่เคยมีบริษัทที่เป็นผู้นำทางด้านเทคโนโลยีในธุรกิจระดับโลก การที่จะทำให้หัวเว่ยก้าวผ่านจุดนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย การมีรัฐบาลให้การสนับสนุนอย่างเดียวคงไม่เพียงพอ มันต้องมีอะไรที่มากกว่านั้น
อยากรู้ว่าสิ่งนั้นคืออะไร ฝากติดตามเรื่องราวของหัวเว่ย...ธุรกิจนี้เพื่อชาติ ในตอนต่อไปจากเพจ pordee ด้วยนะคะ
ตามอ่านบทความชุด “หัวเว่ย...ธุรกิจนี้เพื่อชาติ” ได้ตามลิ้งค์นี้นะคะ
Reference : หัวเว่ย จากมดสู่มังกร

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา