20 มิ.ย. 2023 เวลา 05:10

ถ้ามีสติปัฏฐาน 4 จะเกิดสมาธิทันทีหรือ ?

เมื่อไม่นานมานี้ได้รับคำถามว่า ถ้ามีสติปัฏฐาน 4 สมาธิจะเกิดโดยธรรมชาติใช่หรือไม่ และมรรคมีองค์ 8 จะร้อยกันไปเป็นพวงใช่หรือไม่ เห็นว่าเป็นคำถามที่ควรจะตอบ เพราะเป็นคำถามที่คนทั่วๆไป ก็จะเกิดความสงสัยอยู่ในเรื่องนี้
จึงขอตอบดังต่อไปนี้ จากคำถามที่ว่า ถ้ามีสติปัฏฐาน 4 สมาธิจะเกิดโดยธรรมชาติใช่หรือไม่นี้ คำตอบตรงนี้ตอบได้เลยว่า ถ้าทำสติปัฏฐาน 4 จริงๆแล้ว สมาธิจะเกิดขึ้นโดยธรรมดาเลย หรือโดยธรรมชาติเลย ขอให้ทำได้ ขอให้ทำเป็น
แต่ก่อนที่จะตอบเพียงเท่านี้ อยากให้รู้ก่อนว่า ที่พระสูตรที่ชื่อว่าเทศนาสูตร พระไตรปิฎกฉบับหลวงเล่มที่ 16 พระศาสดาจะแสดงปฏิจจสมุปบาท ที่เป็นเหตุเกิดทุกข์ เอาไว้ในส่วนแรก และก็เหตุดับทุกข์ เอาไว้ในส่วนที่ 2 คือ เห็นเหตุเกิดทุกข์แล้ว ก็เห็นเหตุดับทุกข์ ในพระสูตรนี้เป็นเบื้องต้น ที่อรหันตสาวกได้นำเอาพระธรรมคำสอนในองค์พระสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาแสดงไว้
โดยสรุปคือดังนี้ ในปฏิจจสมุปบาทนี้ เชื่อมั่นว่าหลายคนจะรู้ดีอยู่แล้ว คือเริ่มต้นที่อวิชชา สังขาร วิญญาณ นามรูป สฬายตนะ ผัสสะ เวทนา
ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ ชรามรณะ โสกะ ปิเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาส
อัปปิเยหิ สัมปะโยโค ทุกโข
ปิเยหิ วิปปะโยโค ทุกโข
ยัมปิจฉัง นะ ละภะติ ตัมปิ ทุกขัง
ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้น มีได้ด้วยประการฉะนี้ นี่คือธรรมฝ่ายเกิดทุกข์
และหลังจากนั้นต่อจากปฏิจจสมุปบาทนี้ พระพุทธเจ้าจะประกาศว่า สังขิตเตน ปัญจุปาทานักขันธา ทุกขา
ว่าโดยย่อ อุปปาทานขันธ์ทั้ง5 เป็นตัวทุกข์
ขันธ์ 5 ประกอบไปด้วย รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
ขันธ์ 5 นี้ เป็นบททำย่อของปฏิจจสมุปบาท
5 องค์ธรรมนี้ ย่อลงมาจาก 12 องค์ธรรมในปฏิจจสมุปบาท นี่เป็นธรรมฝ่ายเกิดทุกข์ เป็นธรรมอันเดียวกัน
พอจะถึงธรรมฝ่ายดับทุกข์ แม้จะในพระสูตรที่เมื่อสักครู่นี้ในเทศนาสูตรนี้ พระศาสดาจะบอกว่า ชรามรณะดับเพราะชาติดับ ชาติดับเพราะภพดับ ไล่ๆๆๆย้อนลงมา ความดับสิ้นแห่งกองทุกข์ทั้งสิ้นนั้น มีได้ด้วยประการฉะนี้ ดับนะทีนี้ นี่คือฝ่ายดับทุกข์
แต่พอไปดูในองค์ธรรมที่ชื่อว่าโพธิปักขิยธรรม
เราจะไม่เห็นปฏิจจสมุปบาทสายดับ
แต่เรากลับจะเห็นสติปัฏฐาน 4 นี้ อยู่ธรรมสายดับ
สติปัฏฐาน 4 ประกอบไปด้วย กายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม
ทั้ง 3 ธรรมนี้ ทั้งปฏิจจสมุปบาท ทั้งขันธ์ 5 และสติปัฏฐาน 4 เป็นธรรมอันเดียวกัน
ปฏิจจสมุปบาทกับขันธ์ 5 เป็นธรรมฝ่ายเกิดทุกข์
สติปัฏฐาน 4 เป็นธรรมฝ่ายดับทุกข์
กายในกาย คือ รูป
เวทนาในเวทนา คือ เวทนา
จิตในจิต คือ สังขาร
ธรรมในธรรม คือ วิญญาณ
สัญญาตรงนี้จะไม่มี สัญญาคือตัวบุคคลผู้ที่กำลัง ปฏิบัติธรรมเพื่อความดับทุกข์อยู่
เห็นแล้วนะว่า สติปัฏฐาน 4 คือ ปฏิจจสมุปบาท หรือคือขันธ์ 5 โดยปฏิจจสมุปบาทกับขันธ์ 5 เป็นธรรมฝ่ายเกิดทุกข์ สติปัฏฐาน 4 ก็คือปฏิจจสมุปบาทนี่แหละ
แต่เป็นธรรมฝ่ายดับทุกข์ เมื่อเห็นแล้วดังนี้
ลำดับต่อไปนี้ มาดูในองค์ธรรมที่พระพุทธเจ้าประกาศเอาไว้เป็นหลัก ก็คืออริยสัจ 4
อริยสัจ 4 เรามาดูว่า สติปัฏฐาน 4 อยู่ในอริยสัจ 4 อยู่ที่ตรงไหนดูนะ
อริยสัจ 4 ประกอบไปด้วยทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
จะแยกให้ดูเลยว่า
ทุกข์กับสมุทัย คือ ธรรมอันเป็นเหตุเกิดทุกข์
นิโรธกับมรรค คือ ทำอันเป็นเหตุดับทุกข์
แยกเป็น 2 ฝั่ง ฝั่งแรกเป็นเหตุเกิดทุกข์ อีกฝั่งเป็นเหตุดับทุกข์
เราเห็นแล้ว แล้วอยู่ตรงไหน สติปัฏฐาน 4 อยู่ตรงไหน
ตอบว่าสติปัฏฐาน 4 อยู่ในทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรคนี่เอง
จะชี้ให้ดูย้อนกลับมาดูตรงนี้ก่อนเดี๋ยวจะไม่เข้าใจ
อริยสัจ 4 อันประกอบไปด้วย ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
คำว่ามรรคนี้ ประกอบไปด้วยองค์ 8
คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมามาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติและสัมมาสมาธิ นี่คืออริยมรรคมีองค์ 8
แต่อริยมรรคมีองค์ 8 นี้ ไม่สามารถปฏิบัติธรรม
เพื่อความดับทุกข์ เพียงลำพังแค่มรรคมีองค์ 8 ได้ ทำไม่ได้
อุปมาเหมือนการปรุงอาหารสักอย่างใดอย่างหนึ่ง อย่างเช่นตำมะละกอหรือส้มตำ จะเอาเพียงเนื้อมะละกอมาตำ เป็นส้มตำไม่ได้ จะต้องประกอบด้วยองค์ประชุม พริก มะเขือเกลือ ปลาร้าสารพัด จึงจะเป็นส้มตำ มรรคมีองค์ 8 นี้ก็ปฏิบัติธรรมเพื่อความดับทุกข์ไม่ได้
ดังนั้นพระพุทธเจ้า จึงได้ประกาศธรรมที่ชื่อว่า โพธิปักขิยธรรมนี้เอาไว้
อันประกอบไปด้วย
1 สติปัฏฐาน 4 ประกอบไปด้วย
กายในกาย เวทนาในเวทนา จิตในจิต ธรรมในธรรม
2 สัมมัปปธาน 4 ประกอบไปด้วย
สังวรปธาน ปหานปธาน ภาวนาปธาน อนุรักขนาปธาน
3 อิทธิบาท 4 ประกอบไปด้วย
ฉันทะ วิริยะ จิตตะ วิมังสา
4 อินทรีย์ 5 ประกอบไปด้วย
ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา
5 พละ 5 ประกอบไปด้วย
ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา
6 โพชฌงค์ 7 ประกอบไปด้วย
สติสัมโพชฌงค์ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ วิริยสัมโพชฌงค์
ปีติสัมโพชฌงค์ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์
อุเบกขาสัมโพชฌงค์
7 มรรคมีองค์ 8 ประกอบไปด้วย
สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมามาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ
เพราะฉะนั้นที่ถามมาว่า ถ้ามีสติปัฏฐาน 4 สมาธิจะเกิดโดยธรรมชาติใช่หรือไม่
ตอบว่า ใช่ถ้ามีสติปัฏฐาน 4 ที่ห้อมล้อมด้วยองค์ธรรมที่ชื่อว่าโพธิปักขิยธรรมนี้นะ
ธรรมที่ชื่อว่าโพธิปักขิยธรรมที่ห้อมล้อมกัน
บางคราวเราจะได้ยินว่าโพธิปักขิยธรรม 37
เพราะไล่เรียงกันตามลำดับแล้วจะได้ 37 หัวข้อธรรมประกอบกันอยู่ ทั้งหมดทั้งมวลนี้เป็นธรรมที่พระศาสดาแสดงเอาไว้ในมหาสติปัฏฐานสูตร
อยู่ในพระไตรปิฎกฉบับหลวงเล่มที่ 10
อยู่ในพระไตรปิฎกฉบับหลวงเล่มที่ 12
ใครไม่รู้จักมหาสติปัฏฐานสูตรนั้น
จะไม่สามารถทำความรู้ในสติปัฏฐาน 4 นี้ได้เลย
ดูไม่ออก ดูไม่ได้ ทำไม่เป็น
แค่องค์ธรรมที่เราเห็นนี้ เราก็จะรู้สึกว่ายาก รู้สึกว่ายาว
แต่ถ้ารู้จริงๆแล้ว ไม่ยาก บอกให้ทราบดังนี้ เพื่อให้ได้รู้ว่า คำว่าสติปัฏฐาน 4 นั้น
ที่ถามว่าถ้ามีสติปัฏฐาน 4 สมาธิจะเกิดโดยธรรมชาติใช่หรือไม่
ตอบว่า ใช่ เกิดโดยทันที ถ้าเมื่อปฏิบัติมรรคมีองค์ 8 ที่ห้อมล้อมด้วยโพธิปักขิยธรรม
ชี้ให้ดูตรงนี้นะ มรรคมีองค์ 8 นี้ จะต้องห้อมล้อมด้วยองค์ธรรมที่ชื่อว่าโพธิปักขิยธรรมนี้ ก็คือสติปัฏฐาน 4 สัมมัปปธาน 4 อิทธิบาท 4 อินทรีย์ 5 พละ 5 โพชฌงค์ 7 และมรรคมีองค์ 8 นี้เป็นหลัก
องค์ธรรมที่ชื่อว่ามรรคมีองค์ 8 นี้ อันห้อมล้อมด้วยโพธิปักขิยธรรมนี้ ใช้ทำความดับทุกข์ที่นิโรธ ในอริยสัจ 4 ข้อที่ 3 ไม่ใช่มีนิโรธแล้วจะพูดแต่มรรคอย่างเดียวไม่ใช่ มรรคมีองค์ 8 นี้เป็นข้อธรรมสำหรับใช้ในนิโรธ
ทุกข์ที่เกิดเป็นเบื้องต้น ใช้นิโรธดับ เรียกว่าสมถะ
อย่างเช่นเรามีแม่ แม่เราแก่ แม่เราเจ็บ แม่เราตาย เราเป็นทุกข์ เราดับทุกข์โดยนิโรธมีองค์โพธิปักขิยธรรมอันมีมรรค 8 นี้เป็นหลัก ดับโดยสมถะ
เมื่อดับทุกข์ในแม่เราจนเสร็จแล้ว ต่อไปเรามีบิดา บิดาเราจะต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตาย แต่ยังไม่แก่ ไม่เจ็บ ไม่ตายตอนนี้ แต่เรารู้ว่าบิดาเราจะต้องตายแน่นอน เราจะเกิดทุกข์แน่นอน
ตรงนี้เราใช้โพธิปักขิยธรรมไปดับตรงนิโรธ โดยวิปัสสนาทีนี้ คือเราเห็นว่าทุกข์จะเกิดขึ้น ตรงนี้เป็นวิปัสสนา ก็ดับตรงนิโรธนะ เคยเห็นทุกข์แล้ว เห็นสมุทัยแล้ว ก็ดับเลย เห็นว่าพ่อจะต้องแก่ จะต้องเจ็บ จะต้องตาย เป็นเหตุ มีเหตุเพราะเรายึดเราติด ก็เอาโพธิปักขิยธรรมนี้มาดับที่นิโรธนี้ ตอนเห็นพ่อนะ นี่เรียกว่าวิปัสสนา
และองค์ธรรมทั้งหมดนั้น กระทำด้วยการกระทำฌาน 1 ฌาน 2 ฌาน 3 ฌาน 4 ทุกองค์ธรรม การทำนิโรธนี้ดับด้วยการกระทำฌานเท่านั้น ตรงนี้จึงจะเรียกว่า เป็นบุคคลผู้ที่ มีสติปัฏฐาน 4 บริบูรณ์แล้ว สมาธิจะเกิดขึ้น เพราะเราไม่มีทุกข์ในแม่แล้ว เพราะเราไม่มีทุกข์ในพ่อแล้ว
ปวงญาติทั้งหมดทั้งมวล เสื้อผ้า อาหาร บ้าน ยา อาชีพต่างๆของเรา ที่ต้องเลี้ยงชีวิตเราสละเราละเรานิโรธจนได้หมดแล้ว นั่นแหละสมาธิจะเกิดโดยธรรมชาติเอง ตอบเท่านี้ก่อนรายละเอียดยังมากอยู่ ค่อยว่ากัน
นี่คือคำตอบสำหรับคำถามที่ถามว่า
ถ้ามีสติปัฏฐาน 4 สมาธิจะเกิดโดยธรรมชาติใช่หรือไม่
แต่ถ้าจะพูดถึงอริยมรรคมีองค์ 8 แล้วจะยาว
แต่เคยแสดงไว้เป็นชุดให้ดูว่า มรรคมีองค์ 8 ห้อมล้อมกัน
ชุดที่ 1 สัมมาทิฏฐิ สัมมาวายามะ สัมมาสติ จะต้องมี
จึงจะมาถึงชุดที่ 2 คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ
สัมมามาวายามะ สัมมาสติ นี้ที่เป็นชุดที่ 2
จะต้องห้อมล้อมกันแบบนี้
แต่ไม่เข้าใจคำถามที่ถามว่า มรรคมีองค์ 8 ร้อยกันเป็นพวงใช่หรือไม่
แต่จะทำให้ดูอย่างนี้
ชุดที่ 3 สัมมาทิฏฐิเป็นหัวหน้า สัมมาวาจา สัมมาวายามะ สัมมาสติห้อมล้อม
ชุดที่ 4 สัมมาทิฏฐิเป็นหัวหน้า สัมมากัมมันตะ สัมมาวายามะ สัมมาสติหอมล้อมอยู่
ชุดที่ 5 คือสัมมาทิฏฐิ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติหอมล้อมกันอยู่
แล้วจึงจะได้องค์ที่ 8 คือสัมมาสมาธิ
ปฏิบัติมรรค 7 องค์เป็นชุดเป็นชุด
ชุดที่ 1 สัมมาทิฏฐิเป็นหลัก
ชุดที่ 2 สัมมาทิฏฐิและสัมมาสังกัปปะเป็นหลัก
ชุดที่ 3 สัมมาทิฏฐิและสัมมาวาจาเป็นหลัก
ชุดที่ 4 สัมมาทิฏฐิและสัมมากัมมันตะเป็นหลัก
ชุดที่ 5 สัมมาทิฏฐิและสัมมาอาชีวะเป็นหลัก
โดยมี สัมมาวายามะ สัมมาสติ ห้อมล้อมทุกองค์ธรรม
เมื่อปฏิบัติจนถ้วนรอบแล้ว ในองค์ที่ชื่อว่าโพธิปักขิยธรรมเมื่อสักครู่นี้ แล้วจะได้สัมมาสมาธิ ก็คือจะได้สมาธิเอง โดยธรรมชาติ
ขอตอบคำถามเอาไว้เพียงเท่านี้ก่อน ส่วนรายละเอียดนั้นถ้ายังไม่เข้าใจ ยังข้องใจยังสงสัยอยู่ ขอให้ถามยิ่งๆขึ้นในโอกาสต่อๆไป
อ้างอิง
มหาสติปัฏฐานสูตร ข้อ 273 เป็นต้นไป พระไตรปิฎกฉบับหลวงเล่มที่ 10
มหาสติปัฏฐานสูตร ข้อ 131 เป็นต้นไป พระไตรปิฎกฉบับหลวงเล่มที่ 12
โฆษณา