29 ธ.ค. 2023 เวลา 09:30

คน หรือ บุคคลพึงบรรลุธรรมได้ด้วยเหตุปัจจัยเดียวนี้ เท่านั้น

ข้อธรรมที่ว่าบุคคลจะพึงบรรลุธรรมได้ด้วยเหตุประการเดียวนี้เท่านั้น หรือคนทุกคนในโลกที่จะบรรลุธรรมได้นั้น ก็ด้วยเหตุประการเดียวนี้เท่านั้น ประการอื่นมิได้มี
ก่อนที่จะเข้าไปในเนื้อหาเบื้องต้นจะแสดงธรรมในข้อธรรมที่ว่า การบรรลุธรรมนั้นเป็นอจินไตย เป็นอจินไตยคือเป็นเรื่องที่บุคคลจะคิดเอาไม่ได้ กำหนดเอาไม่ได้ ว่าตนจะบรรลุธรรมด้วยวิธีอื่นวิธีใด หรือกำหนดด้วยวันเวลาไม่ได้
ใน อจินติตสูตร พระพุทธเจ้าได้ตรัสเอาไว้ว่า
จัตตารีมานิ ภิกขเว อจินเตยยานิ น จินเตตัพพานิ
ยานิ จินเตนโต อุมมาทัสส วิฆาตัสส ภาคี อัสส
อจินติตสูตร ข้อ 77 พระไตรปิฎกฉบับหลวงเล่มที่ 21
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อจินไตย 4 ประการนี้ อันบุคคลไม่ควรคิด เมื่อบุคคลคิดพึงเป็นผู้มีส่วนแห่งความเป็นบ้า เดือดร้อน อจินไตย 4 ประการนี้ เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย
พุทธวิสัยของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย 1
ฌานวิสัยของผู้ได้ฌาน 1
วิบากแห่งกรรม 1
ความคิดเรื่องโลก 1
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อจินไตย 4 ประการนี้แล ไม่ควรคิด เมื่อบุคคลคิดพึงเป็นผู้มีส่วนแห่งความเป็นบ้า เดือดร้อน
อธิบายดังนี้ว่า คำว่าอจินไตย หรือความคิดเอาไม่ได้ กำหนดเอาไม่ได้ของการบรรลุธรรมนั้น หรือในที่แห่งนี้พระพุทธเจ้าได้หมายถึงคำว่า พุทธวิสโย การเข้าถึงสภาวะแห่งการบรรลุธรรม พุทธวิสโย แปลว่า เข้าไปสู่ หรือเข้าถึง หรือบรรลุธรรม
แต่ในที่แห่งนี้ผู้รู้ท่านแปลเอาไว้ว่า พุทธวิสัยของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ทำให้คนผู้ที่คิดโดยสะระตะแล้วจะเห็นว่า เหมือนคำว่าฐานะของการบรรลุธรรมนั้น เป็นได้เฉพาะพระพุทธเจ้าทั้งหลายเท่านั้น ในโลกนี้ก็จะเห็นๆอยู่ตอนนี้ก็จะมีพระพุทธเจ้าวิปัสสี สิขี เวสสภู กกุสันธะ โกนาคมนะ กัสสปะ และโคตมะ 7 พระองค์นี้เท่านั้น ซึ่งความหมายนี้จึงผิด
คำว่า พุทธวิสัยของพระพุทธเจ้าทั้งหลายนั้น จะจำกัดลงเฉพาะพระพุทธเจ้า 7 พระองค์นี้ หรืออื่นๆที่ไม่ได้เอยนาม แต่ความเห็นนี้ผิด เพราะว่าบุคคลอื่นก็บรรลุธรรมได้ ในสมัยพุทธกาลของสมณโคดมนี้ ท่านพระสารีบุตร ท่านพระโมคคัลลา พระกัจจายนะ และแม้สุดท้ายคือท่านพระอานนท์ ก็บรรลุธรรมได้ แต่การบรรลุธรรมนั้นจะกำหนดด้วยวันเวลาว่าจะจบวันนั้น ว่าจะถึงวันนี้ ว่าจะบรรลุวันนี้วันนั้นไม่ได้ นี่คือคำว่าอจินไตย กำหนดไม่ได้
อย่างพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบันพระองค์ท่านก็ตามหาความรู้นี้อยู่ 4 อสงไขยกับแสนกัป พอมาเป็นพระชาติพระพุทธเจ้า ที่เป็นสมณโคดมนั้น เมื่ออุบัติขึ้นมาแล้วก็ไม่ใช่ท่านบรรลุธรรมเลย ต้องใช้เวลาแห่งเหตุแห่งปัจจัยที่ประชุมพร้อมกันเท่านั้น ดังเราจะเห็น
ในเรื่องนี้จะยกเอาการบรรลุธรรมจากพระสูตรที่ชื่อว่า โสตานุคตสูตร พระไตรปิฎกฉบับหลวงเล่มที่ 21 มาแสดงให้ได้รับทราบคือดังนี้ว่า
โสตานุคตานัง ภิกขเว ธัมมานัง
วจสา ปริจิตานัง
มนสานุเปกขิตานัง
ทิฏฐิยา สุปปฏิวิทธานัง
จัตตาโร อานิสังสา ปาฏิกังขา
มีความหมายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ 4 ประการแห่งธรรมทั้งหลาย อันบุคคลฟังเนืองๆ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิ อันบุคคลพึงหวังได้ อานิสงส์ 4 ประการเป็นไฉน ดูกรภิฏษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเล่าเรียนธรรม คือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูติธรรม เวทัลละ ธรรมเหล่านั้นอันภิกษุฟังเนืองๆ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิ เธอมีสติหลงลืมเมื่อกระทำกาละ
โส มุฏฐัสสติ กาลัง "เธอจะมีสติหลงลืมเมื่อกระทำกาละ" ก็คือเมื่อเธอตายไป เธอย่อมหลงลืมบทแห่งธรรมนี้
แต่เธอย่อมเข้าถึงเทพนิกายหมู่ใดหมู่หนึ่ง ในที่นี้ ก็คือเธอเกิดเป็นคนนี่แหละ คำว่าเข้าสู่เทพนิกาย อย่างพระพุทธเจ้าสมณโคดมของพวกเราท่านก็เป็นพระมหากษัตริย์ คือบุคคลเหล่านี้จะไม่ถึงฐานะอันตกต่ำ แต่จะเข้าสู่เทวนิกาย หรือเทพนิกายหมู่ใดหมู่หนึ่ง เป็นสภาวะของบุคคลที่ยิ่งกว่าบุคคลธรรมดาอยู่ คำว่าเทวนิกายนี้
บทแห่งธรรมทั้งหลายย่อมปรากฏแก่เธอผู้มีความสุขอยู่ในภพนั้น ตรงนี้นะ ตัสส ตัตถ สุขิโน ธัมมปทาปิลปันติ "บทแห่งธรรมทั้งหลายย่อมปรากฏแก่เธอผู้มีความสุขอยู่ในภพนั้น" ความนี้ก็คือท่านจะระลึกบทแห่งธรรมได้เอง หรือบทแห่งธรรมนั้นย่อมปรากฏแก่เธอในที่ตรงนี้ คือพระศาสดาสมณโคดมท่านเป็นแบบอย่างก็คือ ท่านไม่ได้ฟังธรรมจากใครเลยในชาตินี้ แต่ฟังมาก่อนแล้ว 4 อสงไขยกับแสนกัป แต่พอมาชาตินี้หลังจากเมื่อกระทำกาละแล้ว เธอหลงลืม ตรงนี้ สมณโคดมก็เหมือนกันหลงลืม
และเมื่อเหตุปัจจัยพร้อมท่านก็บรรลุธรรม หรือบทแห่งธรรมปรากฏแก่เธอขึ้นมาในภพนี้ล่ะ ในชาตินี้ สติบังเกิดขึ้นช้า คือตอนที่การบรรลุธรรมนั้นเกิดขึ้นช้า พระศาสดาก็อายุ 35 ปี หรือ 35 พรรษาจึงบรรลุ "แต่สัตว์นั้นย่อมเป็นผู้มีคุณบรรลุคุณวิเศษเร็วพลัน" แต่พอบรรลุแล้วก็จะบรรลุได้ทั้งหมดในชาตินั้น
"ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นอานิสงส์ประการที่ 1 แห่งธรรมทั้งหลายที่บุคคลฟังเนืองๆ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิ อันบุคคลพึงหวังได้" หวังเท่านั้น รู้ว่าจะเกิดขึ้นในเบื้องหน้าเท่านั้น แต่กำหนดเวลาไม่ได้ เรื่องนี้ที่ยกว่าเป็นอจินไตยให้กับทุกคนได้รับรู้ แต่ต้องทำเหตุคือ
โสตานุคตานัง ภิกขเว ธัมมานัง ฟังธรรมนี้มาก่อนเนืองๆ
วจสา ปริจิตานัง คล่องปากก่อน
มนสานุเปกขิตานัง ขึ้นใจก่อน
ทิฏฐิยา สุปปฏิวิทธานัง แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฏฐิ มาก่อนเท่านั้น
ถึงแม้ตอนตายเธอจะหลงลืม แต่ประการที่ 1 อานิสงส์ประการที่ 1 เมื่อเธอกลับมาเกิดใหม่ในชาติเป็นมนุษย์ ชาติใดชาติหนึ่ง เข้าสู่ฐานะที่เป็นสุขอยู่ได้ในฐานะใดฐานะหนึ่ง แล้วเธอจะได้รับอานิสงส์ คือบทแห่งธรรมทั้งหลายย่อมปรากฏแก่เธอผู้มีความสุขอยู่ในภพนั้น นี่เป็นฐานะที่ 1
เรามาดูฐานะที่ 2
ฐานะที่ 2 มีอยู่ว่า "อีกประการหนึ่งภิกษุย่อมเหล่าเรียนทำคือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูติธรรม เวทัลละ ธรรมเหล่านั้นอันภิกษุฟังเนืองๆ คล่องปาก ขึ้นใจแทง ตลอดด้วยดีด้วยทิฐิ เธอมีสติหลงลืมเมื่อกระทำกาละ" เธอก็หลงลืม คือ โส มุฏฐัสสติ กาลัง เธอก็ลืมเมื่อตายไป "ย่อมเข้าถึงเทพนิกายหมู่ใดหมู่หนึ่ง" เธอก็ไปเกิดในฐานะที่ดีในความเป็นมนุษย์นี่แหละ คำว่าเทวนิกายหรือเทพนิกายนี้
แต่บุคคลคนนี้ "บทแห่งธรรมทั้งหลายย่อมไม่ปรากฏแก่เธอ" ฐานะที่ 2 นี้ ไม่สามารถที่จะระลึกธรรมได้เอง คือบทแห่งธรรมไม่ปรากฏแก่เธอ เธอไม่สามารถระลึกบทแห่งธรรมได้เอง ถึงแม้เธอจะมีความสุขอยู่ในภพนั้น "ผู้มีความสุขอยู่ในภพนั้น"ระลึกไม่ได้
แต่ภิกษุผู้มีฤทธิ์ถึงความชำนาญแห่งจิต แสดงธรรมแก่เทพบริษัท
โข อิทธิมา เจโตวสิปปัตโต เทวปริสาย ธัมมัง เทเสติ
จะมีภิกษุผู้มีฤทธิ์ถึงความชำนาญแห่งจิตแสดงธรรมแก่เทพบริษัทอยู่ ฐานะนี้ก็คือเมื่อได้ฟังภิกษุผู้เป็นพระอรหันต์แสดงธรรมแก่พระอรหันต์อยู่ หรือแก่พระอริยะอยู่ "เธอมีความปริตกดังนี้ว่าในกาลก่อน เราได้ประพฤติพรหมจรรย์ในธรรมวินัยใด นี้คือธรรมวินัยนั้น"
เธอจะระลึกได้ว่า ธรรมที่เคยฟังเนืองๆ จำติดปาก จำขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิมาก่อนนั้น นี่คือธรรมนั้น ชาติก่อนเราฟังมาก่อนนั่นแหละ เธอมาได้ฟังอีกเธอจะระลึกได้ว่านี่คือธรรมนั้น ในฐานะนี้ให้รับทราบว่าว่า ในพระไตรปิฎก คืออรหันตสาวก กำลังแสดงธรรมให้แก่อรหันตสาวกด้วยกันฟังอยู่ ในที่นี้ก็คือ "ภิกษุผู้มีฤทธิ์" คือพระอรหันต์ทั้งหมดนั้น "ถึงความชำนาญแห่งจิตแล้ว"เป็นพระอรหันต์ทั้งหมดแล้วนะ "แสดงธรรมแก่ที่บริษัทอยู่" ในที่นี้ท่านกำลังกระทำการสังคายนาพระธรรมคำสอนของพระศาสดาอยู่ ทุกคนต้องเห็นตรงนี้
"แสดงธรรมแก่ที่บริษัทอยู่" ท่านกำลังทำการสังคายนาพระธรรมคำสอนพระศาสดาอยู่ ใครที่มาถึงฐานะนี้แล้วจึงจะสามารถอ่านพระธรรมคำสอนในพระไตรปิฎกนี้ได้ ที่อรหันตสาวกได้รวบรวมเอาไว้ คำว่าอ่านได้ คือเป็นผู้รู้จริง รู้แจ้งในอรรถนั้น รู้แจ้งในธรรมนั้นทั้งหมด เป็นผู้บรรลุธรรมตามนี้ได้
"เธอมีความปริมิตดังนี้ว่าในการก่อนเราได้ประพฤติพรหมจรรย์ในธรรมวินัยใด นี้คือธรรมวินัยนั้น" ธรรมที่เคยฟังเนืองๆ จำติดปาก จำขึ้นใจของเธอนั่นแหละ แทงตลอดได้ดีด้วยทิฐิของเธอนั่นแหละ จะถึงอานิสงส์แก่เธอได้เมื่อเธอได้ฟังอรหันตสาวก หรือภิกษุผู้มีฤทธิ์ถึงความชำนาญแห่งจิตนี้ แสดงธรรมแก่ที่บริษัทอยู่ เรื่องนี้ทุกคนก็จะต้องรับรู้ด้วย
"สติบังเกิดขึ้นช้า แต่ว่าสัตว์นั้นย่อมบรรลุคุณวิเศษเร็วพลัน" เกิดขึ้นช้า คือเมื่อเกิดขึ้นมาแล้วจะบรรลุช้า จึงสามารถกระทำเรื่องนี้ได้ "แต่ว่าสัตว์นั้นย่อมบรรลุคุณวิเศษเร็วพลัน" ก็คือเมื่อบรรลุแล้วก็บรรลุเลย ไม่มีสิ่งใดติดขัดในธรรมที่ได้ยินได้ฟังทุกประการ
ลำดับต่อมาเป็นประการที่ 3 คือดังนี้อีก
ประการหนึ่งภิกษุย่อมเล่าเรื่องธรรมคือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูติธรรม เวทัลละ "บทแห่งธรรมทั้งหลาย ย่อมไม่ปรากฏแก่เธอผู้มีความสุขอยู่ในภพนั้นเลย"
ประการที่ 1 เธอระลึกธรรมเองไม่ได้ คนที่ 3 "ทั้งภิกษุผู้มีฤทธิ์ถึงความชำนาญแห่งจิตก็ไม่ได้แสดงธรรมแก่ที่บริษัท" และเธอก็ไม่สามารถที่จะรู้ตามธรรมในพระไตรปิฎกนี้ได้ ก็คือเธออ่านพระไตรปิฎกไม่ได้ คือเธอฟังภิกษุผู้มีฤทธิ์ถึงความชำนาญแห่งจิตแสดงธรรมแก่ที่บริษัทแล้ว เธอก็ไม่สามารถรู้ตามธรรมนั้นได้
"แต่เทพบุตรย่อมแสดงธรรมแก่เทพบริษัทอยู่ เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า ในกาลก่อนเราได้ประพฤติพรหมจรรย์ในธรรมวินัยใด นี้คือธรรมวินัยนั้น" หมายความว่า ถ้าเมื่อบุคคลใดบุคคลหนึ่งได้ฟังเทพบุตร ได้ฟังผู้ที่สามารถรู้ตามธรรมที่อรหันต์สาวกแสดงประการที่ 2 แล้วนี้ หรือพระพุทธเจ้าแสดงธรรมแล้วนี้ บุคคลนั้นรู้ตามธรรม และนำธรรมนั้นมาแสดงแก่บริษัทอยู่ เช่นบุคคลที่ 2 แสดงธรรมแก่ปวงญาติของท่านอยู่ บุคคลที่ 3 นี้มาได้ยินได้ในเรื่องนี้
เธอจะมีสติได้ระลึกขึ้นว่า เธอมีความคิดอย่างนี้ว่า "ในการก่อนเราได้ประพฤติพรหมจรรย์ในธรรมวินัยใด นี้คือธรรมวินัยนั้น" เธอจะรู้ตามธรรมที่เทพบุตรแสดงธรรมแก่ที่บริษัทนี้ได้ เธอจะรู้ได้ว่านี่คือธรรมที่ถูกต้องที่แท้จริงอย่างนี้ "สติบังเกิดขึ้นช้า แต่ว่าสัตว์นั้นย่อมบรรลุคุณวิเศษเร็วพลัน" เกิดขึ้นช้า ไม่ใช่เกิดขึ้นมาแล้วอุบัติเลย แต่ถึงเหตุถึงปัจจัยที่เธอได้เป็นผู้ฟังธรรมเนืองๆ จำติดปาก จำขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิ ประกอบเข้าเป็นอานิสงส์ เป็นเหตุปัจจัยแล้ว เธอจะรู้ตามธรรมนี้ได้ นี่ประการที่ 3
ประการที่ 4
"อีกประการหนึ่ง ภิกษุย่อมเล่าเรียนธรรมคือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูติธรรม เวทัลละ" ทั้งหมดมาแล้วนี้ เธอเป็นผู้ฟังเนืองๆ จำติดปาก จำขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิในธรรมเหล่านี้มาแล้ว
ประการที่ 1 "บทแห่งธรรมทั้งหลายย่อมไม่ปรากฏแก่เธอผู้มีความสุขอยู่ในภพนั้น" เธอก็ระลึกธรรมเองไม่ได้
ประการที่ 2 "แม้ภิกษุผู้มีฤทธิ์ถึงความชำนาญแห่งจิตแสดงธรรมแก่เทพบริษัทอยู่" ข้อนี้เธออ่านพระไตรปิฎกหรือฟังอรหันตสาวกโดยตรง เธอก็ไม่บรรลุธรรม
ประการที่ 3 "แม้เทพบุตรก็ไม่ได้แสดงธรรมแก่ที่บริษัท" เธอได้ฟังเทพบุตรแสดงธรรมแก่เทพบริษัทของท่านอยู่ เธอก็ไม่บรรลุธรรม
แต่ทีนี้ฐานะที่ 4 "แต่เทพบุตรผู้เกิดก่อน เตือนเทพบุตรผู้เกิดทีหลังว่า ท่านผู้นฤทุกข์ย่อมระลึกได้หรือว่า เราได้ประพฤติพรหมจรรย์ในการก่อน เธอกล่าวอย่างนี้ว่า เราระลึกได้ท่านผู้นฤทุกข์ เราระลึกได้ท่านผู้นฤทุกข์" หมายถึงว่า มีบุคคลผู้ที่มาฟังธรรมกับเทพบุตรแล้ว และเขารู้ธรรมตามธรรมนั้นแล้ว
เช่น ฐานะที่ 3 ได้ฟังธรรมที่บุคคลที่ 2 แสดงธรรมแก่ปวงญาติของท่านอยู่ แล้วบุคคลที่ 3 รู้ตามธรรมนี้ได้ นำความนี้ไปบอกกับบุคคลฐานะที่ 4 ว่า นี่คือธรรมที่พระพุทธเจ้าประกาศแล้ว ที่เราเคยเรียนเคยรู้มา หรือที่เรารู้ว่านี่เป็นธรรมที่แท้จริง
คือท่านหมายถึงว่า เธอได้กล่าวอย่างนี้ว่า ท่านผู้นฤทุกข์ท่านระลึกได้หรือว่า เราได้ประพฤติพรหมจรรย์ในธรรมวินัยใด ธรรมที่แท้จริงนั้นคืออย่างไรท่านพอจะรู้ไหม หรือท่านรู้หรือไม่ว่าธรรมที่แท้จริงธรรมที่ถูกต้องนั้นเป็นอย่างนี้ๆ เธอก็ยืนยันว่าเราระลึกได้ท่านผู้นฤทุกข์ ก็คือเรารู้ว่าธรรมที่แท้จริง ควรจะเป็นอย่างนี้ ควรจะเป็นแบบนี้ นี่คือฐานะแห่งการบรรลุธรรมในฐานะที่ 4
"สติบังเกิดช้า แต่ว่าสัตว์นั้นย่อมบรรลุคุณวิเศษเร็วพลัน" ก็คือเมื่อบรรลุ เมื่อรู้ตามแล้ว ก็จะรู้ตามขึ้นไปตามลำดับ
นี่คืออานิสงส์ 4 ประการ ที่บุคคลฟังธรรมเนียงๆ
โสตานุคตานัง ภิกขเว ธัมมานัง
วจสา ปริจิตานัง
มนสานุเปกขิตานัง
ทิฏฐิยา สุปปฏิวิทธานัง
คือแทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิในชาตินั้น ที่ฟังอยู่นั้น
แม้จะฟังเนืองๆ คล่องปาก ขึ้นใจแทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิเข้าใจแล้ว รู้ตามธรรมนั้นแล้ว แต่ก็จะไม่บรรลุธรรม ต่อมาในชาติหลังๆ เมื่อเหตุปัจจัยประชุมพร้อมกัน จึงจะบรรลุธรรม ตามฐานะที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 นี้
วิธีอื่นไม่มีใครจะกระทำให้บรรลุธรรมได้ นอกจากเหตุปัจจัย หรือองค์ประชุมแห่งการฟังธรรมเนืองๆ คล่องปาก ขึ้นใจแทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิมาก่อนนี้เท่านั้น และเรื่องนี้เป็นอจินไตยด้วย
ในเรื่องนี้ถ้าใครปรารถนาที่จะรู้ข้อธรรมนี้ให้ยิ่ง หรือปรารถนาจะรู้ว่าตนนั้นเป็นผู้ถึงฐานะบรรลุธรรมนี้หรือไม่ ก็น่าจะต้องใส่ใจที่จะต้องศึกษาเอาในธรรมนี้ตามหลักอนุสาสนีปาฏิหาริย์ ต้องฟังธรรมที่ถูกต้องนะ ฟังธรรมที่ไม่ถูกต้องก็ไม่ได้อีก
ต้องฟังธรรมที่ถูกต้อง ต้องมาคล่องปากในธรรมที่ถูกต้อง ต้องมาขึ้นใจในธรรมที่ถูกต้อง ต้องมาแทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิจากบุคคลที่เป็นผู้รู้แจ้งในอรรถรู้แจ้งในธรรมจริงๆเท่านั้น และยืนยันว่าเรื่องนี้เป็นอจินไตย
คนที่ได้อานิสงส์มาก่อนก็จะถึงฐานะแห่งการบรรลุธรรมได้ในชาตินี้ แต่ถ้าคนที่ยังไม่ถึงฐานะนี้มาก่อน ไม่ได้กระทำมาก่อน ก็มีวิธีการเดียวคือท่านต้องมาเริ่มต้นในชาตินี้เท่านั้น เช่นเดียวกัน
อ้างอิง
อจินติตสูตร ข้อ 77 พระไตรปิฎกฉบับหลวงเล่มที่ 21
โสตานุคตสูตร ข้อ 191 พระไตรปิฎกฉบับหลวงเล่มที่ 21
รายละเอียดเพิ่มเติมในธรรมส่วนอื่นๆ 👇
แนวทางสู่โสดาบัน✔
โฆษณา