28 พ.ค. 2019 เวลา 05:56 • ธุรกิจ
หัวเว่ย...ธุรกิจนี้เพื่อชาติ
ตอนที่ 8
หลังจากฝึกฝนฝีมือจนเก่งกล้าได้ในระดับหนึ่งแล้ว เหรินเจิ้งเฟยก็เริ่มนำกองทัพหัวเว่ยออกนอกประเทศ แต่การจะออกไปสู้ศึกนอกประเทศไม่ใช่เรื่องง่าย ยิ่งเป็นสินค้าเทคโนโลยีที่ติดธงแดงของจีนยิ่งยากขึ้นอีกหลายเท่าตัว
งานแรกที่หัวเว่ยได้ทดสอบฝีมือคือการวางระบบโทรคมนาคมที่ฮ่องกงซึ่งตอนนั้นยังเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ธุรกิจโทรคมนาคมในฮ่องกงส่วนใหญ่จึงอยู่ในมือของเคเบิ้ลแอนไวร์เลส ที่อังกฤษเป็นผู้ถือหุ้น
ถึงแม้เจ้าของอาณานิคมจะอยากได้สินค้าชั้นยอดจากฝั่งยุโรป แต่ต้องแพ้การประมูลให้กับเหอจี้โทรคมนาคม ของผู้ประกอบการชาวฮ่องกง
แต่เหอจี้ก็มีปัญหาเนื่องจากต้องทุ่มทุนเป็นจำนวนมากเพื่อสร้างเครือข่ายให้เสร็จภายในสามเดือน ถ้าทำไม่สำเร็จก็จะโดนยึดใบอนุญาต
เหอจี้เร่งติดต่อไปทั้งอัลคาเทล และซีเมนส์ แต่ไม่มีใครทำให้ได้ในระยะเวลาที่บีบคั้นเช่นนี้ เหอจี้จึงจำเป็นต้องเลือกหัวเว่ยที่รีบตกปากรับคำทันทีว่าทำได้ ถึงแม้ว่าพวกเขาจะยังไม่ค่อยมั่นใจในคุณภาพของหัวเว่ยก็ตาม...
เหล่าวิศวกรของหัวเว่ยดีใจเป็นอย่างมาก สำหรับงานนอกแผ่นดินจีนครั้งแรกนี้ พวกเขารีบระดมกำลังพลและถุงนอนหลายสิบใบเร่งทำงานกันข้ามวันข้ามคืน เพื่อสร้างระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตรวมถึงงานด้านธุรกรรมให้งานสำเร็จตามกำหนด และทุกอย่างก็ผ่านไปด้วยดี
เหรินเจิ้งเฟยรู้ว่าการสู้ศึกนอกประเทศเป็นเรื่องยากสำหรับผู้ไม่มีประสบการณ์ ดังนั้นเขาจึงเน้นขยายตลาดไปตามเส้นทางทางการทูตของรัฐบาล
และแน่นอนประเทศแรกที่หัวเว่ยเริ่มออกนอกแผ่นดินมังกรคือรัสเซีย ดินแดนหมีขาวที่พวกเขามีความสัมพันธ์ที่แนบแน่นต่อกันในระดับชาติ
1
แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะหัวเว่ยต้องแบกชื่อเสียของสินค้าธงแดงและพ่อค้าอันธพาลไว้บนบ่า เข้าไปติดต่อใครก็มีแต่คำตอบกลับมาว่าที่นี่ไม่ต้อนรับสินค้าจีน
สุดท้ายหลี่เฟิงหลิน เอกอัครราชทูตจีนประจำรัสเซียในเวลานั้นต้องเข้ามาช่วยเจรจา รัสเซียจึงยอมให้หัวเว่ยถ่ายโอนเทคโนโลยี และร่วมทุนกับโรงงานตู้สาขาโทรศัพท์อันดับสองของรัสเซีย จัดตั้งเป็นบริษัทเปรโตหัวเว่ย เพื่อดำเนินกิจการในรัสเซีย
โชคดูเหมือนจะเข้าข้าง แต่มิตรแท้ต้องพิสูจน์ความจริงใจ เพราะหลังจากนั้นไม่นานก็เกิดเหตุการณ์ที่ทำให้เศรษฐกิจของรัสเซียมีปัญหา
บริษัทยักษ์ใหญ่ทางด้านโทรคมนาคมอย่าง อัลคาเทล ซีเมนส์ และเอ็นอีซี ต่างพากันถอยทัพ เหลือเพียงหัวเว่ยที่ยังสู้ต่อ เมื่อรัสเซียฟื้นตัวกลับมาได้หัวเว่ยจึงกลายเป็นมิตรแท้ที่ยากจะลืม
ระหว่างที่ตลาดรัสเซียกำลังมีปัญหา ในปี 1998 หัวเว่ยก็ส่งทีมงานกระจายไปทั่วโลก ทั้งเอเชียอาคเนย์ ตะวันออกกลาง แอฟริกา และลาตินอเมริกา และอีกทีมหนึ่งก็ไปสำรวจตลาดไฮเอนด์ในยุโรปและอเมริกาด้วย
หลังจากออกไปดูลู่ทางแล้วทำให้พวกเขาทราบว่า ตลาดในเอเชียและแอฟริกายังล้าหลังและมีความต้องการสูงมาก
และที่น่าสนใจมากไปกว่านั้นคือประเทศเหล่านี้ไม่สนใจจะสร้างเทคโนโลยีของตัวเองและถูกผูกขาดจากสินค้าในยุโรปและอเมริกาที่มีอิทธิพลทางการเมืองต่อประเทศนั้น ๆ
อย่างเช่น เอทีแอนด์ที โกลบอลครอสซิ่ง และสปินท์ ก็คุมตลาดในเขตอิทธิพลของอเมริกาที่ครอบคลุมทั้งอเมริกาเหนือและอีกหลายดินแดนทั่วโลก
ส่วนดินแดนที่เคยเป็นอาณานิคมของอังกฤษ ก็ตกอยู่ในอุ้งมือของโวดาโฟน เคเบิลแอนด์ไวร์เลส ซึ่งมีที่มั่นอยู่ในยุโรปและยังแผ่อิทธิพลไปถึง แอฟริกา โอเชียเนีย อินเดีย เมียนมาร์ สิงคโปร์ และฮ่องกง
ส่วนตลาดในอเมริกาใต้และลาตินอเมริกาซึ่งเคยเป็นอาณานิคมของสเปนและโปรตุเกส ธุรกิจโทรคมนาคมของประเทศเหล่านี้ก็ตกอยู่ในความดูแลของสเปนและโปรตุเกสเช่นกัน
และเมื่อประเทศเหล่านี้ต้องการซื้ออุปกรณ์โทรคมนาคม ก็มักจะนึกถึงสินค้าที่คุ้นชินและเป็นที่เชื่อถือ
ไม่ว่าหัวเว่ยจะหันหน้าไปทางไหนก็มีแต่ดินแดนที่ถูกจับจองเป็นเจ้าของไปหมดแล้ว และสิ่งเหล่านี้นอกจากเป็นปัญหาของหัวเว่ยแล้ว ยังเป็นปัญหาสำหรับสินค้าท้องถิ่นในแต่ละประเทศอีกด้วย
เพราะพวกเขาไม่สามารถแจ้งเกิดได้เลยเนื่องจากไม่มีรัฐบาลที่เข้มแข็งคอยให้การดูแลและสนับสนุน
ด้วยเหตุนี้เหล่าขุนพลของหัวเว่ยจึงต้องบินว่อนไปทั่วโลก เพื่อหาตลาดในถิ่นทุรกันดารและล้าหลังที่ซึ่งบริษัทยักษ์ใหญ่เหล่านั้นไม่อยากเข้าไป
มีข่าวว่าในปี 1998 มีขุนพลของหัวเว่ยเสียชีวิตถึง 9 คนจากเหตุเครื่องบินตก แม้แต่ในปี 2002 ที่สายการบินอียิปต์มีปัญหาถูกฟ้าผ่า ก็มีขุนพลของหัวเว่ยโดยสารไปด้วย
ส่วนเหตุการณ์แผ่นดินไหวขนาด 5.8 ริกเตอร์ในแอลจีเรีย และมีอาฟเตอร์ช็อกตามมาอีกไม่ต่ำกว่า 400 ครั้ง ในปี 2005 ซึ่งทำให้ทีมงานจากบริษัทยักษ์ใหญ่ต่างถอนตัวเพื่อความปลอดภัย แต่เหล่าขุนพลของหัวเว่ยกลับเสี่ยงชีวิตอยู่ในเต็นท์เพื่อเขียนแผนฟื้นฟูการสื่อสารให้แอลจีเรีย
1
ตลาดในถิ่นทุรกันดารและมีโรคระบาดอย่างแอฟริกา ตลาดในตะวันออกกลางอย่างอีรักที่มีแต่สงคราม ทุกที่ล้วนมีขุนพลของหัวเว่ยเดินทางไปถึง บางคนถูกจี้ชิงทรัพย์ บางคนได้รับบาดเจ็บจากการก่อการร้าย แต่เหล่าขุนพลของหัวเว่ยก็สู้ไม่ถอยจึงทำให้หัวเว่ยซื้อใจแต่ละประเทศไว้ได้
1
แต่สิ่งที่ทำให้เหล่าขุนพลของหัวเว่ยเจ็บปวดที่สุดคือคำดูถูกดูแคลนต่อสินค้าธงแดงของพวกเขาเมื่อพยายามบุกตลาดไฮเอ็นด์ในยุโรป
เพื่อประกาศศักดิ์ดาและลบภาพเดิม ๆ เหรินเจิ้งเฟย จึงต้องพาขุนพลของเขาเข้าไปแสดงศักยภาพด้านเทคโนโลยีตามงานโทรคมนาคมทั่วทั้งยุโรป
นอกจากจัดบูทให้ใหญ่โตแล้วยังขนเทคโนโลยีขั้นสุดยอดไปโชว์ทุกครั้ง และยังร่วมงานสัมมนาต่าง ๆ เพื่อแสดงวิสัยทัศน์ อีกทั้งยังนำผลิตภัณฑ์เข้าร่วมตรวจสอบมาตรฐานต่าง ๆ อีกด้วย เพื่อให้ลูกค้ายอมเปิดใจ
แต่ตลาดในยุโรปมีบริษัทยักษ์ใหญ่ทางเทคโนโลยีมากมาย หัวเว่ยเพิ่งออกสู่ยุทธจักรได้ไม่นานจึงไม่กล้าต่อกรด้วยตรง ๆ แต่ใช้วิธีส่งสินค้าราคาถูกให้ผู้ประกอบการรายใหม่ที่กำลังเริ่มกิจการ และใช้โมเดลนี้เป็นแรงกระเพื่อมไปสู่ธุรกิจขนาดใหญ่อีกที
และแล้วโอกาสก็มาถึง เมื่อ INQUM บริษัทขนาดกลางในอังกฤษ กำลังวางแผนลงทุนเครือข่าย CDMA ให้โปรตุเกส แต่ทั้ง ลูเซนท์ นอร์เทล และโมโตโรลา สามยักษ์ใหญ่ของอเมริกาเสนอราคาสูงกว่างบประมาณมาก INQUM จึงถอดใจและจะยกเลิกโครงการนี้
เมื่อควอลคอมม์ผู้ถือสิทธิบัตร CDMA รู้ข่าว จึงรีบให้ INQUM ติดต่อไปที่หัวเว่ย หัวเว่ยเสนอราคาที่ถูกกว่าถึงสามเท่าและยังรับประกันว่าอุปกรณ์ของพวกเขาสามารถครอบคลุมได้ทั่วโปรตุเกส และยังโรมมิ่งได้กับทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารมัลติมีเดีย DO PTT หรือ โทรศัพท์สาธารณะไร้สาย
ถึงแม้ INQUM จะยังไม่มั่นใจหัวเว่ย แต่ด้วยราคาและคุณสมบัติขนาดนี้ทำให้พวกเขาอยากลอง พวกเขาไปทดสอบอุปกรณ์ของหัวเว่ยที่ศูนย์วิจัยหลายสิบครั้ง จนสุดท้ายก็ยอมตกลง
1
เครือข่าย CDMA ของ INQUM ในโปรตุเกสคืนทุนด้วยระยะเวลาอันรวดเร็ว หัวเว่ยจึงได้ที่มั่นในยุโรป และด้วยกลยุทธ์ด้านราคานี้ทำให้หัวเว่ยตีตลาดได้ทั้ง เยอรมัน ฝรั่งเศส สเปน และอังกฤษ และยึดที่มั่นในยุโรปได้สำเร็จ
จึงไม่น่าแปลกใจเลยที่บรรดาประเทศในยุโรปจะออกมาให้การยอมรับผลิตภัณฑ์ของหัวเว่ย เพราะหัวเว่ยได้เข้าไปฝังรากลึกในยุโรปมานานแล้ว
ถ้าพวกเขาต้องรื้อระบบการสื่อสารในประเทศทั้งหมดมาใช้ของอเมริกาก็ไม่รู้ว่าต้องลงทุนเพิ่มอีกเท่าไหร่
และสิ่งที่น่าแปลกใจคือทำไมผู้นำในเทคโนโลยีโทรคมนาคมฝั่งยุโรปไม่มีใครออกมาโวยวายหรือต่อต้านหัวเว่ยเลย มีเพียงแต่รัฐบาลในกรุงวอชิงตันเท่านั้นที่เตือนไปยังรัฐบาลต่าง ๆ ทั่วโลกให้ระวังและต่อต้านหัวเว่ย
ตามอ่านบทความชุด “หัวเว่ย...ธุรกิจนี้เพื่อชาติ” ได้ตามลิ้งค์นี้นะคะ
Reference:
หัวเว่ย จากมดสู่มังกร

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา