31 พ.ค. 2019 เวลา 05:39 • ธุรกิจ
หัวเว่ย...ธุรกิจนี้เพื่อชาติ
ตอนที่ 9
ย้อนหลังไปในปี 1999 ขณะที่ตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั่วโลกกำลังร้อนแรง นอกจากระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ไร้สายแบบพกพา PHS จากฝั่งญี่ปุ่นแล้วยังมี CDMA จากฝั่งอเมริกา และ GSM จากฝั่งยุโรป
ระบบ PHS นั้นธุรกิจในเครือซีพีนำเข้ามาใช้ในเมืองไทยโดยเรียกชื่อว่า PCT แต่เนื่องจากให้บริการได้เฉพาะในเขตเมืองและมีปัญหาเรื่องระบบเครือข่ายที่ไม่ครอบคลุมจึงไม่เป็นที่นิยมมากนัก
ส่วนใหญ่จึงเป็นการขับเคี่ยวกันระหว่าง CDMA จากฝั่งอเมริกาและ GSM จากฝั่งยุโรป
ระบบ CDMA มีสัญญาณเสียงชัดเจน สามารถรองรับผู้ใช้งานได้เป็นจำนวนมากในเวลาเดียวกัน
เทคโนโลยี CDMA นี้เกิดขึ้นจากกองทัพอเมริกันในช่วงสงคราม แต่เมื่อสงครามสิ้นสุดจึงนำเทคโนโลยีนี้มาเปิดใช้บริการ ซึ่งสิทธิบัตรถูกผูกขาดโดยบริษัทควอลคอมม์ ผลกำไรที่ได้จากการประกอบการต้องส่งให้ควอลคอมม์ในราคาที่สูง ส่งผลให้ค่าใช้บริการแพงตามไปด้วย
ส่วนระบบ GSM ของฝั่งยุโรปนั้น ถึงแม้เทคโนโลยีจะด้อยกว่า CDMA แต่ไม่ติดปัญหาด้านสิทธิบัตรที่เข้มงวดเหมือน CDMA ทำให้ค่าบริการมีราคาถูกกว่า และผู้ผลิตอุปกรณ์ให้ความสนใจเทคโนโลยีนี้มากกว่า จึงเป็นที่นิยมไปทั่วโลกในเวลาต่อมา
ขณะนั้นประเทศไทยมีนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยว จึงต้องการระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ครอบคลุมทั่วไทย
เวลานั้นเอไอเอส และ ดีแทค ต่างแย่งกันเป็นผู้นำ เห็นได้ชัดว่าถ้าเอไอเอสต้องการชนะ อุปกรณ์ที่ใช้ไม่เพียงต้องมีราคาถูก แต่ยังต้องมีเทคโนโลยีที่เหนือกว่า รวมถึงการส่งสัญญาณที่ครอบคลุมไปยังหัวเมืองและสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ทั่วทั้งประเทศ
หัวเว่ยเห็นโอกาสนี้จึงรีบนำเสนอโครงการต่อเอไอเอส ซึ่งในเวลานั้นเอไอเอสมอง อิริคสัน โนเกีย และโมโตโรลา แต่ด้วยเงื่อนไขด้านความเร่งด่วนในการดำเนินงานและราคาจึงทำให้เอไอเอสเลือกหัวเว่ย
ด้วยความรวดเร็ว หัวเว่ย ใช้เวลาติดตั้งระบบไม่ถึงสามเดือน ทำให้เอไอเอสเสนอค่าบริการได้ก่อนดีแทค
ด้วยเครือข่ายที่ครอบคลุมทำให้เอไอเอสได้รับการตอบรับจากลูกค้าจนก้าวขึ้นเป็นผู้นำธุรกิจโทรคมนาคมของไทยมาจนทุกวันนี้
ถึงแม้ตอนนั้นคนไทยจะยังไม่รู้จักหัวเว่ย แต่หัวเว่ยได้เข้ามาทำธุรกิจโทรคมนาคมในไทยนับแต่วันนั้น
เพื่อให้ไทยมีโครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัย สำหรับต่อยอดธุรกิจในด้านต่าง ๆ แม้ว่าไทยจะยังไม่แสดงความชัดเจนว่าจะเลือกเทคโนโลยี 5G ของฝั่งไหน แต่เหล่าขุนพลของหัวเว่ยก็กำลังทดสอบระบบ 5G ร่วมกับองค์กรชั้นนำในเมืองไทยอย่างแข็งขัน
ภาพจาก นิเคอิ
ส่วนมาเลเซียประเทศที่เครื่องบินหายไปอย่างไร้ร่องรอย ล่าสุดเมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2562 ที่ผ่านมา สำนักข่าวนิเคอิของญี่ปุ่นได้รายงานว่า มหาเธร์ โมฮัมหมัด ผู้นำมาเลเซีย วัย 93 ปี กล่าวว่ามาเลเซียจะใช้สินค้าของหัวเว่ยให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
อีกทั้งยังย้ำว่าสหรัฐและชาติตะวันตกควรยอมรับในเทคโนโลยีของประเทศในภูมิภาคเอเชียว่าสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ และสหรัฐควรต่อสู้กับจีนด้วยการพัฒนาเทคโนโลยี ไม่ใช่ข่มขู่คู่แข่งทางธุรกิจเช่นนี้
ภาพจาก คมชัดลึก
เห็นได้ชัดว่าการแข่งขันในโลกของเทคโนโลยีนี้ช่างโหดร้าย ผู้ที่จะอยู่รอดต้องรักษาความล้ำหน้าทางเทคโนโลยี และทำงานอย่างหนัก
โดยเฉพาะหัวเว่ย ธุรกิจจากเซินเจิ้นที่ต้องการจะแข่งขันกับเทคโนโลยีจากชาติตะวันตก และหาที่ยืนในเวทีโลก ไม่เพียงแต่ต้องช่วงชิงตลาดเวลาในทุกนาที ยังต้องต่อสู้อย่างยากลำบากกับผู้มาก่อน
ถึงตอนนี้ในแวดวงเทคโนโลยีโทรคมนาคมไม่มีใครไม่รู้จักหัวเว่ย เนื่องจากมาตรการปิดกันหัวเว่ยของสหรัฐอเมริกา รวมถึงอีกหลายประเทศที่มองว่าหัวเว่ยเป็นแกะดำในวงการ
เมื่อหัวเว่ยยิ่งก้าวขึ้นที่สูงมากเท่าไร อากาศสำหรับพวกเขายิ่งเหลือน้อยลงทุกที เหรินเจิ้งเฟย ผู้นำในวัย 75 ปี ผู้ที่กรำศึกมามาก จะพาขุนพลของพวกเขาประกาศศักดาให้โลกรับรู้ถึงสินค้าเทคโนโลยีโทรคมนาคมเมดอินไชน่า ชนชาติที่มีอารยธรรมยาวนานกว่าห้าพันปีได้อีกนานแค่ไหน คงต้องติดตามกันต่อไป
ตามอ่านบทความชุด “หัวเว่ย...ธุรกิจนี้เพื่อชาติ” ได้ตามลิ้งค์นี้นะคะ
Reference:
หัวเว่ย จากมดสู่มังกร

ดูเพิ่มเติมในซีรีส์

โฆษณา